โดย: Tonvet
เมื่อน้องหมามีบาดแผลจะดูแลอย่างไร
เรียนรู้เพื่อรับมือกับบาดแผลรูปแบบต่าง ๆ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการจัดการบาดแผลด้วยตนเอง
18 กันยายน 2556 · · อ่าน (143,410)
“บางแก้ว” สุนัขสัญชาติไทยที่มีเลือดผสมระหว่างหมาบ้านกับหมาป่า หลายคนอาจจะพอทราบกิตติศัพท์ของบางแก้วดี ในเรื่องของความดุ ไม่ว่าศัตรูหน้าไหน อย่าได้แหยมเข้ามาต่อกร เพราะบางแก้วจะสู้ยิบตา แบบไม่ยอมถอยเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้บางแก้วจึงมักได้รับภารกิจให้เป็นสุนัขอารักขาหรือ รปภ.ประจำบ้าน
เรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อก็คือ บางแก้วมักมาหาหมอ เพราะเกิดบาดแผล หรือได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้หรืออุบัติเหตุ มากกว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ เสียอีก จึงน่าจะดีถ้าเพื่อน ๆ ผู้รักสุนัขบางแก้ว จะได้เรียนรู้เพื่อรับมือกับบาดแผลรูปแบบต่าง ๆ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการจัดการกับบาดแผลให้กับน้องหมาได้ด้วยตนเอง วันนี้ มุมหมอหมา มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับการดูแลบาดแผลในสุนัขมาฝากครับ
บาดแผล คืออะไร
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับบาดแผลกันก่อน บาดแผล (Wound) คือ ภาวะที่เยื่อบุผิวหนัง ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนัง ได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลาย เราสามารถแยกชนิดของบาดแผลได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่เรานำมาใช้แบ่ง เช่น
แผลสะอาด เป็นแผลที่ไม่มีการติดเชื้อ เนื้อเยื่อจะเป็นสีแดงอมชมพู อยู่ในระยะของการหาย
แผลสกปรก เป็นแผลที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค อาจพบการอักเสบและมีหนองปะปนอยู่
แผลปิด เป็นแผลที่เราไม่เห็นรอยฉีดขาดของแผลที่ผิวหนัง แต่เส้นเลือด กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อภายในต่าง ๆ อาจได้รับบาดเจ็บและเสียหายได้ ทำให้เรามองเห็นรอยจ้ำสีเขียวคล้ำตามผิวหนัง แผลพวกนี้อาจเกิดจากการได้รับแรงกระแทก ถูกชน ถูกตี ฯลฯ
แผลเปิด เราจะเห็นรอยฉีดขาดที่ผิวหนังชัดเจน เกิดจากการถูกของมีคมบาด เฉือน ตัดหรือแทง
แผลสด เป็นแผลที่เกิดขึ้นมาใหม่สด ๆ ร้อน ๆ
แผลเรื้อรัง เป็นแผลที่ยังมีเนื้อเยื่อถูกทำลายอยู่ และมีที่ท่าว่าจะไม่หายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เช่น แผลกดทับ แผลเนื้อตาย แผลเนื้อเน่า (Gangrene) ฯลฯ
แผลเก่า เป็นผลงานประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม (ฮาไหมครับ ^^) ผมล้อเล่นนะ...จริง ๆ แผลเก่า เป็นแผลที่เกิดขึ้นมานานและกำลังอยู่ในระยะของการหายครับ
มาเตรียมอุปกรณ์ทำแผลกันดีกว่า
หลังจากรู้จักประเภทต่าง ๆ ของแผลกันไปเป็นที่หอมปากหอมคอแล้ว ทีนี้เรามีดูอุปกรณ์กันบ้างว่า เพื่อน ๆ ต้องเตรียมอะไรสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลบาดแผลให้น้องหมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเราควรต้องมีติดบ้านไว้ตลอดเวลา ได้แก่
