โดย: Tonvet

ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

มาทำความเข้าใจกับการรักษามะเร็งในสุนัขด้วยวิธีเคมีบำบัดและข้อปฏิบัติที่ควรต้องรู้

20 มีนาคม 2556 · ชอบ  (2)
  • พริกขี้หนู
  • MooPuy
  • ชอบสิ่งนี้
· แสดงความคิดเห็น (2) · อ่าน (63,530)
934

SHARES


934 shares

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม


     การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า การทำคีโม นั้น เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งแนวทางหนึ่ง นอกเหนือจากการรักษาทางด้านศัลยกรรม (การผ่าตัด) การฉายรังสี หรือการรักษาทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ เช่น Immunotherapy, Herbal therapy ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีที่เราให้ยาเคมีเข้าไปจัดการไม่ให้เซลล์มะเร็งเติบโตหรือทำให้เซลล์มะเร็งตายไป โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ของกลุ่มของยา แต่กล่าวโดยสรุปก็คือ ยานั้นจะเข้าไปออกฤทธิ์ในวงจรหรือระยะในวงชีพของเซลล์ ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดยั้งหรือชะลอการเจริญเติบโต หรือทำให้ไม่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว
 
     ซึ่งคุณหมออาจจะเลือกใช้วิธีการนี้ เป็นทางรักษาหลักหรือใช้เป็นการรักษาเสริมร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ  ก็ได้ และอาจจะเลือกใช้ยาเคมีเพียงตัวเดียว หรืออาจเลือกใช้ยาหลาย ๆ ตัวเข้ามาร่วมกันรักษาด้วยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ความรุนแรง (malignancy) ระยะ สภาพของสัตว์ป่วย ตลอดจนความพร้อมของเจ้าของด้วย

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

หลักในการพิจารณาเลือกใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

 
     ในเอกสารประมวลเรื่องการประชุมวิชาการบำบัดโรคสัตว์เลี้ยง ครั้งที่ 18 หรือ VRVC 2012 ได้มีการนำเสนอหัวข้อ Chemotherapy : an update โดย ศรัญญา พัวพลเทพ จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงข้อบ่งชี้ของการใช้ยาเคมีบำบัดรักษา ไว้ดังนี้ครับ
 
     1. ให้เพื่อรักษากลุ่มมะเร็งที่มีแนวโน้มตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดสูง เช่น มะเร็งกลุ่ม haematopoetic malignancies (Lymphoma, Leukemia, multiple myeloma) และมะเร็ง transmissible venereal tumor (TVT) 
     2. ให้ภายหลังจากการผ่าตัดมะเร็งเพื่อลดการแพร่กระจาย (micrometastasis) สำหรับมะเร็งบางชนิดที่มีแนวโน้มแพร่กระจายไปยังตำแหน่งอื่นได้สูง เช่น มะเร็งกระดูก (osteosarcoma) ซึ่งรูปแบบของการรักษาลักษณะนี้ เราเรียกว่า adjuvant therapy
     3. ให้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของมะเร็ง ที่เรียกว่า neoadjuvant therapy

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

     4. ให้เพื่อกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งมีความไวต่อรังสีรักษา ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายด้วยรังสีได้มากยิ่งขึ้น
     5. ให้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยลดขนาดและควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง บรรเทาการเจ็บปวด ซึ่งเกิดขึ้นจากขนาดของก้อนมะเร็ง
 
     รวมถึงใช้รักษามะเร็งบางชนิดหรือบางตำแหน่ง ที่ไม่สามารถใช้วิธีทางอื่น ๆ ในการรักษาได้ จึงจำเป็นต้องเลือกใช้การรักษานี้ ดังนั้นก่อนการจะเลือกใช้วิธีเคมีบำบัด คุณหมอจะต้องทราบให้ได้ก่อนว่า น้องหมากำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดใดครับ
 

วิธีการให้ยาเคมีบำบัดในสุนัข

 
     อย่างที่ได้กล่าวไปครับว่า การให้เคมีบำบัดนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของมะเร็งและระยะที่น้องหมาเป็น ซึ่งจะมีสูตร (Protocols) ในการรักษาอยู่แล้วว่า มะเร็งชนิดนี้ ต้องใช้ยาอะไร ให้ทางไหน กี่ครั้ง ระยะเวลานานเท่าไหร่ ฯลฯ ซึ่งรูปแบบก็มีทั้งรูปแบบกิน ฉีด และผสมกับสารน้ำ (น้ำเกลือ) แล้วให้เข้าทางเส้นเลือด น้องหมาจะต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนจะได้รับการรักษา เพื่อดูว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ในการรับยาเคมีบำบัด และหลังจากได้รับแล้วในช่วง 48-72 ชั่วโมงแรก ก็ควรต้องได้รับการดูแลอย่าใกล้ชิดเช่นกัน และบางครั้งอาจจำเป็นต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักและซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาในครั้งต่อไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควรต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวน้องหมาด้วย

