โดย: Tonvet
สีปัสสาวะน้องหมาบอกโรคได้จริงหรือ ?
มาสังเกตปัสสาวะของน้องหมาที่บ้านกันดีกว่าครับ
20 พฤษภาคม 2558 · · อ่าน (117,685)เพื่อน ๆ เคยสังเกตสีปัสสาวะของน้องหมาหรือเปล่าครับ ? ด้วยความเป็นหมอ คำถามหนึ่งที่ผมมักจะถามเจ้าของเวลาพาน้องหมามาตรวจอยู่เสมอ ๆ ก็คือ วันนี้น้องหมาปัสสาวะเป็นอย่างไร บ่อยแค่ไหน แล้วลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งเจ้าของที่ใกล้ชิดกับสุนัขส่วนมากก็จะตอบได้ แต่ก็มีเจ้าของจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลตรงนี้กับหมอได้ เนื่องจากไม่ได้สังเกต
ความจริงแล้วข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคหรือใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนสำหรับการตรวจเพิ่มเติมต่อไปได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว เพื่อน ๆ บางคนอาจจะเคยเห็นคุณหมอเก็บปัสสาวะของน้องหมาไปตรวจ โดยเฉพาะรายที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับไตและระบบทางเดินปัสสาวะ การตรวจวิเคราะห์น้ำปัสสาวะ (Urine analysis หรือ U/A) นี้ สามารถใช้ประเมินการทำงานของไตได้ ซึ่งการวิเคราะห์น้ำปัสสาวะก็ไม่ได้ พิจารณาเพียงแค่สีของปัสสาวะอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีการประเมินอีกหลายอย่าง เช่น สี กลิ่น ความขุ่น ปริมาณ ความถ่วงจำเพาะ ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณสารเคมีที่ละลายอยู่ในปัสสาวะ (โปรตีน กลูโคส ไนไตรท์ ฯลฯ) ฯลฯ รวมถึงการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูตะกอนและองประกอบต่าง ๆ ด้วย เรียกได้ว่า ตรวจดูมันทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเลย
การสังเกตปัสสาวะน้องหมาสามารถใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ ในการสังเกตเจ้าของควรดูตั้งแต่จำนวน ปริมาณ สี กลิ่น ความขุ่น ฯลฯ เช่น ปกติน้องหมาก็ควรจะปัสสาวะทุกวัน อย่างน้อยวันละ 24-40 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าวันไหนไม่ปัสสาวะเลยหรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติก็อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติได้ เช่น อาจมีก้อนนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะออกมาไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและอาหารที่รับเข้าไปด้วย ซึ่งถ้าน้องหมากินน้ำน้อยก็ย่อมทำให้ปัสสาวะน้อยตามไปด้วย
ในส่วนของสีน้ำปัสสาวะนั้น ก็สามารถใช้เป็นสัญญาณบอกความผิดปกติได้เช่นกัน ปัสสาวะน้องหมาปกติควรมีสีเหลืองใส (ฟางข้าว) แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะสีปัสสาวะอาจเข้มขึ้นได้ เมื่อมีปริมาณปัสสาวะลดลง นอกจากนี้สีปัสสาวะขึ้นอยู่กับ Urochrome ที่อยู่ในปัสสาวะ ยาและอาหารที่กิน ช่วงเวลาที่เก็บ ความเข้มข้นของปัสสาวะ ปริมาณน้ำในร่างกาย การทำงานของไต รวมทั้งความเจ็บป่วยต่าง ๆ ภายในของร่างกายด้วย ซึ่งวันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปดูกันว่า สีปัสสาวะต่าง ๆ บอกความผิดปกติใดของน้องหมาได้บ้าง มาดูกันเลย..
