โดย: Tonvet
การผ่าตัดเปลี่ยนไตในสุนัข
ในสุนัขก็มีการปลูกถ่ายไตเหมือนกันนะ อยากรู้เป็นไง...มาดูกันเลยครับ
8 พฤษภาคม 2556 · · อ่าน (13,215)
เรื่องของการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อการรักษาโรคในคนนั้น เราอาจจะเคยได้ยินหรือเคยเห็นกันมาบ้าง แต่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในสัตว์ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามีเหมือนกัน ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1902 มีรายงานการทดลองปลูกถ่ายไตในสุนัขเป็นครั้งแรกโดย Dr. Emerich Ulmann ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หลังจากนั้นมาก็มีคนพยายามพัฒนาเทคนิควิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเรื่อยมา แต่ก็มักจะประสบกับปัญหาที่ภูมิคุ้มกันร่างกายของตนเอง เกิดการต่อต้าน (ปฏิเสธ) อวัยวะใหม่ ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะในช่วงแรกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จนมาในช่วงปี ค.ศ. 1972 เมื่อ Jean Borel ได้ค้นพบยา Cyclosporine ซึ่งช่วยลดและป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ที่ได้ปลูกถ่ายไป ช่วยให้คนและสัตว์สามารถใช้ชีวิตร่วมกับอวัยวะที่ปลูกถ่ายได้ดีขึ้น
ในช่วงราวกลางทศวรรษที่ 1980 สถาบัน The School of Veterinary Medicine at the University of California, Davis (UCD) ได้บุกเบิกและพัฒนาโปรแกรมการปลูกถ่ายไตในสัตว์ขึ้น ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จค่อนข้างดีในแมว แต่ในสุนัขกลับยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยยังมีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ สุนัขมีความแตกต่างหลากหลายทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการปฏิเสธไตที่ปลูกถ่ายให้ได้ง่าย หลังผ่าตัดเปลี่ยนไต จึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน แต่ผลจากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันดังกล่าวเป็นเวลานาน ทำให้สุนัขมีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง จนเป็นสาเหตุทำให้สุนัขที่ได้รับการปลูกถ่ายไตเสียชีวิตจากการติดเชื้อตามมาได้ จากการเก็บข้อมูลก็พบว่า สุนัขที่ผ่าตัดเปลี่ยนไตไปแล้ว ส่วนใหญ่จะมีชีวิตรอดอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ก็มีบางรายที่อยู่ได้นานเป็นเวลา 3-8 ปี โดยมีโอกาสประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตประมาณ 40 %
ดังนั้นการปลูกถ่ายไตในสุนัข จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยต้องหาไตจากสุนัขบริจาคให้ตรงกับสุนัขที่จะรับการปลูกถ่าย ซึ่งสุนัขที่บริจาคต้องมีอายุน้อยกว่า 6 ปี มีขนาดร่างกายพอ ๆ กับสุนัขที่จะรับการปลูกถ่าย (ถ้าเป็นพันธุ์เดียวกันด้วยก็จะดี) และต้องเป็นสุนัขที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดโรคติดต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่สามารถติดต่อผ่านทางเลือดได้ เช่น โรคพยาธิหนอนหัวใจ โรคพยาธิในเม็ดเลือด ฯลฯ มีประวัติการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยสุนัขที่บริจาคจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงตรวจทดสอบการเข้ากันได้ของเลือดเสียก่อน สุนัขที่บริจาคไต 1 ข้างไปแล้ว ยังคงสามารถให้ชีวิตอยู่กับไตอีกข้างต่อไปได้อย่างปกติ แต่ต้องเฝ้าคอยดูแลเรื่องสุภาพและประเมินการทำงานของไตอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ
ส่วนคุณสมบัติสุนัขที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตนั้น ต้องเป็นสุนัขที่ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีอายุน้อยกว่า 8 ปี (สำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่) และน้อยกว่า 10 ปี (สำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก) ไม่อยู่ในระยะติดเชื้อ (active infection) ไม่ได้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรือโรคที่มีความเสี่ยงที่อาจเสียชีวิตได้ในระหว่างการผ่าตัด เช่น โรคหัวใจวาย โรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ฯลฯ ที่สำคัญควรเป็นสุนัขที่ให้ความร่วมมือในการป้อนยาหรือฉีดยาเป็นอย่างดี เพราะหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไตไปแล้ว สุนัขจะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องตลอดไป รวมถึงต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพอยู่เป็นระยะ ๆ ตามที่คุณหมอกำหนด
