โดย: Tonvet

ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้

อ่านให้เข้าใจ อย่าปล่อยให้สุนัขที่เรารักต้องกลายเป็น...ทาสเหล็ก

28 มกราคม 2558 · · อ่าน (44,003)
1,860

SHARES


1,860 shares

 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้


     “All substance are poisons, there is none which is not a poison…” ข้อความนี้ หากเป็นนักพิษวิทยาหรือคนที่ศึกษาเกี่ยวกับพิษวิทยาคงจะทราบกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำที่ Paracelsus (1493-1541) บิดาแห่งพิษวิทยาได้กล่าวไว้ แปลใจความได้ว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นพิษ ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่เป็นพิษ... 
 
     ความเป็นพิษนั้นขึ้นกับปริมาณที่ได้รับครับ เจ้าของบางคนอาจมีความเข้าใจว่า ยาบำรุงทั้งหลายไม่มีความเป็นพิษกับสุนัข สุนัขยิ่งได้รับยาบำรุงเสริมมากเท่าไหร่ จะยิ่งมีสุขภาพดีมากเท่านั้น ความจริงแล้วการเสริมยาบำรุงให้กับสุนัขที่ไม่ได้ขาดมากเกินไปนั้น อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสุนัขได้ ... อะไรที่มันไม่พอดี มันก็ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งนั้นล่ะครับ
 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้

 
     ครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าของสุนัขมาปรึกษา เขาเล่าให้ฟังว่า สุนัขที่เลี้ยงไว้ไม่ทราบว่าเป็นอะไร จู่ ๆ ก็ซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน ถ่ายเป็นสีดำๆ ไม่ค่อยมีแรงยืน เดินโซเซ ก่อนหน้านี้ยังแข็งแรงดี เลี้ยงในบ้านตัวเดียว และฉีดวัคซีนครบ แต่เห็นว่าเหงือกแลดูซีด ๆ เลยไปถามผู้รู้ในอินเตอร์เน็ต เขาแนะนำให้ลองหายาบำรุงเลือดมาป้อนดู หลังจากป้อนไปได้สักระยะหนึ่ง สุนัขก็มีอาการดังกล่าว จึงสงสัยว่ายาบำรุงเลือดนี้จะเป็นสาเหตุหรือไม่ 
 
     ผมจึงแนะนำให้รีบพาสุนัขมาตรวจ เจ้าของหายไปสองวัน กลับมาอีกทีก็ได้ทราบข่าวร้ายว่า สุนัขนั้นเสียชีวิตเสียแล้ว เหตุการณ์นี้ยังสร้างความคาใจอยู่มาก ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขตายกันแน่ จะใช่ผลจากยาบำรุงเลือดนี้หรือไม่นะ...
 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้

     
     บทความนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับพิษภัยของ "ธาตุเหล็ก" ที่แฝงมากับยาบำรุงเลือดของสุนัข มาดูกันนะครับว่า ธาตุเหล็กมีความสำคัญกับสุนัขอย่างไร จำเป็นต้องเสริมหรือไม่ แล้วเสริมมากไปส่งผลกับสุนัขอย่างไร อ่านให้เข้าใจ อย่าปล่อยให้สุนัขที่เรารักต้องกลายเป็น “ทาสเหล็ก”
 
 

รู้จักธาตุเหล็ก

 
     ธาตุเหล็ก (Iron (Fe)) เป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่จับกับฮีโมโกลบิน ช่วยในการลำเลียงออกซิเจน และยังเป็นองค์ประกอบของเอนไซม์อีกหลายชนิด ร่างกายของน้องหมาไม่สามารถสร้างธาตุเหล็กได้ ส่วนใหญ่จะได้รับจากการกินอาหาร ซึ่งร่างกายจะดูดซึมได้ดีมาก เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะกระจายตามกระแสเลือดไปยังไขกระดูก เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดง ธาตุเหล็กจึงจัดเป็นโลหะที่เป็น Nutritionally Important ของร่างกาย เช่นเดียวกับสังกะสี (Zn) ซีลีเนียม (Se) โครเมียม (Cr) ทองแดง (Cu) ฯลฯ 
 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้



ทำไมต้องเสริมธาตุเหล็ก

 
     ในบางครั้งเมื่อร่างกายเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) หรือสูญเสียเลือดอย่างเรื้อรัง จะมีความต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กให้ ซึ่งในกรณีนี้คุณหมอจะพิจาณาจากผลของค่าเม็ดเลือดแดง ค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน ขนาดของเม็ดเลือดแดง เพื่อจำแนกชนิดของภาวะโลหิตจาง หรืออาจวัดความเข้มข้นของธาตุเหล็กในซีรั่มโดยตรง หากน้องหมาเป็นภาวะโลหิตจางจากการที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก คุณหมอจะพิจารณาจ่ายยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กมาให้เจ้าของป้อนเสริม โดยให้ ferrous sulfate ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เพื่อการดูดซึมที่ดี ยกเว้นในรายที่สุนัขมีปัญหาของการดูดซึมธาตุเหล็ก คุณหมออาจปรับมาให้ธาตุเหล็กชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อสัปดาห์ละครั้งแทน อย่างไรก็ดีธาตุเหล็กชนิดฉีดนั้น อาจทำให้การเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด การเต้นของหัวใจผิดปกติ และเกิดการช็อกได้ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยสัตวแพทย์เท่านั้น
 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้