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเคมีบำบัดในสุนัข

 
     เนื่องจากการใช้ยาเคมีบำบัดที่ให้ อาจจะไปทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติได้ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตตลอดเวลา เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์ลำไส้ ฯลฯ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่ไม่พึงประสงค์ตามมาได้ ในสุนัขมักมีผลไปกดการทำงานของไขกระดูก (myelosuppression) และในสุนัขบางพันธุ์ เช่น Collie, Cocker spaniel, Old English sheepdog ฯลฯ มักไวต่อยาเคมีบำบัดมาก ทำให้เกิดผลข้างเคียงแบบเฉียบพลัน (acute adverse reaction) ได้ง่าย จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับความผิดปกติไม่พึงประสงค์ ที่สามารถพบได้หลังจากได้รับยาเคมีบำบัด ได้แก่ 
 
     1. ความเป็นพิษต่อระบบเลือด สามารถพบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ในสุนัขเลยครับ เป็นผลมากจากยาเคมีบำบัดจะเข้าไปกดการทำงานของไขกระดูก การสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ จึงผิดปกติ เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้น้องหมามีร่างกายอ่อนแอลง และติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นในการรับยาเคมีบำบัด สุนัขควรได้รับการตรวจเลือดอย่างละเอียดทั้งก่อนและหลังให้ทุกครั้ง 

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

     2. ความเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีผลต่อระบบทางเกิดอาหาร อาจทำให้เกิดลำไส้อักเสบ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนได้
     3. ความเป็นพิษต่อระบบผิวหนัง อาจทำให้ไปชะลอหรือยับยั้งการเจริญของขน อาจทำให้ขนร่วง ผิวหนังเกิดเม็ดสีมากขึ้น (hyperpigmentation) หรือเกิดแผลเนื้อตายในบริเวณที่ทำการให้ยา
     4. ความเป็นพิษต่อหัวใจ ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีผลต่อหัวใจ เช่น Doxorubicin ทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เกิดความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองโต (Dilated Cardiomyopathy; DCM) ได้ หากได้รับเป็นเวลานาน

     นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบอื่น ๆ ได้อีก เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ ไต ตับ ตับอ่อน ระบบประสาท และอาจทำให้เกิดการแพ้หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity reaction) ซึ่งอาจทำให้การอาการผื่นแดง กระวนกระวาย  อาเจียน และท้องเสียได้ เราจึงควรที่จะต้องสอบถามกับคุณหมอด้วยว่ายาเคมีบำบัดที่คุณหมอให้ไปนั้น จะเกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง เพราะยาแต่ละตัวส่งผลกระทบไม่เหมือนกัน

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

การดูแลน้องหมาหลังได้รับยาเคมีบำบัด

 
     ในช่วง 48-72 ชั่วโมงแรก หลังได้รับยาเคมีบำบัด เป็นช่วงที่มีความสำคัญ น้องหมาควรได้รับการดูแลและเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เราจึงควรปฏิบัติ ดังนี้
 
     - ให้สังเกตดูด้วยว่า ตำแหน่งที่คุณหมอให้ยาไปนั้น มีการบวม แดง อักเสบ หรือมีรอบไหม้หรือเปล่า ถ้ามีต้องรีบโทรแจ้งคุณหมอโดยทันที
     - หากน้องหมามีอาการอาเจียน อย่าเพิ่งรีบป้อนน้ำหรืออาหาร ให้สังเกตอาการต่อไปก่อน ถ้าไม่มีอาเจียนอีก จึงค่อยทยอยป้อน โดยเริ่มจากน้ำและอาหารอ่อน ๆ  ก่อน ให้ในปริมาณน้อย ๆ แต่หากพบว่าน้องหมามีอาเจียนมากกว่า 3  ครั้งต่อวัน ควรรีบพาไปหาคุณหมอ
     - หากน้องหมามีอาการท้องเสียให้ดูด้วยว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร ภายหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด อาจพบอาการท้องเสีย บางครั้งอาจมีมูกเลือดปนออกมาได้บ้าง ไม่ต้องตกใจ แต่ถ้าพบมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ก็ควรต้องรีบพาไปหาคุณหมอเช่นกัน
     - เราควรมีเทอร์โมมิเตอร์ติดบ้านไว้ใช้ส่วนตัวสำหรับน้องหมา เพื่อคอยวัดดูอุณหภูมิของร่างกายทุก 6-8 ชั่วโมง ว่ามีอุณหภูมิปกติหรือไม่ ซึ่งอุณหภูมิปกติของสุนัขควรอยู่ที่ 101-102.5 องศาฟาเรนไฮต์

