โดย: Tonvet
รู้จักโรคแท้งติดต่อในน้องหมา จากเชื้อบรูเซลล่า เคนีส
มาเรียนรู้โรคแท้งติดต่อในสุนัข โรคสำคัญที่ไม่ได้เป็นแค่ในสุนัข แต่ยังติดมาสู่คนได้ด้วย
18 มิถุนายน 2557 · · อ่าน (18,337)โรคแท้งติดต่อเป็นโรคสำคัญทางสาธารณสุขไม่เพียงแต่ในสัตว์เท่านั้น เพราะโรคนี้ยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วย
สมัยก่อนเราอาจยังไม่รู้จักโรคนี้ในสุนัขกันสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่มักพบการระบาดกันในปศุสัตว์ แต่ทุกวันนี้คนในบ้านเราให้ความสนใจโรคนี้ในสุนัขกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เพาะพันธุ์สุนัข เพราะสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้จะก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมบูรณ์พันธุ์ทั้งพ่อและแม่สุนัข ส่งผลให้สุนัขผสมไม่ติด ผสมติดแต่ลูกตายในท้องหรือแท้งออกมา หรือลูกบางตัวอาจอยู่ครบกำหนดคลอด แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว ก็ไม่แข็งแรงและอาจตายได้ในระยะแรกคลอดหรือก่อนที่จะหย่านม ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวของสุนัขแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจด้วย แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด ก็คือ ความเสี่ยงจากการติดเชื้อสู่คนนั่นเองครับ
รู้จักโรคแท้งติดต่อในน้องหมา
โรคแท้งติดต่อในสุนัขเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย บรูเซลล่า เคนีส (Brucella canis ) จึงเรียกชื่อโรคนี้ตามชื่อเชื้อว่า โรคบรูเซลโลซีส (Brucellosis) แต่โรคแท้งติดต่อที่ติดไปยังคนก็มีชื่อเรียกอื่น ๆ ด้วย เช่น undulant fever, Mediterranean fever หรือ Malta fever เป็นต้น นอกจากในคนและสุนัขแล้วยังพบการระบาดในสัตว์อื่น ๆ อีก ได้แก่ วัว ควาย แพะ แกะ หมู อูฐ กวาง (Caribou/Reindeer) ม้า สัตว์กลุ่มฟันแทะ (หนู) รวมถึงในสัตว์กลุ่ม marine mammals (โลมา แมวน้ำ) ด้วย
ความจริงแล้วเชื้อของโรคแท้งติดต่อก็มีด้วยกันอยู่หลายชนิด ตามแต่ว่าจะติดกันในสัตว์ชนิดใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อชนิดนั้นจะติดแค่เฉพาะกับสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ถ้าดูกันตามตารางจากรายงานในหนังสือ Brucellosis in humans and animals ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านล่าง เราจะพบว่า นอกจากน้องหมาจะป่วยจากการติดเชื้อ บรูเซลล่า เคนีส (canis) แล้ว ยังอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อบรูเซลล่า อะบอตัส (abortus) เชื้อบรูเซลล่า เมลิเทนซิส (melitensis) และเชื้อบรูเซลล่า ซูอิส (suis) ได้ด้วย เราจึงควรให้ความสำคัญกับสุนัขที่อยู่ตามฟาร์มหรืออยู่ในชนบทที่มีโอกาสคลุกคลีกับสัตว์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ช่องทางการติดต่อของโรคในน้องหมา
เรื่องช่องทางการติดต่อก็เป็นเรื่องสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำ หลายคนเข้าใจว่าสุนัขส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการผสมพันธุ์เท่านั้น ความจริงแล้วเชื้อนี้ร้ายกว่านั้น สามารถติดต่อมายังสุนัข (รวมถึงคน) ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การกินหรือเลียอวัยวะเพศ น้ำอสุจิ รก เมือก น้ำคร่ำ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือจากซากลูกที่แท้งออกมา น้ำปัสสาวะจากสุนัขป่วยที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้น ในอาหารและน้ำ โดยเฉพาะน้ำปัสสาวะของสุนัขเพศผู้จะมีปริมาณเชื้อชนิดนี้อยู่ ติดต่อจากน้ำเชื้อของตัวผู้จากการผสมพันธุ์ (ทั้งการผสมทางธรรมชาติและผสมเทียม) ติดต่อจากการกินนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ (นมสุนัข นมวัว นมแพะ นมแกะ นมอูฐ ฯลฯ)
โดยเชื้อสามารถติดต่อจากสุนัขไปยังสุนัข สุนัขไปยังคนได้ ยังไม่พบรายงานการติดต่อจากคนสู่คน แต่คาดว่าอาจติดต่อผ่านการถ่ายเลือดและการปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างคนสู่คนได้ ซึ่งเชื้อที่มีรายงานติดต่อสู่คนบ่อยที่สุดก็ได้แก่ เชื้อบรูเซลล่า อะบอตัส (abortus) และเชื้อบรูเซลล่า เมลิเทนซิส (melitensis) ส่วนเชื้อบรูเซลล่า เคนีส (canis) จากสุนัขนั้น ยังพบรายงานน้อยมาก แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ควรประมาท เพราะเชื้อชนิดนี้มีการระบาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ตูนิเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ในประเทศไทยพบการรายงานการระบาดของเชื้อบรูเซลล่า เคนีส (canis) ในสุนัข ที่ได้รับการยืนยันเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 จากการศึกษาของจันทร์จิรา และคณะ ของสุนัขในฟาร์มที่เกิดปัญหาการผสมไม่ติดและการแท้งลูกจำนวน 23 ตัว เมื่อเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ด้วยวิธี Tube Agglutination Test และ Microtiter Plate Agglutination Test พบมี positive titer ต่อเชื้อ Brucella canis 47.4 และ 39.1 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และผลการเพาะเชื้อจากเลือด พบเชื้อ Brucella canis ถึง 26.1 เปอร์เซ็นต์
