โดย: Tonvet

10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2

มาอ่านต่อกับโรคสำคัญที่ในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ เรียนรู้เพื่อรับมือก่อนคิดจะเลี้ยง

14 สิงหาคม 2556 · · อ่าน (52,786)
207

SHARES


207 shares

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


     เมื่อตอนที่แล้ว มุมหมอหมา ได้นำเสนอโรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้กันไปแล้ว 5 โรค ได้แก่ ภาวะ Zinc-responsive dermatosis โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต โรคข้อสะโพกเสื่อม โรคข้อกระดูกอักเสบ และโรคไขสันหลังเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับยีนหรือพันธุกรรมที่ถ่ายทอดต่อกันมาในกลุ่มน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ สามารถพบได้ต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย บางโรคเป็นได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 1 ปี อย่างโรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต บางโรคก็พบเมื่ออายุมากแล้ว อย่างโรคไขสันหลังเสื่อม

     สัปดาห์นี้มาตามต่อกันว่า โรคเด่นที่เหลืออีก 5 โรคนั้นจะมีโรคอะไรบ้าง แต่ละโรคส่งผลกับน้องหมาอย่างไร และเราจะมีวิธีในการรับมือกับโรคเหล่านั้นอย่างไร ไม่พูดพร่ำทำเพลง เรามาลุยต่อกันเลยครับ

 

1. โรคลมชัก (Epilepsy)


     โรคลมชักเป็นความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าในสมองส่วน cerebral cortex ทำให้ resting membrane potential ลดต่ำลงกว่าปกติ จึงถูกกระตุ้นได้ง่าย ผลคือกล้ามเนื้อเกิดการหดตัวเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง อาการชักแบ่งออกได้เป็น  2 ชนิด คือ ชักแบบเฉพาะที่ (Partial seizure) เช่น หน้ากระตุก เคี้ยวปาก กลุ่มอาการไล่งับแมลง (Fly Snapping Syndrome) ฯลฯ และชักแบบทั้งตัว (Generalized seizure) อาการคือ ล้มลงนอนชัก ขาเหยียดเกร็ง ทำท่าเหมือนว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานอากาศ กัดฟัน ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจาระราดได้ ไม่รู้สึกตัวในขณะเกิดอาการชัก ฯลฯ สุนัขส่วนใหญ่มักเกิดอาการชักแบบทั้งตัวมากกว่า โดยอยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้นเองและหยุดไปเอง โดยระยะเวลาในการชักจะต่างกันไป แต่หากชักอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 นาที จะอันตรายมาก เพราะสมองจะขาดออกซิเจนได้  ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


     สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้เป็นพันธุ์หนึ่งที่พบอุบัติการณ์เกิดโรคลมชักค่อนข้างสูง สาเหตุยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากพันธุกรรมหรือไม่ อาการชักยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคจากเชื้อไวรัส เช่น โรคไข้หัดสุนัข ฯลฯ มีน้ำตาลในเลือดต่ำ (พบบ่อยในลูกสุนัข) มีแคลเซียมในเลือดต่ำ (พบบ่อยในแม่หลังคลอด) เป็นโรคตับ เป็นโรคไตวาย ได้รับสารพิษ เช่น สตริกนิน ยาฆ่าแมลง ฯลฯ มีเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน แนะนำว่าไม่ควรนำสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้โดยไม่ทราบสาเหตุมาใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์

     สำหรับน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคลมชัก เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ช่วงก่อนที่จะชักหรือระยะออร่า (Aura) น้องหมาจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวหลบซ่อนตัว หอน ร้องคาง ตัวสั่น น้ำลายไหลมาก หรือดุขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งเตือนเจ้าของว่าอีกไม่นานน้องหมาจะชักแน่นอน ในช่วงที่น้องหมากำลังแสดงอาการชัก เจ้าของต้องระมัดระวังอันตรายจากการที่ตัวหรือหัวน้องไปฟาดกับสิ่งของ คุณหมอจะให้ยาระงับชักในรูปสวนทวารมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เจ้าของจะต้องระวังตัวเองด้วย เพราะน้องหมาที่ชักจะไม่รู้สึกตัว จึงอาจกัดเราได้ และหลังจากอาการชักสงบแล้ว น้องหมาอาจยังจำเจ้าของไม่ได้ บางตัวอาจซึมลง มึนงง เดินเซ และหายใจเร็ว ฯลฯ เจ้าของจึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2

