โดย: Tonvet
ด็อกไอไลค์ ... แนะวิธีตรวจสอบยาเถื่อนในสุนัข
รู้เอาไว้ก่อนภัยมาเยือน มาดูวิธีการตรวจสอบยาเถื่อนสุนัขกันเถอะ
16 ตุลาคม 2556 · · อ่าน (41,850)คุณใช้ยาเถื่อนกับสุนัขอยู่หรือเปล่า ? เมื่อราวปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา มีสมาชิกเว็บไซต์ Facebook ผู้หนึ่ง ได้โพสต์เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงสุนัขคนอื่นมาก ๆ หลังจากตัวเค้าเองได้ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บยี่ห้อหนึ่งให้กับสุนัข ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า "ยาเถื่อน" โดยใจความเนื้อหาบางส่วนก็มีอยู่ว่า
“…เมื่อสามสัปดาห์ก่อนเห็นจะได้ ผมเดินตลาดนัดข้างที่ทำงาน เจอร้านขายอาหารสุนัข นึกขึ้นได้ว่าต้องซื้อยากำจัดเห็บหมัด ซึ่งยี่ห้อที่เคยใช้คือ frontline ใช้แล้วดี ไม่มีปัญหาประการใด เลยไปถามหายี่ห้อดังกล่าว ผลที่ได้รับ คือ แม่ค้าบอกว่าไม่มี มีแต่ยี่ห้ออื่น แต่ว่า สัตวแพทย์เป็นคนนำสูตรนี้มาผลิต เป็นแบบเดียวกับ frontline (ใช้หยอดที่ต้นคอสุนัข) ทำในประเทศไทย โดยการนำหัวเชื้อเข้ามาผสมเอง ลูกค้าซื้อไปหลายรายแล้ว เมื่อเป็นที่น่าเชื่อถือแบบนั้น ผมจึงซื้อมาลองดู หมาผมน้ำหนักมาก เลยซื้อขนาดสำหรับหมาใหญ่ เป็นปั๊ก ตัวหนึ่ง กับ อิงลิช คอกเกอร์ ตัวหนึ่ง ในราคาขวดละ 50 บาท (ถ้าหมาเล็ก สามขวดร้อย) หลังจากที่นำไปหยอดให้กับสุนัข เจ้าอิงลิช ของผม เกิดอาการชัก น้ำลายฟูมปาก ผมไม่ทราบว่าเป็นอะไร เลยพาไปหาสัตวแพทย์ แพทย์เห็นอาการ ก็เลยถามว่า ไปหยอดยาตัวนี้มาหรือปล่าว เอ๊ะ รู้ได้ยังไง หมอบอกว่า เดือนนึงมากันสิบกว่าตัว อาการเดียวกัน ว่าแล้ว เอาเลือดไปตรวจ พบค่าตับสูงมาก เป็นอาการของสัตว์ที่โดนสารพิษ…”
จากกรณีนี้จะเห็นได้ว่า อันตรายจากยาเถื่อนนั้นค่อนข้างน่ากลัว และบางครั้งตัวของเจ้าของสุนัขเองก็อาจคาดไม่ถึงว่า ยาที่ให้สุนัขได้รับเข้าไปนั้น จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายสุนัขได้มากถึงเพียงนี้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงไม่ใช้ยาเถื่อน แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่ายาไหนเป็นยาเถื่อน ด็อกไอไลค์ จึงอยากชวนเพื่อน ๆ มาเรียนรู้วิธีตรวจสอบยาเถื่อนในสุนัขกันครับ
ยาเถื่อน คืออะไร
ยาเถื่อน ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขอขึ้นและรับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ยาพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีราคาถูก เนื่องจากไม่มีต้นทุนวิจัย ค่าโรงงาน ค่าโฆษณา ค่านำเข้า ฯลฯ ผลิตกันเองอย่างง่าย ๆ เอาสารออกฤทธิ์อะไรก็ไม่ทราบ มาผสมและแบ่งบรรจุกันเอง แน่นอนว่าไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานได้ ว่าสารออกฤทธิ์นั้น จะทำงานได้อย่างเสถียรและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไม่ได้ทดลองว่าปลอดภัยกับน้องหมาจริงหรือเปล่า ย่อมทำให้ส่งผลเสียรุนแรงต่อตัวน้องหมาได้ เพราะยาอาจมีพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท และการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ ฯลฯ อาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ ทั้ง ๆ ทีตัวน้องหมาเองก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย
ยาเถื่อนที่ถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ผู้เลี้ยงสุนัขมากที่สุด คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บ หมัด และพยาธิหนอนหัวใจ ยาเถื่อนพวกนี้มีวางขายเกลื่อนกลาดตามตลาดนัด ตลาดค้าสัตว์ ร้านค้าอาหารและอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ หาบเร่ แผงลอย ร้านขายยา หรือแม้แต่ในสถานพยาบาลสัตว์บางแห่งก็นำมาจำหน่ายเช่นกัน มีทั้งรูปแบบหยอดหลัง กิน แป้งโรย หรือมาในรูปของปลอกคอกำจัดเห็บก็มี บางผลิตภัณฑ์จะทำกันอย่างง่าย ๆ แบ่งใส่ขวดเล็ก ๆ ไม่มีฉลากหรือหากมีฉลากก็มีเพียงแต่ชื่อการค้าเท่านั้น ไม่มีชื่อตัวยาหรือสารออกฤทธิ์ ชื่อผู้ผลิต หรือเลขทะเบียน เวลาใช้ต้องเอาไซริงค์ดูดยาขึ้นมา แล้วจึงค่อยหยอดบริเวณต้นคอของสุนัขอีกที ทำให้ยุ่งยากในการใช้ แต่บางผลิตภัณฑ์ก็ทำไฮโซ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ออกมาได้อย่างสวยงามสะดุตา เปิดใช้ง่าย แลดูน่าเชื่อถือ หากไม่สังเกตให้ดี ๆ ก็คงแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นยาแท้หรือยาเถื่อนกันแน่ แล้วอย่างนี้เราจะทราบได้อย่างไร
