โดย: Tonvet

ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

มาดูให้รู้กันว่าโรคร้ายทางตาอะไรบ้าง ที่ส่งผลให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นได้แบบเฉียบพลัน

12 กุมภาพันธ์ 2557 · · อ่าน (208,168)
520

SHARES


520 shares

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน
     เพื่อน ๆ เห็นอะไรในรูปด้านบนนี้บ้างครับ นี่อาจเป็นภาพที่คนตาบอดมองเห็น เมื่อความมืดมิดเข้าครอบงำ ภาพที่เคยมีสีสันก็กลับเปลี่ยนเป็นสีดำทันตา ปัญหาการสูญเสียการมองเห็นนั้น พบได้ทั้งในคนและในสัตว์ แม้ว่าความสามารถในการรับรู้ทางตาจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เมื่อสูญเสียการมองเห็นไปแล้ว ไม่ว่าจะสิ่งชีวิตชนิดไหน ต่างก็ต้องพบกับอุปสรรคในการใช้ชีวิตเช่นกัน
 
     การสูญเสียการมองเห็นหรือการตาบอดในน้องหมานั้นมีหลายรูปแบบ บางรายเป็นข้างเดียว บางรายเป็นทั้งสองข้าง บางรายเป็นมาตั้งแต่เกิด บางรายเพิ่งเป็นตอนโตแล้ว บางรายค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปทีละน้อย และบางรายก็เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้อย่างเฉียบพลัน ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรคที่น้องหมาเป็นนั่นเอง
 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน
 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมากำลังสูญเสียการมองเห็น

 
     คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า น้องหมาที่ตาขุ่นเป็นฝ้าขาวหรือสีฟ้า คือ น้องหมาที่ตาบอด แต่ความจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะบางรายที่เรายังเห็นแวดตาสดใส ๆ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็อาจเป็นหมาที่ตาบอดได้ ซึ่งเราเรียกกันว่า บอดตาใส อย่างเช่น น้องหมาที่เป็นโรคเกี่ยวกับจอประสาทตา เนื่องจากจอประสาทตาเป็นโครงสร้างที่มีหน้าที่ในการรับภาพ และส่งสัญญาณภาพไปยังสมองผ่านเส้นประสาท optic nerve ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติกับจอประสาทตา จะส่งผลต่อการมองเห็นได้โดยตรง 
 
     ในการจะทราบว่าน้องหมาตัวใดกำลังสูญเสียการมองเห็นอยู่นั้น จะต้องดูพฤติกรรมและทดสอบการมองเห็นหลาย ๆ วิธีประกอบกัน ซึ่งสิ่งที่เจ้าของสามารถทำได้ ก็มีดังนี้ครับ  

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     1 สังเกตพบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เดินชนตู้ โต๊ะ ประตู หรือวัตถุสิ่งของที่ตั้งไว้ เวลาโยนขนมหรือสิ่งของให้ ต้องใช้การดมหาเป็นเวลานาน ไม่วิ่งไปรับทันทีเหมือนเช่นเคย ไม่ค่อยกล้าขึ้นลงบันใด จากเดิมที่สามารถเดินขึ้นลงได้เองเป็นประจำ บางตัวมีพฤติกรรมกลัว ไม่ค่อยกล้าออกไปไหน หวาดระแวงต่อเสียงหรือกลิ่นแปลก ๆ ที่ไม่คุ้น หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น บางครั้งอาจตกใจและหันมากัดได้ หากเราเข้าไปสัมผัสโดยที่ไม่ให้สุ้มให้เสียงก่อน

     แต่ในการสังเกตเพียงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ยังมีข้อจำกัดสำหรับในรายที่ตาสูญเสียการมองเห็นเพียงข้างเดียว เพราะน้องหมาจะสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ จนเจ้าของก็อาจสังเกตไม่พบการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมดังกล่าว

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     2 ลองทดสอบการเดินหลบหลีกสิ่งกีดขวาง (Maze test) เจ้าของอาจทดสอบโดยวางสิ่งของให้เกะกะเพื่อขวางทางเดินของน้องหมาไว้ จากนั้นให้เจ้าของเรียกให้น้องหมาเดินมาหา หากยังมองเห็นได้ปกติ น้องหมาจะสามารถเดินมาหาเจ้าของได้ง่าย ไม่ชนสิ่งของที่วางไว้ สามารถหลบหลีกได้ โดยควรทดสอบทั้งในห้องที่มืดและท้องที่มีแสงสว่าง และอาจจะตรวจทีละข้าง โดยการปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ก่อน แต่ต้องระวังอันตรายที่จะเกิดกับน้องหมาที่ตาบอดด้วยนะครับ  
 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     3 สังเกตการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นวัตถุ (Visual tracking) โดยการปล่อยก้อนสำลีจากที่สูง (เหตุที่ใช้สำลี เพราะไม่ต้องการให้เกิดเสียงเวลาตกกระทบพื้น) หรือถือวัตถุอะไรก็ได้ ชูไว้ต่อหน้าน้องหมา แล้วทำการเคลื่อนไหวไปมา น้องหมาที่ยังมองเห็นปกติ ดวงตาจะจับจ้องไปที่วัตถุดังกล่าว ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปทางไหน ก็จะหันหน้าตามไปทางนั้นเสมอครับ ยกเว้นสุนัขที่กำลังเบื่อหน่ายจึงไม่สนใจ
 