 
     น้องหมาที่เป็นโรคลมชักจะต้องได้รับยากิน เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของอาการชักลง โดยยาระงับชักนั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป เจ้าของต้องมีวินัยในการป้อนยาให้น้องหมาอย่างเคร่งคัด สม่ำเสมอ จะขาดไม่ได้เด็ดขาด ตลอดจนต้องหมั่นพาน้องหมาเข้ารับการตรวจวัดระดับยาในกระแสเลือด และตรวจประเมินค่าตับ ค่าไตเพื่อดูผลข้างเคียงจากยาเป็นระยะ ๆ ด้วย โรคลมชักเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องยาวนาน จะหยุดยาได้ก็ต่อเมื่อไม่พบอาการชักมาแล้วมากกว่า 1 ปีครับ

 

2. โรคต้อกระจก (Cataracts)


     โรคต้อกระจกเป็นโรคตาที่สำคัญโรคหนึ่งในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ คำว่า Cataracts มาจากภาษากรีกที่สะกดว่า katarraktes แปลว่า น้ำตก เพราะในอดีตเข้าใจว่า เป็นของเหลวข้นจากสมองที่ไหลมาเคลือบหน้าเลนส์ตาไว้ตาจึงขุ่น โรคกระจกตาในน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ถ่ายทอดผ่านยีนด้อย (Autosomal recessive gene) ซึ่งพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 3-12 เดือน จัดเป็นโรคต้อกระจกประเภท Juvenile cataracts หรือ hereditary cataracts จากรายงานการสำรวจของ The American College of Veterinary Ophthalmologists ในปี ค.ศ. 1999 พบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่ป่วยด้วยโรคต้อกระจกมากถึง 8% (107 ตัว ใน 1345 ตัว)
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2

 
     ปกติเลนส์ตาจะทำหน้าที่หักเหแสงและโฟกัสภาพให้ตกยังจอประสาทตา เมื่อเลนส์ตาเกิดการขุ่นมัวขึ้น จะทำให้แสงผ่านไปได้น้อย การมองเห็นภาพจึงไม่ชัด คล้ายมีอะไรมาบดบัง ทำให้เห็นภาพพร่ามัวจนถึงขั้นมองไม่เห็นอะไรเลย เจ้าของจะสังเกตเห็นว่า เลนส์ตาของน้องหมาจะขุ่นขาวขึ้น บริเวณตรงกลางในตำแหน่งของตาดำ มักจะพบรอยโรคที่ส่วนขอบเลนส์ตาก่อน อาจเป็นแค่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ น้องหมาที่เป็นจะเดินชนสิ่งของ โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่คุ้นชินมาก่อน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวอาจก้าวร้าวขึ้น หงุดหงิดและตกใจง่าย เนื่องจากมองไม่เห็น ดังนั้นการเข้าหาน้องหมาควรส่งเสียงให้เขารู้ตัวก่อน สำหรับการรักษาจะใช้การหยอดยาเพื่อชะลอการขุ่นของเลนส์ตา ส่วนรายที่มองไม่เห็นแล้ว อาจพิจารณาผ่าตัดเอาเลนส์ตาออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ครับ
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2

 

3. โรคต้อหิน (Glaucoma)


     โรคต้อหิน เป็นความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำในช่องม่านตา ทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น จนรู้สึกว่าดวงตาแข็ง ๆ คล้ายกับก้อนหิน ความดันภายในลูกตาน้องหมาปกติจะอยู่ที่ 16-30 มม.ปรอท ถ้าความดันลูกตาสูงมาก จะทำให้มีเลือดคั่งที่เยื่อตาขาว (ตาแดงจัด) กระจกตาบวมน้ำ (ตาสีฟ้า) เจ็บปวดลูกตา (น้องหมาจะเกาตาหรือเกาหน้าถู) รูม่านตาขยาย ลูกตาขยายใหญ่ (ตาโปน) มีน้ำตาไหลมาก จนอาจสูญเสียการมองเห็นได้ หากความดันลูกตาสูงมากกว่า 60 มม.ปรอท  
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


