โดย: Tonvet
7 เรื่องจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในสุนัขที่เราควรรู้
มาดูเรื่องจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำวัคซีนในสุนัขที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อน
8 มกราคม 2557 · · อ่าน (472,208)
เมื่อได้น้องหมามาใหม่ สิ่งแรกที่ผู้เลี้ยงทุกคนจะต้องนึกถึงคุณหมอ ก็คือการพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพ เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน ในเรื่องของการฉีดวัคซีนนั้น จะเริ่มฉีดให้น้องหมาเมื่อใด และฉีดป้องกันโรคอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้เจ้าของส่วนใหญ่มักจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่มีบางเรื่องที่เจ้าของส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสำคัญและเป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในสุนัขที่เราควรรู้ทั้งนั้น จะมีเรื่องใดบ้าง เชิญอ่านได้ใน มุมหมอหมา วันนี้ครับ
1 ลูกสุนัขที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก “ก่อนกำหนด” จะทำให้เสี่ยงป่วยเป็นโรคมากยิ่งขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ลูกสุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ด้วยความหวังดีอยากในลูกสุนัขมีภูมิคุ้มกันโรคไว ๆ จะได้ไม่ป่วย จึงรีบพาไปฉีดวัคซีนก่อนกำหนด ซึ่งการที่เราเร่งฉีดวัคซีนให้น้องหมาเร็วเกินไปนั้น ระบบภูมิคุ้นกันของลูกสุนัขยังทำงานไม่สมบูรณ์ การสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในช่วงอายุดังกล่าว ยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับโดยตรงจากแม่ ผ่านนมน้ำเหลืองที่ลูกสุนัขกินเข้าไปเมื่อ 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดอยู่แล้ว
หากได้รับการฉีดวัคซีนก่อนกำหนด จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่ถูกทำลายไป ในขณะที่ตัวลูกสุนัข ก็ยังสร้างภูมิคุ้มกันเองไม่ได้ และถึงแม้จะเริ่มสร้างได้แล้ว ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรหลังจากฉีด จนกว่าที่ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับที่สามารถป้องกันได้ เท่ากับว่าการเร่งฉีดวัคซีนเร็วก่อนกำหนดนั้น ไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรเลย เสียเงินเสียทองฟรีเสียเปล่า อีกทั้งลูกสุนัขยังเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันจากแม่ถูกทำลายไป ทั้งนี้ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อใดนั้น คุณหมอจะเป็นผู้พิจารณากำหนดการฉีดวัคซีนของลูกสุนัขแต่ละตัว โดยดูจากประวัติวัคซีนของแม่ การได้รับนมน้ำเหลืองของลูก และการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคในลูกสุนัขตัวนั้น ๆ ครับ
2 สุนัขที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนไปอาจป่วยหรือแพ้วัคซีนได้
วัคซีนส่วนใหญ่ที่เราใช้กัน จะเป็นวัคซีนเชื้อเป็น (Modified live vaccine) โดยนำเชื้อก่อโรคมาผ่านกระบวนการทำให้อ่อนกำลังลง การที่สุนัขได้รับวัคซีนเข้าไปก็คล้ายกับการได้รับเชื้อเข้าไป แตกต่างกันก็ตรงที่ วัคซีนที่ฉีดเข้าไปนั้นไม่สามารถทำให้สุนัขเกิดโรคได้ เพราะเชื้อไม่มีกำลังมากพอที่จะก่อโรค เพียงแต่มีกำลังสำหรับเหนี่ยวนำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองและจดจำเชื้อเท่านั้น การป่วยหลังจากที่เพิ่งฉีดวัคซีนไปสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของร่างกาย เช่น มีไข้อ่อน ๆ ซึม กินอาหารลดลง เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ฯลฯ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคุณหมอจึงมักจะแนะนำ ให้เจ้าของงดอาบน้ำให้น้องหมา 7 วันหลังจากฉีดวัคซีน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจทำให้น้องหมาป่วยก็ควรที่จะงดด้วย