สัตว์ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อนที่จะทำการผ่าตัดอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อเตรียมตัวปรับสภาพร่างกายให้พร้อม และได้รับยาต้านการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย โดยให้ล่วงหน้าอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดแล้ว ก็จะต้องพักรักษาตัวและเฝ้าสังเกตอาการต่อเนื่องที่โรงพยาบาลอีกอย่างน้อย 1-3 สัปดาห์ เพื่อรับยาฆ่าเชื้อ ยาต้านการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายอวัยวะ สารน้ำ และสารอาหารที่จำเป็น ฯลฯ รวมถึงการอัลตร้าซาวน์ดูเนื้อไตและหลอดเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานและการไหลเวียนของเลือด ว่าสามารถไปหล่อเลี้ยงยังไตใหม่ได้ดีหรือไม่ ตลอดจนดูการตีบตันของท่อไต (ureter) ด้วย เพราะหากเกิดการตีบตัน จะไม่สามารถส่งน้ำปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะได้ สำหรับสุนัขที่เกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่ที่ปลูกถ่ายให้ จะพบว่ามีอาการซึม มีไข้ ไม่กินอาหาร อาเจียน ฯลฯ
สำหรับค่าผ่าตัดเปลี่ยนไตในสุนัขนับว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้ ส่วนในสหรัฐอเมริกาสนนราคาอยู่ที่ $15,000 - $20,000 หรือประมาณราว ๆ 450,000-600,000 บาท นอกจากนี้เจ้าของยังต้องเสียค่ายากดภูมิคุ้มกัน ที่สุนัขต้องได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นประจำห้ามขาด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเอาการ นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว เจ้าของต้องดูแลเอาใจใส่ หมั่นป้อนยา และดูแลรักษาความสะอาด เพราะสุนัขที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เสี่ยงที่จะติดเชื้อตามมาได้ง่าย อาจต้องสละเวลาความสุขส่วนตัวไปบ้าง เพราะต้องพาสุนัขมาพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ประเด็นเรื่องการปลูกถ่ายไตในสัตว์ นับว่าเป็นเรื่องที่หลายคนยังถกเถียงกันอยู่ ว่าสมควรหรือไม่ ขัดต่อหลักจริยธรรมหรือไม่ อย่างในคนจะมีกฎเหล็กชัดเจนว่า ห้ามซื้อขายอวัยวะเด็ดขาด จะรับบริจาคได้ก็แต่ ผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตายไปแล้ว หรือหากยังมีชีวิตก็ต้องเป็นญาติสนิทใกล้ชิดที่สัมพันธ์กันทางสายเลือด หรือเป็นสามี-ภรรยาที่สมรสมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่ในสุนัขยังไม่มีการรับบริจาคอวัยวะหลังเสียชีวิตเหมือนอย่างในคน ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะรับบริจาคสุนัขที่มีอยู่ในบ้าน สุนัขที่เป็นพี่น้องกัน หรืออาจรับบริจาคจากสัตว์เลี้ยงในสถานสงเคราะห์ที่จะต้องถูกเมตตาฆาตร เนื่องจากไม่มีเจ้าของหรือคนรับอุปการะ โดยสุนัขที่บริจาคอวัยวะจะได้บ้านใหม่และรอดจากการถูกทำเมตตาฆาตรเป็นการตอบแทน ซึ่งถือเป็นการได้ต่อชีวิตให้กับสัตว์ 2 ตัวไปพร้อม ๆ กัน แต่วิธีการเช่นนี้ก็มีบางคนที่แอบไม่เห็นด้วยเหมือนกันครับ
สุนัขบูลเทอร์เรีย ผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต โพสโดย jobrienpheiffer สมาชิก youtube.com
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
Lillian R. Aronson. Chapter 151 Kidney transplant, Small Animal Critical Care Medicine. Missouri, 2009, Saunders an imprint of Elsevier Inc., p 651-655
http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&A=1349
http://www.pcvh.com/downloads/Canine%20Renal%20Transplant%20Information%20Sheet.pdf
รูปภาพประกอบ:
www.guardian.co.uk
www.arcazy.co.uk
www.dog-health-problems-online.com
www.rcskinclinic.com
SHARES