เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า โรคติดต่อสำคัญในสุนัขนั้นมีมากมาย หลาย ๆ โรคเมื่อเป็นแล้ว ก็ทำให้น้องหมาป่วยหนักจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด บางโรคก็ยังไม่มีวิธีรักษา เรียกได้ว่าเมื่อเป็นแล้ว ตายอย่างเดียวก็มี ซึ่งบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์เกิดขึ้นกับน้องหมาของตัวเอง ดังนั้นหนทางที่จะช่วยน้องหมาให้มีชีวิตรอดอยู่ด้วยกันไปนาน ๆ ก็คือ การพาสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคนั่นเอง
การฉีดวัคซีนนั้นความจริงแล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ ว่าจะฉีดอะไร ฉีดเมื่อไหร่ หรือกระตุ้นอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าหมอแต่ละท่าน จะมีแนวทางฉีดวัคซีนเป็นของตนเองจนออกทะเล เพราะการฉีดวัคซีนนั้นก็มีแนวทางปฏิบัติเอาไว้ให้ยึดถือเช่นกัน ซึ่งมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนที่สัตวแพทย์ (ทั่วโลก) ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เรายึดแนวทางปฏิบัติของ The World Small Veterinary Association (WSAVA) : Vaccination Guideline Group (VGG) ครับ ซึ่งฉบับล่าสุดเพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2559 หรือ ค.ศ. 2016 นี้เอง วันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ ไป อัพเดท (update) การฉีดวัคซีนของสุนัขในปัจจุบันกันครับ ว่ามีแนวทางหรือกรอบวางเอาไว้อย่างไรกันบ้าง
วัคซีนสำคัญที่น้องหมาต้องได้รับมีอะไรบ้าง
โรคสำคัญของสุนัขในปัจจุบันกับในอตีดนั้นไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกนั้นมีการระบาดของโรคแตกต่างกันไป อย่างเช่นในประเทศไทย โรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าก็ยังคงเป็นโรคติดต่อสำคัญทางสาธารณสุขอยู่ ต่างกับในบางประเทศที่ประกาศว่า ประเทศตัวเองได้ปลอดจากโรคนี้หรือไม่มีรายงานสัตว์ป่วยติดเชื้อโรคนี้มานานแล้ว ความเข้มข้นของการรณรงค์ให้ฉีดป้องกันก็อาจจะแตกต่างกันไป แนวทางปฏิบัติของการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือ Vaccination Guideline Group (VGG) จึงได้วางกรอบเอาไว้กว้าง ๆ โดยแบ่งกลุ่มวัคซีนตามความสำคัญออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1 วัคซีนหลัก (core vaccine) เป็นวัคซีนที่สุนัขทุกตัวควรได้รับวัคซีน ได้แก่ โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัส Canine parvovirus type 2 (CPV-2) โรคไข้หัดสุนัข (canine distemper virus) โรคตับอักเสบติดต่อในสุนัขจากเชื้อ canine adenovirus และโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า)
2 วัคซีนทางเลือก (non-core หรือ optional vaccine) เป็นวัคซีนที่พิจารณาเฉพาะให้ในรายกลุ่มเสี่ยง หรือในบางพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ โรคฉี่หนู (leptospirosis) โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (canine infectious respiratory disease complex) ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์
3 วัคซีนที่ไม่แนะนำให้ใช้ (not-recommended vaccine) เป็นวัคซีนที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานสนับสนุนเพียงพอในเรื่องประสิทธิภาพของตัววัคซีนเอง ได้แก่ โรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัขจากเชื้อไวรัส Canine Coronavirus
สุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อไหร่
ลูกสุนัขควรได้รับวัคซีนหลัก (core vaccine) เข็มแรก เมื่อมีอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนของภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่ (maternal-derived antibody) ซึ่งจะได้รับผ่านนมน้ำเหลืองที่ลูกสุนัขกินเข้าไปในช่วงวัยแรกเกิด แต่สำหรับลูกสุนัขที่ไม่ได้รับนมจากแม่ (ไม่ได้รับ maternal-derived antibody) และอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคได้สูง ก็ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกก่อน คือ ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ จากนั้นให้กระตุ้นซ้ำทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ จนลูกสุนัขมีอายุถึง 16 สัปดาห์ นั่นคือ ลูกสุนัขควรได้รับวัคซีนในช่วงปีแรกประมาณ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย จากนั้นจึงค่อยให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุได้ 1 ปี ส่วนวัคซีนทางเลือก (non-core หรือ optional vaccine) ให้สัตวแพทย์พิจารณาให้เป็นราย ๆ ไปตามความเสี่ยงของการได้รับเชื้อในพื้นที่นั้น ๆ โดยในลูกสุนัขจะให้กระตุ้นจำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ตามชนิดของวัคซีนที่ฉีด
