โดย: Tonvet

เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

มาดูให้รู้กันว่าความสามารถในการดมกลิ่นนั้น สามารถเปลี่ยนให้หมากลายเป็นหมอช่วยวินิจฉัยโรคของคนได้

30 ตุลาคม 2556 · · อ่าน (19,563)
211

SHARES


211 shares

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

     เพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ที่ติดตามคอลัมน์ Daily dog อยู่เป็นประจำ อาจจะเคยได้ทราบข่าวความสามารถของน้องหมาเกี่ยวกับการดมกลิ่นพบโรคต่าง ๆ ของมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง เช่น เรื่องของเจ้าเพนนี สุนัขพันธุ์คาวาเลียร์ คิงชาร์ลส์ สเปเนียล ที่ดมกลิ่นพบมะเร็งเต้านมของชารอน รอลินสัน ผู้เป็นเจ้าของ ก่อนที่เธอจะไปตรวจกับแพทย์ หรือเรื่องของเจ้า Charlie สุนัขพันธุ์เกรทเดน ที่สามารถเตือนสมาชิกในครอบครัวให้ทราบก่อนที่หนูน้อย Brianna Lynch วัย 3 ขวบ จะมีอาการชักกำเริบ ทั้งทีไม่เคยถูกฝึกให้ดมกลิ่นมาก่อน ฯลฯ ความสามารถเหล่านี้ไม่เพียงแต่เจ้าของสุนัขเท่านั้นที่ประหลาดใจ เพราะหากใครได้ทราบข่าว ก็คงจะต้องตั้งคำถามในใจแน่นอนว่า สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร  ?
 

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

 
     ความจริงแล้วสุนัขเป็นสัตว์ที่มีจมูกไวเป็นอย่างมาก สามารถรับรู้กลิ่นเหงื่อของคนที่สัมผัสบนแผ่นกระจกได้ แม้จะผ่านมาแล้วมากกว่าสัปดาห์ สามารถได้กลิ่นของคนที่ติดอยู่ภายใต้กองหิมะหนาหลายเมตรได้ หรือหากเอายาเสพติดไปซ่อนปะปนกับสิ่งของที่มีกลิ่นฉุน ก็ไม่อาจหลอกจมูกของสุนัขได้เช่นกัน การดมกลิ่นทำให้สุนัขได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ อีกมากมายชนิดที่ว่า แค่ดมกลิ่นเพียงครั้งเดียวก็ไม่ต้องเสียเวลามานั่งไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกันเลย เราอาจจะเคยเห็นสุนัขทักทายกันด้วยการดมกลิ่น ซึ่งธรรมเนียมในการดมกลิ่นของสุนัขนั้น มักจะเอาจมูกไปจ่อกับต้นตอของกลิ่นโดยตรง เนื่องจากไม่อยากให้กลิ่นระเหยเจือจางไปในอากาศ และไม่อยากให้กลิ่นไปปะปนกับกลิ่นอื่น ๆ มากเกินไป

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

 

เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดมกลิ่นของสุนัข

 
     การดมกลิ่นจัดเป็นสัญชาตญาณแห่งการรับรู้ ที่ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และกระบวนการในการเรียนรู้ สุนัขได้ประโยชน์มากมายจากการดมกลิ่น ทั้งเพื่อการรับรู้ข้อมูล ใช้เตือนภัย และใช้ในเรื่องของพฤติกรรมทางเพศ โดยที่จมูกของสุนัขจะทำงานร่วมกับอวัยวะพิเศษที่ชื่อว่า Jacobson’s organ หรือ Vomero-nasal organ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อลักษณะเป็นท่อแคบ ๆ 1 คู่ อยู่บริเวณเพดานแข็งทำหน้าที่รับฟีโรโมน (pheromone) เห็นได้จากการที่สุนัขตัวผู้สามารถรับรู้ได้ว่า สุนัขตัวเมียตัวไหนกำลังเป็นสัดอยู่ บางตัวอาจทำหน้าเผยอแล้วยกริมฝีปากบนขึ้น เพื่อให้เนื้อเยื่อส่วนนี้รับสารเคมีได้ดีขึ้น เราเรียกท่าทางแปลก ๆ แบบนี้ว่า Flehmen 

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

    
     นอกจากนี้ภายในจมูกยังมีเซลล์รับกลิ่นที่เรียกว่า Olfactory cells อยู่จำนวนมาก สามารถรับกลิ่นที่ลอยมาทางอากาศจากแหล่งใกล้ไกลได้ เซลล์เหล่านี้จะอยู่ตามผิวในโพรงจมูก (olfactory mucous membrane) ในสุนัขจะมีการพัฒนาในส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยมีขนาดพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 125-150 ตารางเซนติเมตร แตกต่างจากคนซึ่งมีขนาดพื้นที่แค่เพียง 4-5 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งสุนัขแต่ละพันธุ์ก็จะมีขนาดไม่เท่ากัน ความไวในการดมจึงลดหลั่นกันไป โดยสุนัขที่มีหน้ายาวจะมีพื้นที่ในการรับกลิ่นที่มากกว่า

