โดย: Tonvet

เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

สาเหตุของการตาแดงในน้องหมาเกิดจากอะไร ลักษณะอาการของแต่ละโรคเป็นอย่างไรมาดูกัน

26 กุมภาพันธ์ 2557 · · อ่าน (211,257)
2,246

SHARES


2,246 shares

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้


     เวลาผ่านไปเร็วอย่างไม่น่าเชื่อนะครับ เผลอแป๊ปเดียวคอลัมน์ มุมหมอหมา ได้นำเสนอบทความให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงอาการผิดปกติต่างๆ มากมายของน้องหมาไปมากกว่าร้อยเรื่องแล้ว โดยบทความที่ผมนำเสนอบ่อยๆ และได้รับความนิยมมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบทความเกี่ยวกับ “ดวงตา” ของน้องหมา ... 
 
     โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เกี่ยวกับดวงตา เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบว่าน้องหมาป่วยเป็นโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยบางรายนั้นก็ชะล่าใจไม่ทันสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาของน้องหมา ทำให้อาการป่วยลุกลามจนยากต่อการรักษา
 
     ... วันนี้ในคอลัมน์ มุมหมอหมา ผมก็มีอีกหนึ่งความผิดปกติของดวงตาที่พบมากในน้องหมา อย่างอาการ “ตาแดง (The red eye)” มาเจาะลึกให้เพื่อนๆ ได้รู้กันว่าสาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้นั้นเกิดจากโรคอะไรได้บ้างแล้วแต่ละโรคมีลักษณะอาการเป็นอย่างไร ใน “เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้” ครับ
 

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

 

1 การอักเสบของตา

 
     การอักเสบเป็นกระบวนการตอบสนองของร่างกาย เพื่อต่อต้านเชื้อโรค การบาดเจ็บ สิ่งแปลกปลอม สารเคมี ฯลฯ ซึ่งมักจะแสดงออกมาในลักษณะของการบวม แดง ร้อน และสูญเสียหน้าที่การทำงานรวมถึงอาจมีการเจ็บปวดร่วมด้วย การอักเสบสามารถเกิดได้กับในส่วนต่าง ๆ ของลูกตา ดังนี้ครับ
 
     เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) เกิดจากการระคายเคือง การติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา (ยีสต์) ไรขี้เรื้อน ฯลฯ บางรายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน การแพ้ หรือขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น การขาดแร่ธาตุสังกะสี ฯลฯ น้องหมาที่มีเปลือกตาอักเสบ จะแสดงอาการเปลือกตาบวมแดง ตาแฉะ มีขี้ตา ขนบริเวณเปลือกตาหลุดร่วงไปมีเม็ดตุ่มขึ้น และบางตัวอาจจะเกิดการเจ็บปวดหรือคันบริเวณดังกล่าวด้วย

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

Blepharitis

 
     เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย สาเหตุการจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา (ยีสต์) เชื้อไวรัส ปรสิตภายนอก เกี่ยวกับปัญหาภูมิคุ้มกัน (auto-immune หรือ immune-mediated conditions) การแพ้และการระคายเคืองสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หรือเป็นผลตามมาจากป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เช่น โรคตาแห้ง ปัญหาขนตาผิดปกติ หนังตาม้วนเข้า ฯลฯ ส่วนมากมักเกิดแบบเฉียบพลัน (Acute Conjunctivitis) ทำให้เยื่อบุตาน้องหมาบวมขยาย มีเลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น เราจึงเห็นเยื่อบุตาน้องหมาแดงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางรายอาจมีการเจ็บปวด น้ำตาไหล มีขี้ตา และบางรายก็อาจบวมมากจนลืมตาไม่ขึ้น

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

Conjunctivitis

 
     กระจกตาอักเสบ (Keratitis) เป็นการอักเสบบริเวณตาดำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การระคายเคืองที่กระจกตา การติดเชื้อที่กระจกตา เป็นแผลที่กระจกตา ฯลฯ ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน (acute keratitis) จะมีการเจ็บตา หรี่ตา ไม่กล้าสู้แสง มีการสร้างเส้นเลือดเข้ามายังกระจกตา เพื่อนำพาเม็ดสีและเซลล์อักสบเข้ามาบางรายกระจกตาอาจขุ่นหรือเกิดการบวมน้ำร่วมด้วย ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง (chronic superficial keratitis or pannus) อาจส่งผลต่อการมองเห็นได้