     4 ลองทดสอบ menace response เพื่อดูการทำงานของเส้นประสาท optic nerve และ facial nerve โดยทำท่าสะบัดข้อมือคล้ายกับการโบกมือไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ ห่างจากดวงตาน้องหมาข้างที่ทำการทดสอบประมาณ 10 เซนติเมตร โดยใช้มืออีกข้างทำการปิดตาข้างที่ไม่ได้ทดสอบไว้ด้วย น้องหมาที่มองเห็นปกติ จะตอบสนองโดยการกระพริบตาหรืออาจส่ายหน้าหลบ ทั้งนี้ในการโบกข้อมือ จะต้องระวังอย่าให้มือไปโดนขนตาหรือหนังตา และไม่สะบัดแรงจนเกิดลมพัดไปกระทบตาด้วยนะครับ จะได้ไม่แปลผลผิดพลาด 

โพสโดย chicagovma สมาชิกเว็บไซต์ www.youtube.com
 
     ถ้าผลการสังเกตพฤติกรรมรวมถึงการทดสอบการมองเห็นของน้องหมาเบื้องต้นนี้ บ่งบอกว่าน้องหมากำลังสูญเสียการมองเห็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างแล้วล่ะก็ ให้เจ้าของพาน้องหมาไปพบคุณหมอได้เลยครับ เพื่อให้คุณหมอใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจสอบการมองเห็น และตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ ภายในลูกตา จะได้หาสาเหตุหรือโรคที่น้องหมาเป็นต่อไปครับ

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน
 

โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดสูญเสียการมองเห็นได้แบบเฉียบพลัน

 
     สำหรับโรคร้ายที่ มุมหมอหมา จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จัดเป็นโรคที่สามารถทำให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นได้แบบเฉียบพลัน หรือ Sudden Vision Loss ที่สำคัญบางโรคเมื่อน้องหมาเป็นแล้ว จะไม่สามารถทำการรักษาให้น้องหมากลับมามองเห็นได้ด้วย จะมีโรคอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยครับ 
 
1 โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) 
 
     โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) เป็นภาวะการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 2 หรือ optic nerve ทำให้การนำกระแสประสาทจากดวงตาไปยังสมองเสียไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการอักเสบที่เกี่ยวกับภาวะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (immune-mediated inflammation) การได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดจากการป่วยด้วยโรคติดเชื้ออื่น ๆ มาก่อน เช่น โรคไข้หัดสุนัข โรค Granulomatous Meningoencephalitis ฯลฯ สามารถพบโรคนี้ได้ในน้องหมาทุกพันธุ์ แต่มีรายงานการพบบ่อยในสุนัขพันธุ์ Maltese 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     น้องหมาที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียการมองเห็นได้แบบเฉียบพลัน มักพบทั้งสองข้าง แต่หากสังเกตภายนอก เราอาจไม่พบความผิดปกติของดวงตาชัดเจนนัก นอกจากมีรูม่านตาขยายและไม่ตอบสนองต่อแสง (รูม่านตาไม่หดตัว) ส่วนการรักษาจะใช้วิธีการป้อนยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ร่วมกับการจัดการรักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคเส้นประสาทตาอักเสบนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าตอบสนองต่อการรักษาดี น้องหมาจะสามารถฟื้นกลับมามองเห็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ด้วยว่า เจ้าของพามาพบตรวจและรักษาได้ทันเวลาหรือไม่ด้วยครับ

 
2 โรคต้อหิน (glaucoma) 
 
     โรคต้อหิน (Glaucoma)  เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับลูกตา ซึ่งสุนัขทั่วไปจะมีความดันในลูกตาอยู่ระหว่าง 16-30 มิลลิเมตรปรอท หากเพิ่มสูงขึ้นจนถึง 60-70 มิลลิเมตรปรอท อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ เนื่องจากความดันลูกตาที่สูงมาก ๆ จะไปทำให้จอประสาทตาเสียหายได้ครับ

