โดย: Tonvet
4 วิธีรับมือกับโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะสุนัข
มาดูวิธีการดูแล การจัดการ และป้องกันการเกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะของสุนัขกัน
24 กันยายน 2557 · · อ่าน (72,672)
เมื่อตอนที่แล้ว เพื่อน ๆ คงได้ทราบกันไปแล้วว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะของสุนัขนั้นเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน ทั้งกรรมพันธุ์ เพศ อาหารและน้ำ การติดเชื้อ หรือโรคที่ป่วยอยู่ก่อนหน้านี้ บทความตอนนี้เรามาดูกันต่อ ในส่วนของวิธีการดูแล การจัดการ และป้องกันการเกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะของสุนัขกันครับ...ว่ามีอะไรบ้าง
1 ดูแลเรื่องการกินน้ำ และการปัสสาวะของสุนัข
น้องหมาที่กินน้ำน้อยจะทำให้ปัสสาวะเข้มข้นขึ้น จึงเกิดการตกตะกอนของนิ่วได้ง่าย ดังนั้นการให้น้องหมากินน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะช่วยทำให้ความเข้มข้นของปัสสาวะเจือจางลง (ค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำปัสสาวะที่เหมาะสมควร < 1.020) ช่วยลดการเกิดนิ่วได้ หากน้องหมาของใครมีปัญหาไม่ชอบการกินน้ำ เจ้าของอาจต้องหัดป้อนน้ำให้กับน้องหมา หรืออาจปรับรูปแบบการให้อาหารมาเป็นรูปแบบอาหารเปียกหรืออาหารเม็ดแช่น้ำแทนการใช้อาหารเม็ดเพรียว ๆ เพราะจะทำให้ได้รับน้ำในอาหารเพิ่มเข้าไปด้วย
ในเรื่องการปัสสาวะของสุนัขก็สำคัญครับ น้องหมาบางตัวมีพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะ บางตัวถูกขังไว้ในบ้านเป็นเวลานาน จึงทำให้ไม่ได้ปัสสาวะ ตรงนี้เจ้าของต้องหมั่นพาน้องหมาออกไปปัสสาวะสม่ำเสมอ การให้สุนัขกินน้ำมาก ๆ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้น้องหมาปัสสาวะเพิ่มขึ้นได้ เป็นการลดการคั่งค้างของปัสสาวะได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เจ้าของก็ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมการปัสสาวะของน้องหมา เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเกิดโรคนิ่ว โดยดูว่า น้องหมามีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะนานกว่าปกติ ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ หรือมีเศษตะกอนปะปนอออกมากับปัสสาวะด้วยหรือไม่ ถ้ามีให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ เพราะหากปล่อยให้ถึงขั้นปัสสาวะมีสีแดง มีเลือดปน หรือปัสสาวะไม่ออกแล้ว อาจทำให้ของเสียในร่างกายสูง ส่งผลต่อการทำงานของไต และอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ครับ
2 ดูแลเรื่องอาหารที่สุนัขกิน
การจัดการด้านอาหารเป็นหนทางที่สำคัญในการช่วยลด ควบคุม และป้องกันการเกิดนิ่วได้ นิ่วบางชนิดสามารถละลายได้ด้วยอาหารสูตรพิเศษ โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 4-16 สัปดาห์ ตามขนาดและจำนวนของก้อนนิ่ว ซึ่งอาหารที่เหมาะสมสำหรับการจัดการโรคนิ่วในสุนัขนั้น มีคุณสมบัติ ดังนี้
1 มีโปรตีนต่ำ เนื่องจากโปรตีนเป็นสารตั้งต้นของสารทำก่อให้เกิดนิ่วได้หลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น การที่อาหารประเภทโปรตีนจะถูกเปลี่ยนเป็นพิวรีน (purine) และถูกเมตาบอไลท์ต่อได้เป็นไฮโปแซนทีน จากนั้นเอนไซม์แซนไทน์ออกซิเดรสจะเปลี่ยนไฮโปแซนทีนเป็นแซนทีนและกรดยูริค หากไปจับกับแอมโนเนียม โซเดียมก็อาจก่อให้เกิดผลึกนิ่วยูเรทขึ้นมาได้ ดังนั้นเราควรงดให้อาหารที่มีโปรตีนสูง เชน เนื้อสัตว์ปีก เครื่องใน ตับ ไต ฯลฯ
2. ช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะให้เหมาะสมได้ เนื่องจากหากปัสสาวะที่มีค่าความเป็นกรดด่างมากกว่าหรือน้อยเกินไป จะสามารถโน้มนำให้เกิดนิ่วได้ ซึ่งค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 7.0-7.5
