โดย: Tonvet
4 โรคกระจกตาที่พบได้บ่อยในน้องหมา
มาดูสาเหตุ วิธีรักษา และการป้องกันโรคกระจกตาที่พบได้บ่อยในน้องหมากันครับ
29 พฤษภาคม 2556 · · อ่าน (57,732)
ถ้าเปรียบหน้าต่างเป็นดั่งดวงตา กระจกตาก็คงเปรียบได้กับกระจกของบานหน้าต่าง ที่เป็นทางให้แสงผ่านเข้ามา ยิ่งกระจกตาใสเท่าไหร่ แสงก็ยิ่งผ่านเข้ามาได้ดีขึ้นเท่านั้น...
การที่กระจกบานนั้นมีการชำรุดขุ่นมัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น คุณภาพของเนื้อกระจกไม่ดีมาจากโรงงาน ขาดการถนอมดูแลบานกระจกปล่อยให้ฝุ่นจับ นกอึใส่ หรือมีใครเอาก้อนหินมาปาทำให้กระจกร้าวหรือทะลุ ฯลฯ เหล่านี้ย่อมทำให้คุณภาพการใช้งานของกระจกบานนั้นด้อยลงไป ซ้ำร้ายอาจไม่มีวันกับมาใช้งานได้อีกเลยก็เป็นได้ กระจกของดวงตาก็เช่นกัน วันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ โรคของกระจกตาที่พบได้บ่อยในน้องหมา กันครับ
โลกของกระจกตา
กระจกตาหรือตาดำ (cornea) เป็นส่วนประกอบของลูกตา ทำหน้าที่ยอมให้แสงผ่านและ สะท้อนแสงบางส่วน กระจกตาที่ดีควรมีความใส ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง ไม่มีเม็ดสี มีพื้นผิวเรียบ มีความชุ่มชื้นแต่ไม่ถึงกับแฉะ และไม่ควรมีน้ำมาสะสม กระจกตาจะเชื่อมต่อกับเยื่อตาขาว (Sclera) บริเวณรอยต่อเราเรียกว่า Limbus ปกติกระจกตามีความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่เห็นบาง ๆ อย่างนี้ กระจกตามยังสามารถแยกออกได้อีก 4-5 ชั้นเลยนะครับ
โดยชั้นนอกสุดเป็นฟิล์มของน้ำตา เรียกว่า Precorneal tear film ลักษณะเป็นเมือกบาง ๆ คลุมอยู่หน้าสุด (บางตำราจะไม่นับรวมชั้นนี้) ชั้นถัดมาเรียกว่า Epithelium เป็นส่วนที่ปกคลุมผิวของกระจกตา เป็นชั้นที่มีการแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา มีความหนาประมาณ 25-40 ไมโครเมตรเท่านั้น ชั้นที่ 3 เราเรียกว่า Stoma เป็นส่วนที่มีความหนามากสุดคิดเป็น 90% ของกระจกตาทั้งหมด ซึ่งความใสของกระจกตาก็มีที่มาจากชั้นนี้ เพราะมีการเรียงตัวของ collagen fiber ที่เป็นระเบียบนั่นเอง ชั้นที่ 4 เรียกว่า Descemet’s membrane เป็นชั้นที่มีความยืดหยุ่นสูง แต่จะหนาตัวเมื่อมีอายุมากขึ้น และชั้นสุดท้าย คือ Endothelium ทำหน้าที่ดูดน้ำออกจากกระจกตาและสร้างชั้น Descemet’s membrane ครับ
สาเหตุที่ทำให้กระจกตาป่วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระจกตามีมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิด ได้รับบาดเจ็บทางกายภาพหรือเคมี การติดเชื้อต่าง ๆ ความผิดปกติของภูมิคุ้มในร่างกาย ความเสื่อมตามวัย หรือเป็นผลที่เกิดตามมาจากโรคอื่นที่เป็นอยู่ สาเหตุเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดโรคของกระจกตาต่าง ๆ ตามมาได้
ผลที่ตามมาเมื่อกระจกตาป่วย
เมื่อได้รับความเสียหายหรือเกิดโรคขึ้นกับกระจกตา ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อโรค ทำให้โครงสร้างของกระจกตาเปลี่ยนไป นำมาซึ่งความผิดปกติหรือพยาธิสภาพที่เราสามารถสังเกตพบได้ จากกระจกตาที่เคยใสกลับกลายเป็นขุ่นมัวไป โดยมีสาเหตุมาจากการที่ มีการสร้างเส้นเลือดขึ้นที่กระจกตาจากที่ไม่เคยมี เพื่อนำพาเซลล์อักเสบเข้ามา ทำให้กระจกตาขุ่นมัวและเกิดเม็ดสีขึ้น มีการบวมน้ำที่กระจกตา เนื่องจากกระบวนการดูดกลับน้ำเสียไป เกิดมีน้ำมาสะสมในชั้น Stoma ทำให้กระจกตาขุ่นมัวและหนาตัวขึ้น มีการเกิดเม็ดสีที่กระจกตา โดยเกิดจากการเคลื่อนตัวของ melanocyte เข้ามาบริเวณที่มีการอักเสบ ทางเส้นเลือดที่สร้างขึ้นมา และการเกิดแผลเป็นที่กระจกตา อันเป็นผลจากการซ่อมแซมแผลที่กระจกตา ทำให้ collagen fiber ที่เคยเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ กลับเรียงตัวไม่เป็นระเบียบเหมือนเดิม
