โดย: Tonvet

7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา

มาเรียนรู้วิธีการดูแลหัวใจให้น้องหมา ตามประสาคนรักหมากัน

6 กุมภาพันธ์ 2556 · · อ่าน (10,419)
432

SHARES


432 shares

Dogilike.com :: 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา

    
     ปัจจุบันมีน้องหมาป่วยด้วยโรคหัวใจกันมากขึ้น ทั้งโรคลิ้นหัวใจเสื่อม (Chronic Valvular Disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย (Dilated Cardiomyopathy) และโรคเกี่ยวกับถุงหุ้มหัวใจ (Pericardial disease) ซึ่งโรคเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งพันธุกรรม พันธุ์ ช่วงอายุ สภาพร่างกาย รวมถึงการดูแลน้องหมาแบบผิดๆ ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้น้องหมาป่วยด้วยโรคเหล่านี้ได้เช่นกัน

     เจ้าของส่วนหนึ่งไม่ค่อยตระหนักและให้ความสนใจดูแลสุขภาพของหัวใจ จึงเป็นสาเหตุทำให้น้องหมาที่ป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่มจำนวนมากขึ้น โรคหัวใจส่วนใหญ่ไม่มีสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถป้องกันหรือชะลอไม่ให้เกิดเร็วขึ้นได้ วันนี้ มุมหมอหมา มี 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา มาดูสิว่ามีอะไรบ้าง
 

1. หากิจกรรมทำร่วมกับน้องหมาบ่อยๆ 

 
     เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุขภาพจิตกับสุขภาพกายนั้นสัมพันธ์กัน สุนัขก็มีหัวใจ อารมณ์ ความรู้สึกนักคิดไม่ต่างกับคน มีการศึกษาในคนพบว่าความกลัว ความเครียด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น อาจสะสมและพัฒนาเหนี่ยวนำให้เกิดเป็นโรคหัวใจได้ สัตว์สังคมอย่างสุนัขจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในฝูง เจ้าของควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ เช่น เล่นเกมส์ต่างๆ  ฝึกทบทวนคำสั่ง หรือออกกำลังกายร่วมกัน การผูก การล่าม การขังสุนัขไว้ หรือปล่อยให้สุนัขอยู่กันเองเพียงตามลำพัง เป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะนอกจากจะก่อปัญหาเรื่องสุขภาพของหัวใจดังกล่าวแล้ว ยังอาจพัฒนาให้เกิดพฤติกรรมความก้าวร้าวได้ เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์

Dogilike.com :: 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา

2. ชวนน้องหมาออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 
     อย่างที่รู้ๆ กันว่าการออกกำลังกายได้ประโยชน์มากมายมหาศาล การออกกำลังยังส่งผลต่อหัวใจด้วย มีการศึกษาในคนพบว่าการออกกำลังอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงและลดไขมันในกระแสเลือดได้ ในสุนัขก็เช่น แม้แต่สุนัขที่เป็นโรคหัวใจ ก็สามารถออกกำลังกายได้ไม่มีข้อห้าม แต่มีข้อควรระวังและต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์
 
     การออกกำลังกายในสุนัขมีหลายรูปแบบ เช่น การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ การเล่นเกมส์ต่างๆ แม้กระทั้งการฝึกให้เข้าใจคำสั่งบางอย่างก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายเช่นกัน  ในการออกกำลังกายสำหรับสุนัขที่มีร่างกายปกติ ควรจะใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที หลีกเลี่ยงการออกกำลังภายหลังจากกินอิ่มๆ หรือการกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ที่สูง แต่ให้เปลี่ยนมาเดินขึ้นลงทางลาดแทน ระวังในวันที่มีอากาศร้อนหรืออบอ้าว เพื่อป้องกันภาวะเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรก และควรให้กินน้ำอย่างเพียงพอหลังจากการออกกำลังกายด้วย แต่สำหรับน้องหมาที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาคุณหมอถึงรูปแบบและวิธีการออกกำลังกายก่อนครับ
 

3. เลี้ยงน้องหมาไม่ให้อ้วน

 
     โรคอ้วนเป็นสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โรคหัวใจก็เช่นกัน น้องหมาที่กินเก่งๆ มากเกินความต้องการ ระบบ sympathetic จะถูกกระตุ้น ทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ (Congestive heart disease) ตามมา อีกทั้งเนื้อเยื้อไขมันยังไปแทรกตามกล้ามเนื้อหัวใจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง เจ้าของจะต้องเลี้ยงน้องหมาไม่ไห้อ้วน ด้วยการลดปริมาณแคลอรี่ในอาหาร เน้นกินโปรตีนและกากใย ไม่ให้อาหารพร่ำเพื่อ แบ่งให้มื้อละน้อยๆ วันละ 2-4 มื้อ ออกกำลังกายทุกวัน เจ้าของต้องตั้งใจและใจแข็ง ไม่ให้ขนมคบเคี้ยว ให้แต่อาหารในชามเท่านั้น ในสุนัขที่มีปัญหาโรคอ้วนควรปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยด่วนครับ

