โดย: Tonvet
สุนัขบางแก้วชอบเล่นน้ำต้องระวัง!! เสี่ยงป่วยเป็นโรคฉี่หนู
ทำความรู้จักกับโรคฉี่หนูในน้องหมา โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนสำคัญที่ต้องระวังในช่วงน้ำท่วม
25 กันยายน 2556 · · อ่าน (15,900)
ถ้าจะให้คนรักสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว บรรยายถึงลักษณะนิสัยของหมาตัวเองแล้วละก็ คงจะได้คำตอบที่หลากหลาย แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่เกือบทุกคน มักจะพูดถึงตรงกันนั่นก็คือ น้องหมาบางแก้วชอบเล่นน้ำ ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง หันไปอีกที..ตัวก็ไปจมอยู่ในสระบัวโผล่ขึ้นมาให้เห็นแต่หัวเสียแล้ว นิสัยแบบนี้ติดตัวสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วมาแต่ครั้งอดีต เนื่องด้วยมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ บรรพบุรุษของบางแก้วต่างเคยอาศัยอยู่ในบ้านเรือนแพ จึงมักคุ้นเคยกับน้ำเป็นอย่างดี ยิ่งช่วงฤดูฝนอย่างนี้ จึงได้ทีเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
เรื่องนิสัยรักการเล่นน้ำของหมาบางแก้ว อาจจะทำให้เจ้าของอย่างเราปวดหัวและหนักใจอยู่บ้าง เพราะนอกจากจะทำให้เนื้อตัวเลอะเทอะมอมแมมแล้ว ยังอาจไปติดเชื้อโรคร้ายสำคัญที่มักมากับน้ำที่ท่วมขังได้ โรคที่ มุมหมอหมา จะกล่าวถึงในวันนี้ก็คือ โรคฉี่หนู นั่นเองครับ
มาทำความรู้จักกับโรคฉี่หนูในสุนัขกัน
โรคเลปโตสไปโลซีส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู ชื่อที่ใครหลายคนต่างก็คุ้นหูกันดี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ เลปโตสไปล่า (Leptospira spp.) ซึ่งเป็นแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochetes) เคลื่อนที่ได้ (motile) และมีส่วนปลายเป็นตะขอ มีทั้งกลุ่มที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค เจ้าตัวที่ก่อโรคและเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้เกิดการระบาดติดต่อทั้งในคนและในสัตว์ทั่วโลก ได้แก่ Leptospira interrogans ซึ่งยังแยกย่อยออกไปได้อีกมากกว่า 250 serovars โดยแต่ละ serovars จะมีการปรับตัวให้เข้ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแต่ละชนิด และมีกระจายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เจ้าเชื้อนี้มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมาก ชอบอาศัยอยู่ตามดิน โคลน อ่างน้ำ แอ่งน้ำ บึง บ่อ คลอง แม่น้ำ น้ำตก โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำนิ่ง
หนู จัดเป็นสัตว์รังโรค (reservoir host) สำคัญ เนื่องจากสามารถกักเก็บเชื้อเอาไว้ในท่อไตได้ยาวนาน โดยที่ตัวเองก็อาจไม่ได้แสดงอาการป่วยให้เห็น ที่สำคัญยังสามารถแพร่เชื้อออกมาทางปัสสาวะได้อีกด้วย โดยคนและน้องหมา ตลอดจนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ สามารถรับเชื้อได้ จากการไปสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนปัสสาวะจากสัตว์พาหะนำโรคที่มีเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ แมว หรือแม้แต่น้องหมาด้วยกันเอง โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ผิวหนัง เยื่อเมือกที่ตา จมูก และปาก หรืออาจติดต่อโดยตรง ผ่านการผสมพันธุ์ การกัดกัน หรือติดต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกก็ได้
น้องหมาที่ติดเชื้อจะแสดงอาการแตกต่างกันไป ขึ้นกับระดับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย บางตัวอาจป่วยรุนแรงจนถึงขั้นไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ บางตัวก็อาจไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง สำหรับตัวที่ป่วยและแสดงอาการ เจ้าของจะพบว่า น้องหมาจะมีอาการซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน กินน้ำมาก ปัสสาวะมากหรืออาจปัสสาวะน้อย ไปจนถึงไม่มีปัสสาวะเลย ร่างกายขาดน้ำ มีไข้สูง เกิดภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง) ตาแดง (พบการอักเสบของยูเวียที่ตาและเบื่อบุตา) เจ็บปวดบริเวณท้อง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ สัตว์ที่กำลังตั้งท้องอยู่จะแท้งลูก เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ไปทำลายเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด แล้วแทรกต่อยังไต ตับ ม้าม ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาทส่วนกลาง และที่ตา จึงเกิดอาการต่าง ๆ ตามที่กล่าวไปครับ