โรคของกระจกตา
ความผิดปกติของกระจกตาในน้องหมาก็คล้าย ๆ กับคนครับ แต่อาจจะต่างกันไปในเรื่องของรายละเอียดและวิธีการรักษา โรคต่อไปนี้เป็นโรคกระจกตาที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้างมาดูกันครับ
1. กระจกตาอักเสบ (Keratitis)
เป็นการอักเสบบริเวณตาดำ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับบาดเจ็บที่กระจกตา การระคายเคืองที่กระจกตา การติดเชื้อที่กระจกตา ฯลฯ การอักเสบของกระจกตาชั้นตื้น หรือ Superficial keratitis ทำให้กระจกตาขุ่น มีการสร้างเส้นเลือด นำพาเซลล์อักเสบเข้ามา หากเป็นเรื้อรังจะมีการเกิดเม็ดสีขึ้นที่กระจกตา ลักษณะเช่นนี้เราจะเรียกว่า Chronic superficial keratitis หรือ Pannus ซึ่งพบบ่อยในสุนัขพันธุ์เยอรมัน เชฟเฟิร์ด อายุ 3-5 ปี มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม โดยมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น แสงแดด ควัน ฝุ่นละอองเป็นตัวส่งเสริม
ถ้าพบตั้งแต่อายุยังน้อย การพยากรณ์โรคจะไม่ค่อยดีเท่าไร น้องหมาที่เป็นจะไม่เจ็บตา แต่อาจมีขี้ตามากขึ้น บางรายเป็นมาก ๆ อาจส่งผลต่อการมองเห็นได้ การรักษาอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน โดยหยอดตาด้วยยา Cyclosporine วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งอาจใช้หยอดร่วมกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (กรณีไม่มีแผลหลุม) ด้วยก็ได้ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมต่าง ๆ ด้วย เช่น การปกป้องดวงตาจากแสงแดด ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจต้องพิจารณาทำการผ่าตัดต่อไปครับ
2. แผลหลุมที่กระจกตา (Ulcerative keratitis)
เกิดจากการที่กระจกตาได้รับความเสียหาย จึงทำให้เกิดแผลมักเกิดร่วมกับกระจกตาอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมากมายไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การเกาตา ถูกกัด ถูกข่วน โดนสารเคมี ติดเชื้อโรคบางชนิด (เชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข) เป็นโรคหรือความผิดปกติอย่างอื่นมาก่อน เช่น มีหนังตาม้วนเข้า เป็นโรคตาแห้ง มีเส้นขนงอกผิดตำแหน่ง แล้วทำให้เกิดความเสียหายกับกระจกตา ก่อให้เกิดแผลหลุมตามมา
โดยสุนัขที่เป็นแผลหลุมที่กระจกตามักจะมีอาการเจ็บปวดตา กระพริบตาบ่อย หรี่ตา ไม่กล้าสู้แสง เยื่อตาขาวแดง (อักเสบ) บางรายอาจมีน้ำตาไหลมากขึ้นทำให้ตาแฉะ บางรายมีกระจกตาขุ่น บวมน้ำ มีเส้นเลือดมาเลี้ยงที่กระจกตา ทั้งนี้ความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับความลึกของแผลด้วย โดยคุณหมอจะทำการย้อมสีกระจกตาด้วยฟลูออเรสซีนเพื่อดูการติดสี (สีเขียวสะท้องแสง) โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้ครับ
ระดับที่ 1 แผลตื้น อาจได้รับความเสียหายแค่ชั้น Epithelium แบบนี้ทำการรักษาทางยา โดยใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดความเจ็บปวด ยังสามารถได้ผล หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นใน 7-10 วัน โดยสุนัขที่เป็นจะต้องสวมปลอกคอกันเลียตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเกาตา