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

     - น้องหมาอาจมีอาหารซึมหรือเบื่ออาหารได้บ้าง แต่ไม่ควรนานเกิน 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
     - อย่าให้น้องหมาเลียหรือเกาบริเวณที่คุณหมอได้ให้ยาไป ถ้าเป็นไปได้ควรให้สวมเสื้อหรือสวมปลอกคอกันเลียไว้
     - ควรแยกเด็กเล็กและสัตว์ตัวอื่น ๆ ให้อยู่คนละบริเวณกับน้องหมาที่ได้รับยาเคมีบำบัดมา
     - น้องหมาควรมีของใช้ส่วนตัว โดยแยกอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ  เช่น เบาะนอน ชามอาหาร ชามน้ำ ของเล่นต่าง ฯลฯ ของน้องหมากับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ และทำความสะอาดทุกครั้งด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปหรืออาจใช้น้ำยาฟอกขาวในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ก็ได้
     - จัดเก็บกรงหรือที่ที่น้องหมาอยู่ แล้วทำความสะอาดให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้เลอะเทอะอุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งที่อาเจียน ตลอดจนสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของน้องหมา
     - เจ้าของต้องใส่ถุงมือยางหนา ๆ ทุกครั้งที่ต้องสัมผัสกับตัวน้องหมา อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งที่อาเจียน ตลอดจนสารคัดหลั่งต่าง ๆ และอุปกรณ์ส่วนตัวของน้องหมาด้วย ที่สำคัญเราต้องอย่าลืมที่จะล้างมือทุกครั้งด้วยนะครับ

Dogilike.com :: ข้อควรรู้เมื่อสุนัขป่วยเป็นมะเร็งต้องทำคีโม

     - ควรห่ออุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งที่อาเจียน และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในถุงหนา 2 ชั้น ก่อนทิ้งลงถังขยะ
     - ในช่วง 48-72 ชั่วโมงนี้ ห้ามคนหรือสัตว์ที่ตั้งท้อง กำลังให้นมลูก มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็ก ทารก คนหรือสัตว์ชรา สัมผัสกับตัวน้องหมาโดยเด็ดขาด
     - อาการต่อไปนี้ คือ อาการฉุกเฉินหลังจากได้รับยาเคมี ที่เราต้องเฝ้าสังเกต ได้แก่ เหงือกสีซีด เหงือกสีม่วงคล้ำ หายใจลำบาก ใช้ช่องท้องหายใจ มีอาการชัก มีไข้สูงมากกว่า 104 องศาฟาเรนไฮต์ ฯลฯ หากพบต้องรีบพาไปหาคุณหมอโดยด่วน ดังนั้นเราจึงควรมีเบอร์ติดต่อกับคุณหมอหรือโรงพยาบาล และมีสถานพยาบาลสำรองใกล้บ้านไว้ช่วยน้องหมา หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น 
 
     หลายคนอาจจะมองภาพว่าการทำคีโมเป็นเรื่องน่ากลัว มีผลข้างเคียงสูง แต่ผมอยากให้เราทำความเข้าใจกันก่อนว่า การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดนั้น ก็เป็นการรักษาวิธีการหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นในบางกรณี อย่าเพิ่งตีโพยตีพายต่อต้านการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ศึกษาข้อมูลและสอบถามกับคุณหมอให้เข้าใจเสียก่อน เพราะอย่างที่เรา ๆ ทราบกันดีว่า การรักษาโรคมะเร็งนั้น บางอย่างก็หาย บางอย่างก็ไม่หาย แต่เราช่วยชะลอไม่ให้มะเร็งลุกลามเร็วว่าที่ควรได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม ที่สามารถช่วยให้น้องหมาของเรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และสามารถอยู่กับเราไปได้นาน ๆ ได้ ก็ควรที่จะต้องทำครับ
 

 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
ศรัญญา พัวพลเทพ. Chemotherapy: an update. 
ประมวลเรื่องการประชุมวิชาการบำบัดโรคสัตว์เลี้ยง ครั้งที่ 18: 13-16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
After your pet’s Chemotherapy: Safety at home. 
www.cliniciansbrief.com/for-your-clinic/100
 
รูปภาพประกอบ:
www.findavet.us
www.addl.purdue.edu
www.vetmed.tamu.edu
www.blog.nj.com
www.nature.com
www.makawaovet.com
www.goodhousekeeping.com
www.forexfactory.com