โดย: Tonvet
น้องหมาพันธุ์ใหญ่ กับ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย
มาดูสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และคำตอบที่ว่า เค้าจะอยู่กับเราได้นานเท่าไร เมื่อต้องป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยายกันเลยครับ
5 มิถุนายน 2556 · · อ่าน (13,774)โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ และทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ในน้องหมาพันธุ์ใหญ่ ที่ใครต่างยกย่องในเรื่องของความอึก ทึก บึกบึน แต่ก็ไม่วายสามารถป่วยด้วยโรคหัวใจกับเค้าได้เหมือนกัน โดยเฉพาะกับ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย (Dilated Cardiomyopathy) ที่ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกันในวันนี้ครับ
โรคนี้ใครเสี่ยงกันบ้าง
โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ใหญ่ยักษ์ เช่น โดเบอร์แมน ค็อกเกอร์ สเปเนียล โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์ บ็อกเซอร์ โปรตุกีส วอลล์เทอร์ เซนต์เบอร์นาร์ด เกรสไพรีนีส เยอรมัน เซฟเฟิร์ด ไอริช วูฟฮาร์ว โอลอิงริช ชิฟด็อก ซาลูกิ ฯลฯ โดยมักพบในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย ได้ตั้งแต่อายุ 4-10 ปี
ซึ่งลักษณะโครงสร้างของหัวใจที่ผิดปกติไปนั้น พบว่าห้องหัวใจจะมีลักษณะพองขยายใหญ่กว่าปกติ (Eccentric hypertrophy) ผนังกล้ามเนื้อของหัวใจจะบางลง ทำให้มีช่องว่างในห้องหัวใจเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีความแรงในการบีบตัวลดลง จนเกิดเลือดคั่งในห้องหัวใจ ไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ร่างกายจึงชดเชยด้วยการเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น
ที่มาที่ไปของโรคเป็นอย่างไร
สาเหตุการเกิดของโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยายยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic) แต่จากการศึกษาพบว่า อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบ Autosomal dominant inheritance โดยพบการกลายพันธุ์ของ titin protein gene ในสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน
- เกิดจากการขาดทอร์รีน (Taurine deficiency) พบในสุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สเปเนียล และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ซีงทอร์รีนมีฤทธิ์ยับยั้ง angiotensin II ช่วยลดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ และช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจใช้แคลเซียมได้อย่างสมดุล
- เกิดจากการขาดคาร์เนทีน (Carnitine deficiency) พบในสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์และพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งคาร์เนทีนเป็นตัวนำกรดไขมันเข้าสู่ไมโตครอนเดียภายในเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ จึงทำให้การทำงานบีบตัวของหัวใจแย่ลง
- เป็นที่ผลมาจากการได้รับเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เช่น ได้รับยา Doxorubicin เป็นเวลานาน
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ริกเกตเซีย หรือปรสิตบางชนิด ได้แก่ Parvovirus, Ehrilichia canis เป็นต้น กรณีแบบนี้จึงเป็นสาเหตุทำให้สุนัขสามารถป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
- นอกจากนี้ยังพบอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ ในสุนัขที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ คือ มากกว่า 200-240 ครั้งต่อนาที เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 3 สัปดาห์ด้วย
อาการต้องสงสัยของน้องหมา
อาการของสุนัขที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย ส่วนใหญ่จะแสดงอาการไอเรื้อรัง หอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีน้ำหนักลด เกิดท้องมาน เบื่ออาหาร มักเป็นลมล้มทั้งยืน (หน้ามืด) บางรายเป็นรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างกะทันหันได้
การตรวจโรคของคุณหมอ
หลังจากทราบประวัติและอาการที่เจ้าของอธิบายให้ฟังแล้ว คุณหมอจะเริ่มจากการตรวจร่างกายทั่วไปก่อน จากนั้นจะใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังเสียงของหัวใจและปอด ซึ่งสุนัขที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย จะมีเสียงหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (Arrhythmia) มีจังหวะคล้ายเสียงม้าควบ (S3,S4 gallop sound) และมักไม่สัมพันธ์กับจังหวะของชีพจร (Pulse deficits) พบเสียงฟู่จากหัวใจ (Systolic heart murmur) เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจที่พองขยายทำให้ลิ้นหัวใจปิดกั้นไม่สนิท ในรายที่มีน้ำท่วมปอด สุนัขอาจจะหายใจเร็วขึ้น (tachypnea) และมีเสียงปอดดังขึ้น (Increased lung sounds)