ระดับที่ 2 แผลตื้นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย มักพบในสัตว์ที่มีอายุมาก
ระดับที่ 3 แผลลึก เป็นลักษณะบาดแผลลึกมากกว่า 1 ใน 3 ของความหนากระจกตา อาจใช้วิธีการรักษาทางยาเช่นเดียวกับระดับที่ 1 ก็ได้ แต่ต้องติดตามผลเป็นระยะ ๆ
ระดับที่ 4 แผลลึกแบบลุกลาม แบบนี้อาจต้องพิจารณาทำการผ่าตัดทำเย็บเยื่อบุตามาปิดแผล (conjunctival flap) หรือเย็บหนังตาที่สามมาปิดแผล (Third eyelid flap) เพื่อช่วยในการซ่อมแซมแผลร่วมด้วยอีกทาง
ระดับที่ 5 แผลทะลุ แบบนี้ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขแผลที่ทะลุอย่างเหมาะสม และทำการรักษาทางยาเพื่อควบคุมภาวะยูเวียอักเสบที่อาจทำให้สุนัขสูญเสียการมองเห็นได้
นอกจากการรักษาที่ได้กล่าวไปแล้ว เราควรจะต้องกำจัดสาเหตุหลักของการเกิดแผลหลุมด้วย เช่น ผ่าตัดแก้ไขหนังตาที่ม้วนเข้า รักษาโรคตาแห้งที่เป็น กำจัดขนตาที่ขึ้นผิดที่ เป็นต้น เจ้าของควรมีวินัย หยอดยาและป้อนยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ร่วมถึงอย่าลืมสวมปลอกคอกันเลียตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเกาตาด้วยครับ
3. โรคตาแห้ง (Keratoconjunctivitis sicca)
เป็นอีกหนึ่งโรคตาที่พบได้บ่อยในน้องหมาครับ เนื่องจากการปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอ สาเหตุอาจเกิดจากต่อมน้ำตาอักเสบ ต่อมน้ำตาเสื่อมตามอายุ ไม่มีต่อมน้ำตาแต่กำเนิด ความบกพร่องของภูมิคุ้มกันที่บริเวณดวงตา (เกิดจากโรค Autoimmune) ความเสียหายของเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของต่อมน้ำตา การติดเชื้อเรื้อรัง โรคผิวหนังรอบดวงตา ฯลฯ ทำให้น้ำตาที่มีหน้าที่หล่อลื่นกระจกตาไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระจกตาตามมา
น้องหมาที่เป็นโรคตาแห้งจะมีขี้ตาเขียวเกรอะกรัง น้ำตาเหนียวข้น กระจกตาขุ่น หากมีแผลหลุมร่วมด้วยจะพบว่ามีอาการปวดตา หรี่ตา หรือกระพริบตามากกว่าปกติ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดได้เลยครับ ในการตรวจคุณหมอจะทำการวัดปริมาณน้ำตาทั้งสองข้างด้วยแผ่นตรวจวัดน้ำตา Schirmer tear test (STT) ใน 1 นาที สุนัขที่ปกติต้องมีระดับน้ำตาไม่น้อยกว่า 10-15 มิลลิเมตร
สำหรับการรักษาเจ้าของต้องหมั่นทำความสะอาดดวงตา ขจัดคราบขี้ตาเกรอะกรังออก ร่วมกับการรักษาด้วยยาหยอดตาหลัก ๆ มี 3 ชนิด คือ น้ำตาเทียม ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา และยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ โรคนี้เป็นแล้วอาจไม่หายขาด แต่เราสามารถควบคุมอาการได้ ในน้องหมาบางตัวจะต้องได้รับตาเหล่านี้ไปตลอดชีวิต แต่หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาทำการผ่าตัด โดยทำการย้ายท่อน้ำลายมาเปิดที่หางตา (Parotid duct transposition) เพื่อให้น้ำลายมาหล่อลื่นกระจกตาแทนน้ำตาครับ
4. โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal dystrophy)
โรคนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในรายที่เป็นจะพบกระจกตาขุ่นขาว วาว คล้ายเกิดผลึกที่กระจกตา สะท้อนแสงได้ ถ้าเกิดจากการที่มีไขมันมาสะสมในชั้น Epithelium หรือ Stoma จะเรียกว่า Corneal lipidosis หรือ Lipid keratopathy มักพบในรายที่มีคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูง อาจพบได้ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ สุนัขบางพันธุ์มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้สูง เช่น คอลลี่ บิฌองฟิเซ่ คอกเกอร์ สเปเนียล บีเกิล ซามอยด์ โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ไซบีเรียน ฮัสกี้ เป็นต้น โรคนี้สามารถทำให้เกิดการบวมน้ำที่กระจกตาตามมาได้ ซึ่งอาจไปรบกวนต่อการมองเห็น และบางครั้งอาจพบโรคนี้ในน้องหมาที่เป็นโรคทางระบบอื่น ๆ แล้วมีผลต่อสมดุลของไขมันและแคลเซียม จึงเกิดการสะสมของสารเหล่านี้ที่กระจกตา
การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาไปตามสาเหตุ หวังผลเพื่อลดอาการและควบคุมการสะสมของไขมันหรือแคลเซียมที่กระจกตา โดยอาจใช้ตัวจับกับแคลเซียม (calcium binder) เพื่อลดการไปสะสม ร่วมกับน้ำตาเทียม และยาปฏิชีวนะ ในรายที่มีคอเลสเตอรอลสูง ต้องจำกัดอาหารประเภทไขมัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไขมันในเลือดสูงเกินไป สำหรับสุนัขที่เป็นโรคนี้ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ต่อไปในรุ่นลูกครับ
แนวทางป้องกันโรคกระจกตาในสุนัข
การป้องกันโรคกระจกตานั้น ก็ไม่ต่างกับการป้องกันโรคตาทั่วไป มีหลักการถนอมดวงตาให้น้องหมาง่าย ๆ คือ ต้องระมัดระวังอย่าให้กระจกตาได้รับบาดเจ็บหรือระคายเคือง ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากสบู่ แชมพู ฝุ่นผง ควัน แสงแดดจ้า หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ให้เปิดน้ำสะอาดผ่านจากทางหัวตาไปหางตา เพื่อทำการล้างตา จากนั้นค่อยๆ เอาสำลีเช็ดเบาๆ แต่ห้ามเช็ดโดนกระจกตาเด็ดขาด ให้ทำการปิดหนังตาก่อนแล้วจึงเอาสำลีเช็ด เอาสิ่งแปลกปลอมออก หมั่นเล็มขนบริเวณรอบ ๆ ดวงตาที่ยาวเกินไป เพราะอาจไปทิ่มแทงกระจกตาได้
นอกจากนี้เพื่อน ๆ ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ตาแดง หรี่ตา ไม่กล้าสู้แสง มีน้ำตาไหลมากกว่าปกติ มีขี้ตาเขียว เกรอะกรัง พยายามเกาตา หรือเอาหน้าไปถูตามผนังหรือพื้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติของกระจกตาได้ หากน้องหมาพยายามเกาหรือเอาหน้าไปถูตามผนังหรือพื้น ควรสวมปลอกคอกันเลียไว้ก่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับดวงตาตามมา ควรพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งด้วย และไม่ควรซื้อยามาหยอดเองเด็ดขาด
โรคของกระจกตาเป็นโรคที่สำคัญและถือว่าเป็นโรคนัยน์ตาที่พบได้มากที่สุดในสัตว์เล็กก็ว่าได้ โรคบางโรคสามารถรักษาทางยาได้ บางโรคต้องได้รับการผ่าตัดรักษา การสังเกตและทราบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้น้องหมาได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นผลดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
อ.สพ.ญ.ดร. นลินี ตันติวนิช. All About Cornea: Common Corneal Diseases of Dogs and Cats. ประมวลเรื่องการประชุมวิชาการบำบัดโรคสัตว์เลี้ยง ครั้งที่ 14 ประจำปี 2551 : หน้า 177-180
รูปภาพประกอบ:
www.flowhealingarts.org
commons.wikimedia.org
www.ikeahackers.net
www.allaboutvision.com.
twcdoc.blogspot.com
commons.wikimedia.org
www.en.academic.ru
www.vmcli.com
www.vmcli.com
www.aecwilton.com
www.caplinhome.com
SHARES