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

Chronic superficial keratitis หรือ pannus

 
     ตาขาวอักเสบ (Scleritis and Episcleritis) ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับการอักเสบในส่วนของกระจกตา เยื่อบุตาหรือเกิดในกรณีที่เป็นโรคต้อหินหรือเป็นโรคตาแห้ง เจ้าของจะสังเกตพบว่าบริเวณตาขาวของน้องหมาจะแดงขึ้นและมีการสร้างแขนงเส้นเลือดออกมาหลาย ๆ แขนง ซึ่งการอักเสบอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะที่หรือเกิดกระจายก็ได้ ส่วนมากมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่บางรายก็อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย 

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

Episcleritis

 
     ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (Uveitis or Panuveitis) ผนังลูกตาชั้นนี้ประกอบด้วย ม่านตา (Iris) ตัวซีเลียรี่ (ciliary body) และ โครอยด์ (Choroid) เป็นชั้นที่มีเลือดมาเลี้ยงมากในน้องหมาที่เกิดการอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลางในส่วนหน้า (Anterior uveitis) รวมถึงการอักเสบในส่วนของม่านตาด้วย จะทำให้น้องหมาตาแดง มีเลือดคั่งในม่านตาและเยื่อบุตา ม่านตาบวมขึ้น น้องหมาจะเจ็บปวดตา มีน้ำตาไหล หรี่ตา ไม่กล้าสู้แสง และมีความดันในลูกตาต่ำกว่าปกติ สาเหตุเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากภายนอกร่างกาย เกิดแผลหลุมที่กระจกตา ติดเชื้อต่างๆ (เช่น Infectious canine hepatitis, canine ehrlichosis ฯลฯ) ได้รับยาหรือสารเคมี เป็นผลจากมะเร็งที่ลูกตา หรือเกิดจากปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติ (immune-mediatedconditions )ฯลฯ 

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

Anterior uveitis

 
     ในการรักษาโรคตาอักเสบ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของการอักเสบ โดยหลัก ๆ คุณหมอจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ หรืออาจจะให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดการอักเสบ เช่น ยาลดการอักเสบกลุ่ม corticosteroid  แต่ก่อนที่จะใช้ corticosteroid จะต้องแน่ใจว่าไม่มีแผลที่กระจกตาโดยจะต้องทำการย้อมสีตา (fluorescein dying) ก่อน รวมทั้งจะต้องให้การรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นที่มาของการอักเสบที่ตาดังกล่าวด้วย

 

2 โรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน (Acute glaucoma)

 
     โรคต้อหิน (Glaucoma)  เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ ในรายที่เป็นโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการตาแดง มีเลือดออกในส่วนของของตาขาวและเยื่อบุตา เจ็บปวดลูกตา น้ำตาไหล ตาแฉะ เปลือกตากระตุก กระพริบตาบ่อย ๆ รูม่านตาขยายและอาจไม่ตอบสนองต่อแสงหรือตอบสนองช้าลง (ดูได้จากการหดตัวของรูม่านตา) ไม่กล้าสู้แสง บางรายอาจเกิดกระจกตาบวมน้ำ เห็นขุ่นเป็นฝ้าเหมือนมีหมอกสีฟ้า ๆ การมองเห็นลดลง เดินชนบ้างบางครั้งหัวตก เบื่ออาหาร ซึมเศร้า หากความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นจนถึง 60-70 มิลลิเมตรปรอท จะไปทำให้จอประสาทตาเสียหาย น้องหมาจะสูญเสียการมองเห็นได้ วิธีการรักษามีทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัดครับ

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

 

3 มีเลือดคั่งที่ช่องหน้าม่านตา (Hyphema) 

 
     การที่เลือดออกในช่องหน้าม่านตานั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตาหรือหัวของน้องหมา ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (Uveitis) มีเนื้องอกบริเวณผนังลูกตาชั้นกลางหรือมีปัญหาทางระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน (เช่น immune-mediated thrombocytopenia) เราจะเห็นว่าในช่องหน้าม่านตา (anterior chamber) ของน้องหมา จะมีเลือดหรือลิ่มเลือดคั่งอยู่ ในการรักษาจะจัดการไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดมาคั่ง ซึ่งในกรณีที่เกิดแบบเฉียบพลัน การพยากรณ์โรคดีว่ารายที่เกิดแบบเรื้อรังครับ

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

 

4 โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye)