จากนั้นจะทำการเอ็กซเรย์ในส่วนของช่องอกและช่องท้อง ซึ่งจะพบว่าน้องหมาจะมีหัวใจโต (Cardiomegaly) บางรายเกิดปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) จะเห็นว่าเนื้อปอดจะขาว เนื่องจากมีของเหลวมาคั่งอยู่ ในบางรายอาจพบท้องมาน (มีของเหลวสะสมในช่องท้อง) และตรวจพบว่าตับโต (Hepatomegaly) และม้ามโต (Splenomegaly) ด้วย
สำหรับการวินิจฉัยแยกโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย คุณหมอจะนิยมใช้การอัลตร้าซาวด์เพื่อดูโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ หรือที่เราเรียกชื่อแบบสวย ๆ ว่า การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) โดยคุณหมอจะใช้ หัวโพรบ (Probe) ส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยเข้าไปในบริเวณทรวงอกตรงตำแหน่งของหัวใจ (Cardiac notch) ซึ่งน้องหมาที่เข้ารับการตรวจ อาจต้องโกนขนออกก่อน ลักษณะความผิดปกติที่ตรวจพบจะเห็นว่า น้องหมาจะมีห้องของหัวใจขยายใหญ่มาก แต่มีผนังบางกว่าปกติ ลิ้นหัวใจจะปิดกันไม่สนิท พบเห็นการไหลวนไม่เป็นทิศทางของเลือดได้ มีเปอร์เซ็นต์การบีบตัวลดลง (Fractional shortening < 25%) ซึ่งควรตรวจร่วมกับการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) ด้วย โดยเฉพาะในรายที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
นอกจากนี้ในบางรายอาจได้รับการตรวจบางอย่างเพิ่มเติม เช่น การตรวจวัดปริมาณทอร์รีนในเลือด ซึ่งปกติไม่ควรน้อยกว่า 50 nmol/ml การตรวจวัดปริมาณคาร์เนทีนในเลือด โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์บ็อกเซอร์ การตรวจวัดระดับ Cardiac troponin I (cTnI) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งบอกความเสียหายของเซลล์หัวใจ ซึงเราสามารถใช้ cTnI ประกอบการพยากรณ์โรคนี้ได้ด้วยครับ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย ด้วยการเอ็กซเรย์ วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะอยู่ในราคาประมาณ 1500-3000 บาท (ราคานี้ยังไม่รวมค่าตรวจเลือดนะครับ) ซึ่งในสถานพยาบาลสัตว์แต่ละแห่ง อาจมีราคาแตกต่างกันไป เจ้าของอย่าลืมโทรสอบถามก่อนจะพาน้องหมาไปตรวจด้วยนะครับ
วิธีจัดการกับโรค
ในปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ครับ แต่เพื่อน ๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะเรายังมีวิธีการจัดการ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับน้องหมาที่ป่วย โดยใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ โดยหลังจากที่เราตรวจพบความผิดปกติดังกล่าวแล้ว น้องหมาอาจต้องได้รับยา ดังต่อไปนี้ครับ
1. ยา Pimodendan
ยา Pimodendan มีส่วนช่วยเพิ่มแรงในการบีบตัวของหัวใจ และยังช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายดีขึ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพชีวิตของสุนัขที่ป่วย เหมาะมากกับรายที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวแบบมีเลือดคั่ง จากการศึกษาในสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย เมื่อได้รับยา Pimodendan พบว่า มีอาการดีขึ้นและสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น เจ้าของควรป้อนยาให้กับสุนัขในขณะที่ท้องว่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร ส่วนข้อควรระวัง คือ สามารถพบอาการท้องเสีย อาเจียนได้ในบางราย
2. ยาปรับความดัน
ยาปรับความดันที่นิยมใช้ เป็นยาในกลุ่ม ACE-inhibitor ได้แก่ Enalapril, Benazepril และ Ramipril นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตสูงแล้ว จากการศึกษายังพบว่า สามารถช่วยชะลอการเข้าสู่ระยะหัวใจล้มเหลวได้ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากกว่าสุนัขที่ไม่ได้รับยา แต่ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการทำงานของไต การให้ยาในขนาดไม่เหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้ จึงควรต้องตรวจการทำงานของไตเป็นระยะ ๆ ครับ
3. ยาขับน้ำ
ใช้ในรายที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีน้ำท่วมปอด หรือมีอาการหายใจลำบาก ยาขับน้ำที่นิยมใช้จะเป็นยากลุ่ม Loop diuretic drug เช่น Furosemide น้องหมาที่ได้รับยาจะมีการปัสสาวะมากขึ้น เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการสูญเสียแร่ธาตุบางตัวไปกับปัสสาวะด้วย เช่น โพแทสเซียม ฯลฯ สำหรับข้อควรระวัง คือ ยาจะไปส่งผลต่อไต เช่นเดียวกับยาปรับความดัน อาจทำให้ไตทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นจึงต้องได้รับการตรวจการทำงานของไตเป็นระยะ ๆ เช่นกันครับ
