โดย: Tonvet
10 โรคร้าย ที่ทำให้น้องหมาต้องกลายเป็น อัมพาต
มาทำความรู้จักกับโรค ที่อาจทำให้น้องหมาของเราต้องเป็นอัมพาตกัน
13 มีนาคม 2556 · · อ่าน (410,703)จะเป็นอย่างไรครับ ถ้าจู่ ๆ น้องหมาที่เคยซุกซนร่าเริง กลับเดินไม่ได้ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่วันก่อนยังเดินได้เป็นปกติอยู่เลย ลองพยุงให้ลองเดิน ก็ล้มทั้งยืน ขาอ่อนแรงจนไม่สามารถยืนทรงตัวได้ ทุกคนคงจะสงสัยใช่มั้ยครับว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับน้องหมาของเรากันแน่ จะใช่จะอุบัติเหตุหรือเปล่า หรือน้องหมาไปได้รับสารพิษที่ไหนมา หรือว่าอาจเป็นเพราะน้องหมากำลังป่วยด้วยโรคอะไรบางอย่าง เก็บข้อสงสัยเหล่านี้ไว้ครับ แล้วตามผมมา เพราะวันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ 10 โรคร้าย ที่ทำให้น้องหมาต้องกลายเป็นอัมพาต มาดูกันครับ ว่ามีโรคอะไรบ้าง
1. โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc disease ; IVDD)
หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง คอยรองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเวลาที่ร่างกายเคลื่อนไหว หากเราเอาหมอนรองกระดูกสันหลัง มาหันเป็นแว่นๆ (ภาพตัดขวาง) ก็จะเห็นเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอก จะเป็นกระดูกอ่อน เรียกว่า Anulus fibrosus และชั้นใน ซึ่งเป็นเจลลาติน เรียกว่า nucleus pulposus
โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง (IVDD) แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Hansen type 1 ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกอ่อนชั้นนอกปิดไม่สมบูณ์ หรือเกิดการแตกจากแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวที่หนักๆ จึงทำให้เจลลาตินชั้นใน ไปกดเบียดช่องไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดและเป็นอัมพาต ซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์เล็กหรือพันธุ์หน้าสั้น อายุ 2-9 เดือน กับอีกชนิด คือ Hansen type 2 เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนชั้นนอก ทำให้เกิด metaplasia ขึ้นไปกดเบียดช่องไขสันหลัง ทำให้น้องหมาเกิดเป็นอัมพาตได้เช่นกัน ซึ่งมักพบในสุนัขแก่อายุ 5-12 ปีขึ้นไปครับ
2. โรคมะเร็งและเนื้องอก
โรคมะเร็งหรือเนื้องอกในระบบประสาทของสุนัข สามารถพบได้หลายตำแหน่ง เช่น สมอง กระดูกสันหลัง ไขสันหลัง เยื่อหุ้มสมอง หรือเส้นประสาท ซึ่งอาจจะมีต้นกำเนิดจากเซลล์ในระบบประสาทเอง หรือแพร่กระจาย (metastasis) มาจากตำแหน่งหรืออวัยวะอื่น ๆ ก็ได้ ลักษณะของอาการขึ้นกับตำแหน่งของรอยโรค เช่น มะเร็งที่ไขสันหลัง (Spinal tumor) มักจะไปกดเบียดช่องไขสันหลัง ทำให้น้องหมาเจ็บปวดและเป็นอัมพาต (คล้ายกับ โรค IVDD ที่ได้กล่าวไป) ส่วนใหญ่จะพบในน้องหมาแก่ อายุตั้งแต่ 6-10 ปีขึ้นไปครับ
3. โรคไขสันหลังเสื่อม (Degenerative myelopathy)
โรคนี้พบได้บ่อยในสุนัขแก่อายุมากกว่า 6-9 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด เวลซ์-คอร์กี้ และบ๊อกเซอร์ เกิดจากความเสื่อมของไขสันหลัง เยื่อหุ้มไมอีลิน และแอกซอน (axon) ทำให้น้องหมามีอาการเดินเซ ขาหลังอ่อนแรง เดินลากขา เป็นอัมพาต และในรายทีเป็นเรื้อรังอาจทำให้กล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อด้านข้างของกระดูกสันหลังฝ่อลีบได้ ผลการศึกษาพบว่า การกลายพันธุ์ของยีน superoxide dismutase 1 (SOD1) อาจเป็นสาเหตุของโรคไขสันหลังเสื่อมในสุนัขได้
4. การบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง (Injury to the spine)