 
     โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye)หรือProlapsed nictitating membrane gland (PNMG) เกิดจากต่อมของหนังตาที่สามยื่นโพล่ออกมา เราจะสังเกตพบว่า มีก้อนเนื้อแดง ๆ อมชมพู ผิวเรียบ ปูดออกมาบริเวณหัวตาของน้องหมาคล้ายกับผลเชอร์รี่ ช่วงแรก ๆ บางรายเป็น ๆ หาย ๆ ยุบ ๆ โผล่ ๆ แต่บางรายก็อาจปูดออกมาอย่างถาวร หากก้อนใหญ่มาก ๆ ก็อาจไปบดบังการมองเห็นได้ น้องหมาส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเจ็บปวด แต่อาจก่อให้เกิดความรำคาญจากการระคายเคืองได้ เมื่อเกิดการสัมผัสเชื้อโรค สิ่งสกปรก หรือสารก่อภูมิแพ้จึงทำให้ตัวต่อมดังกล่าวเกิดการอักเสบ ยิ่งขยายตัวและบวมนูนมากขึ้นทำให้น้องหมาตาแดง ตาแฉะอยู่บ่อย ๆ และอาจมีเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วยสำหรับการรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัด ด้วยการเย็บดันต่อมของหนังตาที่สามกลับเข้าที่เดิมครับ
 

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

 

5 ภาวะลูกตาทะลัก (Proptosis or Prolapse of the eye)

 
     ภาวะลูกตาทะลักหรือการที่ลูกตาเคลื่อนหลุดออกมาจากเบ้าตา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงกระแทก เช่น การต่อสู้ ถูกกัด ถูกชน ถูกตี ฯลฯ มักเกิดขึ้นได้ง่ายในน้องหมาพันธุ์หน้าสั้น เช่น ชิสุ ปั๊ก ปักกิ่ง บลูด๊อก ฯลฯ ซึ่งจะมีเบ้าตาตื้นกว่าปกติ การที่เจ้าของเห็นว่าตาแดงนั้น เกิดจากการที่เลือดคั่ง เพราะเส้นเลือดถูกบีบรัด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรือเกิดการฉีดขาดของเส้นเลือด 

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

     หากเกิดภาวะลูกตาทะลักขึ้นถือว่าเป็น “ภาวะเร่งด่วน” ที่ต้องรีบช่วยเหลือ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกตาแต่อย่าพยายามดันลูกตาเข้าไปเองเด็ดขาด ให้รักษาความชุ่มชื้นให้กับลูกตา เช่น หยอดน้ำสะอาด น้ำยาล้างตาของคน หรือน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วปิดตาน้องหมาไว้อย่าให้เกิดการระคายเคือง จากนั้นรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว ซึ่งการรักษาจะใช้การดันตากลับเข้าที่หรือต้องควักเอาลูกตาออกเลย คุณหมอจะประเมินจากความเสียหายของลูกตา โครงสร้างเบ้าตา กล้ามเนื้อที่ยึดลูกตา และการสูญเสียการมองเห็นของน้องหมา

Dogilike.com :: เจาะลึก 5 สาเหตุที่ทำให้น้องหมาตาแดงได้

 
     ลองสังเกตดวงตาของน้องหมาที่บ้านดูนะครับ ว่ามีอาการตาแดงหรืออาการผิดปกติอื่นๆ หรือเปล่า ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกติก็ไม่ควรรีรอที่จะพาน้องหมามาพบสัตวแพทย์ เพราะยิ่งได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเร็วเท่าไหร่ น้องหมาก็จะเสี่ยงต่ออันตรายน้อยลงเท่านั้นครับ ...
 
 
 
 
 
บทความโดย:หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Simon Petersen-Jones and Sheila Crispin.BSAVA Manual of Small animal Ophthalmology.
British Small Animal Veterinary Association.2002.second edition. Page 297
Michael H. Brown. The red eye. NAVC clinician’s brief. October.2007. Page 14-18
www.merckmanuals.com/vet/eye_and_ear/opthalmology/
 
รูปภาพประกอบ:
www.sweetsays.blogspot.com
www.youtube.com โพสโดย Greg Martinez DVM
www.pitbullforum.com
www.organic-pet-digest.com
www.en.wikipedia.org/wiki/Pannus‎
www.dundeemedstudentnotes.wordpress.com
www.hopecenter.com
www.expertvet.com
www.29.media.tumblr.com
www.cal.vet.upenn.edu
www.doningrenada.blogspot.com
www.vetstreet.com