จุดสังเกตยาเถื่อน หรือ ยาแท้
ปัจจุบันผู้ผลิตยาเถื่อนได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีรูปร่างหน้าตาที่ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น จนบางครั้งเราเองก็แทบจะแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นยาแท้หรือยาเถื่อนกันแน่ ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ ด็อกไอไลค์ อยากให้ทุกคนสังเกตจุดสำคัญต่าง ๆ ต่อไปนี้ครับ
1 ยาแท้ต้องมีชื่อยา โดยมีทั้งชื่อทางการค้า (ยี่ห้อ) และชื่อสามัญทางยาหรือสารออกฤทธิ์สำคัญครับ
2 ยาแท้ต้องมีเลขทะเบียนยาหรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย โดยจะสังเกตเห็นข้อความว่า ทะเบียนยา เลขทะเบียนยา หรือ Reg. No เช่น Reg. No. 2F 8/50 โดยเลขหน้าตัวอักษรภาษาอังกฤษ บ่งบอกถึงจำนวนยาสำคัญในตำรับยานั้น หากเป็นเลข 1 ก็หมายถึง มีตัวยาออกฤทธิ์เพียงตัวเดียว แต่หากเป็นเลข 2 จะหมายถึง มีตัวยาออกฤทธิ์ 2 ตัวขึ้นไป ส่วนอักษรภาษาอังกฤษจะแสดงถึงประเภทของยา โดยยาสำหรับสัตว์จะใช้ตัวอักษร D, E, F, L, M และ N (ดังตาราง) ตามมาด้วยลำดับที่ที่ได้รับใบอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยา ทับด้วยปี พ.ศ. ครับ
ส่วนบางผลิตภัณฑ์ขออนุญาตภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จะสังเกตเห็นข้อความ “อย. วอส.ในกรอบสัญลักษณ์” เช่น วอส. 1266/2554 โดย อย. หมายถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา “วอส” หมายถึง วัตถุอันตราย ส่วน “1266” หมายถึง เลขที่ออกทะเบียนตำรับ และ “2554” หมายถึง ปีที่ออกทะเบียนตำรับครับ
3 ยาแท้ต้องระบุปริมาณหรือขนาดบรรจุของยา เช่น มียากี่เม็ด มียากี่หลอด และแต่ละหลอดบรรจุปริมาณเท่าใด เป็นต้น
4 ยาแท้ต้องระบุเลขที่ผลิตหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือครั้งที่วิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Lot No., Cont. No.หรือ Batch No. แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต
5 ยาแท้ต้องมีการระบุวัน เดือน ปี ที่ผลิต ซึ่งจะให้อักษรย่อว่า Mfd. หรือ Mfg. Date แล้วตามด้วย วันเดือนปีที่ผลิต และมีการระบุวัน เดือน ปี ที่หมดอายุด้วย โดยมีคำย่อ ว่า Exp. Date ซึ่งย่อมาจาก Expiration Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ยานั้นหมดอายุด้วย
6 ยาแท้ต้องมีชื่อและสถานที่ผู้ผลิต ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศก็ตาม และมีชื่อและสถานที่ผู้นำเข้ามา ระบุเอาไว้อย่างละเอียดด้วย
7 ยาแท้ต้องมีวิธีใช้ คำเตือน ข้อควรระวัง และวิธีการเก็บรักษา ระบุไว้อย่างชัดเจน
8 หากเป็นยาพิเศษจะมีข้อความระบุด้วยอักษรสีแดงชัดเจน เช่น ยาสำหรับสัตว์ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ ฯลฯ แล้วแต่ว่ายานั้นจะเป็นยาอะไร
ถ้ามีรายละเอียดครบตามทั้ง 8 ข้อนี้ ก็มั่นใจได้ขึ้นมาระดับหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์ที่เราซื้อมาใช้กับน้องหมาไม่น่าจะเป็นยาเถื่อน แต่ก็อาจมีคนตั้งคำถามต่อว่า แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าฉลากที่พิมพ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกทำปลอมขึ้นมา ตรงนี้ ด็อกไอไลค์ ก็ยังมีอีกช่องทางสำหรับการตรวจสอบครับ นั่นคือ ตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์กับเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
การตรวจสอบยาเถื่อนกับ อย.