ที่ครอบปาก สวมไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาที่เจ็บ หันมากัดเราได้ ถ้าไม่มีที่ครอบปากสำเร็จรูป อาจใช้เชือกหรือผ้าตัดเป็นเส้นยาว ๆ ผูกปากแล้วมัดคล้องไว้ที่หลังใบหูก็ได้นะครับ
ถุงมือยาง ให้ผู้ทำแผลใช้สวมเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากมือเราไปติดที่แผลน้องหมา และป้องกันเชื้อโรคจากแผลน้องหมามาติดเราครับ
กรรไกรและที่คีบ เอาไว้สำหรับตัดสิ่งต่าง ๆ เช่น ตัดขน ตัดผ้าก๊อซ ตัดเทปเหนียว ฯลฯ อาจจะใช้กรรไกรธรรมดาก็ได้นะครับ แต่ขอให้สะอาด จะได้ไม่นำเชื้อโรคมาติดแผลน้องหมา ส่วนที่คีบเอาไว้จับวัสดุต่าง ๆ ขณะทำแผล หรือใช้คีบเอาสิ่งแปลกปลอมที่แผลออกครับ
ใบมีดโกน เอาไว้สำหรับโกนขนบริเวณแผลและรอบ ๆ แผล จะเป็นแบบที่มีด้ามจับเหมือนที่โกนหนวดของผู้ชายก็ได้นะครับ
สบู่ฆ่าเชื้อ ใช้ผสมกับน้ำเพื่อล้างทำความสะอาด ช่วยขจัดคราบไขมันและแบคทีเรียออกจาผิวหนัง ทั้งยังใช้เป็นสารหล่อลื่น เพื่อลดการระคายเคืองขณะโกนขนให้น้องหมาด้วยครับ
น้ำเกลือล้างแผล (Sodium Chloride 0.9% w/v) เอาไว้ใช้ชะล้างทำความสะอาดบาดแผล ถ้าไม่มี อาจให้น้ำประปาสะอาดแทนก็ได้ครับ
แอลกอฮอล์และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แอลกอฮอล์เอาไว้ทำความสะอาดรอบ ๆ แผล ไม่ควรใช้ล้างแผลโดยตรงครับ ส่วนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เอาไว้ใช้กับแผลที่เป็นโพรงลึกหรือมีหนอง แต่เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกร่อนอาจไปทำลายเนื้อเยื่อได้ อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง และรบกวนการสมานของแผล จึงต้องระมัดระวังในการใช้และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นนะครับ
ผ้าก๊อซ เอาไว้สำหรับซับแผลและปิดแผลครับ
สำสีและการดาษชำระ เอาไว้ใช้ซับบริเวณโดยรอบแผลให้แห้ง ก่อนทำการแต้มหรือพ่นยา ส่วนสำลีแบบก้าน ก็เอาไว้ใช้ทำความสะอาดหรือแต้มยาในจุดที่ลึกหรือบริเวณที่เป็นโพรงครับ
ยาสำหรับแต้มและพ่นแผล มีให้เลือกหลายชนิดเลยครับ เช่น 10% โพวิโดน-ไอโอดีน (ยาเบตาดีน) ซึ่งมีทั้งแบบน้ำและแบบขี้ผึ้ง แบคตาชิน (Bactacin) นาโนวูล (Nano wound) สำหรับใช้พ่นแผล ฯลฯ ก็ได้ครับ
ผ้าพันแผล ใช้พันแผลบาดแผลบริเวณหัว คอ ช่วงอก ช่วงท้อง หาง ขา เท้า ฯลฯ บางกรณีใช้สำหรับพันเพื่อลดบวม หรือพันเพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาเกา กัด หรือเลียแผลครับ
ที่ปิดแผล มีให้เลือกหลายชนิดเลยครับ ทั้งเทปผ้า (เทปเหนียว) เทปใส แผ่นปิดแผลแบบกันน้ำ แผ่นเทปปิดแผล Fixomull ฯลฯ โดยควรแปะบริเวณผิวที่แห้งและไม่มีขน ไม่เช่นนั้นจะหลุดออกได้ง่ายครับ
ปลอกคอกันเลีย สำคัญมาก...ต้องให้น้องหมาสวมไว้ตลอดเวลา จนกว่าแผลจะหายสนิท น้ำลายไม่ใช่เจลสมานแผลของสุนัขนะครับ ไม่ต้องให้หมาเลียแผล ... หมอต้นขอ
การปฐมพยาบาลบาดแผลเบื้องต้น
เอาล่ะ...เรามาเริ่มลงมือกัน ในการปฐมพยาบาลบาดแผลนั้น จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาดแผลครับ แต่จะยึดหลักการคล้ายกัน คือ “ห้ามเลือด โกนขน ทำความสะอาด ซับแห้ง แต้มยา และปิดแผล” เพื่อน ๆ ลองศึกษาทำความเข้าใจ ถึงขั้นตอนและการดูแลบาดแผลแต่ละชนิด ดังนี้เลยครับ
