โดย: Tonvet
เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้
สาเหตุของการตาแดงในน้องหมาเกิดจากอะไร ลักษณะอาการของแต่ละโรคเป็นอย่างไรมาดูกัน
26 กุมภาพันธ์ 2557 · · อ่าน (227,648)เวลาผ่านไปเร็วอย่างไม่น่าเชื่อนะครับ เผลอแป๊ปเดียวคอลัมน์ มุมหมอหมา ได้นำเสนอบทความให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงอาการผิดปกติต่างๆ มากมายของน้องหมาไปมากกว่าร้อยเรื่องแล้ว โดยบทความที่ผมนำเสนอบ่อยๆ และได้รับความนิยมมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบทความเกี่ยวกับ “ดวงตา” ของน้องหมา ...
โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เกี่ยวกับดวงตา เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบว่าน้องหมาป่วยเป็นโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยบางรายนั้นก็ชะล่าใจไม่ทันสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาของน้องหมา ทำให้อาการป่วยลุกลามจนยากต่อการรักษา
... วันนี้ในคอลัมน์ มุมหมอหมา ผมก็มีอีกหนึ่งความผิดปกติของดวงตาที่พบมากในน้องหมา อย่างอาการ “ตาแดง (The red eye)” มาเจาะลึกให้เพื่อนๆ ได้รู้กันว่าสาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้นั้นเกิดจากโรคอะไรได้บ้างแล้วแต่ละโรคมีลักษณะอาการเป็นอย่างไร ใน “เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้” ครับ
1 การอักเสบของตา
การอักเสบเป็นกระบวนการตอบสนองของร่างกาย เพื่อต่อต้านเชื้อโรค การบาดเจ็บ สิ่งแปลกปลอม สารเคมี ฯลฯ ซึ่งมักจะแสดงออกมาในลักษณะของการบวม แดง ร้อน และสูญเสียหน้าที่การทำงานรวมถึงอาจมีการเจ็บปวดร่วมด้วย การอักเสบสามารถเกิดได้กับในส่วนต่าง ๆ ของลูกตา ดังนี้ครับ
เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) เกิดจากการระคายเคือง การติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา (ยีสต์) ไรขี้เรื้อน ฯลฯ บางรายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน การแพ้ หรือขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น การขาดแร่ธาตุสังกะสี ฯลฯ น้องหมาที่มีเปลือกตาอักเสบ จะแสดงอาการเปลือกตาบวมแดง ตาแฉะ มีขี้ตา ขนบริเวณเปลือกตาหลุดร่วงไปมีเม็ดตุ่มขึ้น และบางตัวอาจจะเกิดการเจ็บปวดหรือคันบริเวณดังกล่าวด้วย
Blepharitis
เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย สาเหตุการจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา (ยีสต์) เชื้อไวรัส ปรสิตภายนอก เกี่ยวกับปัญหาภูมิคุ้มกัน (auto-immune หรือ immune-mediated conditions) การแพ้และการระคายเคืองสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หรือเป็นผลตามมาจากป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เช่น โรคตาแห้ง ปัญหาขนตาผิดปกติ หนังตาม้วนเข้า ฯลฯ ส่วนมากมักเกิดแบบเฉียบพลัน (Acute Conjunctivitis) ทำให้เยื่อบุตาน้องหมาบวมขยาย มีเลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น เราจึงเห็นเยื่อบุตาน้องหมาแดงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางรายอาจมีการเจ็บปวด น้ำตาไหล มีขี้ตา และบางรายก็อาจบวมมากจนลืมตาไม่ขึ้น
Conjunctivitis
กระจกตาอักเสบ (Keratitis) เป็นการอักเสบบริเวณตาดำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การระคายเคืองที่กระจกตา การติดเชื้อที่กระจกตา เป็นแผลที่กระจกตา ฯลฯ ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน (acute keratitis) จะมีการเจ็บตา หรี่ตา ไม่กล้าสู้แสง มีการสร้างเส้นเลือดเข้ามายังกระจกตา เพื่อนำพาเม็ดสีและเซลล์อักสบเข้ามาบางรายกระจกตาอาจขุ่นหรือเกิดการบวมน้ำร่วมด้วย ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง (chronic superficial keratitis or pannus) อาจส่งผลต่อการมองเห็นได้
