โดย: Tonvet
Alopecia X โรคขนร่วงประหลาดในสุนัข
อยู่ดี ๆ น้องหมาก็ขนร่วงทั้งตัวยกเว้นที่หัวกับปลายขา น่าแปลกใจจริงๆ น้องหมาป่วยเป็นโรคอะไรเนี่ย ... อยากรู้ต้องไปติดตาม
31 กรกฏาคม 2556 · · อ่าน (62,593)
ถ้าจะพูดถึงสาเหตุที่ทำให้น้องหมาขนร่วง (alopecia) นั้นมีมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ ขาดสารอาหาร เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน ผลจากภูมิแพ้ต่าง ๆ หรือแม้แต่การผลัดขนตามฤดูกาล ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้หากค่อย ๆ ตรวจไล่ตัดกันไปทีละประเด็น ก็พอจะวินิจฉัยโรคออกมาได้
แต่ก็มีโรคผิวหนังโรคหนึ่งที่เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้น้องหมาขนร่วง โดยจะร่วงแบบสมมาตรทั้งสองข้างของลำตัว ในบริเวณช่วงท้ายของลำตัว หาง สะโพก และอาจลามมาถึงช่วงบริเวณท้ายทอย โดยจะทยอยร่วงอย่างช้า ๆ เหลือไว้แต่ขนบริเวณปลายขาและส่วนหัว โดยที่ตัวน้องหมาจะไม่มีอาการคัน แต่จะพบว่าผิวหนังบริเวณที่ขนร่วงนั้นจะกลายเป็นสีดำหรือเข้มขึ้น เนื่องจากเกิดการสะสมของเม็ดสีมากขึ้น (Hyperpigmentation) ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้ขนร่วงแน่ชัด จึงตั้งชื่อโรคนี้ว่า Alopecia X หรือโรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งวันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับโรคขนร่วงประหลาดนี้กันครับ
โรคที่มีชื่อเรียกหลากหลาย
โรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Alopecia X) มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อเลยครับ เท่าที่รวบรวมมาได้ก็อย่าง เช่น Black skin disease (โรคผิวหนังสีดำ) Adrenal sex hormone imbalance (ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศที่สร้างจากต่อมหมวกไต) Adrenal hyperplasia-like syndrome (กลุ่มอาการที่คล้ายกับโรคต่อมหมวกไตขยายใหญ่) Pseudo-Cushing’s disease (โรคครูซซิ่ง ซินโดรมเทียม) Follicular dysfunction of plush-coated breeds (การทำงานผิดปกติของรูขุมขนในสุนัขพันธุ์ขนหนา) Adult-onset hyposomatotropism (ภาวะขาดฮอร์โมนที่สร้างจากโซมาโตโทรปิกเซลล์ในสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว) Growth hormone responsive dermatoses (โรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเจริญเติบโต) และ Castration responsive dermatoses (โรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อการทำหมัน) ซึ่งแต่ละชื่อก็มักจะเรียกตามสาเหตุที่คาดว่าจะทำให้เกิดโรคดังกล่าว หรือเรียกตามผลการตอบสนองต่อการรักษาของโรคนี้ครับ
โรคประหลาดที่ยังต้องรอการพิสูจน์
มีคนตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคนี้มากมาย บางส่วนยังเป็นทฤษฎีที่ยังคงต้องรอการพิสูจน์ อย่างทฤษฎีที่อ้างว่า อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth hormone) เมื่อสุนัขได้รับการรักษาด้วย Growth hormone แล้วมีการตอบสนองดี แต่ก็มีสุนัขบางตัวที่เมื่อให้ Growth hormone แล้วไม่ตอบสนองก็มี อีกทฤษฎีที่อ้างว่า เกิดจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์บางชนิด เช่น 11β-hydroxylase, 21-hydroxylase, หรือ 3β-hydroxysteroid dehydrogenase เป็นผลทำให้เกิดการสะสมของฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) เช่น Progesterone, 17-Hydroxypregnenolone, หรือ Dehydroepiandrosterone ซึ่งฮอร์โมนนี้อาจมีส่วนทำให้เกิดขนร่วง สุนัขบางตัวที่ทำหมันแล้วจะอาการดีขึ้น แต่ก็พบว่ามีน้องหมาบางตัว ยังกลับมามีอาการขนร่วงเหมือนเดิมได้อีก หลังจากที่ผ่าตัดทำหมันไปแล้ว
มีทีมวิจัยจากสถาบัน The Institute of Genetics in Berne ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการศึกษาภายใต้ชื่อโครงการ Research project on alopecia X โดยเก็บตัวอย่าง DNA มาทำการตรวจวิเคราะห์ เพื่อหาจุดเชื่อมโยงสาเหตุที่ทำให้ขนร่วง ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เพราะสืบเนื่องจากผลงานวิจัยก่อนหน้า ซึ่งพบการกลายพันธุ์ของยีน Cathespin L. (CTSL) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการขนร่วงในหนูทดลอง ซึ่งยีนตัวนี้อาจจะมีส่วนทำให้สุนัขเกิดการขนร่วงได้เช่นเดียวกัน จึงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรค Alopecia X ก็เป็นได้ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามนี้ครับ (Research project on alopecia X คลิก)