กระดูกสันหลังเป็นส่วนที่สำคัญและค่อนข้างเปราะบาง บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยหรือแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวรุนแรง ก็เป็นเหตุให้กระดูกสันหลังเกิดการบาดเจ็บได้ กระดูกสันหลังที่เกิดการแตก หัก เคลื่อนผิดตำแหน่ง ทำให้ผิดรูป ฯลฯ เป็นเหตุให้น้องหมาเจ็บปวด ก้าวเดินผิดปกติ อ่อนแรง และเป็นอัมพาตได้ครับ
5. โรคติดเชื้อในระบบประสาท
การติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ที่ส่งผลต่อระบบประสาท แล้วทำให้สมอง ไขสันหลัง เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังเกิดการอักเสบ อาจเป็นสาเหตุให้น้องหมาเป็นอัมพาตได้ เชื้อที่เราพบได้บ่อยๆ ได้แก่ Rabies virus (โรคพิษสุนัขบ้า), Canine distemper virus (โรคไข้หัดสุนัข) ,Brucella canis (โรคแท้งติดต่อในสุนัข) , Staphylococcus aureus ฯลฯ หากมีการติดเชื้อเหล่านี้ นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องหมาอาจเป็นอัมพาตได้แล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร ฯลฯ แตกต่างกันไปตามแต่สาเหตุที่เป็น ซึ่งเราสามารถทราบได้เบื้องต้น จากการตรวจเลือดและตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลังครับ
6. โรคอัมพาตจากเห็บในสุนัข (Tick paralysis)
เห็บที่ว่าร้ายนำโรคพยาธิในเม็ดเลือดมาติดน้องหมาแล้ว ยังนำพาความอัมพาตมาสู่น้องหมาด้วย โรคอัมพาตจากเห็บในสุนัขนี้ พบได้บ่อยพอๆ กับเห็บ เกิดจากการที่เห็บปล่อยสารพิษ neurotoxin ที่มีอยู่ในน้ำลายออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้ขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน เกิดเป็นอัมพาตแบบกระทันหัน โดยเฉพาะขาหลัง พบในเห็บบางชนิด เช่น Ixodes , Dermacentor , Amblyomma และ Rhipicephalus ความรุนแรงขึ้นกับความไวรับของพิษในร่างกาย ปริมาณของพิษ อายุของสุนัข และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย พิษจะเข้าไปรบกวนการทำงานของอะซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ทำให้ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทสั่งการ ช่วงแรกอาจพบขาหลังก้าวย่างไม่สัมพันธ์กัน เห่าไม่มีเสียง (กล่องเสียงเป็นอัมพาต) ทำท่าขากๆ ราวกับจะขย้อนหรืออาเจียน อัตราการหายใจผิดปกติ ต่อมาขาเริ่มอ่อนแรง ไม่มีแรงลุก และเป็นอัมพาตในทีสุด โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดยาหรือหยอดยา เพื่อป้องกันเห็บให้สุนัขเป็นประจำทุก 1-2 เดือนครับ
7. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis ; MG)
เป็นโรคที่เกิดจากที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี (antibody) ขึ้นมาขัดขวางการรับสัญญาณของสารสื่อประสาทชนิดอะซิติลโคลีน (Acetylcholine) ทำให้ระบบประสาทไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ จึงเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้ตามที่ใจต้องการ บางครั้งอาจพบ อาการกลืนลำบาก ลำลักอาหาร และอาเจียนในบางราย เนื่องจากมีปัญหาหลอดอาหารขยายใหญ่ (megaesophagus) ร่วมด้วย การจะทราบว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ทราบได้จากการเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อตัวรับของอะซิติลโคลีน (Anti-Acetycholine Receptor Antibody Test) ในปัจจุบันยังไม่การรักษาให้หายขาดในสุนัข ทำได้แค่เพียงให้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา
8. Wobblers syndrome