สงสัยน้องหมา(อาจ) ป่วย ต้องทำอย่างไร
เจ้าของสุนัขที่สังเกตพบอาการดังกล่าว ควรรีบพาน้องหมาไปตรวจกับคุณหมอ เพราะนอกจากจะช่วยรักษาสัตว์ที่ป่วยแล้ว ยังเป็นการช่วยป้องกันการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนได้ด้วย แต่เนื่องจากอาการทางคลินิกของโรคไม่จำเพาะ ในเบื้องต้นคุณหมอจะใช้การตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ หากทำการซักประวัติแล้วเข้าข่ายเป็นที่น่าสงสัย สอดคล้องกับผลการตรวจร่างกายในเบื้องต้นที่ได้ตรวจไป คุณหมอจะทำการตรวจเพื่อยืนยันโรค ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การตรวจทางซีรั่มวิทยา การตรวจทางอณูชีววิทยา (PCR) ฯลฯ ต่อไปครับ
สำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรคฉี่หนู คุณหมอจะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองอาการ (Supportive) ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ สารน้ำ (น้ำเกลือ) ยาลดกรด ยาระงับอาเจียน ยาบำรุงตับ ยาบำรุงไต ฯลฯ เพื่อป้องกันอวัยวะสำคัญอย่างตับและไตเสียหาย หรือเกิดไตวายเฉียบพลัน ซึ่งโดยมากสุนัขที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอาการดีขึ้นใน 7-14 วันครับ แต่จะต้องทำการรักษาให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกจนครบ 3-5 สัปดาห์ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อไม่ให้น้องหมาเป็นสัตว์พาหะนำโรคนี้ต่อไปได้อีก
ระวังกันไว้ อย่าชะล่าใจ
การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เจ้าของควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้องหมาไปเล่นน้ำ แช่น้ำ หรือลุยน้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่สงสัยว่า อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคจากปัสสาวะของสัตว์พาหะนำโรค บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ท่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมาเป็นเวลานาน รวมถึงควรหมั่นสำรวจและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์พาหะต่าง ๆ ด้วย รวมถึงทำความสะอาดบริเวณที่น้องหมาและคนอาศัยอยู่ หากน้องหมาแอบไปเล่นน้ำมา ก็อย่าลืมจับอาบน้ำ ทำความสะอาด เช็ดตัวและเป่าขนให้แห้งทุกครั้งด้วยครับ
การพาน้องหมาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู วัคซีนที่ใช้ฉีดจะต้องมี serovar ของเชื้อที่ตรงกับ serovar ที่พบได้บ่อยในท้องถิ่นนั้น ๆ จึงจะสามารถป้องกันโรคฉี่หนูได้ เพราะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อจะมีความจำเพาะกับ serovar นั้น ๆ ไม่สามารถป้องกันโรคข้าม serovar ได้ ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วยแอนติเจน 2 ชนิด คือ serovar ictherohemorrhagiae และ serovar canicola ซึ่งไม่ใช่ serovar หลักที่ระบาดในประเทศไทย ดังนั้นอย่าชะล่าใจ ถึงแม้จะฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ก็ควรต้องระมัดระวังป้องกันการรับเชื้อโรคจากทางอื่น ๆ ด้วย
บ้านเราตอนนี้ก็เริ่มประสบปัญหาอุทกภัยหลายจังหวัดแล้วนะครับ คนเราเองก็อย่าลืม หันมาใส่ใจป้องกันโรคฉี่หนูด้วย เวลาจะเดินลุยน้ำหรือต้องแช่น้ำนาน ๆ ก็อย่าลืมสวมรองเท้าบูทหนา ๆ ทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำแล้วเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลก็ควรหลีกเลี่ยงการไปสัมผัสกับน้ำที่ท่วมขัง เรื่องอาหารการกินก็ต้องระมัดระวัง ปรุงให้สุกทุกครั้งด้วยนะครับ มุมหมอหมา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นอุทกภัยครั้งนี้ไป พร้อมกับสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 1 จาก
www.dogilike.com
รูปภาพที่ 2-9 จาก
www.huskygang.com (โดยคุณณัฐฐาพร แสงอรุณ)
www.bfah.net
www.baycitiesanimalhospital.wordpress.com
www.cfsph.iastate.edu
www.oley&month.bloggang.com
www.dogster.com
www.panoramio.com
www.seattledogspot.com
SHARES