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     โรคต้อหินมีหลายประเภท ในน้องหมาที่เป็นโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน จะมีอาการ เจ็บปวดลูกตา น้ำตาไหล ตาแฉะ เปลือกตากระตุก กระพริบตาบ่อย ๆ รูม่านตาขยายและอาจไม่ตอบสนองต่อแสงหรือตอบสนองช้าลง (ดูได้จากการหดตัวของรูม่านตา) ไม่กล้าสู้แสง ตาแดงจัด มีเลือดคั่ง เยื่อบุตาอักเสบ แต่บางรายอาจเกิดกระจกตาบวมน้ำ เห็นขุ่นเป็นฝ้าเหมือนมีหมอกสีฟ้า ๆ การมองเห็นลดลง เดินชนบ้างบางครั้ง สามารถทราบได้จากการตรวจ โดยใช้เครื่องมือมาทำการวัดความดันในลูกตา ร่วมกับการตรวจมุมม่านตา และการส่องตรวจในตาครับ 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     การรักษามีทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัด อย่างในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา คุณหมออาจพิจารณาให้การผ่าตัดรักษา ดังนั้นหากเจ้าของสังเกตพบว่า น้องหมามีอาการตาแดง ตาขุ่น รูม่านตาขยาย เจ็บปวดลูกตา ตาโปนขยาย หัวตก เบื่ออาหาร ซึมเศร้า ให้รีบพามาพบคุณหมอโดยทันที เพราะหากเป็นโรคต้อหินแล้วความดันลูกตาสูงมาก ๆ ปล่อยทิ้งไว้เพียงแค่ 1-3 วัน ก็อาจทำให้น้องหมาตาบอดได้ครับ (ต้องการศึกษาโรคต้อหินในสุนัขเพิ่มเติม) 

 
3 โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเฉียบพลัน (Sudden acquired retinal degeneration หรือ SARD)
 
     โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเฉียบพลัน ทำให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่วัน (ประมาณ 2-3 วัน จนถึงสัปดาห์) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาทั้งสองข้าง และพบได้ในน้องหมาทุกช่วงวัย แต่มีรายงานว่าพบได้บ่อยในช่วงกลางวัยของสุนัข ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบความสัมพันธ์กับภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตเกินขนาด หรือ Cushing’s syndrome ในสุนัขบางราย จึงอาจทำให้น้องหมาบางตัวมีอาการกินน้ำมาก ปัสสาวะมาก และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นร่วมด้วย 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     สันนิษฐานว่าเกิดจากการหลั่ง steroid-like substance จึงไปสร้างความเป็นพิษต่อจอประสาทตา (retinotoxic) โดยเข้าไปทำลายชั้นของเซลล์รับแสง ทั้งเซลล์รูปกรวยและเซลล์รูปแท่ง เลยมีชื่อเรียกโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า Metabolic toxic retinopathy แต่เป็นที่น่าเศร้าครับ เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผล ทำให้น้องหมาที่เป็นโรคนี้อาจต้องสูญเสียการมองเห็นไป 

 
4 โรคจอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment)
 
     โรคจอประสาทตาหลุดลอก (retinal detachment) เป็นอีกโรคตาสำคัญ ที่ทำให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นได้แบบเฉียบพลัน สามารถเกิดได้กับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจเป็นทั้งสองข้างก็ได้ มีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม (Inherited Retinopathies) ในสุนัขพันธุ์ Collie, Shetland Sheepdogs, Border Collies, Australian Shepherds, Lancashire Heelers และ Nova Scotia Duck Tolling Retrievers ที่เป็นโรค Collie eye anomaly ซึ่งสามารถตรวจพบโรคจอประสาทตาหลุดลอก ได้ประมาณ 2–5% 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     สาเหตุของโรคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของดวงตาเอง เช่น การอักเสบของยูเวียส่วนหลัง (posterior uveitis) เป็นผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดรักษาเลนส์ตา ฯลฯ และผลจากการป่วยเป็นโรคทางระบบร่างกายอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ได้รับบาดเจ็บ มีการติดเชื้อรา เป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด ชนิด Ehrlichia spp. ฯลฯ 
 
     ปัจจุบันโรคนี้มีวิธีรักษา โดยใช้ทั้งการจัดการสาเหตุหลักและการรักษาโรคอื่น ๆ ที่น้องหมาเป็น เช่น ให้ยาลดความดัน ให้ยาแก้อักเสบ ให้ยาฆ่าเชื้อ หรือแม้แต่การผ่าตัดรักษา แต่จะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างด้วย เช่น โรคทางระบบร่างกายที่น้องหมาเป็นส่งผลต่อจอประสาทตารุนแรงแค่ไหน หรือเป็นมานานแล้วหรือไม่ครับ 