เกิดจากการเจริญที่ผิดรูปของกระดูกสันหลังบริเวณส่วนของลำคอ จนไปกดเบียดหรือไปทำความเสียหายให้กับไขสันหลัง เส้นประสาท และเส้นเลือดที่มาเลี้ยง (ทำให้เกิดจากขาดเลือด) ส่งผลให้น้องหมาเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนลำคอ เดินแบบ wobbly gait คือ เดินโงนเงนไปมา (เป็นที่มาของชื่อโรค) และเป็นอัมพาต ส่วนใหญ่จะพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น โดเบอร์แมน เกรทเดน ฯลฯ ที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี
9. Fibrocartilaginous embolism
เป็นภาวะที่เกิดจากการอุดตัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เจลหรือเยลลี ภายในหมอนรองกระดูกสันหลัง ที่เราเรียกว่า nucleus pulposus เกิดการหลุดลอกแล้วล่องลอยไปตามกระแสเลือด เข้าไปอุดตันหรือขัดขวางการนำเลือดไปเลี้ยงในไขสันหลัง ทำให้การนำส่งของสัญญาณประสาทเสียไป อาจทำให้ไขสันหลังขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นอัมพาตขึ้นมาแบบกะทันหัน โดยมากมักจะอุดตันแถวบริเวณส่วนสะโพก ทำให้เป็นอัมพาตที่ขาหลัง อาจจะเป็น 1 หรือ 2 ข้างก็ได้ ซึ่งอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ไปอุดตัน เช่น ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้ เจ็บปวด ฯลฯ มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่และพบได้ทุกวัย แต่หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภายใน 24 ชั่วโมง ก็มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้
10. Myelomalacia
เป็นการที่เซลล์หรือเนื้อเยื่อของกระดูกสันหลังเกิดการตาย จากการขาดเลือดมาเลี้ยง โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการที่กระดูกสันหลังได้รับแรงกระแทกหรือถูกกดเบียด ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายหรือถูกทำลาย ส่งผลให้เป็นร่างกายน้องหมาเป็นอัมพาต (โดยเฉพาะขาหลัง) และทำให้เสียชีวิตได้ สามารถพบโรคนี้ได้ในสุนัขทุกพันธุ์ และที่สำคัญยังไม่มีวิธีในการรักษาครับ
น้องหมาที่เป็นอัมพาตนอกจากจะเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้แล้ว อาจมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ไม่สามารถพลิกตัวเองได้ ฯลฯ เราจำเป็นต้องสละเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด และช่วยน้องหมาในเรื่องต่างๆ หากไม่สามารถปัสสาวะได้เอง เราต้องช่วยบีบฉี่ให้ โดยกดที่บริเวณช่องท้องน้อย ที่ตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะเบาๆ ทุก 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบ เราต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาดตัวน้องหมา รวมถึงสิ่งที่ปูรองนอนทุกวัน กำจัดเห็บหมัดทั้งบนตัวและสิ่งแวดลอมให้ดี หาเบาะนุ่ม ๆ ให้นอน ป้องกันการเกิดแผลกดทับ พลิกตัวบ่อย ๆ ทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาของปอด ที่สำคัญต้องหมันทำกายภาพให้น้องหมาด้วย เพื่อป้องกันปัญหากล้ามเนื้อฝ่อลีบจากการไม่ได้ใช้อวัยวะด้วยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
เอกสารประกอบการเรียนรายวิชา เวชศาสตร์สัตว์เลี้ยง
อ.สพ.ญ.ดวงทิพย์ ฉัตรชัยศักดิ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.buzzle.com/articles/paralysis-in-dogs.html
http://www.merckvetmanual.com/
รูปภาพประกอบ:
www.epubbud.com
www.treeoflifevet.ca
www.sciencedirect.com
www.vcsmilfordblog.blogspot.com
www.fvmace.org
www.medical-dictionary.thefreedictionary.com
www.globalanimal.org
SHARES