โดย: Tonvet
ป้องกันโรคเรบีส์ ... สอนเด็กอย่างไรไม่ให้ถูกสุนัขกัด
มาดูวิธีสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักรับมือและป้องกันตัวไม่ให้ถูกสุนัขกัดกันดีกว่า
9 ตุลาคม 2556 · · อ่าน (7,181)
เพื่อน ๆ ชาว ด็อกไอไลค์ ทราบหรือไม่ เมื่อไม่นานมานี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานตัวเลขที่น่าตกใจว่า แต่ละปีคนไทยถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน และในจำนวนนี้ 40% เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่า “เด็ก” เป็นคนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) จากสุนัขป่วยค่อนข้างสูง...
เชื่อว่าเด็ก ๆ หลายคนต่างก็รักสุนัข แต่การปล่อยให้เด็กคลุกคลีกับสุนัข อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่อดเป็นกังวลใจไม่ได้ พวกเราอาจจะเคยได้ยินข่าวคราวอยู่บ้าง เกี่ยวกับประเด็น “สุนัขกัดเด็ก” ซึ่งแต่ละครั้งก็สร้างความสะเทือนใจไม่น้อย ในอีกมุมหนึ่งคนรักสุนัขอย่างเรา ก็คงอดคิดไม่ได้ว่า สุนัขตัวนั้นจะอยู่ต่อไปในสังคมอย่างไร ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เรามาสอนให้เด็กรู้จักรับมือและป้องกันตัวเองกันดีกว่าครับ
1 สอนเด็กให้รู้จักสังเกตอารมณ์ของสุนัข
ก่อนที่เด็ก ๆ จะเข้าหาสุนัข ควรต้องสอนให้เด็กรู้จักสังเกตอารมณ์ของน้องหมาก่อน ว่าน้องหมาแบบไหนเข้าหาได้ แบบไหนเข้าหาไม่ได้ กรณีน้องหมาอารมณ์ไม่ดี จะส่งเสียงเห่าใส่ ขู่คำราม แยกเขี้ยวขู่ หูลู่ไปข้างหลัง ฯลฯ แบบนี้ต้องสอนเด็ก ๆ ว่า ไม่ควรเข้าใกล้โดยเด็ดขาด คุณพ่อคุณแม่อาจจะหารูปมาประกอบเพื่อให้เด็กเห็นภาพ จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น
2 สอนเด็กให้รู้จักการอยู่ร่วมกับสุนัข
ปกติแล้วเราไม่ควรให้เด็กอยู่กับสุนัขตามลำพัง แม้จะเป็นสุนัขในบ้านของตัวเองก็ตาม ในการอยู่ร่วมกับสุนัข ควรสอนเด็ก ๆ ว่า ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับสุนัขขณะที่สุนัขกำลังนอน กินอาหาร เลี้ยงลูก เล่นของเล่น ฯลฯ เพราะน้องหมาเหล่านี้ อาจมีพฤติกรรมหวงถิ่น หวงสิ่งของ หวงลูก หวงอาหาร การที่เด็กเข้าไปเล่น ไปแย่ สุนัขจะคิดว่าเด็ก ๆ กำลังเข้ามาแย่งสิ่งของ จำเป็นต้องปกป้อง เด็กจึงอาจถูกสุนัขทำร้ายได้
ขณะอยู่กับน้องหมา ควรสอนเด็ก ๆ ให้รู้ว่า ไม่ควรจ้องหน้า จ้องตาน้องหมา ไม่ควรเอามือไปปิดตา ปิดหู ดึงหู ลูบหรือตีหัวของสุนัขโดยเด็ดขาด รวมถึงไม่ควรเล่นรุนแรงกับสุนัข เล่นเกมต่อสู้ เล่นแย่งสิ่งของกัน เล่นวิ่งไล่จับ หรือส่งเสียงกรี๊ดดัง ๆ เพราะจะเป็นการไปกระตุ้นเร้าอารมณ์ของสุนัขได้ และหลังจากเล่นหรือสัมผัสตัวสุนัขทุกครั้ง ควรสอนให้เด็กทำความสะอาดล้างมือทันที ก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นต่อไป เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ติดต่อมายังเด็กได้ครับ
3 สอนให้เด็กเข้าหาสุนัขอย่างถูกวิธี
การเข้าหาสุนัขอย่างถูกวิธีก็สำคัญ หากเป็นสุนัขแปลกหน้า ต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักขออนุญาตเจ้าของก่อนเข้าหาสุนัข ถ้าไม่มีเจ้าของอยู่ด้วย ห้ามเด็ก ๆ เข้าไปเล่นกับสุนัขโดยเด็ดขาด (โดยเฉพาะสุนัขจรจัด) ควรสอนให้เด็กเข้าหาสุนัขจากทางด้านข้างลำตัวของสุนัข ไม่ควรให้เข้าทางด้านหน้าหรือด้านหลังของสุนัข และก่อนเข้าหาให้ส่งสัญญาณให้น้องหมารู้ตัวด้วย ให้เด็กค่อย ๆ ทำความรู้จักกับสุนัข เพื่อสร้างความคุ้นชิน ถ้าสุนัขไม่ปฏิเสธ ไม่เมินหน้าหนี ยอมให้เด็กเข้าหา และดูท่าทางเป็นมิตร ก็ให้เด็กใช้มือลูบไปที่ไหบ่หรือหน้าอกของสุนัขเบา ๆ เพื่อเป็นการให้รางวัลและเป็นการผูกมิตรสัมพันธ์ครับ
