โดย: Tonvet
3 ปัญหาที่ (อาจ) ทำให้ลูกหมาแรกคลอดเสียชีวิตได้
มาดูปัญหาสุขภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในลูกหมาอายุไม่เกินหนึ่งเดือนกันครับ
15 มกราคม 2557 · · อ่าน (208,932)
ช่วงอายุหนึ่งเดือนแรกของชีวิต ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญกับลูกสุนัขเป็นอย่างมาก เพราะระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติใดที่เกิดขึ้น แม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำให้ลูกสุนัขถึงกับเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกับความผิดปกติที่ มุมหมอหมา จะนำมาเล่าในวันนี้ จัดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในลูกสุนัข ไม่ว่าจะเป็น ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ หรือภาวะร่างกายขาดน้ำ เรามาดูกันนะครับว่า แต่ละปัญหาส่งผลอย่างไรกับลูกสุนัข และมีวิธีรับมือกับภาวะต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร
1 ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ
ลูกสุนัขแรกคลอดนั้น การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การสะสมและการนำน้ำตาล (ไกลโคเจน) จากตับมาใช้ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีขีดจำกัดในการสำรองพลังงาน หากมีสาเหตุอันใด ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร หรือได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม มีการสูญเสียหรือมีการใช้มากเกินไป เช่น มีท้องเสีย มีอาเจียน มีการติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) ฯลฯ จะทำให้ร่างกายขาดน้ำตาล หรือเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (hypoglycemia) ได้ง่าย
ลูกสุนัขที่เกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ จะแสดงอาการอ่อนแรง เซื่องซึม ไม่อยากกินนม กล้ามเนื้อกระตุก ชัก สมองขาดพลังงานจากกลูโคส นอนไม่ได้สติ โคม่า จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ สามารถพบได้บ่อยในลูกสุนัขแรกคลอด เจ้าของจะต้องหมั่นสังเกตดูว่า ลูกหมาตัวไหนที่ได้รับนมได้ไม่เต็มที่ แลดูสภาพร่างกายอ่อนแอ หรือแม่หมาไม่ยอมเลี้ยง จำเป็นต้องแยกออกมาดูแลต่างหากอย่างใกล้ชิด
หากเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ แต่สภาพยังไม่ย่ำแย่มาก คือ ยังมีสติดี สามารถเลียกินอาหารและกลืนได้เอง เจ้าของอาจให้น้ำหวาน น้ำผึ้ง หรือสารอาหาร 5-10 % dextrose (เดกซ์โทรส) ป้อนขนาด 1 มิลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 100 กรัม โดยค่อย ๆ ป้อนที่ละน้อย ๆ จนกว่าระดับน้ำตาลจะกลับมาปกติ และน้องหมากลับมามีเรี่ยวแรงมากขึ้น จากนั้นจึงค่อยกลับมาป้อนนมให้ตามเดิม แต่หากลูกสุนัขเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำรุนแรง ลองป้อนน้ำหวานแล้วไม่ดีขึ้นใน 30 นาที หรืออยู่ในสภาพแย่ เช่น มีอาการชัก อ่อนแรง นอนไม่ได้สติ ฯลฯ จะต้องรีบพาน้องหมาไปพบคุณหมอทันที เพราะจำเป็นจะต้องได้รับสารอาหาร dextrose ละลายในสารน้ำเข้าทางเส้นเลือด และทำการปรับระดับอิเล็กโตรไลต์ในร่างกายให้เป็นปกติครับ
2 ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ
ลูกสุนัขแรกคลอดจะมีอุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าสุนัขโดยทั่วไปอยู่แล้ว โดยในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังคลอดนั้น อุณหภูมิร่างกายที่วัดทางทวารหนักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 96-99 องศาฟาเรนไฮต์เท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ช่วงเวลานี้แม่หมาจะเป็นผู้ที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของลูก ไม่ว่าจะเป็นการนอนกก หรือการสร้างรังขึ้นมา เพื่อบังลม บังฝนให้กับเหล่าลูก ๆ แต่การสูญเสียความร้อนของร่างกายลูกสุนัข สามารถเกิดได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการระเหยความร้อนออกไป การหายใจ การสัมผัสที่เย็น ๆ หรือแม้แต่การที่ลำไส้ไม่ทำงาน จึงไม่มีการเผาผลาญพลังงานได้ความร้อนออกมา
ปัญหาภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ (Hypothermia) ในลูกสุนัข มักเกิดกับลูกสุนัขที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ เช่น แม่สุนัขตาย ป่วย หรือไม่ยอมเลี้ยงลูก ฯลฯ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ หนาวเย็นจนเกินไป ทำให้มีโอกาสที่ลูกสุนัขจะสูญเสียความร้อนออกมาตามช่องทางต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของจะสังเกตพบว่า ลูกสุนัขจะนอนขด ตัวสั่น และนอนเบียดรวมกลุ่มกับพี่น้องในครอกมากขึ้น