บางรายก็อาจเกิดการแพ้วัคซีนได้ เพราะร่างกายเกิดการต่อต้านวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับสุนัขทุกตัว เพียงแต่เจ้าของจะต้องหมั่นสังเกตอาการน้องหมาหลังจากฉีดวัคซีนให้ ถ้ามีความผิดปกติต้องแจ้งให้คุณหมอทราบทันที ปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการแก้ไขได้ ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป ทั้งนี้การป่วยหลังการการฉีดวัคซีนบางครั้ง อาจเกิดจากน้องหมาอาจมีเชื้อแฝงอยู่ก่อน แต่ยังไม่แสดงอาการ พอฉีดวัคซีนเข้าไปจึงทำให้เกิดการป่วยรุนแรงตามมา ดังนั้นสุนัขที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกครั้ง จะต้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ เจ้าของจะต้องสังเกตอาการของน้องหมาให้ดี ถ้าป่วยอยู่จะต้องทำการรักษาให้หายก่อนที่จะฉีดวัคซีนครับ
3 สุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคได้
การได้รับวัคซีนครั้งแรกเพียงครั้งเดียว (single primary vaccination) นั้น ไม่เพียงพอที่ร่างกายน้องหมาจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าของที่ได้พาสุนัขเข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งแรกแล้ว บางคนชะล่าใจ เลี้ยงสุนัขแบบปล่อยปะละเลย ให้ไปคลุกคลีอยู่ในแหล่งที่เสี่ยงรับโรค เช่น ปล่อยให้เล่นกับสุนัขของเพื่อน ที่ไม่ทราบประวัติและอาการป่วย พาไปเที่ยวตามแหล่งที่มีการชุมนุมของสุนัขหลายตัวรวมกัน ฯลฯ ทำให้มีโอกาสรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้นในช่วงที่ยังกระตุ้นวัคซีนไม่ครบ เจ้าของก็ไม่ควรเลี้ยงสุนัขแบบปล่อยอิสระ และพาสุนัขไปกระตุ้นวัคซีนให้ครบคอร์ส ตามที่คุณหมอได้นัดหมายเอาไว้ครับ
4 หากไม่พาสุนัขมาฉีดกระตุ้นวัคซีนตามกำหนด โดยทิ้งระยะนานเกินไป จะต้องเริ่มต้นใหม่
สุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว จะมีแอนติบอดี้ในร่างกายเกิดขึ้น และคงอยู่ในระดับที่คุ้มกันไม่ให้สัตว์ป่วยจากโรคได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ระดับภูมิคุ้มกันนั้น จะค่อย ๆ ลดลงไปจนไม่สามารถที่จะป้องกันโรคได้ สุนัขทุกตัวจึงควรได้รับการฉีดวัคซีน หลังจากที่ทำวัคซีนครบคอร์สแรกแล้วในอีก 12 เดือนถัดมา และทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกปีตลอดชีวิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถป้องกันการป่วยจากโรคได้อยู่ตลอดเวลา การที่เราหลงลืมไม่พาน้องหมามาฉีดวัคซีนตามกำหนด โดยทิ้งระยะนานเกินไป สุนัขที่ขาดวัคซีนนานเกินไปนั้น ควรจะต้องเริ่มต้นกระตุ้นวัคซีนใหม่ เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ กระตุ้นสร้างระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมา จนอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิมอีกครั้ง
5 แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว สุนัขก็ยังสามารถป่วยได้
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เมื่อพาน้องหมาไปฉีดวัคซีนแล้ว สุนัขตัวนั้นจะไม่ป่วยเป็นโรคนั้นอีก ความจริงแล้วไม่มีอะไรในโลกจะสามารถป้องกันได้ 100 % วัคซีนมีความสามารถในการป้องกันการเกิดโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถป้องกันการรับเชื้อโรคได้ หากตัวของสุนัขกำลังอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันตก เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ก็สามารถย่ามกายเข้ามาก่อโรคได้โดยง่าย ในส่วนของตัวเชื้อโรคเอง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง สามารถพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด จึงอาจยกระดับตัวเองให้เชื้อมีความรุนแรงยิ่งขึ้น และบางครั้งสุนัขอาจได้รับปริมาณเชื้อโรคที่มากจนร่างกายต่อต้านไม่ไหว ก็สามารถทำให้ป่วยได้เช่นกัน
บางกรณีการป่วยก็เกิดจากความล้มเหลวในการทำวัคซีน เช่น การฉีดวัคซีนก่อนกำหนดในลูกสุนัข ขั้นตอนการผลิตวัคซีนที่ไม่สมบูรณ์ จึงได้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ การจัดเก็บรักษาวัคซีนไม่ได้ตามอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงทำให้วัคซีนเสื่อม หรือการไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดให้ของตัวสุนัขเอง ฯลฯ จึงทำให้การฉีดวัคซีนครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เลยไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ตั้งแต่แรก ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมน้องหมาจึงสามารถป่วยด้วยโรคที่ฉีดวัคซีนไปแล้วได้นั่นเอง
6 น้องหมาที่กำลังตั้งท้องอยู่สามารถฉีดวัคซีน (เชื้อตาย) ได้