Chronic superficial keratitis หรือ pannus
ตาขาวอักเสบ (Scleritis and Episcleritis) ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับการอักเสบในส่วนของกระจกตา เยื่อบุตาหรือเกิดในกรณีที่เป็นโรคต้อหินหรือเป็นโรคตาแห้ง เจ้าของจะสังเกตพบว่าบริเวณตาขาวของน้องหมาจะแดงขึ้นและมีการสร้างแขนงเส้นเลือดออกมาหลาย ๆ แขนง ซึ่งการอักเสบอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะที่หรือเกิดกระจายก็ได้ ส่วนมากมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่บางรายก็อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย
Episcleritis
ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (Uveitis or Panuveitis) ผนังลูกตาชั้นนี้ประกอบด้วย ม่านตา (Iris) ตัวซีเลียรี่ (ciliary body) และ โครอยด์ (Choroid) เป็นชั้นที่มีเลือดมาเลี้ยงมากในน้องหมาที่เกิดการอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลางในส่วนหน้า (Anterior uveitis) รวมถึงการอักเสบในส่วนของม่านตาด้วย จะทำให้น้องหมาตาแดง มีเลือดคั่งในม่านตาและเยื่อบุตา ม่านตาบวมขึ้น น้องหมาจะเจ็บปวดตา มีน้ำตาไหล หรี่ตา ไม่กล้าสู้แสง และมีความดันในลูกตาต่ำกว่าปกติ สาเหตุเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากภายนอกร่างกาย เกิดแผลหลุมที่กระจกตา ติดเชื้อต่างๆ (เช่น Infectious canine hepatitis, canine ehrlichosis ฯลฯ) ได้รับยาหรือสารเคมี เป็นผลจากมะเร็งที่ลูกตา หรือเกิดจากปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติ (immune-mediatedconditions )ฯลฯ
Anterior uveitis
ในการรักษาโรคตาอักเสบ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของการอักเสบ โดยหลัก ๆ คุณหมอจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ หรืออาจจะให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดการอักเสบ เช่น ยาลดการอักเสบกลุ่ม corticosteroid แต่ก่อนที่จะใช้ corticosteroid จะต้องแน่ใจว่าไม่มีแผลที่กระจกตาโดยจะต้องทำการย้อมสีตา (fluorescein dying) ก่อน รวมทั้งจะต้องให้การรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นที่มาของการอักเสบที่ตาดังกล่าวด้วย
2 โรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน (Acute glaucoma)
โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ ในรายที่เป็นโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการตาแดง มีเลือดออกในส่วนของของตาขาวและเยื่อบุตา เจ็บปวดลูกตา น้ำตาไหล ตาแฉะ เปลือกตากระตุก กระพริบตาบ่อย ๆ รูม่านตาขยายและอาจไม่ตอบสนองต่อแสงหรือตอบสนองช้าลง (ดูได้จากการหดตัวของรูม่านตา) ไม่กล้าสู้แสง บางรายอาจเกิดกระจกตาบวมน้ำ เห็นขุ่นเป็นฝ้าเหมือนมีหมอกสีฟ้า ๆ การมองเห็นลดลง เดินชนบ้างบางครั้งหัวตก เบื่ออาหาร ซึมเศร้า หากความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นจนถึง 60-70 มิลลิเมตรปรอท จะไปทำให้จอประสาทตาเสียหาย น้องหมาจะสูญเสียการมองเห็นได้ วิธีการรักษามีทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัดครับ
3 มีเลือดคั่งที่ช่องหน้าม่านตา (Hyphema)
การที่เลือดออกในช่องหน้าม่านตานั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตาหรือหัวของน้องหมา ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (Uveitis) มีเนื้องอกบริเวณผนังลูกตาชั้นกลางหรือมีปัญหาทางระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน (เช่น immune-mediated thrombocytopenia) เราจะเห็นว่าในช่องหน้าม่านตา (anterior chamber) ของน้องหมา จะมีเลือดหรือลิ่มเลือดคั่งอยู่ ในการรักษาจะจัดการไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดมาคั่ง ซึ่งในกรณีที่เกิดแบบเฉียบพลัน การพยากรณ์โรคดีว่ารายที่เกิดแบบเรื้อรังครับ