เมื่อเกิดภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ (ต่ำกว่า 94 องศาฟาเรนไฮต์) จะส่งผลทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีปัญหา หัวใจเต้นช้าลง ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ การหายใจช้าลง ยิ่งส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxia) ได้ จึงต้องรีบทำการแก้ไขทันที โดยค่อย ๆ ทำการเพิ่มอุณหภูมิให้กับลูกสุนัขอย่างช้า ๆ ด้วยการย้ายลูกสุนัขมาอยู่ในที่ที่อบอุ่น เช่น ให้อยู่ในกล่องหรือในตะกร้า ห่มผ้าให้ อาจจะหากระเป๋าน้ำอุ่นหรือแผ่นให้ความร้อน (bed heating pads) ที่รองด้วยผ้าขนหนู เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของผิวหนังจากความร้อน มาให้ลูกสุนัขนอนทับ หรือทำการประคบอุ่นตามบริเวณอก ท้อง รักแร้ ขาหนีบ
เจ้าของอาจจะเปิดไฟกก โดยใช้หลอดไส้ที่มีกำลัง 60 วัตต์ เปิดห่างจากตัวลูกสุนัขอย่างน้อย 1 ฟุต โดยติดตั้งไว้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของกล่องหรือตะกร้า เพื่อให้ลูกหมาได้เลือกที่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับตนเอง (ป้องกันไม่ให้ลูกหมาร้อนจนเกินไป) แล้วเฝ้าสังเกตอาการ และวัดอุณหภูมิร่างกายทุก ๆ 15-20 นาที จนกว่าอุณหภูมิของร่างกายจะกลับมาเท่ากับอุณหภูมิปกติในช่วงอายุนั้น ๆ แต่สำหรับในรายที่ไม่ตอบสนองภายใน 2 ชั่วโมง หรือมีอุณหภูมิร่างกายต่ำรุนแรงมาก ๆ (ต่ำกว่า 90 องศาฟาเรนไฮต์) ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที อาจต้องได้รับสารน้ำอุ่น ๆ เข้าทางเส้นเลือด และอยู่ในตู้อบ (ตู้ออกชิเจน) เพื่อปรับอุณหภูมิให้กับร่างกายครับ
3 ภาวะร่างกายขาดน้ำ
ภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายในลูกสุนัข แต่เจ้าของส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป โดยปกติแล้วลูกสุนัขแรกคลอดจะมีความต้องการน้ำมากกว่าสุนัขโต (เมื่อเทียบต่อน้ำหนักตัว) เพราะระบบการทำงานของไตยังไม่สมบูรณ์ จึงมีการขับน้ำออกมาในรูปปัสสาวะโดยเฉลี่ยต่อน้ำหนักตัวมากกว่าสุนัขที่โตแล้ว อีกทั้งร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่า และยังมีพื้นที่ผิวของร่างกายต่อน้ำหนักตัวที่มากกว่า ทำให้มีโอกาสสูญเสียน้ำได้มาก ประกอบกับลูกสุนัขบางตัวอาจกินน้ำน้อย (กินนมน้อย) มีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือเกิดภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ ฯลฯ จึงเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
ในการสังเกตภาวะขาดน้ำในลูกสุนัขแรกคลอดนั้น หากจะใช้วิธีการดึงผิวหนังแล้วดูการคืนตัว จะประเมินการขาดน้ำได้ค่อนข้างยาก ไม่เหมือนกับน้องหมาที่โตแล้ว เพราะผิวหนังลูกสุนัขในช่วงอายุนี้จะมีไขมันน้อยและมีน้ำมากกว่า จึงควรใช้การสังเกตจากสีและความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกแทน เช่น หากดูที่เหงือกก็จะพบว่า เหงือกปกติควรมีความชุ่มชื้นและมีสีแดงอมชมพู เหงือกต้องไม่แห้ง และสีเหงือกต้องไม่ซีด เราอาจดูที่สีของปัสสาวะด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ควรจะมีสีเข้มมากเกินไป หากเข้มมากเกินไป แสดงว่าปัสสาวะมีค่าความถ่วงจำเพาะสูงกว่าปกติ บ่งบอกได้ว่าร่างกายน้องหมาอาจกำลังขาดน้ำอยู่ก็ได้
สำหรับการแก้ไขภาวะร่างกายขาดน้ำในลูกสุนัขแรกคลอด กรณีที่ยังไม่มีความผิดปกติของทางเดินอาหาร เจ้าของอาจจะช่วยด้วยวิธีการป้อนน้ำหรือน้ำอุ่นให้เพื่อชดเชยก็ได้ แต่สำหรับรายที่มีปัญหาของทางเดินอาหาร หรือมีภาวะร่างกายขาดน้ำรุนแรง ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อให้สารน้ำทางใต้ผิวหนัง ทางเส้นเลือด หรือทางกระดูก ผ่านทาง trochanteric fossa ของกระดูกต้นขาหลังแทนครับ
ลูกสุนัขแรกคลอดที่อายุยังไม่เกินหนึ่งเดือน จำเป็นได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพราะสามารถเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ และภาวะร่างกายขาดน้ำได้ง่าย ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว ก็อาจเป็นสาเหตุการตายของลูกสุนัขได้เช่นกัน ดังนั้นเจ้าของไม่ควรชะล่าใจเป็นขาด ต้องหมั่นสังเกตอาการและพฤติกรรมของลูกสุนัขอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การขับถ่าย การร้องที่ผิดปกติ อัตราการหายใจ การเคลื่อนไหวร่างกาย การนอน (รวมกลุ่มหรือกระจาย) น้ำหนักตัว สีเยื่อเมือก อุณหภูมิในร่างกาย รวมถึงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมด้วย ฯลฯ หากมีความผิดปกติใดเกิดขึ้น จะต้องรีบแก้ไขโดยทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้นะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
www.cartinafinland.fi
www.1.bp.blogspot.com
www.puppybestcare.com
www.predator-friendly-ranching.blogspot.com
www.dogbreedinfo.com
www.dogbreedinfo.com
www.endlessdogs.com
www.top-dogs-names.com
SHARES