สำหรับสุนัขที่มีอายุมากกว่า 4 เดือน แต่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ทราบว่าเคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ ควรพิจารณาให้วัคซีนหลักเพียง 1-2 ครั้งก็เพียงพอในช่วงครั้งแรก (สำหรับวัคซีนเชื้อเป็น ได้รับเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าเพียงพอ) เนื่องจากไม่มีการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันจาก maternal-derived antibody แล้ว ทั้งนี้ให้รวมถึงสุนัขที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วในช่วงปีแรก แต่ไม่ได้รับการกระตุ้นวัคซีนอย่างสม่าเสมอ ก็สามารถให้วัคซีนหลักชนิดเชื้อเป็นกระตุ้นซ้ำเพียงครั้งเดียวได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ ส่วนวัคซีนทางเลือก ให้สัตวแพทย์พิจารณาให้เป็นราย ๆ ไปตามความเสี่ยงของการได้รับเชื้อในพื้นที่นั้น ๆ โดยให้กระตุ้น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ตามที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนระบุไว้
สุนัขควรได้รับการกระตุ้นวัคซีนอย่างไร
ปัจจุบันมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า วัคซีนหลัก (core vaccine) ชนิด "เชื้อเป็น" สามารถให้ความคุ้มกันโรค (duration of immunity) ได้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ใน Vaccination Guideline Group (VGG) จึงได้แนะนำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยแล้ว และได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนในช่วงปีแรกมาแล้ว ควรได้รับการฉีดกระตุ้นวัคซีนเชื้อเป็นไม่น้อยกว่าทุก ๆ 3 ปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการให้วัคซีนโดยไม่จำเป็น ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายระบุไว้ว่า ในประเทศนั้น ๆ จะต้องให้ฉีดเป็นประจำทุกปี อย่างเช่น โรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ก็ยังคงต้องฉีดกระตุ้นกันอยู่ทุก ๆ ปี เพราะยังเป็นโรคระบาดที่มีความสำคัญทางสาธารณสุขในบ้านเรา แต่การเว้นการกระตุ้นเป็นให้ฉีกทุก ๆ 3 ปีนี้ ก็ยังไม่ครอบคลุมในวัคซีนเชื้อตายด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปก็คือ การจัดโปรแกรมวัคซีนยังคงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ ตามความเหมาะสมและสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อในสุนัขในแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาตามกรอบแนวทางที่ Vaccination Guideline Group (VGG) นี้ได้วางไว้ เพื่อเป็นแนวทางให้ปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไป ขึ้นกับความเสี่ยงของสุนัขในแต่ละตัว คงไม่มีโปรแกรมวัคซีนใดที่เหมาะสมกับสุนัขได้ทุกตัวไปได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้สอดคล้องตามสถานการณ์ต่าง ๆ การตรวจประเมินสุขภาพและความเสี่ยงก่อนการฉีดวัคซีน จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำทุกครั้ง เจ้าของควรพาสัตว์เลี้ยงมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ Vaccination Guideline Group ยังแนะนำให้ใช้ชุดทดสอบเพื่อตรวจการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ภายหลังจากการให้วัคซีนด้วย เจ้าของควรทำการเก็บบันทึกข้อมูลการได้รับวัคซีนไว้เป็นประวัติส่วนตัว ตลอดจนคอยสังเกตและจดจำความผิดปกติหรืออาการอันไม่พึงประสงค์ภายหลังจากการฉีดวัคซีนด้วยทุกครั้งครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
Day MJ, Horzinek MC, Schultz RD, and Squires RA. 2016. WSAVA Guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract. 57(1): E1-E45.
http://www.wsava.org/guidelines/vaccination-guidelines
รูปภาพประกอบ :
https://cmeimg-a.akamaihd.net/640/cme/cuteness_data/s3fs-public/diy_blog/How-Often-Should-Dogs-Get-Rabies-Shots.jpg
SHARES