เชื่อมั่นว่าปัจจุบันทุกคนมีเครื่องมือสื่อสารที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ยากหากเราจะตรวจสอบยาเถื่อน เพื่อน ๆ สามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์กับเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีขั้นตอนดังนี้ครับ
1 ให้คลิกไปที่ http://www.fda.moph.go.th/
2 จากนั้นคลิกเลือก สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ ในแถบสีเขียวซ้ายมือ
3 ก็จะเข้าสู่หน้า สืบค้นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ให้เราเลือกในส่วนของ “ยา” หรือ “วัตถุอันตราย”
หมายเหตุ กรณีผลิตภัณฑ์มีข้อความ อย. วอส.ในกรอบสัญลักษณ์ ให้คลิกเลือกที่ “วัตถุอันตราย”
4 หากเรากดเลือก “ยา” ก็จะเข้าไปที่ page หน้าตาแบบนี้ ซึ่งก็มีให้ว่าเราเลือกว่า จะสืบค้นข้อมูลจากอะไร เช่น ชื่อทางการค้า ชื่อสารสำคัญ ทะเบียนยา ชื่อผู้รับอนุญาต ชื่อผู้ผลิตต่างประเทศ หรือชื่อผู้แทนจำหน่าย
5 ตัวอย่างเช่น หากเราเลือกสืบค้นจาก ชื่อทางการค้า แล้วกรอกชื่อผลิตภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่งลงไป เมื่อกดปุ่ม Search ก็จะพบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้านั้นทั้งหมด ให้ลองตรวจสอบดูว่า เลขทะเบียนยาตรงกันหรือไม่
6 นอกจากนี้เรายังสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆได้ ซึ่งจะมีข้อมูลแจ้งเอาไว้อย่างครบถ้วนครับ
7 แต่หากเพื่อน ๆ คลิกเลือก “วัตถุอันตราย” ก็จะเข้าสู่ page หน้าตาเช่นนี้ ให้เราคลิกเลือกไปที่ “ทะเบียนวัตถุอันตราย”
8 ก็จะเข้ามาสู่ในส่วน “การสืบค้นวัตถุอันตราย” ซึ่งก็มีให้เราเลือกอีกเช่นกันว่า เราจะสืบค้นจากอะไร เช่น ค้นจากเลขทะเบียน ค้นจากชื่อผลิตภัณฑ์ หรือค้นจากชื่อสาระสำคัญก็ได้
9 ยกตัวอย่าง หากเราเลือกสืบค้นจาก ชื่อผลิตภัณฑ์ แล้วกรอกชื่อผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งลงไป เมื่อกดปุ่ม Search ก็จะพบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้านี้ทั้งหมดเช่นเดียวกัน
10 ซึ่งสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆได้
11 ในทางตรงกันข้าม หากเราลองค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลขทะเบียน ก็จะขึ้นว่า “ไม่พบข้อมูลที่ต้องการหา” ครับ
ในแต่ละปีมีน้องหมาจำนวนไม่น้อยได้รับอันตรายจากการใช้ยาเถื่อน ส่งผลให้น้องหมาบางตัวต้องลาจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร ปัญหาเหล่านี้เราสามารถป้องกันได้ ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่าเชื่อคำชวนเชื่อ อย่าสนับสนุนยาเถื่อน เพื่อน้องหมาของเพื่อน ๆ ทุกคน
ก่อนจากกันอยากให้เพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นยาเถื่อน กรุณาโทรแจ้งไปที่ สายด่วน อย. 1556 หรือเข้าแจ้งโดยตรงได้ที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตึก อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ในเวลาราชการครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก
ธิดารัตน์ บัวชื่น. ฉลากและเอกสารกำกับยานั้น...สำคัญไฉน? วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2555 : ปีที่ 19 ฉบับที่ 4
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 1-4 จาก
www.lucasclean.com
www.facebook.com/wilawana
www2.manager.co.th
www.medicsindex.ning.com
รูปภาพที่ 5-21 จาก
www.dogilike.com
SHARES