4 สอนเด็กให้รู้จักรับมือกับภัยจากสุนัข
ภัยจากสุนัขที่สร้างปัญหาให้กับเด็กมากที่สุดก็คือ การถูกสุนัขกัด สุนัขส่วนใหญ่มักจะกัดเด็กบริเวณศีรษะ ใบหน้า และลำคอ ดังนั้นการป้องกันตัว กรณีที่มีสุนัขแปลกหน้าอยู่บริเวณที่เด็กอยู่ ควรสอนเด็กให้ยื่นนิ่ง ๆ ทำตัวเป็นต้นไม้ อย่าวิ่งหนีโดยเด็ดขาด เพราะถึงอย่างไร เด็ก ๆ ก็วิ่งหนีน้องหมาไม่ทัน ให้ก้มศีรษะมองไปที่ปลายเท้าตัวเองหรือมองไปทางอื่น (อย่าจ้องตาสุนัข) มือทั้งสองข้างแนบลำตัว หรือเอามาประสานกันด้านหน้า อย่าส่งเสียงดัง อยู่อย่างเงียบ ๆ ตั้งสติ นับ 1-10 ในใจ จนกว่าสุนัขจะเดินจากไป แต่หากสุนัขวิ่งเข้ามาประชิดตัวแล้วล่ะก็ ควรสอนให้เด็ก ๆ รีบก้มตัวลงแนบกับพื้น ทำตัวขดคล้ายกับก้อนหินหรือลูกบอล (ตามภาพ) เอามือประสานไว้ที่ท้ายทอย ปิดศีรษะ ปิดใบหน้า ปิดใบหูให้มิดชิด ถ้าสุนัขไม่ทำอะไร อาจจะแค่มาดม ๆ แล้วเดินจากไป แต่หากถูกกัดให้รีบขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่อยู่บริเวณนั้นโดยทันที
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เด็กที่ถูกสุนัขกัดมา แล้วไม่กล้าบอกผู้ใหญ่ เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกดุ ถูกตำหนิ ซึ่งก็มีกรณีเกิดขึ้นแล้วกับเด็กไม่ยอมบอกผู้ใหญ่ จนในที่สุดเด็กต้องเสียชีวิตจากโรคเรบีส์ เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ทีแรก เป็นที่น่าเสียดายมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้เด็กอย่ากลัวที่จะแจ้งกับผู้ใหญ่ทุกครั้ง หากตัวเองถูกสุนัขกัดมา แม้จะเป็นเพียงแผลเล็กน้อยก็ตาม
ป้องกันไว้ก่อนได้...ไม่เสียหลาย
โรคเรบีส์เมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หาย คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นห่วงเด็ก ๆ ว่าอาจมีโอกาสหรือเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ สามารถพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคแบบล่วงหน้า (pre-exposure immunization) ได้ โดยการฉีดกระตุ้น 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 (0 คือ วันแรกที่ฉีดวัคซีน) หากได้รับการกระตุ้นวัคซีนครบ 3 ครั้งแล้ว เมื่อเกิดไปสัมผัสกับโรคหลังจากการฉีดภายใน 6 เดือน นับจากวันที่รับวัคซีนครั้งสุดท้าย ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นในระดับสูงอย่างรวดเร็ว แต่หากนานเกินกว่า 6 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 2 ครั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (RIG) ก็ได้ครับ
ช่วงปิดเทอมอย่างนี้ เด็ก ๆ มีเวลาคลุกคลีอยู่กับสุนัขค่อนข้างมาก มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อเรบีส์จากสุนัข (ป่วย) แปลกหน้าได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูก ๆ ให้ระมัดระวัง ไม่เข้าไปเล่นกับสุนัขและสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรค หากเด็กถูกสุนัขเลีย ข่วน หรือกัดจนเกิดแผล ให้รีบห้ามเลือด แล้วล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งทันที จากนั้นซับแผลให้แห้ง แล้วแต้มแผลด้วยโพวีโดนไอโอดีน (เบตาดีน) และรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันต่อไป...หวังว่าปิดเทอมนี้ เด็ก ๆ ทุกคนคงจะมีความสุขและห่างไกลจากโรคเรบีส์นะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
www.petmd.com
www.sheknows.com
www.demagogue.com
www.digitalsecrets.net
www.canidae.com
www.pawsprof.com
www.rabiesalliance.org
www.childparenting.about.com
www.childrenswishingwell.org
SHARES