โดย: Tonvet

เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

เสริมธาตุแคลเซียมให้น้องหมาแบบผิด ๆ มีสิทธิ์ป่วยโรคร้ายได้นะ...อยากรู้เป็นไงต้องอ่าน

14 มกราคม 2558 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (0) · อ่าน (40,369)
1,468

SHARES


1,468 shares

Dogilike.com :: เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

    
     พูดถึงอาหารเสริมแล้ว ในคนเราก็จะมีให้เห็นกันสารพัดเลยนะครับ เรียกได้ว่าบำรุงกันทุกอวัยวะตั้งแต่หัวยันเท้า ปากยันรูทวารเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ก็จะอ้างบำรุงในเรื่องของสุขภาพ กินแล้วดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องมีต้องใช้กัน ใครไม่มีไม่ใช้ก็อาจจะขาดความมั่นใจไปเลยทีเดียว
 
     ในวงการคนยังมีอาหารเสริมกันมากขนาดนี้ แล้วในวงการสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาจะไม่มีได้อย่างไร ปัจจุบันเราจึงเห็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์ออกมาในท้องตลาดมากมาย และหนึ่งในสิ่งที่เจ้าของสุนัขมักเลือกหามาเสริมให้กับน้องหมาอยู่เป็นประจำ ก็คือ แคลเซียม (Calcium) นั่นเอง
 

Dogilike.com :: เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

 
     แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญกับร่างกาย เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน และยังทำหน้าที่ทางชีวเคมีระดับเซลล์ ช่วยในการทำงานของสารสื่อประสาท ปกติน้องหมาจะได้รับแคลเซียมจากอาหารที่กิน ในอาหารเสริมจะมีแคลเซียมในรูปต่าง ๆ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมซัลเฟต หรือแคลเซียมคลอไรด์ ฯลฯ โดยร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมผ่านทางลำไส้ สุนัขแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการแคลเซียมไม่เท่ากัน โดยในสุนัขที่โตเต็มปกติจะมีความต้องการแคลเซียม ประมาณ 0.5 -1% Dry Matter หรือ 100-150 มิลลิกรัมต่อนำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน
 

Dogilike.com :: เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

 
     เจ้าของส่วนมากจะชอบเสริมแคลเซียมให้กับสุนัขอยู่ 2 ช่วงวัยด้วยกัน คือ ช่วงที่เป็นลูกหมา กับ ช่วงที่เป็นแม่หมา สำหรับลูกหมานั้นจะมีความต้องการแคลเซียมมากกว่าสุนัขที่โตเต็มวัย เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต สร้างกระดูกและฟัน คือ ประมาณ 0.7 -1.7% Dry Matter และอัตราส่วนของระดับแคลเซียมต่อระดับฟอสฟอรัส (แคลเซียม : ฟอสฟอรัส) ในอาหารจะอยู่ที่ 1:1 ถึง 1.8:1 (สุนัขโตเต็มวัยปกติจะอยู่ที่ 1:1 ถึง 2:1) แต่หากเป็นลูกหมาพันธุ์ใหญ่หรือลูกหมาพันธุ์ใหญ่ยักษ์นั้น จะมีความต้องการแคลเซียมน้อยกว่าลูกหมาพันธุ์เล็กสักเล็กน้อย คือ ประมาณ 0.7 -1.2% Dry Matter
 
     หลายคนมักเข้าใจว่ายิ่งเป็นน้องหมาพันธุ์ใหญ่ย่อมมีความต้องการแคลเซียมมากกว่า จึงกระหน่ำบำรุงแคลเซียมให้กับน้องหมาพันธุ์เหล่านี้เสียยกใหญ่ เมื่อลูกหมาได้รับแคลเซียมมากเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ผลที่ตามมาก็คือ การเจริญของกระดูกและข้อที่ผิดปกติ ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Developmental orthopedic disease (DOD) เช่น โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ โรค Osteochondrosis  โรค Hypertrophic osteodystrophy (HOD) ฯลฯ น้องหมาที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้จะเจ็บปวดข้อ ข้อบวมและอักเสบ ทำให้การลุก ยืนหรือเดินผิดปกติไป มักพบบ่อยในลูกสุนัขช่วงอายุ 4-10 เดือน 
 