เป็นที่ทราบกันว่าสุนัขที่กำลังตั้งท้องอยู่นั้น ไม่ควรได้รับวัคซีน เพราะอาจไปมีผลต่อลูกในท้องได้ ดังนั้นถ้าเจ้าของคนไหน มีแผนจะให้น้องหมาของตัวเองมีลูก ก็มักจะแนะนำให้พาไปฉีดวัคซีนก่อนที่จะผสมอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ แต่มีวัคซีนบางตัวและบางยี่ห้อ ที่สามารถฉีดให้น้องหมาได้ คือ วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ซึ่งยังไม่พบอาการข้างเคียง เมื่อให้วัคซีนกับสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง จึงสามารถฉีดให้น้องหมาที่ตั้งท้องได้ แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ส่วนวัคซีนที่ห้ามฉีดให้น้องหมาที่กำลังตั้งท้องเด็ดขาดเลย ก็คือ วัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนรวมโรค จึงแนะนำให้รอคลอดก่อนจึงค่อยพาไปฉีดได้ ดังนั้นสุนัขที่กำลังตั้งท้องอยู่ หรือได้รับการผสมมา เจ้าของจะต้องแจ้งประวัติกับคุณหมอด้วยครับ
7 ถ้าเราไม่พาน้องหมาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ถือว่าผิดกฎหมาย
โรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้า ถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อันตรายต่อชีวิตในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ซึ่งตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 มาตราที่ 5 (1) ได้วางหลักไว้ว่า ให้เจ้าของจัดการให้สุนัขได้รับการฉีดวัคซีน (ซึ่งหมายความว่า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์) ครั้งแรก เมื่อสุนัขนั้นมีอายุตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินสี่เดือน และได้รับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งหากเจ้าของสัตว์ควบคุมผู้ใด ไม่จัดการให้สัตว์ควบคุมได้รับการฉีดวัคซีน จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ดังที่ระบุไว้ในมาตราที่ 21 ซึ่งสุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องได้รับใบรับรองการฉีด และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้นเจ้าของจะต้องพาน้องหมาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ เพื่อความถูกต้องตามกฎหมาย และความปลอดภัยในชีวิตทั้งของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวครับ
การฉีดวัคซีนให้น้องหมาเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่บางครั้งเราเองกลับมองข้ามไป เช่น ไม่สังเกตอาการน้องหมาหลังจากฉีดวัคซีน เพราะคิดว่าฉีดมาตั้งหลายครั้งแล้ว ไม่เคยป่วยหรือเคยเกิดอาการแพ้วัคซีน ไม่พากลับมากระตุ้นวัคซีนทุกปี เพราะคิดว่าฉีดครบคอร์สแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดอีก หรือบางคนก็อ้างไม่มีเวลา จึงพามาฉีดกระตุ้นไม่ตรงตามนัด น้องหมาบางตัวขาดการกระตุ้นนานเป็นปี จนต้องเริ่มต้นฉีดใหม่ เสียทั้งเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ฯลฯ
ซึ่งการละเลยทั้งหมด ผลเสียที่เกิดขึ้น ก็ย่อมตกกับตัวของน้องหมาที่เราเลี้ยงนั่นเอง ดังนั้นจึงอย่างให้เพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ทุกคนใส่ใจเรื่องการพาน้องพาไปฉีดวัคซีนให้มาก ๆ หวังว่า 7 เรื่องจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในสุนัข ที่ มุมหมอหมา นำมาเสนอในวันนี้ จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนในสุนัขมากยิ่งขึ้นนะครับ
ซึ่งการละเลยทั้งหมด ผลเสียที่เกิดขึ้น ก็ย่อมตกกับตัวของน้องหมาที่เราเลี้ยงนั่นเอง ดังนั้นจึงอย่างให้เพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ทุกคนใส่ใจเรื่องการพาน้องพาไปฉีดวัคซีนให้มาก ๆ หวังว่า 7 เรื่องจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในสุนัข ที่ มุมหมอหมา นำมาเสนอในวันนี้ จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนในสุนัขมากยิ่งขึ้นนะครับ
เพื่อน ๆ ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนของสุนัขในปัจจุบัน คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
www.saintfrancis.org
www.akc.org
www.petfinder.com
www.featherandfur.com
www.marvistavet.com
www.dogs.answers.com
www.singasongforyouhg.wordpress.com
www.collective-evolution.com
www.detodoenibiza.com
SHARES