อาการในน้องหมาที่ป่วย
อาการส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของสุนัข สุนัขที่เป็นมักจะผสมไม่ติด ถึงติดก็จะแท้ง โดยจะแท้งในช่วง 3 ใน 4 ของระยะการตั้งท้อง หรือ 45 วันขึ้นไป ลูกที่คลอดออกมาก็อาจไม่แข็งแรง มีโอกาสตายตั้งแต่แรกคลอด หรือตายก่อนที่จะหย่านม แม่สุนัขบางตัวอาจพบมีสิ่งคัดหลั่ง ออกมาจากช่องคลอด แต่แม่สุนัขบางตัวอาจไม่พบอาการป่วยเลย ส่วนพ่อสุนัขจะมีการอักเสบที่ท่อน้ำเชื้อและลูกอัณฑะ พบลูกอัณฑะขยายใหญ่ อาจจะเป็นทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้น้ำเชื้อไม่มีคุณภาพ แต่สุนัขบางตัวก็อาจไม่แสดงอาการป่วยเลยก็มี แต่มารู้อีกทีก็ตอนที่สุนัขตั้งท้องและแท้งลูกออกมา
อาการป่วยในคน
อาการในคนที่ป่วยโรคนี้ไม่แน่นอน อาจไม่แสดงอาการเลย หรือแสดงอาการมีไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจพบอาการปวดหลัง ปวดศีรษะร่วมด้วย ผู่ป่วยบางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต โดยจะแสดงอาการภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน หลังจากติดเชื้อ แต่ในคนสามารถรักษาได้ครับ ไม่ต้องกังวล
จะป้องกันน้องหมาของเราอย่างไรดี
คนส่วนใหญ่มักละเลยการตรวจเชื้อนี้ในสุนัขก่อนผสม โดยเฉพาะกับพ่อพันธุ์สุนัขที่ป่วย ซึ่งสามารถเป็นตัวแพร่เชื้อไปยังสุนัขตัวอื่น ๆ ได้อีกมากมายหลายตัว ดังนั้นก่อนพาสุนัขของเราไปเข้ารับการผสมจะต้องตรวจสอบประวัติให้ดี ฟาร์มที่เราจะพาสุนัขไปผสมจะต้องปลอดโรคบรูเซลโลซีส และมีการตรวจโรคเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน การสั่งซื้อหรือนำเข้าสุนัขมาจากต่างประเทศ ควรมีใบรับรองยืนยันว่าปลอดโรคด้วยเช่นกัน รวมถึงไม่ควรปล่อยสุนัขไปคลุกคลีกับสุนัขที่ไม่ทราบประวัติ แม้แต่การพบปะสุนัขตัวอื่นในสนามประกวดสุนัขก็ตาม หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณที่สุนัขอยู่ด้วย น้ำยาฆ่าเชื้อที่ส่วนผสมของ 2.5% sodium hypochlorite, isopropanol, iodophores, phenolic, quaternary ammonium compounds หรือ 70% ethanol
หากมีสุนัขป่วยให้แยกเลี้ยงจากสุนัขตัวอื่น ๆ โดยเด็ดขาด ให้ทำหมันสุนัขที่ป่วย ไม่ควรนำมาใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์อีก เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ สุนัขตัวอื่น ๆ ในบ้านหรือในฟาร์มที่ใช้ชีวิตคลุกคลีกับสุนัขตัวดังกล่าว ก็ควรได้รับการตรวจหาโรคด้วยเช่นกัน ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาที่หายขาดในสุนัข แต่มีรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวร่วมกันได้ระยะยาวได้ผลในสุนัขบางราย แต่เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถติดต่อสู่คนได้ บางที่อาจเลือกทำการุณยฆาตรกับสุนัขที่ได้รับการยืนยันว่าป่วยจริง
โรคแท้งติดต่อไม่เพียงจะส่งผลต่อสุขภาพของสุนัขเท่านั้น ยังอาจติดต่อมายังคนได้ด้วย แม้รายงานการพบเชื้อบรูเซลล่า เคนีส ในสุนัขบ้านเรายังมีไม่มากแต่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้เพาะพันธุ์สุนัข ควรต้องใส่ใจและศึกษาโรคนี้ให้ละเอียด ป้องกันตัวเองให้ดี ด้วยการสวมถุงมือทุกครั้งที่ช่วยคลอดสุนัข กำจัดรกหรือซากลูกสุนัขที่แท้งโดยฝังให้มิดชิด ฆ่าเชื้อทำความสะอาดด้วยน้ำยาทุกครั้ง แม้สุนัขของเรายังไม่ได้เป็นโรค ก็ต้องป้องกันไว้ก่อนนะครับ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
จันทร์จิรา พึ่งเจริญสกุล ศรีสมัย วิริยารัมภะ และธวัชชัย ศักดิ์ภู่อร่าม. 2542. อุบัติการของเชื้อ Brucella canis ในฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัข. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 37. หน้า 453-457
M.J. Corbel. 2006. Brucellosis in humans and animals. World Health Organization (WHO)
http://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/pdfs/brucellosis_canis.pdf
http://www.merckmanuals.com/vet/reproductive_system/brucellosis_in_dogs/overview_of_brucellosis_in_dogs.html
รูปภาพประกอบ:
www.epubbud.com
www.vetnext.com
www.2.bp.blogspot.com
www.who.int
www.randyandhollysfarmingadventure.blogspot.com
www.thehiddenwar.org
www.ohareusa.com
www.cfsph.iastate.edu
www.animalhospitalofwoodstock.com
www.bionote.co.kr
SHARES