4 โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye)
โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye)หรือProlapsed nictitating membrane gland (PNMG) เกิดจากต่อมของหนังตาที่สามยื่นโพล่ออกมา เราจะสังเกตพบว่า มีก้อนเนื้อแดง ๆ อมชมพู ผิวเรียบ ปูดออกมาบริเวณหัวตาของน้องหมาคล้ายกับผลเชอร์รี่ ช่วงแรก ๆ บางรายเป็น ๆ หาย ๆ ยุบ ๆ โผล่ ๆ แต่บางรายก็อาจปูดออกมาอย่างถาวร หากก้อนใหญ่มาก ๆ ก็อาจไปบดบังการมองเห็นได้ น้องหมาส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเจ็บปวด แต่อาจก่อให้เกิดความรำคาญจากการระคายเคืองได้ เมื่อเกิดการสัมผัสเชื้อโรค สิ่งสกปรก หรือสารก่อภูมิแพ้จึงทำให้ตัวต่อมดังกล่าวเกิดการอักเสบ ยิ่งขยายตัวและบวมนูนมากขึ้นทำให้น้องหมาตาแดง ตาแฉะอยู่บ่อย ๆ และอาจมีเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วยสำหรับการรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัด ด้วยการเย็บดันต่อมของหนังตาที่สามกลับเข้าที่เดิมครับ
5 ภาวะลูกตาทะลัก (Proptosis or Prolapse of the eye)
ภาวะลูกตาทะลักหรือการที่ลูกตาเคลื่อนหลุดออกมาจากเบ้าตา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงกระแทก เช่น การต่อสู้ ถูกกัด ถูกชน ถูกตี ฯลฯ มักเกิดขึ้นได้ง่ายในน้องหมาพันธุ์หน้าสั้น เช่น ชิสุ ปั๊ก ปักกิ่ง บลูด๊อก ฯลฯ ซึ่งจะมีเบ้าตาตื้นกว่าปกติ การที่เจ้าของเห็นว่าตาแดงนั้น เกิดจากการที่เลือดคั่ง เพราะเส้นเลือดถูกบีบรัด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรือเกิดการฉีดขาดของเส้นเลือด
หากเกิดภาวะลูกตาทะลักขึ้นถือว่าเป็น “ภาวะเร่งด่วน” ที่ต้องรีบช่วยเหลือ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกตาแต่อย่าพยายามดันลูกตาเข้าไปเองเด็ดขาด ให้รักษาความชุ่มชื้นให้กับลูกตา เช่น หยอดน้ำสะอาด น้ำยาล้างตาของคน หรือน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วปิดตาน้องหมาไว้อย่าให้เกิดการระคายเคือง จากนั้นรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว ซึ่งการรักษาจะใช้การดันตากลับเข้าที่หรือต้องควักเอาลูกตาออกเลย คุณหมอจะประเมินจากความเสียหายของลูกตา โครงสร้างเบ้าตา กล้ามเนื้อที่ยึดลูกตา และการสูญเสียการมองเห็นของน้องหมา
ลองสังเกตดวงตาของน้องหมาที่บ้านดูนะครับ ว่ามีอาการตาแดงหรืออาการผิดปกติอื่นๆ หรือเปล่า ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกติก็ไม่ควรรีรอที่จะพาน้องหมามาพบสัตวแพทย์ เพราะยิ่งได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเร็วเท่าไหร่ น้องหมาก็จะเสี่ยงต่ออันตรายน้อยลงเท่านั้นครับ ...
บทความโดย:หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Simon Petersen-Jones and Sheila Crispin.BSAVA Manual of Small animal Ophthalmology.
British Small Animal Veterinary Association.2002.second edition. Page 297
Michael H. Brown. The red eye. NAVC clinician’s brief. October.2007. Page 14-18
www.merckmanuals.com/vet/eye_and_ear/opthalmology/
รูปภาพประกอบ:
www.sweetsays.blogspot.com
www.youtube.com โพสโดย Greg Martinez DVM
www.pitbullforum.com
www.organic-pet-digest.com
www.en.wikipedia.org/wiki/Pannus
www.dundeemedstudentnotes.wordpress.com
www.hopecenter.com
www.expertvet.com
www.29.media.tumblr.com
www.cal.vet.upenn.edu
www.doningrenada.blogspot.com
www.vetstreet.com
SHARES