แผลฟกช้ำ
เป็นลักษณะของแผลปิด เพื่อน ๆ จะสังเกตเห็นรอยจ้ำเลือดสีคล้ำ ๆ ม่วง ๆ ที่ผิวหนัง เนื่องจากหลอดเลือดใต้ผิวหนังมีการฉีกขาดมีเลือดออกอยู่ภายใน ถ้ามีการอักเสบ น้องหมาอาจจะเจ็บเมื่อเราไปสัมผัสถูก
สำหรับการปฐมพยาบาลแผลฟกช้ำ วันแรกหลังได้รับบาดเจ็บ ให้เพื่อน ๆ ประคบด้วยความเย็นบริเวณแผลเบา ๆ ประมาณ 15-30 นาที ความเย็นจะช่วยให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยลดบวม ลดปวดได้ดี ห้ามทายาที่มีสูตรร้อน เช่น น้ำมันมวย ยาหม่อง ยาสีฟัน ฯลฯ หรือใช้มือบีบนวดคลึงบริเวณแผลแรง ๆ โดยเด็ดขาด หลังจากนั้นจึงประคบด้วยน้ำร้อนในวันรุ่งขึ้น แต่กรณีที่แผลเกิดการบวมอักเสบมาก ๆ ควรพาน้องหมาไปหาคุณหมอครับ
แผลถลอก
แผลประเภทนี้เป็นแผลตื้น ๆ แค่ชั้นผิวหนัง อาจมีเลือดซึมซิบ ๆ ออกมาบ้าง ซึ่งเกิดจากการถูกข่วน ขีด ขูด เสียด สี ไถล ฯลฯ ส่วนใหญ่จะหายได้ง่าย ยกเว้นมีการติดเชื้อ
สำหรับการปฐมพยาบาลแผลถลอก ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือสำลีกดแผลห้ามเลือดไว้สัก 1-2 นาที (อย่าถูกไปมา) เมื่อเลือดหยุดแล้ว ให้โกนขน พร้อมกับทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด (อาจจะผสมกับสบู่ฆ่าเชื้อก็ได้ ทำการฟอกทิ้งไว้นาน 5 นาที แล้วล้างออก) จากนั้นให้ซับแผลให้แห้ง แล้วใช้เบตาดีนแต้ม เพื่อน ๆ อาจปิดแผลหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้น้องหมาเลียแผลนะครับ ให้น้องหมาสวมปลอกคอกันเลียเอาไว้ก็จะดี ในวันต่อมาให้ทำการแต้มยาที่แผลเช้าและเย็น จนกว่าแผลจะหายสนิทครับ
แผลฉีกขาด
เป็นแผลที่เนื้อเยื่อถูกทำลาย จนผิวหนังเกิดฉีกขาด ขอบแผลอาจขรุขระไม่เรียบ ซึ่งอาจเกิดจากการกัดร่วมกับมีการสะบัดไปมา บางครั้งอาจลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรืออาจมีส่วนอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกหัก ฯลฯ เพื่อน ๆ ต้องตรวจสอบให้ละเอียด เพราะถ้ามีก็ควรพาไปหาคุณหมอครับ
สำหรับการปฐมพยาบาลแผลฉีกขาด ก็จะคล้าย ๆ กับแผลถลอก แต่ต้องเน้นทำความสะอาดให้ทั่วถึง เพราะแผลจะลึกกว่า โดยเฉพาะแผลที่เกิดจากการกัดกัน แผลที่สกปรก จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย หลังการห้ามเลือดและโกนขนออกแล้ว ให้ทำการล้างแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด เพื่อเอาเศษคราบสิ่งสกปรกออก จากนั้นใช้ผ้าก๊อซชุบสบู่ฆ่าเชื้อที่ผสมน้ำเจือจาง ทำการฟอกที่แผลเบา ๆ ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วทำการล้างออก ควรทำการล้างแผลเช่นนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าแผลสะอาดดี จากนั้นซับแผลให้แห้ง แล้วทำการแต้มยาด้วยเบตาดีน แบคตาชิน ขี้ผึ้งที่มียาฆ่าเชื้อ หรือพ่นนาโนวูล (Nano wound) ก็ได้ครับ แผลแบบนี้เราควรต้องปิดแผลไว้ หรืออาจทำการพันแผลไว้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแผลแต่ละตำแหน่ง และอย่าลืมสวมปลอกคอกันเลียให้น้องหมาด้วย