     ในน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้จะเป็นโรคต้อหิน ชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital glaucoma) สามารถพบที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เกิดจากการผิดปกติของมุมขับออกของน้ำในช่องม่านตา (narrow/closed angle glaucoma) การตรวจวินิจฉัยจะใช้เครื่องวัดความดันลูกตา (Tonometer) รวมกับ Goniosope เพื่อตรวจดูช่องทางการระบายน้ำในช่องม่านตาออกว่าผิดปกติหรือไม่ การรักษามีใช้ทั้งทางยา ในกรณีที่เกิดอย่างเฉียบพลัน และการผ่าตัดในกรณีที่เป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง หลักการ คือ เพื่อลดการสร้างและเพิ่มการระบายออกของน้ำในช่องม่านตาครับ
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2

 

4. โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)


     จอประสาทตา (Retina) เป็นที่รับแสงและส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อประมวลผลออกมาเป็นภาพให้เห็น การเสื่อมของจอประสาทตาในน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้นั้น เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดผ่านยีนบนโครโมโซมเพศ (โครโมโซม X) เรียกว่า X-linked trait จึงพบลักษณะเหล่านี้ในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เนื่องจากเพศผู้มีโครโมโซม X เพียงเส้นเดียว โดยเป็นการเสื่อมของเซลล์รับแสงตัวสำคัญทั้ง rod และ cone เกิดได้กับตาทั้งสองข้าง และมักจะลงเอยด้วยการตาบอดในที่สุด มักพบในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เรียกความผิดปกติเช่นนี้ว่า Later onset -Progressive rod-cone degeneration
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


     สำหรับน้องหมาที่ป่วยด้วยโรคนี้ การสังเกตความผิดปกติที่ดวงตาในระยะเริ่มแรก อาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า บอดตาใส ต่างกับโรคต้อกระจกที่เจ้าของจะสังเกตเห็นได้เลยว่าเลนส์ตาของน้องหมาจะเริ่มขุ่น สำหรับโรคจอประสาทตาเสื่อมเราอาจจะสังเกตพบว่า น้องหมาจะเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มองไม่เห็นในเวลากลางคืน รูม่านตาขยายใหญ่กว่าปกติ ทำให้สังเกตเห็นว่าดวงตาน้องหมาวาวแสงมากขึ้น เป็นหนักเข้าจะเริ่มมองไม่เห็นในเวลากลางวัน เดินชนสิ่งของ ไม่กล้าเดินลงบันใด โดยอาการทั้งหมดจะค่อย ๆ พัฒนาไป จนสุดท้ายตาน้องหมาจะบอดสนิทภายในระยะเวลา 1 ปี

     ในการวินิจฉัยคุณหมอผู้ชำนาญการด้านโรคตา จะทำการส่องตรวจตาด้วยกล้อง Ophthalmoscope ร่วมกับการตรวจดูคลื่นไฟฟ้าจอประสาทตา (Electroretinography) เพื่อดูการทำงานและตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตา ในต่างประเทศมีการพัฒนาชุดทดสอบทางพันธุกรรม (Genetic test หรือ DNA testing) เพื่อระบุน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ที่อาจเป็นพาหะ (carrier) นำโรค และคัดกรองสุนัขที่เป็นไม่ให้นำมาใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ต่อไป
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


     ส่วนการรักษาในปัจจุบัน ทำได้แค่เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด โดยเสริมสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินต่าง ๆ เช่น Vitamin E, Vitamin C, lutein, Omega-3 fatty acids, beta carotene และ Zinc ซึ่งบางรายอาจรักษาไม่ได้เลย ถ้าโรคเป็นรุนแรงแล้ว แต่น้องหมาก็จะปรับตัวได้ โดยใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่นที่เหลือซึ่งก็คือ การดมกลิ่นและการได้ยิน ซึ่งมีประสิทธิภาพดีจนเจ้าของบางคนอาจไม่รู้สึกเลยว่าน้องหมาได้เสียดวงตาไปแล้ว ยิ่งได้อยู่ในที่ที่คุ้นเคย ดังนั้นเจ้าของไม่ควรปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอยู่บ่อย ๆ ระวังสิ่งกีดขวางที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวน้องหมา กั้นบริเวณให้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีระดับต่างกัน หากต้องพาไปในที่แห่งใหม่ต้องใส่สายจูงและมีเจ้าของอยู่ด้วยตลอดเวลาครับ