4. ยา Spironolactone
ยา Spironolactone เป็นยาขับน้ำกลุ่ม Potassium-spring diuretic drug มีฤทธิ์ขับน้ำอย่างอ่อน แต่ช่วยลดการสูญเสียโพแทสเซียมได้ หากให้ยาตัวนี้ในรายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวแบบมีเลือดคั่ง ร่วมกับยาอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมียาอื่น ๆ ซึ่งคุณหมอจะเลือกใช้ในบางราย เช่น ในรายที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะแบบ Atrial fibrillation คุณหมออาจจะให้ป้อนยา Digoxin เพื่อช่วยในการบีบตัวของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และเป็นจังหวะดีขึ้น ในรายที่ขาดสารอาหาร อาจจะให้เสริมสารอาหารที่ขาด เช่น เสริมทอร์รีน 500 มิลลิกรัม จำนวน 2 ครั้งต่อวัน เสริมคาร์เนทีน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 2-3 ครั้ง เป็นต้น
เราควรจะต้องปรับอาหารให้น้องหมาป่วยเสียใหม่ โดยเลือกให้กินอาหารสูตรรักษาโรคหัวใจ ซึ่งมีมากมายหลายยี่ห้อ ทั้งยังมีสารอาหารที่ช่วยในการทำงานและช่วยชะลอความเสื่อมของหัวใจ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง (อาหารรสเค็ม) และที่สำคัญควรให้น้องหมาดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ ให้เพียงพอกับความต้องการด้วย โดยเฉพาะในรายที่ต้องกินยาขับน้ำ
น้องหมาที่เป็นโรคหัวใจ มักจะเกิดภาวะ Cardiac cachexia ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงและซูบผอม เทคนิคการให้อาหาร คือ อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารที่มีกลิ่นดี ชวนน่ากิน หากเป็นอาหารเหลวหรือปรุงเองควรนำไปอุ่นก่อน ซึ่งช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ และสุดท้ายการออกกำลังในน้องหมาที่เป็นโรคหัวใจก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่เราต้องรู้ข้อจำกัด คือ ไม่ควรให้ออกกำลังหนัก ๆ เป็นเวลานาน ๆ อาจจะปรับมาเป็นการเดินเบา ๆ แทน
การพยากรณ์ของโรค
จากการศึกษาของ Bronsoiler J. และคณะ ในปี 2005 สุนัขที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลังจากตรวจพบโรคแล้วต่างกันไป โดยหากเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ จะมีชีวิตอยู่ได้อีกโดยเฉลี่ย 137 วัน หากเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ยักษ์ จะมีชีวิตอยู่ได้อีกโดยเฉลี่ย 91 วัน แต่หากแยกดูตามสายพันธุ์จะพบว่า สุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สเปเนียล จะมีชีวิตอยู่ได้อีกยาวนานมากที่สุด โดยเฉลี่ยถึง 330 วันเลยทีเดียว ในขณะที่สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกแค่เพียงเฉลี่ยแค่ 42 วันเท่านั้น
แต่ปัจจุบันมีการใช้ยา Pimobendan และยากลุ่ม ACE inhibitors สามารถช่วยยืดอายุสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนต่อไปได้อีกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 เดือน สำหรับสุนัขพันธุ์อื่น ๆ ที่ป่วยด้วยโรคนี้แล้ว โดยทั่วไปก็มักจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่เกิน 2 ปีครับ
แต่ปัจจุบันมีการใช้ยา Pimobendan และยากลุ่ม ACE inhibitors สามารถช่วยยืดอายุสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนต่อไปได้อีกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 เดือน สำหรับสุนัขพันธุ์อื่น ๆ ที่ป่วยด้วยโรคนี้แล้ว โดยทั่วไปก็มักจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่เกิน 2 ปีครับ
คงเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้าน้องหมาของเราต้องป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองขยาย แม้จะไม่มีหนทางรักษาให้หายขาด แต่เราก็สามารถช่วยให้น้องหมาของเรา อยู่กับโรคนี้ต่อไปอีกนานได้อย่างไม่ทรมาน ขอเพียงแต่เราทำความเข้าใจกับโรคที่น้องหมาเป็น และไม่ท้อถอดใจไปเสียก่อนครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
อ.น.สพ.รุ่งโรจน์ โอสถานนท์. Canine Myocardial diseases.
เอกสารประกอบการเรียนรายวิชาเวชศาสตร์สัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.vetgo.com/cardio/concepts/concsect.php?conceptkey=81
รูปภาพประกอบ:
www.greenies.com
www.meddic.jp
www.companionsanimal.com
www.vet.cornell.edu
www.cvcavets.com
www.hangthebankers.com
www.rvc.ac.uk
SHARES