วันต่อมาให้เปิดแผลทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วแต้มยา จากนั้นปิดแผลไว้ตามเติม ทำเช่นนี้วันละครั้งจนกว่าแผลจะหายสนิทครับ ถ้าไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน แผลจะหายภายใน 7-14 วันครับ แต่ในกรณีแผลที่มีการฉีกขาดรุ่งริ่ง แนะนำให้พาไปหาคุณหมอดีกว่าครับ น้องหมาอาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อและยาลดการอักเสบเพิ่มเติม
แผลชอนลึก
บาดแผลแบบนี้ขอบแผลมักแคบแต่ลึก ซึ่งอาจเกิดจากการถูจิ้ม ถูกกัด ถูกแทง หรือถูกยิง บางรายอาจทะลุเข้าถึงชั้นช่องว่างภายในลำตัว ทำให้อวัยวะภายในอาจได้รับการกระทบการเทือน อาจมีเลือดตกใน แบบนี้อันตรายมาก ให้รีบพาไปหาคุณหมอ
สำหรับการปฐมพยาบาลแผลชอนลึก แทบไม่ต่างกับแผลฉีดขาด แต่ความยากอยู่ที่การล้างทำความสะอาดแผลให้ทั่วถึง อาจต้องหาอุปกรณ์เสริม เพื่อมาใช้ flush ล้างทำความสะอาด อย่างเช่น ไซริงค์ จะได้ล้างเข้าไปได้ลึกสุดโพรง แต่เนื่องจากแผลประเภทนี้มีขอบแผลที่แคบ ทำให้ชั้นผิวหนังสมานกันได้เร็ว แต่หากยังมีเชื้อโรคอยู่ข้างในรู ก็อาจกลายเป็นหนองสะสมและเป็นฝีตามมาได้ หากพบแผลลักษณะนี้ ส่วนตัวอยากแนะนำให้พาไปพบคุณหมอดีกว่าครับ เพราะการทำความสะอาดแผลและแต้มยาอย่างเดียวอาจเอาไม่อยู่ จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อมาป้อนร่วมด้วย และบางรายอาจต้องทำการเพาะเชื้อด้วยเช่นกัน เพื่อน ๆ อาจช่วยทำการห้ามเลือดและปิดแผลไว้ ก่อนที่จะพาไปหาคุณหมอต่อไปครับ
การหายของแผล
กระบวนการหายของแผล จะมีการสร้างเนื้อเยื่อจากส่วนก้นขึ้นมาส่วนบน ปกติจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ประเภท และลักษณะของบาดแผล ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อายุของสัตว์ ตำแหน่งของบาดแผล การไหลเวียนของเลือดมาเลี้ยงที่แผล การติดเชื้อแทรกซ้อน ภาวะทุโภชนาการของตัวสัตว์ เทคนิคในการทำแผล ฯลฯ บางครั้งการแต้มยาฆ่าเชื้อพร่ำเพื่อมากไป ก็อาจไปทำลายบาดแผลได้ แผลที่ชื้นมากไป จะทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยลอก ส่วนแผลแห้งที่เกินไป ก็อาจทำให้ผิวหนังเกิดการแตกแยกได้ ความจริงแล้ว แผลสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่การดูแลแผลอย่างถูกต้อง จะช่วยลดการติดเชื้อ ส่งเสริมให้แผลหายเร็วขึ้นครับ
ก่อนจากกัน อยากฝากเพื่อน ๆ ว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ขึ้นก็ตาม อย่าเพิ่งพะวงกับแผลที่เกิดขึ้นมากนัก ให้ช่วยห้ามเลือดและช่วยจัดการภาวะช็อกให้กับน้องหมาก่อน (กู้ชีพน้องหมาด้วยมือเปล่า..คลิก) เพราะสำคัญต่อชีวิตมากกว่า เมื่ออาการของน้องหมาคงที่แล้ว ค่อยมาจัดการกับบาดแผลต่อไป ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ หวังว่าทุกคนคงทำได้ เรื่องการจัดการบาดแผลยังมีอีกมาก ไว้คราวหน้า มุมหมอหมา จะหาโอกาสนำมาเสนอนะครับ ^^
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพหัวข้อบทความ ดัดแปลงจาก
www.dogbreedinfo.com
รูปภาพที่ 4-16 จาก
www.Dogilike.com
รูปภาพที่ 1-3 และ 15-21 จาก
www.forums.steves-digicams.com
www.magmire.net
www.nlm.nih.gov
www.darreng.com
www.hopedogrescue.blogspot.com
www.peta.org
www.pet360.com
www.germanshepherds.com
www.military.discovery.com
www.pilonidal.org
SHARES