Dogilike.com :: 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา

4. ให้น้องหมากินอาหารดี

 
     คำว่า “อาหารดี” ในที่นี้ไม่ใช่อาหารที่มีราคาแพงหรือทำจากวัตถุดิบชั้นยอด แต่เป็นอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยและสายพันธุ์ ประกอบด้วยวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอต่อความต้องการ ในสุนัขกลุ่มเสี่ยงหรือรายที่ขาด อาจต้องเสริมแอลคาร์นิทีนและทอรีนซึ่งเป็นสารอาหารบำรุงกล้ามเนื้อหัวใจตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เสริมแคลเซียม วิตามินดี วิตามินบี แมกนีเซียม โคเอนไซม์คิวเทน กรดไขมันโอเมก้า 3 และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี ซิลีเนียม ฯลฯ เพื่อช่วยในการทำงานและช่วยชะลอความเสื่อมของหัวใจ ตลอดจนหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง (อาหารรสเค็ม) เจ้าของต้องหันมาใส่ใจอ่านฉลากศึกษาส่วนประกอบของอาหาร ว่ามีสารอาหารอะไรบ้าง รวมถึงคำนวณปริมาณการให้ที่เหมาะสม โดยแบ่งให้อาหารเป็นมื้อ เพื่อป้องกันปัญหาโรคอ้วนที่จะตามมา หากให้อาหารพร่ำเพื่อมากเกินความต้องการ 
 

5. ป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจให้น้องหมา

 
     แม้ว่าปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคพยาธิหนอนหัวใจในบ้านเราจะลดลงกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะเจ้าของหันมาให้ความใส่ใจ ทำความรู้จักและป้องกันโรคนี้ในกับสุนัขของตัวเองกันมากขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดโรคนี้ให้หมดได้ เพราะยังคงมีรายงานการระบาดและตรวจพบในสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอยู่นอกบ้านกันอยู่ กอปรกับบ้านเรามีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น จึงเป็นที่อยู่ที่เหมาะสมของยุง ซึ่งเป็นพาหะตัวสำคัญที่ทำให้โรคนี้ อีกทั้งตัวอ่อนยังสามารถติดต่อผ่านทางรกมายังลูกในท้องได้ด้วย
 
     ดังนั้นน้องหมาที่ไม่ทราบประวัติและไม่เคยได้รับยาป้องกันมาก่อน หรือได้รับยาป้องกันแต่ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงลูกสุนัขที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเพื่อคัดกรองโรคนี้ก่อน เพราะหากเป็นจะได้วางแผนในการรักษาต่อไป แต่ถ้าตรวจไม่พบก็เข้าโปรแกรมป้องกันได้ ในการป้องกันเราควรทำอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งรูปแบบกิน รูปแบบฉีด หรือแบบหยอดหลัง ทุกๆ 1-2 เดือน หรือปัจจุบันที่มีรูปแบบการฉีดแบบรายปีแล้ว ช่วยให้เจ้าของสะดวกมากยิ่งขึ้นครับ 

Dogilike.com :: 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา

6. ดูแลสุขภาพช่องปากให้น้องหมาเป็นประจำ

 
     ปัญหาสุขภาพช่องปากไม่ได้ส่งผลแค่เพียงช่องปากเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงปัญหาสุขภาพของหัวใจด้วย อย่างโรคลิ้นหัวใจอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนจากช่องปากเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปก่อให้เกิดการอักเสบที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจสูญเสียการทำหน้าที่ สุนัขที่มีปัญหาช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ มีคราบหินปูน หรือโรคทางปริทันต์ต่างๆ จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบมากขึ้นถึง 6 เท่า ดังนั้นการดูแลช่องปากอย่างถูกต้องและต่อเนื่องจะช่วยลดการแพร่เชื้อดังกล่าวได้ครับ
 

7. พาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์สม่ำเสมอ

 
     ปกติน้องหมาทุกตัวควรพบสัตวแพทย์และได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยทุก  6 เดือนกันอยู่แล้ว แต่สำหรับน้องหมากลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในวัยชราอายุมากกว่า 6-8 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น นอกจากเจ้าของจะพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือนแล้ว เจ้าของควรต้องใส่ใจและสังเกตอาการต่างๆ ด้วย เช่น ไอเรื้อรัง หอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ท้องกาง ฯลฯ ว่ามีหรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าน้องหมาอาจกำลังเป็นโรคหัวใจได้ ถ้ามีควรต้องรีบพาไปตรวจ ในการต้องสุขภาพน้องหมาที่มีอายุมาก อาจต้องได้รับการตรวจสุขภาพที่ละเอียดมากขึ้น เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ระดับโปรตีนในเลือด ถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) ช่องอกหรือช่องท้อง การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจอื่นๆ ตามความเหมาะสมครับ

Dogilike.com :: 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา

     ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับกับ 7 วิธีเทคแคร์หัวใจให้น้องหมา เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสาย การดูแลสุขภาพของหัวใจน้องหมาอย่างถูกวิธี นอกจากจะช่วยชะลอความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจให้น้องหมาได้แล้ว ยังช่วยให้เค้ามีสุขภาพกายและสุขภาพใจแข็งแรงขึ้นด้วย เราเอาเค้ามาเลี้ยงแล้ว รักเค้าแล้ว ก็ต้องหมั่นดูแลหัวใจให้กันด้วยนะครับ เพื่อที่เค้าจะได้มีชีวิตอยู่กับเราไปได้นานๆ
 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
รูปภาพประกอบ:
www.fistofblog.com 
www.talesandtails.com
www.ah.novartis.com
www.pets.thenest.com
www.healthypets.mercola.com
www.dogs.lovetoknow.com