โดย: Tonvet
8 วิธีการทำกายภาพบำบัดน้องหมาได้เองที่บ้าน
มาดูวิธีการทำกายภาพบำบัดให้น้องหมาแบบง่ายๆ ที่เจ้าของสามารถทำได้เองที่บ้าน
6 พฤษภาคม 2558 · · อ่าน (67,238)การทำกายภาพบำบัดในน้องหมาทุกวันนี้ กลายเป็นเรื่องที่ปกติสำหรับการรักษาไปแล้วนะครับ โดยเฉพาะกับน้องหมาที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกระดูก ข้อต่อ หรือแม้แต่โรคทางระบบประสาท ย่อมต้องมีการทำกายภาพบำบัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาร่วมด้วยอย่างแน่นอน...
ปัจจุบันมีการศึกษาถึงประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดในสุนัขออกมามากมาย การทำกายภาพบำบัดนั้นนอกจากจะช่วยแก้ไขและฟื้นฟูความเสื่อมบางอย่างได้แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ ช่วยลดความเจ็บปวด ลดการอักเสบ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และยังช่วยป้องกันการยืดติดของข้อต่อได้ด้วย ซึ่งวิธีการกายภาพบำบัดนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามโรคและความรุนแรงของสัตว์ป่วยในแต่ละราย
แน่นอนว่าการทำให้น้องหมากลับฟื้นคืนมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติได้นั้น ย่อมต้องใช้เวลา บางรายอาจยาวนานเป็นเดือน บางรายก็อาจยาวนานเป็นปีก็มี เจ้าของจึงต้องมีความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะความต่อเนื่องในการรักษานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เจ้าของบางรายบ้านไกลไม่สะดวกเดินทางมาหาคุณหมอ ทำให้สุนัขไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อุปสรรคเหล่านี้เราสามารถจัดการได้ครับ หากเจ้าของเรียนรู้วิธีการทำกายภาพบำบัดง่ายๆ เพื่อจะได้นำไปใช้ทำเองที่บ้าน วันนี้เรามาดูกันครับ ว่ามีวิธีการทำกายภาพบำบัดใดบ้าง ที่เพื่อน ๆ สามารถทำให้น้องหมาได้เอง
1. การประคบเย็น
เป็นการใช้ความเย็นเข้ามาช่วยลดการอักเสบ โดยเราอาจจะใช้ cool pack หรือ ice bags หรือใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง ที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส มาประคบบริเวณข้อต่อที่เกิดการอักเสบ ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ลดการเผาผลาญ ลดบวม (edema) และลดอาการปวดได้ การประคบเย็นให้ประคบนาน 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เหมาะสำหรับรายที่มีการอักเสบใหม่ ๆ ไม่เกิน 48 ชั่วโมงแรก แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับรายที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ บริเวณที่มีการฝังโลหะ หรือบริเวณที่มีการไหลเวียนเลือดน้อยอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการขาดเลือดมาเลี้ยง
2. การประคบอุ่น
เป็นการใช้ความร้อนเข้ามาช่วยลดปวดและลดการอักเสบในรายที่มีการอักเสบแบบเรื้อรัง ความร้อนทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการนำออกซิเจนมาเลี้ยง เพิ่มอัตราการเผาผลาญ ขับของเสีย และเพิ่มความยืดหยุ่น ลดความหนืดของน้ำไขข้อ ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยเราอาจใช้ heat pack ห่อผ้าขนหนู อุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส ประคบนาน 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง วิธีนี้ไม่เหมาะกับรายที่มีความบกพร่องของการไหลเวียนเลือด บริเวณที่เป็นมะเร็ง บริเวณที่บวมน้ำ
3. การบีบนวด
การบีบนวดสามารถช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อ ทำให้ผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือด เราสามารถทำได้โดยการจับน้องหมานอนตะแคงหรือให้อยู่ในท่าที่สบาย อาจจะทำบนโต๊ะ จากนั้นให้นวดขาในแต่ละข้างกลับไปกลับมาอย่างเป็นจังหวะ จากปลายขาเข้าหาลำตัว อย่างน้อย 5-10 นาทีในแต่ละข้าง ระหว่างนวดอาจพูดคุยกับสุนัข เพื่อให้สัตว์รู้สึกผ่อนคลาย แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับรายที่มีแผลเปิด มีการอักเสบ หรือบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง