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

    
     ธรรมชาติสร้างให้เซลล์รับกลิ่นจะมีระดับ threshold ที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้มีความไว (sensitivity) สูง สามารถถูกกระตุ้นได้ง่าย แม้จะได้รับกลิ่นเพียงเล็กน้อยก็สามารถรับรู้ได้ โดยกลไกจะเริ่มจาก เมื่อกลิ่นซึ่งเป็นโมเลกุลของสารเคมีล่องลอยอยู่ในอากาศ ถูกสูดเข้าสู่จมูกผ่านการหายใจเข้า แล้วไปจับกับเนื้อเยื่อภายในจมูกส่วนรับสัญญาณ จนเกิดการกระตุ้นเซลล์รับกลิ่น (olfactory cells) มีการเปลี่ยนแปลงของ ion channels เกิด depolarization ขึ้น แล้วส่งสัญญาณ impulse ไปตามเส้นประสาท (olfactory tract) เข้าสู่สมองเพื่อแปลสัญญาณออกมา 

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

 

สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

 
     ประสบการณ์และการเรียนรู้จะสอนให้สิ่งมีชีวิตสามารถตีความได้ว่ากลิ่นที่ได้รับนั้นเป็นกลิ่นของอะไร เช่น เมื่อเราได้กลิ่นของทุเรียน เราก็สามารถบอกได้ทันทีว่านั่นเป็นกลิ่นของทุเรียน ทั้งทียังไม่ได้เห็นผลของทุเรียนเลยด้วยซ้ำ จากเหตุผลดังกล่าว เราจึงนำความรู้มาปรับใช้กับน้องหมา ซึ่งเป็นสัตว์มีความสามารถในการรับกลิ่นและจำแนกชนิดของกลิ่นต่าง ๆ ได้ดีกว่ามนุษย์หลายเท่า ให้สามารถดมหากลิ่นโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ โดยหลักการก็คือ การให้น้องหมาดมกลิ่นเป้าหมายซ้ำ ๆ จนจำได้ แล้วปล่อยให้ไปหาของที่มีกลิ่นเหมือนกัน โดยสารที่ให้สุนัขดมนั้นก็ควรมีคุณสมบัติที่ดีด้วย จากการศึกษาพบว่า สารที่ละลายได้ดีทั้งในไขมันและน้ำจะกระตุ้นให้จมูกรับกลิ่นได้ดีกว่าสารที่ละลายได้ในน้ำหรือไขมันเพียงอย่างเดียว 

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

    
     มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับการดมกลิ่นโรคต่าง ๆ ในคนของสุนัข เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคลมชัก หรือแม้แต่การตรวจวัดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ฯลฯ  อย่างเช่นงานวิจัยที่ชื่อ “Olfactory Detection of Prostate Cancer by Dogs Sniffing Urine: A Step Forward in Early Diagnosis” ที่นำสุนัขมาฝึกให้ดมกลิ่นของปัสสาวะเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในคน
 
     งานวิจัยนี้ศึกษาโดย Jean-Nicolaas Cornu และคณะ ตีพิมพ์ลงในวารสาร European urology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2011 โดยใช้สุนัขพันธุ์ Belgain Malinois shepherd มาฝึกให้ดมและจดจำกลิ่นปัสสาวะของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งใช้ระยะเวลาการฝึกเป็นเวลา 24 เดือน (จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์) เมื่อเข้ารับการทดสอบพบว่า สุนัขสามารถตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจากปัสสาวะตัวอย่างได้ถูกต้อง 30 จาก 33 ตัวอย่าง ซึ่งให้ผลความไวและความจำเพาะคิดเป็น 91 % เลยทีเดียว 

Dogilike.com :: เจาะลึก!! ศาสตร์แห่งการดม สุนัขรับรู้กลิ่นโรคของคนได้อย่างไร

    
     โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในประชากรของสหรัฐอเมริกา มีอุบัติการณ์เกิดโรคสูงถึงปีละ 192,280 ราย มะเร็งชนิดนี้จะสร้างสาร Volatiles organic compound (VOCs) จาก malignant cell ซึ่งจมูกของสุนัขสามารถตรวจจับกลิ่นของ VOCs ได้ นักวิจัยจึงนำประโยชน์ของสุนัขในจุดนี้มาใช้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้การคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในคนในระยะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
     ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับว่าจมูกของสุนัขจะมีประโยชน์ได้มากถึงเพียงนี้ หากเทียบประสิทธิภาพกับเครื่องมือวินิจฉัยโรคราคาแพงแล้ว ก็นับกว่าสูสีไม่แพ้กัน สามารถใช้ร่วมกันเพื่อการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี สุนัขทุกตัวมีความสามารถที่เราอาจคาดไม่ถึงซ่อนอยู่ ค้นหามันให้เจอ ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ไม่แน่ว่าสุนัขบ้าน ๆ ของเราอาจเปลี่ยนกลายเป็นหมอประจำบ้านขึ้นมาก็ได้นะครับ
 
 


 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงจาก:
Jean-Nicolas Cornu, Géraldine Cancel-Tassin, Valérie Ondet, Caroline Girardet and Olivier Cussenot. 2011. Olfactory Detection of Prostate Cancer by Dogs Sniffing Urine: A Step Forward in Early Diagnosis. European urology. Volume 59, issue 2: pages 183-316
http://www.dogsdetectcancer.org/category/studies
 
รูปภาพประกอบ:
www.blog.cleveland.com
www.dogspired.com
www.kimballstock.com
www.en.wikipedia.org
www.colorado.edu
www.slashgear.com
www.npr.org
www.europeanurology.com