โดย: Tonvet

ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

รู้จักชนิดของยาเบื่อหนูที่สำคัญ การสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

27 สิงหาคม 2557 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (4) · อ่าน (153,262)
4,034

SHARES


4,034 shares

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

    
     หนู ศัตรูตัวสำคัญของใครบางคน สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะเคยพบเห็นหนูบ้าน หนูตลาด หรือหนูท่อกันมาอยู่บ้าง แรกเริ่มเดิมทีพวกหนูในเมืองเหล่านี้ก็เคยเป็นหนูป่าอาศัยอยู่ตามท้องไร่ท้องนามาก่อน แต่พอเมืองเจริญขยายใหญ่ขึ้น บรรดาหนูเหล่านี้ก็กลายเป็นหนูในเมืองไปโดยปริยาย ปัญหาก็คือ เมื่อพวกหนูเหล่านี้เข้ามาอาศัยใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น ก็อาจเป็นพาหะนำโรคบางอย่างมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงได้ เช่น กาฬโรค โรคฉี่หนู โรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) เป็นต้น จึงมีความพยายามที่จะควบคุมหรือกำจัดหนูเหล่านี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการนำสารเคมีมาใช้ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ยาเบื่อหนูหรือยากำจัดหนู (Rodenticide)  นั่นเอง

     ปัจจุบันมีการคิดค้นพัฒนายาเบื่อหนูออกมามากมายหลายชนิด ความรุนแรงและความเป็นพิษก็แตกต่างกัน ซึ่งอันตรายก็ไม่ได้เกิดกับหนูเพียงเท่านั้น เพราะบางครั้งตั้งใจจะวางยาเบื่อหนูแท้ ๆ แต่กลับกลายเป็นวางยาเบื่อน้องหมาไปซะอย่างนั้น เนื่องด้วยพฤติกรรมซุนซนอยากรู้อยากเห็นของน้องหมา อาจไปกัดแทะ หรือไปแอบเอาซากหนูที่ตายจากยาเบื่อมาเล่น ทำให้น้องหมาได้รับเอาสารพิษจากกยาเบื่อหนูเข้าไปด้วย ความซวยจึงบังเกิดขึ้นทั้งกับตัวน้องหมาและเจ้าของ 
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

    
     วันนี้ มุมหมอหมา จึงมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่น้องหมาของเพื่อน ๆ ได้รับยาเบื่อหนูเข้าไปมาฝาก แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับชนิดของยาเบื่อหนูที่สำคัญ และการสังเกตอาการของน้องหมาที่ได้รับสารพิษแต่ละชนิดเข้าไปกันก่อนครับ เรามาเริ่มกันที่สารเคมีชนิดแรกกันเลย...
 
 

1 สตริกนิน

 
     สตริกนิน (Strychnine) เป็นสารสกัดที่ได้จากเมล็ดของต้นแสลงใจ ซึ่งคนนิยมนำมาใช้เป็นยาเบื่อหนู น้องหมามักได้รับสารพิษชนิดนี้จากการกิน ไม่ว่าจะได้รับจากการกินโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านการกินซากหนูที่ตายแล้ว โดยสารพิษจะไปต้านการออกฤทธิ์ของไกลซีน ทำให้ฤทธิ์ในการยับยั้งรีเฟล็กซ์อาร์กเสียไป เกิดการกระตุ้นรีเฟล็กซ์ที่ไขสันหลัง กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรุนแรง มีอาการชัก ขาเหยียดเกร็ง หลังแอ่น หัวและคอบิดหงาย น้องหมาจะหายใจลำบาก และเสียชีวิตได้จากการขาดออกซิเจน  
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

  
     การรักษา คือ จะต้องควบคุมอาการชักให้ได้ โดยทำให้น้องหมาอยู่ในภาวะสลบเพื่อไม่ให้ชัก เพราะถ้าชักจะทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ จากนั้นจึงให้ออกชิเจนช่วย และให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างปัสสาวะ ช่วยขับสารพิษทิ้งให้เร็วที่สุด 
 
 

2 วอร์ฟารินและอนุพันธ์

 
     วอร์ฟาริน (warfarin) เป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดไม่แข็งตัว ในทางการแพทย์มีการใช้วอร์ฟารินเพื่อการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่ก็มีผู้นำมาผลิตเพื่อเป็นสารสำหรับกำจัดหนูใช้กันอย่างแพร่หลาย ในเวลาต่อมาจึงมีการคิดค้นพัฒนาสารที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ ๆ เพื่อให้คงฤทธิ์อยู่ได้นานและรุนแรงกว่า จึงก่อให้เกิดความเป็นพิษที่รุนแรงกว่า 