4. การเคลื่อนไหวข้อต่อ (Range-of-motion exercises)
วิธีการกายภาพบำบัดนี้ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหว เสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ ป้องกันไม่ให้ข้อยึด โดยจับน้องหมาให้อยู่ในท่านอนตะแคง แล้วทำการยืดหดข้อต่อของขาทีละข้างอย่างช้า ๆ กระทำด้วยความนุ่มนวล ยืดและหดหนึ่งทีให้นับ 1 ยก แต่ละครั้งควรทำให้ได้ 20-30 ยก โดยค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยคงสภาพและมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ป้องกันการเกิดข้อยึด
5. การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching exercises)
เป็นการช่วยจัดเรียงกล้ามเนื้อและคอลลาเจน ลดการสร้างพังผืด โดยสามารถทำต่อเนื่องจากการทำ Range-of-motion exercises แล้วทำการยืดค้างไว้ประมาณ 1 นาที และควรทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง ซึ่งจะได้ผลดีหากทำหลังจากการประคบร้อน
6. การฝึกการทรงตัวกับที่
วิธีการกายภาพบำบัดนี้เราเรียกว่า Proprioceptive trianing เป็นการฝึกการทรงตัวให้กับน้องหมา มุ่งเน้นการลงน้ำหนังที่ขา เพื่อน ๆ อาจให้น้องหมายืนบน Balance Board หรือ Swiss ball โดยช่วยประคองให้น้องหมาลงน้ำหนักตัวบนขาข้างที่มีปัญหา เพื่อสร้างความแข็งแรงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้อต่อและขาให้ดีขึ้น
7. การช่วยประคองออกกำลังกาย
เป็นการออกกำลังกายแบบเคลื่อนที่ โดยมีอุปกรณ์ช่วยในการพยุงรับน้ำหนักตัวของน้องหมา โดยอาจให้เป็นผ้าประคอง (towel walking) เหมาะกับน้องหมาที่ขาหลังอ่อนแรง โดนสอดผ้าลอดใต้ท้อง จากนั้นรวบปลายผ้าเข้าหากันออกแรงพยุง โดยให้เท้าแตะพื้น เพื่อฝึกการรับน้ำหนัก อาจทำวันละ 2-3 ครั้ง
8. การให้ออกกำลังกายด้วยตัวเอง
วิธีนี้เหมาะกับน้องหมาที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีพอสมควรแล้ว เราสามารถให้น้องหมาออกกำลังกายในแบบที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือพยุงตัวได้ เช่น เราอาจออกคำสั่งให้น้องหมาลุก-นั่ง ให้เดินออกกำลัง เป็นต้น โดยอาจมีรางวัลเป็นขนมหรือของเล่นให้
เห็นไหมครับว่า การทำกายภาพบำบัดให้น้องหมานั้นไม่ยากเลย เพื่อน ๆ สามารถนำไปใช้กับน้องหมาที่บ้านได้ อย่างไรก็ดี วิธีการทำกายภาพบำบัดเหล่านี้ บางวิธีมีข้อจำกัดตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งอาจเหมาะกับบางโรค แต่ไม่เหมาะกับบางโรค หรืออาจเหมาะนำมาใช้ในบางระยะ ยกตัวอย่าง ในรายที่กระดูกหัก ช่วงระยะแรกอาจมีการบวม อักเสบ เจ็บปวด เราต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวไม่ให้กระดูกที่หักเคลื่อน วิธีการกายภาพบำบัดช่วงนี้ ควรใช้การประคบเย็น และการพันเพื่อลดบวมและลดการเคลื่อนไหวจะเหมาะสมกว่า ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ก่อนจะเลือกใช้วิธีการทำกายภาพบำบัดใดให้น้องหมา ควรปรึกษาสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษก่อนจะดีที่สุดครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
http://www.arkvetsgalway.com
http://www.dogsinmotion.com.au
http://www.drnopparat.igetweb.com
http://www.3secondheat.com
http://www.dogsinmotion.com.au
http://www.pet-owners.co.uk
http://www.safehavenclinic.co.uk
http://www.langfordvets.co.uk
http://www.i.telegraph.co.uk
http://www.yorkyclub.com
SHARES