โดยนิ่วแต่ละชนิด อาจมีการจัดการในเรื่องของอาหารแตกต่างกันไป ตามองค์ประกอบของแร่ธาตุของนิ่วนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น
นิ่วชนิดสตรูไวท์ เป็นนิ่วที่ก่อตัวจากแมกนีเซียม แอมโมเนียม และฟอสเฟต ในสภาวะปัสสาวะที่เป็นด่าง ดังนั้นในอาหารที่เหมาะสมควรมีการกำจัดโปรตีน แคลเซียม แมกนีเซียม และฟอสเฟต และทำให้ปัสสาวะเป็นความเป็นกรดเพิ่มขึ้น
นิ่วชนิดยูเรท เป็นผลึกของกรดยูริค เกิดในปัสสาวะที่เป็นกรด โดยมีพิวรีนเป็นสารตั้งต้น ดังนั้นการจัดการอาหาร คือ ลดอาหารที่มีพิวรีนและโปรตีน เป็นส่วนประกอบ ซึ่งพิวรีนพบมากในเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก และยอดผัก ฯลฯ
นิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลท เกิดจากผลึกแคลเซียมและออกซาเลท ในปัสสาวะที่เป็นกรด ควรเลือกอาหารที่มีแคลเซียม ออกซาเลท โซเดียม และโปรตีนต่ำ โดยออกซาเลท มักพบอยู่ในธัญพืชและพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ส่วนแคลเซียมนั้นพบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม ควรเลี่ยงให้อาหารพวกนี้กับน้องหมา
ซึ่งปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปสูตรพิเศษที่ทำออกมา สำหรับนิ่วแต่ละชนิดให้เลือกเจ้าของเลือกใช้ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ครับ
3 ให้การรักษาทางยาหรือการผ่าตัด
การเลือกวิธีการรักษาของสัตวแพทย์ขึ้นกับชนิด ตำแหน่ง ขนาด และจำนวนของนิ่ว นิ่วบางชนิดสามารถรักษาโดยการให้อาหารสูตรพิเศษเพื่อไปช่วยละลายได้ ร่วมกับการให้ยาบางอย่าง เช่น ยาฆ่าเชื้อ อัลโลพูลินอล ไธเอไซด์ โซเดียมไบคาร์บอเนต โปแทสเซียมซิเตรต ฯลฯ นิ่วบางชนิดจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดก่อน รวมถึงรายที่มีก้อนนิ่วขนาดใหญ่ หรืออุดตันทางเดินปัสสาวะอยู่ก็เช่นกัน
อย่างไรก็ดีน้องหมาที่เป็นโรคนิ่ว หลังจากที่ทำการรักษาแล้วยังมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหลังการผ่าตัดคุณหมอจะส่งก้อนนิ่วไปตรวจวิเคราะห์เพื่อหาชนิดของนิ่วที่สุนัขเป็น เมื่อทราบว่าสุนัขเป็นนิ่วชนิดใด คุณหมอจะได้วางแผนในการรักษาและเลือกอาหารที่เหมาะสม เพื่อการป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำต่อไปครับ
4 เฝ้าติดตามการเกิดนิ่วใหม่เป็นระยะ
สุนัขที่เคยเป็นโรคนิ่วหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่ว ควรได้รับการตรวจวิเคราะห์น้ำปัสสาวะกับสัตวแพทย์เป็นระยะอย่างน้อยทุก ๆ 1-3 เดือน เจ้าของสามารถตรวจค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้ภาชนะสะอาดรองเก็บปัสสาวะที่สุนัขขับถ่ายออกมาครั้งแรกของวันในช่วงเช้า แล้วลองตรวจวัดสภาพความเป็นกรดด่างด้วยกระดาษลิตมัสสัปดาห์ละครั้ง รวมถึงหมั่นสังเกตอาการ หากสุนัขแสดงอาการเลียอวัยวะเพศบ่อย ปัสสาวะผิดปกติ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสียต่อเนื่องกัน แนะนำให้เจ้าของโทรปรึกษาปัญหากับสัตวแพทย์ทันทีครับ
การจัดการดูแลเป็นสิ่งสำคัญ น้องหมาที่ป่วยโรคนิ่วจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นก็อยู่กับการดูแลของเจ้าของนะครับ อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า สุนัขที่ป่วยโรคนิ่วแล้วอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่ ดังนั้นเราจึงต้องให้การดูแลและเฝ้าติดตามอาการไปตลอดชีวิต การจัดการทางด้านอาหาร น้ำ รวมถึงยาที่คุณหมอจ่ายมาให้ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการควบคุมปริมาณแร่ธาตุให้เหมาะสม และช่วยปรับความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกต่อไปครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
www.pet360.com
www.images.fineartamerica.com
www.s3.amazonaws.com
www.drugdiscoveryopinion.com
www.pets.thenest.com
www.cdn.thedailymeal.com
www.pasadenapetshospital.com
www.castlevetsreading.files.wordpress.com
SHARES