     โดยกลไกการเป็นพิษของวอร์ฟาริน ก็คือ จะไปยับยั้งเอนไซม์ Vitamin K1 epoxide reductase ทำให้ปริมาณของวิตามินเค 1 ลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการสังเคราะห์ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดลดลงตามไปด้วย น้องหมาจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็นหลังจากกินสารพิษเข้าไปแล้วประมาณ 3-5 วัน (แต่บางครั้งอาจพบอาการได้เร็วกว่านั้น) เนื่องจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดในพลาสมาค่อย ๆ ลดลง สัตว์จะมีเลือดออกง่าย เกิดการฟกช้ำ ไอหรือจามเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำหรือเป็นเลือด ซึม อ่อนเพลีย และมีสีเหงือกซีด
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

 
     สำหรับการรักษาก็ขึ้นอยู่กับว่า น้องหมาได้รับสารพิษมานานแค่ไหนแล้ว หากยังไม่เกิน  2-4 ชั่วโมง คุณหมออาจพิจารณากระตุ้นให้น้องหมาอาเจียน แล้วทำการล้างกระเพาะ ให้ผงถ่านดูดซับสารพิษ และป้อนยาระบาย แต่หากได้รับมานานแล้ว หรือมีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดเกิดขึ้นแล้ว อาจต้องให้การรักษาที่เข้มข้นขึ้น เช่น ให้วิตามินเค 1 ให้สารน้ำ ถ่ายเลือด (Fresh frozen plasma) หรือให้ออกซิเจน เป็นต้น 
 
 

3 ซิงก์ ฟอสไฟต์

 
     ซิงก์ ฟอสไฟต์ (Zinc phosphide) เป็นยากำจัดหนูลักษณะเป็นผงหรือเกล็ดสีเทาดำ มีกลิ่นเฉพาะตัวคล้ายกลิ่นปลาเน่า บางที่อาจนำมาทำเป็นแก๊สเพื่อรมควันกำจัดแมลงและหนูในโรงเรือน ซึ่งเมื่อซิงก์ ฟอสไฟต์ทำปฏิกริยากับน้ำหรือความชื้นในอากาศจะได้เป็นแก๊สฟอสฟีน (phosphene) ทั้งฟอสไฟต์และฟอสฟีน ถูกดูดซึมได้จากทางเดินอาหารและก่อให้เกิดความเป็นพิษแบบเฉียบพลันได้ 
 
     โดยสารพิษนี้จะไปยับยั้ง cytochrome C oxidase ทำให้กระบวนการสร้างพลังงานในเซลล์เสียไป อวัยวะที่กระทบมากที่สุด คือ สมอง หัวใจ ตับ ปอด และหลอดเลือด เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีความต้องการออกซิเจนสูง น้องหมาที่ได้รับสารนี้เข้าไปจะแสดงอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น เบื่ออาหาร อาเจียน หายใจลำบาก เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีกลิ่นปากเหม็น วิ่งเตลิดอย่างไร้จุดหมาย เห่า หอน ครวญครางหรือเกิดอาการชักคล้ายกับได้รับสารพิษจากสตริกนิน
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

    
     การกระตุ้นให้น้องหมาอาเจียนจะช่วยลดหรือชะลอความเป็นพิษได้ ซึ่งปกติแล้วหากสุนัขได้รับสารพิษชนิดนี้ในขณะที่ท้องว่าง ส่วนมากก็มักจะอาเจียนอยู่แล้ว เนื่องจากซิงก์ ฟอสไฟต์มีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหารและทางเดินหายใจค่อนข้างสูง จึงช่วยลดความเป็นพิษลงมาได้ระดับหนึ่ง แต่หากมีอาการชักก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันทีครับ
 
 

4 แทลเลียม

 
     แทลเลียม (Thallium , Thallium Sulfate) เป็นโลหะหนักที่ไม่มีรสหรือกลิ่น คนนำมาใช้ในการกำจัดหนูและแมลง แต่ในบางประเทศก็มีคำสั่งห้ามไม่ให้ใช้แล้ว เนื่องจากอาจส่งผลถึงมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ซึ่งน้องหมาสามารถรับเอาแทนเลียมเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางการกินและการสัมผัส แทลเลียมสามารถถูกดูดซึมได้ดีทั้งทางระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ โดยอาการที่พบ ก็คือ น้องหมาจะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง หายใจลำบาก ตัวสั่น ชัก มีไข้ และตาบอด เนื่องจากการอักเสบของเส้นประสาทสมอง โดยเฉพาะเส้นประสาทสมองที่ 2 (optic narritis)  ซึ่งน้องหมาบางตัวอาจแสดงอาการหลังจากได้รับสารพิษไปแล้ว 1-3 วัน หากเราทราบว่าน้องหมาได้รับสารพิษตัวนี้เข้าไป สามารถช่วยได้โดยใช้ Diphenylthiocarbazone แต่จะได้ผลดีหากได้รับการรักษาภายใน  24 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารพิษครับ
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา


 

5 สารเอเอนทียู 

 
     สารเอเอนทียู (Alpha-naphthal thiourea, ANTU) เป็นสารเคมีที่ไม่ละลายน้ำ ไม่มีรส และไม่มีกลิ่น ลักษณะเป็นผงสีเทา คนนำเอามาใช้เป็นยาเบื่อหนูกันอย่างแพร่หลาย น้องหมาสามารถได้รับสารนี้ผ่านการกิน ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหาร หากกินในขณะที่ท้องว่างส่วนใหญ่มักจะอาเจียนออกมา แต่หากรับเอาสารพิษชนิดนี้เข้าไปมาก ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-4 ชั่วโมง โดยอาการอื่น ๆ นอกจากอาเจียน ก็มีอาการไอ หายใจลำบาก อ่อนแรง เดินเซ บางรายอาจฟื้นตัวได้ภายหลังจากได้รับสารพิษไปแล้ว 12 ชั่วโมง สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยลดหรือชะลอความเป็นพิษ คือ การกระตุ้นให้น้องหมาอาเจียนเช่นกัน
 
 

การปฐมพยาบาลเมื่อน้องหมากินยาเบื่อหนูเข้าไป

 
     สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากสุนัขยังไม่แสดงอาการชักหรือหมดสติ หลังจากได้รับสารพิษมาไม่เกิน 2-4 ชั่วโมง ให้เพื่อน ๆ กระตุ้นให้น้องหมาอาเจียนเพื่อช่วยลดหรือชะลอความเป็นพิษ โดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3 % ป้อนขนาด 1-5 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ ป้อนน้ำเชื่อมไอปิแคค 7 % (Ipecac) ป้อนขนาด 1-2 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยอาจเจือจางด้วยน้ำในอัตราส่วน 1:1 
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

    
     หลังจากน้องหมาอาเจียนเอาสารพิษออกมาแล้วให้ทำการป้อนผงถ่าน (Activated charcoal) เพื่อเข้าไปช่วยดูดซับสารพิษ ในขนาด 0.5-4 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 10 เท่าของปริมาตรสารพิษที่รับเข้าไป โดยผสมผงถ่าน 1 กรัมในน้ำ 5 มิลลิลิตร แต่หากสุนัขมีอาการชัก แนะนำให้รีบพาไปพบคุณหมอโดยทันที โดยเฉพาะในรายที่ได้รับสตริกนินเข้าไป เพราะเป็นสารพิษที่รุนแรงมากครับ
 
     ยาเบื่อหนูนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีความรุนแรง ความเป็นพิษ และอาการที่แสดงออกมาแตกต่างกันไป สิ่งแรกที่เพื่อน ๆ ต้องทราบเลยก็คือ ยาเบื่อหนูที่สุนัขรับเข้าไปนั้นเป็นสารเคมีชนิดอะไร โดยอ่านจากฉลากข้างซองหรือกล่อง แต่หากไม่ทราบก็ให้เก็บอาเจียนของน้องหมามาให้คุณหมอตรวจ หรือเก็บซากยาเบื่อหนูที่น้องหมากินเข้าไปมาให้คุณหมอ ถ้ามีกล่องที่มีชื่อการค้า หรือชื่อสารเคมีด้วยจะดีมากครับ เพื่อที่คุณหมอจะได้หาแนวทางในการปฐมพยาบาลและการรักษาต่อไป 
 

Dogilike.com :: ยาเบื่อหนู ... ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา

    
     ยาเบื่อหนูถือเป็นภัยใกล้ตัวน้องหมาที่เจ้าของทุกคนจะมองข้ามไม่ได้นะครับ บ้านไหนที่คิดจะใช้ก็ต้องหาทางกันตัวน้องหมาเอาไว้ให้ดี อย่าให้เข้าไปกัดแทะเล่นได้เป็นอันขาด  อันตรายจริง ๆ นะครับ...ขอบอก ความจริงแล้วยังมีอีกหลายวิธีในการป้องกันหนู เช่น การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาด กำจัดรังหรือแหล่งอาหารของหนู ใช้สมุนไพร ติดตั้งเครื่องปล่อยคลื่นไล่หนู ควรเน้นการขับไล่และป้องกันจะดีกว่านะครับ 
 



 
 
บทความโดย:  หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
วรา พานิชเกรียงไกร 2549, สารพิษและพิษจากยาในสุนัขและแมว. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ตีรณสาร
http://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Rodent
http://www.merckmanuals.com/pethealth/special_subjects/poisoning/rodenticide_poisoning.html
http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=81
 
รูปภาพประกอบ:
www.blog.hartz.com
www.efekto.co.za
www.animalnepal.org
www.drugsdb.com
www.fertiliser.com
www.static.shop033.com
www.moderngamekeeping.com
www.1.bp.blogspot.com