โดย: Tonvet

เสียง (เห่า) เปลี่ยน น้องหมาอาจป่วย...

เมื่อกล่องเสียงมีปัญหา ทำให้เสียง (เห่า) น้องหมาเปลี่ยนไป สาเหตุเกิดจากอะไร...มาดูกัน

15 พฤษภาคม 2556 · · อ่าน (43,962)
88

SHARES


88 shares

Dogilike.com :: เสียง (เห่า) เปลี่ยน น้องหมาอาจป่วย...


     “โฮ้ง..โฮ้ง ๆ” เสียงแบบนี้ใครที่ได้ยิน คงจะนึกถึงเสียงอื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจากเสียงเห่าของน้องหมา เสียงเห่าของน้องหมาเกิดจาก ลมที่ออกมาจากปอดผ่านกล่องเสียง (larynx) แล้วมากระทบยังเส้นเสียง (vocal cords) จนเกิดแรงสั่นสะเทือน กลายเป็นเสียงขึ้นมา โดยปกติแล้วสุนัขใช้เสียงเห่าเพื่อการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการเห่าเรียก เห่าตอบ เห่าเตือนภัย ฯลฯ ซึ่งจะมีรูปแบบของการเห่า โทนเสียง และลักษณะท่าทางที่ใช้แสดงออกจะแตกต่างกันไปในแต่ละความหมาย

     สุนัขแต่ละตัวจะมีเสียงเห่าเป็นของตัวเอง หากเราคุ้นชินกับเสียงเห่าสุนัขของเราดี ก็จะพอทราบได้ว่า น้องหมาตัวไหนกำลังเห่าอยู่ แม้ไม่ได้เห็นตัวก็ตาม การจำเสียงเห่าของน้องหมาได้ ก็เป็นประโยชน์ในแง่ของสุขภาพอยู่เหมือนกัน เพราะเสียงเห่าสามารถใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุแห่งการป่วยได้ เมื่อพบว่าสุนัขมีเสียงเห่าเปลี่ยนไป เช่น เห่าเสียงดังขึ้น เห่าเสียงแหบ เห่าเสียงแห้ง เห่าไม่มีเสียง ฯลฯ คล้ายกับเวลาที่คนเราเป็นหวัดไม่สบายแล้วมีเสียงแหบ ซึ่งโรคที่ทำให้น้องมีเสียงเห่าเปลี่ยนไปนั้น ก็มีด้วยกันดังนี้ครับ
 

Dogilike.com :: เสียง (เห่า) เปลี่ยน น้องหมาอาจป่วย...
 

1 โรคกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)


     กล่องเสียง (larynx) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำไหลเข้าสู่หลอดลม (trachea) ในขณะที่สุนัขกำลังกลืนอาหาร และทำให้เกิดเสียงเวลาที่สุนัขเห่าหรือร้องคราง เพราะในกล่องเสียงมีเส้นเสียง (vocal cords) อยู่ การอักเสบของกล่องเสียง ทำให้เส้นเสียงเกิดการบวม ส่งผลให้น้องหมาไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้อย่างปกติ นอกจากนี้ยังทำให้ไอ หายใจเสียงดัง หายใจลำบากได้ด้วย เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น น้องหมาจะเจ็บปวดบริเวณลำคอ จึงมีน้ำลายไหลออกมามาก และทำให้การกลืนลำบากด้วย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่น้องหมาเห่าหรือไอมากเกินไป มีการติดเชื้อแล้วเกิดการอักเสบในลำคอตามมา เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในลำคอ ได้รับการระคายเคืองจากฝุ่น ควัน และสารเคมีที่บริเวณภายในลำคอ หรือเป็นผลจากการสอดท่อในการพ่นยาสลบระหว่างการผ่าตัด  

     การรักษา : ในการรักษาจำเป็นต้องให้สุนัขได้รับยาแก้อักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ร่วมกับยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ยกเว้นในรายที่กล่องเสียงอักเสบและบวมมาก ๆ เราต้องการลดการบวม เพื่อป้องกันไม่ให้ไปปิดกลั้นทางเดินหายใจ อาจเลือกใช้ยาแก้อักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือ Corticosteroids แทน NSAIDs ร่วมกับการจัดการในด้านอื่น ๆ เช่น ให้กินอาหารอ่อนเพื่อให้กลืนได้ง่าย จัดให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ไม่มีฝุ่น ควัน และสารก่อความระคายเคืองต่าง ๆ ปรับสายจูงจากสายรัดคอมาเป็นสายรัดอกแทน สำหรับในรายที่หายใจลำบาก อาจต้องได้รับออกซิเจนหรือการพ่นยา และในรายที่มีอาการไอรุนแรง อาจต้องได้รับยาแก้ไอร่วมด้วยครับ
 

Dogilike.com :: เสียง (เห่า) เปลี่ยน น้องหมาอาจป่วย...
 