 

เสริมธาตุเหล็กมากไปส่งผลกับสุนัขอย่างไร

 
     ถึงแม้ว่าธาตุเหล็กจะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากเสริมมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้ ความเป็นพิษก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับไปมากแค่ไหน บางรายอาจจะแค่ระคายเคืองทางเดินอาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บในช่องท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร บางรายอาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะช็อก เลือดเป็นกรด (acidosis) และเสียชีวิตได้ 

     โดยถ้าสุนัขกินธาตุเหล็กมากกว่า 60 มก./กก. ขึ้นไป จะมีอาการของทางเดินอาหารที่รุนแรง เช่น อาเจียน มีแผลหลุม เป็นต้น และถ้ากินมากกว่า 100 มก./กก. จะทำให้ตายได้ (ข้อมูลจากเอกสารชุดคำถาม-คำตอบ รหัส 307540003 ความเป็นพิษจากยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางสัตวแพทย์. สัตวแพทยสภา)
 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้

 
     เนื่องจากอนุมูลอิสระของธาตุเหล็กทั้ง ferrous (Fe2+) forms และ ferric (Fe3+) forms นั้น สามารถเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต หลอดเลือด และหัวใจ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง หากต้องใช้กับสุนัขที่มีปัญหาโรคตับ ไต หลอดเลือด และหัวใจด้วย ซึ่งตามปกติแล้ว จะแนะนำให้เสริมธาตุเหล็กรูปแบบกิน ให้กับสุนัขในรายที่ขาดได้ประมาณ 40-80 มก./กก. (ข้อมูลจาก AAFCO Nutrient Requirement for Dogs) หรือ 100-300 มก./ตัว/วัน (ข้อมูลจากคู่มือยา A to Z สำหรับสัตวแพทย์) ครับ

 

จะช่วยเหลือสุนัขที่ตกเป็น "ทาสเหล็ก" อย่างไร 

 
     หากน้องหมาของเราเกิดตกเป็นทาสเหล็ก การช่วยเหลือสุนัขที่ได้รับพิษจากธาตุเหล็กทางการกินเบื้องต้น ในกรณีที่ได้รับไม่เกิน 1 ชั่วโมงและยังมีสติดีนั้น ให้เจ้าของกระตุ้นให้สุนัขอาเจียน และป้อนยาเคลือบกระเพาะ เช่น sucralfate เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร ไม่แนะนำให้ป้อนผงถ่าน เนื่องจากไม่สามารถช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ แต่หากสุนัขได้รับปริมาณมาก และอยู่ในภาวะช็อกไม่ได้สติ เจ้าของต้องดูช่วยดูแลเรื่องการหายใจ การเต้นของหัวใจ ในรายพวกนี้การผายปอดแบบปากคนต่อจมูกสุนัข (mouth to nose) และการช่วยนวดหัวใจอาจมีความจำเป็น เพื่อช่วยรักษาชีวิตของสุนัขก่อนที่จะพาไปพบคุณหมอ ซึ่งในกรณีที่มีความเป็นพิษรุนแรงอาจต้องได้รับยาจำเพาะสำหรับจับและกำจัดธาตุเหล็กออกจากร่างกาย และต้องทำการแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรด (acidosis) ให้สุนัขด้วยครับ
 

Dogilike.com :: ธาตุเหล็ก...เรื่อง(ไม่)เล็กที่คนรักสุนัขต้องรู้

 
     เพื่อน ๆ คงเห็นแล้วนะครับว่า พิษภัยของธาตุเหล็กไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่เราจะมองข้ามได้ เพื่อป้องกันน้องหมาสุดที่รักของเรากลายเป็นทาสเหล็ก หยุดยื่นความตายให้น้องหมา อย่าเสริมยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กโดยไม่มีความจำเป็นเด็ดขาด ก็อย่างที่พาราเซลซัสได้กล่าวเอาไว้ไงครับ…
 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
เอกสารชุดคำถาม-คำตอบ รหัส 307540003 ความเป็นพิษจากยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางสัตวแพทย์. สัตวแพทยสภา
วรา พานิชเกรียงไกร และคณะ.คู่มือยา A to Z สำหรับสัตวแพทย์.พิมพ์ครั้งที่ 4 
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ทวีโชติการพิมพ์. 2551. หน้า 227-228
Michael S. Hand. 2002. Pocket companion to Small animal Clinical Nutrition. 4thedition. 
Mark Morris Institute: United States of America
www.merckmanuals.com/vet/management_and_nutrition/nutrition_small_animals/nutritional_requirements_and_related_diseases_of_small_animals.html
 
รูปภาพประกอบ:
www.img.webmd.com
www.i.ytimg.com
www.nsm08.casimages.com
www.youreananimal.com
www.privatemdlabs.com
www.cx.aos.ask.com
www.image.slidesharecdn.com