น้องหมากลุ่มเสี่ยงที่ (อาจ) เกิดโรคได้
โรค Alopecia X นี้มักพบในสุนัขที่มีขนหนา 2 ชั้น อย่างสุนัขกลุ่ม Nordic breeds ซึ่งเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย รวมถึงสายพันธุ์ดังต่อไปนี้ด้วย เช่น Pomeranians (พบได้บ่อย), Chow Chows, Siberian Huskies, Keeshonds, Samoyeds, Alaskan Malamutes และ Miniature Poodles ที่มีอายุ 1-2 ปีขึ้นไป มักพบในสุนัขเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เชื่อว่าเกิดจากการถ่ายทอดโดยยีนด้อยบนโครโมโซมเอ็กซ์ (X-linked recessive trait) ซึ่งจะได้รับมาจากแม่หมา ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์สุนัขหรือผู้ที่คิดจะให้น้องหมามีลูก จะต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ ควรศึกษาประวัติโรคประจำตระกูลของทั้งพ่อและแม่สุนัขให้ดี โดยควรดูไล่ย้อนกลับไปหลาย ๆ รุ่น จะได้ไม่เป็นการไปสร้างตราบาปให้กับลูกหมาในรุ่นถัดไป
การรับมือกับโรคประหลาด
การวินิจฉัยโรคนี้นอกจากจะดูจากประวัติและอาการแล้ว บ้างครั้งอาจจำเป็นต้องทำการตรวจอย่างอื่น เพื่อตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องออก เพราะลักษณะรอยโรคแบบนี้จะคล้ายกับโรคผิวหนังอื่น ๆ อีกหลายโรค เช่น การพัฒนาของต่อมขนผิดปกติ (Follicular dysplasia) ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism) โรคครูซซิ่ง ซินโดรม (Cushing’s syndrome) ฯลฯ ทำให้อาจจำเป็นต้องตรวจการทำงานของต่อมหมวกไต ตรวจการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนเจริญเติบโต หรืออาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูลักษณะของรูขุมขน เป็นต้น ซึ่งคุณหมอจะเลือกตรวจตามความเหมาะสมในแต่ละรายครับ
ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางรักษาโรคนี้ที่จำเพาะ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดครับ ในกรณีที่ตรวจอย่างละเอียดตามข้างต้นแล้วไม่พบความผิดปกติอะไร และที่บ้านของเจ้าของไม่เคร่งเรื่องความสวยงามมากนัก อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เพราะโรคนี้ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของน้องหมา แต่หากเจ้าของรู้สึกไม่สบายใจ ก็ยังมีการรักษาให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทำหมัน ซึ่งนอกจากช่วยรักษาโรคได้แล้ว ยังเป็นการป้องกันการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมได้ด้วย โดยภายหลังจากการผ่าตัดทำหมันไปแล้ว พบว่าสุนัขที่ป่วยประมาณ 75% ขนจะกลับมาขึ้นดังเดิม แต่ก็มีสุนัขบางตัวที่ทำหมันไปแล้วประมาณ 1-3 ปี จะกลับมามีขนร่วงได้อีก โดยเฉพาะในสุนัขเพศผู้
นอกจากนี้การรักษาทางยาและฮอร์โมน ซึ่งก็มีใช้กันอยู่หลายตัวครับ มีทั้งรูปแบบฉีดและกิน เช่น Melatonin ให้กินวันละ 2 ครั้ง พบว่าสุนัขที่ป่วยประมาณ 30-60% ขนจะกลับมาขึ้นดังเดิม ภายในระยะเวลา 3-4 เดือน Trilostane เป็นยาที่ใช้รักษาโรคครูซชิง ซินโดรม ให้ในรูปแบบกิน ได้ผลภายใน 4-8 สัปดาห์หลังการรักษา Mitotane (o,p′-DDD) เป็นยารักษาโรคครูซชิง ซินโดรมเช่นกัน ให้ในรูปแบบกิน เห็นผลประมาณ 3 เดือนหลังการรักษา หรือจะใช้วิธีการฉีดฮอร์โมน Porcine growth hormone ซึ่งจะตอบสนองใน 4-6 สัปดาห์ แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้งยาและฮอร์โมนเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับตัวน้องหมาได้เช่นกันครับ
แม้โรค Alopecia X จะส่งผลต่อความสวยงามของน้องหมา แต่ผมอยากให้เรามองข้ามรูปลักษณ์ภายนอกตรงจุดนี้ แล้วหันมามองที่ความดี ความน่ารักที่น้องหมามี เชื่อว่าเราก็จะผ่านปัญหานี้ไปได้ไม่ยากครับ เพราะ “คนจะงามงามที่ใจใช่ใบหน้า คนจะสวยสวยจรรยาใช่ตาหวาน...” ฉันใดก็ฉันนั้น
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
เนื้อหาอ้างอิงบางส่วนจาก:
Tim Nuttal, Richard G. Harvey and Patrick J. McKeever. A colour Handbook of Skin disease of Dogs and Cats. Second edition. 2009 Manson Publishing Ltd.; page 250-252
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 2 และ 3 จากหนังสือ
Small animal Dermatology: A color atlas therapeutic guide. 2006, Elsevier Inc.
รูปภาพที่ 1,4-6 จาก
www.dog-health-handbook.com
www.pets.dir.groups.yahoo.com
www.alopezie.pomeranian-zwergspitz.de
www.pomeranianplace.com
SHARES