Dogilike.com :: เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

 
     อีกกรณีที่มักพบ คือ การเสริมแคลเซียมให้กับแม่หมาที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งแม่หมาที่กำลังตั้งท้องในช่วงท้ายนั้น จะมีความต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากขึ้น เนื่องจากตัวอ่อนในท้องมีการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็ว แต่หากเราเสริมแคลเซียมในช่วงแม่หมาตั้งท้องมากเกินไป สมดุลของแคลเซียมในร่างกายจะถูกรบกวน ทำให้การทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ผิดปกติ แม่หมาจะมีแนวโน้มการเกิดภาวะไข้น้ำนมได้ง่ายในภายหลัง ภาวะไข้น้ำนมนี้ พบได้บ่อยในแม่หมาพันธุ์เล็ก (กลุ่ม Toy-breed dog) และมีลูกดก มักพบในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการให้นมลูก 
 
     ดังนั้นจึงแนะนำว่า ไม่ควรเสริมแคลเซียมให้แม่หมาช่วงที่กำลังตั้งท้องมากไป (ไม่ควรเกิน 0.75-1.5% Dry Matter) และอัตราส่วนของระดับแคลเซียมต่อระดับฟอสฟอรัส (แคลเซียม : ฟอสฟอรัส) ในอาหารไม่ควรเกิน 1.1 :1 ถึง 1.5:1 หากจะเสริมแนะนำให้เสริมในช่วงท้ายของการตั้งท้องและในช่วงของการให้นมลูกจะดีกว่า แต่ทั้งนี้ความต้องการจะมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นกับจำนวนของลูก ๆ ด้วย โดยในช่วง peak ของการให้นมนั้น แม่หมาอาจมีความต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติถึง 2-5 เท่าเลยทีเดียว สำหรับความต้องการแคลเซียมของแม่หมานั้นจะอยู่ที่ 250-500 มิลลิกรัมต่อนำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน
 

Dogilike.com :: เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

 
     ในส่วนสุนัขโตเต็มวัยและมีสุขภาพร่ายกายที่ปกติ การเสริมแคลเซียมมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโรคร้ายได้เช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมสูง จะทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดสูงตามมา อาจเป็นที่มาของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคนิ่วชนิด Calcium oxalate นิ่วชนิดนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 3 ของโรคนิ่วในสุนัข (ข้อมูลจาก Minnesota Urolith center from 1981-1997) สุนัขพันธุ์ที่มักพบ ได้แก่ พันธุ์ miniature schnauzers, miniature poodle, Yorkshire terriers, Shih Tzu และ Lhasa apsos เมื่อสุนัขได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูง ร่างกายจะดูดซึมที่ลำไส้และกำจัดออกทางปัสสาวะ หากปัสสาวะมีความเข้มข้นของแคลเซียมและออกซาเลทสูงมาก ก็จะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วชนิดนี้ขึ้นมาได้ นอกจากนี้การเสริมแคลเซียมมากเกินไป ก็ยังเสี่ยงต่อการเกิดแคลเซียมสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ไปรบกวนการทำงานได้อีกด้วย
 
     เพื่อนๆ คนไหนคิดจะหาแคลเซียมมาเสริม ก็ควรดูด้วยว่าสุนัขของเรากำลังขาดอยู่หรือไม่ ตรงนี้สามารถทราบได้จากการพาไปตรวจวัดระดับแคลเซียมในกระแสเลือดก็ได้ครับ หากสุนัขกำลังขาด มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กระดูกหัก กระดูกบาง กระดุกพรุน เป็นโรคการเจริญของกระดูกผิดปกติ (rickets) หรือกำลังเป็นภาวะไข้น้ำนมอยู่ ตรงนี้คุณหมอจะเป็นผู้ตรวจและพิจารณาสั่งจ่ายให้ โดยพิจารณาร่วมกับอาหารที่สุนัขได้รับในแต่ละวันเป็นราย ๆ ไปครับ
 

Dogilike.com :: เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากไป...เสี่ยงป่วยโรคร้ายไม่รู้ตัว

 
     เห็นแล้วใช่หรือไม่ครับว่า สุนัขแต่ละช่วงวัยนั้นมีความต้องการแคลเซียมที่ไม่เหมือนกัน บางช่วงที่เราคิดว่าสุนัขน่าจะมีความต้องการแคลเซียมมาก แต่หากเราเสริมให้มากจนเกินไปก็อาจเป็นผลร้ายตามมาได้ ดังนั้นควรให้แคลเซียมแต่พอดีจะดีกว่า โดยดูให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับระดับของฟอสฟอรัสด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสียสมดุลแคลเซียมในร่างกายและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ 
 

 
 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Michael S. Hand. 2002. Pocket companion to Small animal Clinical Nutrition. 4thedition. 
Mark Morris Institute: United States of America
 
รูปภาพประกอบ:
www.thepetproductguru.com
www.basicspine.com
www.i49.tinypic.com
www.dogbreedinfo.com
www.totalhealth.co.uk
www.s3.amazonaws.com