 

5. โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal Dystrophy)


     กระจกตาหรือตาดำ (cornea) เป็นส่วนประกอบชั้นนอกของลูกตา กระจกตาปกติควรมีความใส น้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่เป็นโรคกระจกตาเสื่อมจะมีการสะสมของไขมันจำพวกไตรกลีเซอรไลค์ในชั้น Epithelium หรือ Stoma ของกระจกตาเรียกว่า Corneal lipidosis หรือ Lipid keratopathy จึงทำให้กระจกตาขุ่น ขาว วาว คล้ายเกิดผลึกที่กระจกตา อาจพบได้ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ มักพบในรายที่มีอายุมากและพบในเพศเมียมากกว่าเพศผู้
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


     จากการศึกษาทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้พบว่าเกิดจากการถ่ายทอดผ่านยีนด้อย (recessive gene) ในรายงานการสำรวจของ The American College of Veterinary Ophthalmologists ในปี ค.ศ. 1999 พบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่ป่วยด้วยโรคกระจกตาเสื่อมประมาณ 3% (44 ตัวจาก 1,345 ตัว) การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาไปตามอาการ จุดประสงค์ก็เพื่อลดอาการและควบคุมการสะสมของไขมันที่กระจกตา อาจต้องจำกัดอาหารประเภทไขมัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีไขมันในเลือดสูงเกินไป สำหรับสุนัขที่เป็นป่วยเป็นโรคนี้ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ต่อไปยังรุ่นลูกครับ
 

Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2


 
     เป็นไงกันบ้างครับกับ 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ที่ มุมหมอหมา ได้นำเสนอไป อันที่จริงแล้วโรคที่พบได้บ่อยในน้องหมาพันธุ์นี้ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น โรค Follicular dysplasia ที่เป็นความผิดปกติของการพัฒนาของรูขุมขน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism) โรค Von Willebrand's disease (vWD) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขาด von Willebrand factor ทำให้มีปัญหาในการแข็งของเลือด หากมีบาดแผลเลือดจะหยุดยาก ตลอดจนโรคเนื้องอกและมะเร็งที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ เช่น เนื้องอกที่ลูกอัณฑะ (Testicular neoplasia) มะเร็งกระดูก (Osteosarcoma) มะเร็งของหลอดเลือด ( Hemangiosarcoma ) เป็นต้น

     ซึ่งทั้งหมดที่ มุมหมอหมา นำมาเล่านี้ ก็เพื่อต้องการให้คนที่เลี้ยงหรือผู้ที่กำลังคิดจะเลี้ยง ได้ตระหนักและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับโรคประจำพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้กับน้องหมาพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ของเรา ดังนั้นก่อนรับลูกหมามาเลี้ยงต้องตรวจดูให้ดีก่อน ขอดูใบประวัติครอบครัว ดูว่าเสี่ยงโรคประจำพันธุ์อะไรบ้าง จะได้หาทางรับมือและป้องกัน เพื่อชะลอไม่ให้เกิดโรคนั้นเร็วขึ้น โดยอาจขอคำแนะนำจากคุณหมอผู้ดูแลน้องหมาก็ได้ครับ
 


Dogilike.com :: 10 โรคเด่นในสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ตอนที่ 2




 


บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/

เนื้อหาอ้างอิงบางส่วนจาก:
http://www.upei.ca/~cidd/intro.htm
http://www.shca.org

รูปภาพประกอบ:
www.vetstreet.com
www.thefullwiki.org
www.imgur.com
www.hillsvet.com
www.mspca.org
www.myoor.com
blogs.laweekly.com
www.amstaffnsw.weebly.com
www.shibashake.com
www.aecwilton.com
www.axsoris.com