2 โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต (Laryngeal Paralysis)

    
     เมื่อเส้นประสาทที่ควบการทำงานและการเคลื่อนไหวของกล่องเสียงเกิดการเสียหายหรือถูกทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อของกล่องเสียงไม่ทำงานหรือทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการป่วยด้วยโรคบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis ) โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท ฯลฯ จึงทำให้กระดูกอ่อน (arytenoid cartilages) ของกล่องเสียง ไม่สามารถเปิดและปิดได้ตามปกติในระหว่างที่น้องหมาหายใจ เกิดการหย่อนตัวมาอุดกลั้นทางเดินหายใจส่วนต้น สุนัขที่เป็นโรคนี้จะมีเสียงเห่าเปลี่ยนไป หายใจเสียงดังหรือเสียง stridor (เสียงที่เกิดจากลมหายใจ ผ่านท่อทางเดินหายใจที่ตีบแคบ) หายใจเข้าลำบาก เหนื่อยง่าย บางครั้งอาจพบว่า มีการขย้อนหรืออาเจียนร่วมด้วย  

     โรคนี้มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือพันธุ์ใหญ่ยักษ์ ได้แก่ Labrador Retrievers, Golden Retrievers, Irish Setters, St. Bernards, Great Pyrenees ฯลฯ พบในสุนัขเพศผู้มากกว่าเพศเมีย โดยช่วงอายุที่พบเฉลี่ยอยู่ที่ 9.5- 12.2 ปี แต่ในสุนัขบางพันธุ์ อย่างเช่น Siberian Huskies, Bouviers des Flandres, Leonbergers, Bulldogs และ Dalmatians อาจเกิดได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรม (hereditary defect) จึงแสดงอาการได้ตั้งแต่อายุ 2-6 เดือน หากพบว่าเป็นโรคนี้ จะไม่แนะนำให้ใช้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์

     การรักษา : สำหรับการวินิจฉัยจะทำการวางยาสลบ แล้วทำการส่องกล้อง laryngoscope เข้าไปตรวจดูโครงสร้างของกล่องเสียง ในรายที่เป็นรุนแรง จะต้องทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดครับ
 

Dogilike.com :: เสียง (เห่า) เปลี่ยน น้องหมาอาจป่วย...
 

3 โรคกล่องเสียงตีบแคบ (Laryngeal collapse)

    
     โรคนี้เกิดจากการที่ส่วนกระดูกอ่อนของกล่องเสียงอ่อนตัวลง ทำให้รูปร่างของกล่องเสียงเสียไป จึงไปปิดกลั้นทางเข้าออกของอากาศ ซึ่งอาจเป็นผลตามมาจากโรคอื่น ๆ บริเวณลำคอที่เป็นเรื้อรังมายาวนาน ส่วนมากมักพบในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น อายุตั้งแต่  2 ปีขึ้นไป (อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบได้) ส่งผลให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ อาการจะคล้ายกับโรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต

     การรักษา : สามารถรักษาโดยการผ่าตัดเช่นกัน และทำร่วมกับการจัดการในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นควบคุมการออกกำลังกายไม่ให้หนักเกินไป ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนครับ  
 

4 โรคมะเร็งที่กล่องเสียง (Tumors of the Larynx)

   
     มะเร็งที่กล่องเสียงในสุนัข เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยเท่าไรนัก สาเหตุเกิดจากการที่สุนัขได้รับสารก่อมะเร็ง (carcinogen) เป็นเวลานาน ๆ เช่น ควันจากบุหรี่ที่เจ้าของสูบ รังสี เชื้อไวรัส สารเคมี ฯลฯ พบได้ในสุนัขอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป อาการที่เจ้าของสังเกตพบก็คือ สุนัขจะมีเห่าเสียงเปลี่ยน (เสียงแหบ) ลำคอบวมโต ไอ เหนื่อยง่าย หายใจเสียงดัง หายใจลำบาก กลืนลำบาก ปากอาจมีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกจากจูมกและปาก น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ฯลฯ

     การรักษา : การรักษาจะใช้ทั้งวิธีการผ่าตัด ใช้รังสีรักษา ให้เคมีบำบัด ฯลฯ ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่เป็น ซึ่งมะเร็งบางชนิดอาจต้องใช้การรักษาหลาย ๆ วิธีร่วมกันครับ

Dogilike.com :: เสียง (เห่า) เปลี่ยน น้องหมาอาจป่วย...


    เห็นไหมครับแค่เสียงเห่าเปลี่ยนไป ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยโรคร้ายต่าง ๆ ได้มากมาย ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของน้องหมาเป็นประจำ หากพบความผิดปกติได้เร็ว จะได้รีบทำการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะน้องหมาพูดไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา จะไปหาคุณหมอเองก็ไม่ได้ มีเพียงแต่เราเท่านั้นครับ ที่จะเป็นที่พึ่งให้เค้าได้

 



ลักษณะการทำงานของกล่องเสียงสุนัขปกติ
โพสโดย TheodoreVetHospital สมาชิก www.youtube.com




ลักษณะของกล่องเสียงในสุนัขที่เป็นโรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต
โพสโดย Roberto Bussadori สมาชิก www.youtube.com

 




อาการของสุนัขที่เป็นโรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต
โพสโดย sugarmagnolia619 สมาชิก www.youtube.com


 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
LESLEY G. KING. Textbook of Respiratory Disease in Dogs and Cats. 2004,
Elsevier (USA).p319-328 and p335-344
http://www.cliniciansbrief.com/column/category/column/capsules/laryngeal-paralysis-primer
http://www.merckmanuals.com/pethealth/dog_disorders_and_diseases/lung_and_airway_disorders_of_dogs/laryngitis_in_dogs.html
http://www.marvistavet.com/html/laryngeal_paralysis.html
 
รูปภาพประกอบ:
www.gloucester.nsw.gov.au
www.merckmanuals.com
www.drugs.com
www.petmd.com
www.askavetquestion.com