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     นอกจากโรคร้ายทั้ง 4 ที่ มุมหมอหมา ที่นำเสนอไปแล้ว อุบัติเหตุที่ทำความเสียหายกับดวงตา เช่น การต่อสู้แล้วถูกกัดที่ตา มีวัตถุทิ่มตา ฯลฯ หรือผลจากการความผิดปกติที่สมองแล้วส่งผลมายังเส้นประสาทตาหรือจอประสาทตา เช่น มะเร็งสมอง การอักเสบในส่วนสมอง ฯลฯ ที่เรียกว่า Central blindness ก็สามารถทำให้น้องหมาตาบอดแบบเฉียบพลันได้เช่นกัน ดังนั้นเจ้าของทุกคนจะต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาและสมองของน้องหมาไว้ด้วยนะครับ

 

วิธีป้องกันไม่ให้น้องหมาตาบอด

 
     จากโรคที่ได้นำเสนอไปจะเห็นได้ว่า โรคบางโรคแม้จะทำให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นได้อย่างเฉียบพลัน แต่ก็สามารถทำการรักษาได้ หากเรารู้เร็วแล้วรีบทำการรักษาอย่างถูกวิธี แต่คงจะดีกว่าถ้าน้องหมาไม่ต้องมาป่วยเป็นโรคเหล่านั้น เราสามารถป้องกันได้ เพื่อน ๆ ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติตามดูนะครับ
 
     - ควรระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาน้องหมา เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากการต่อสู้ ฯลฯ และหากน้องหมามีอาการระคายเคืองตา เกาตาหรือเอาใบหน้าถู เจ้าของควรสวมปลอกคอกันเลียไว้ก่อนเสมอ

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     - ความเจ็บป่วยหรือโรคภัยทางระบบร่างกายบางโรคอาจส่งผลต่อดวงตาได้ เช่น ภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตเกินขนาด อาจส่งผลให้เกิดโรค SARD ฯลฯ หากป่วยด้วยโรคทางร่างกายใด ๆ แล้วให้รีบทำการรักษา เพราะบางโรคอาจส่งผลน้องหมาตาบอดได้ด้วย
     - อย่าซื้อยามาหยอดตาเองเด็ดขาด เมื่อน้องหมาป่วยด้วยโรคตาควรได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอก่อนทุกครั้ง เพราะยาบางตัวอาจก่อให้เกิดอันตรายกับดวงตาได้ หากใช้ไม่ถูกต้องจะทำให้ตาบอดได้
     - ให้พาน้องหมาไปตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน เช่น วัดความดันในลูกตา ส่องตรวจภายในตา ฯลฯ เพราะหากตรวจพบความผิดปกติก่อน ก็สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

Dogilike.com :: ระวัง!! 4 โรคร้ายที่ทำให้น้องหมาตาบอดได้แบบเฉียบพลัน

     - หมั่นคอยสังเกตอาการที่ตาของน้องหมาเป็นประจำ ควรดูเปรียบเทียบกันทั้งสองข้าง ว่าข้างไหนมีความผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ (6 อาการ ที่บ่งบอกว่า น้องหมา(กำลัง)ป่วยด้วยโรคตา) รวมถึงดูพฤติกรรมน้องหมาด้วย ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปตามที่กล่าวไปแล้วหรือเปล่า หากมีความผิดปกติ ก็ให้พาไปหาคุณหมอได้เลยครับ
 
 
    เห็นหรือไม่ครับว่าเรื่องโรคตาของน้องหมาไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เพราะบางโรคเมื่อเป็นแล้ว อาจส่งผลให้น้องหมาสูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะกับโรคที่มีผลกระทบต่อจอประสาทตาและเส้นประสาท optic nerve ตามที่กล่าวไป คงไม่มีใครทราบได้หรอกครับว่า โรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับน้องหมาของเราหรือเปล่า แต่อย่างน้อย...เราก็ควรจะต้องเรียนรู้ เพื่อรับมือและป้องกันไว้ก่อนครับ
 
 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Williams, David L. 2002. Handbook of veterinary ocular emergencies. 
First published, Elesvier Science Ltd.
Topics in Ophthalmic Emergencies: Acute Vision Loss © 2010-2013 Merck Sharp & Dohme Corp., 
a subsidiary of Merck & Co., Inc., Whitehouse Station, N.J., U.S.A
(ของเว็บไซต์ www.merckmanuals.com/vet/)
 
รูปภาพประกอบ:
www.fimfiction-static.net
www.dailymail.co.uk
www.wikihow.com
www.dog-health-handbook.com
www.happytailspetphotography.ca
www.msstrength.com
www.myoor.com
www.animaleyeassociatesstl.com
www.animaleyecare.com
www.webmd.com
www.aafp.org
www.quickanddirtytips.com
www.msutoday.msu.edu