ปัสสาวะสีแดง / สีแดงน้ำล้างเนื้อ
ลักษณะปัสสาวะเช่นนี้อาจมีเม็ดเลือดแดงหรือมีฮีโมโกลบินปน (haemoglobin) ออกมากับปัสสาวะ อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล เนื้องอก หรือมีก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ มีการติดเชื้อ มีการแตกของเม็ดเลือดแดงในเส้นเลือด หรือได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่าง เช่น phenytoin, phenothiazines, ตะกั่ว ปรอท เป็นต้น ซึ่งหากพบน้องหมาปัสสาวะสีเช่นนี้แนะนำ ให้พาไปพบคุณหมอภายใน 24 ชั่วโมง (แต่กรณีปัสสาวะเป็นเลือด สงสัยมีเลือดออก ให้พาพบคุณหมอ ทันที )
ปัสสาวะเหลืองส้ม
ลักษณะปัสสาวะเช่นนี้มักพบหลังจากการที่น้องหมาได้รับยาหรือวิตามินบางอย่าง เช่น วิตาวินซี วิตามินบี 2 (riboflavin) ซึ่งหากพบน้องหมาปัสสาวะสีเช่นนี้แนะนำ ให้เจ้าโทรปรึกษาเรื่องยาที่น้องหมาได้รับกับคุณหมอที่รักษา
ปัสสาวะสีน้ำตาล / สีดำ
ลักษณะปัสสาวะเช่นนี้อาจมีไมโอโกลบิน (myoglobin) เมททาโมโกลบิน (methemoglobin) หรือมีบิลิรูบิน (bilirubin) ออกมากับปัสสาวะ อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย โรคตับ รวมทั้งมีการอุดตันของท่อน้ำดี ตลอดจนการได้รับสารพิษจากทองแดง หรือฟีนอล (phenol) หากพบน้องหมาปัสสาวะสีเช่นนี้แนะนำ ให้พาไปพบคุณหมอภายใน 24 ชั่วโมง
ปัสสาวะสีเขียว / สีฟ้า
ลักษณะปัสสาวะเช่นนี้มักพบหลังจากการที่น้องหมาได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น methylene blue (พบได้น้อย) Dithiazinine iodide (พบได้น้อย) หรือมีการติดเชื้อบางชนิดในทางเดินปัสสาวะ เช่น เชื้อ Pseudomonas sp. ซึ่งหากพบน้องหมาปัสสาวะสีเช่นนี้แนะนำ ให้เจ้าโทรปรึกษาเรื่องยาที่น้องหมาได้รับกับคุณหมอที่รักษา หรือ ให้พาไปพบคุณหมอภายใน 24 ชั่วโมง
ในการสังเกตลักษณะสีของปัสสาวะนั้นเพื่อป้องกันความคาดเคลื่อน ถ้าเป็นไปได้ควรดูสีของปัสสาวะในหลอดใส ซึ่งในห้องทดลองอาจจะใช้เครื่องมือเฉพาะที่ชื่อว่า urinometer cylinder ช่วงเวลาเก็บตัวอย่างปัสสาวะที่ดี ควรเป็นช่วงเช้า โดยเก็บปัสสาวะแรกหลังจากตื่นนอน ก่อนที่จะกินน้ำหรืออาหารใด ๆ ที่สำคัญต้องดูด้วยว่าน้องหมาของเราได้รับยาอะไรอยู่บ้าง เพราะมีผลต่อสีของปัสสาวะเช่นกันตามที่ได้กล่าวไปแล้วครับ
และนี่ก็เป็นลักษณะของสีปัสสาวะต่าง ๆ ที่เราสามารถใช้เป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติได้ เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การดูแลเอาใจใส่และหมั่นสังเกตอาการของน้องมา มีประโยชน์มากเพียงใด ซึ่งถ้าหากเราพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามรถช่วยเหลือน้องหมาได้อย่างทันท่วงที
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
http://cdn.pet360.com/pet360/Content/Images/CMS/dog_urine_in_house.jpg
http://www.grooutdoorliving.com/wp-content/uploads/2014/02/Depositphotos_35751723_m-500x333.jpg
http://photos2.demandstudios.com/DM-Resize/photos.demandstudios.com/getty/article/106/93/476442191_XS.jpg?w=1200&h=630&crop_min=1&keep_ratio=1
http://blogfiles.wfmu.org/IC/photos/urine_test.jpg
http://photos2.demandstudios.com/DM-Resize/photos.demandstudios.com/getty/article/106/93/476442191_XS.jpg?w=1200&h=630&crop_min=1&keep_ratio=1
http://4.bp.blogspot.com/-NxtgTSoBEqk/U-VV1n47_DI/AAAAAAAAADY/yrMj8-9ElRQ/s1600/SAM_0193.JPG
www.enpevet.de/Lexicon/GetMedia.aspx?mediaid=67a069d5-8f61-11df-ba25-73f5125785b0
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/82/RiboflavinSolution.jpg
http://blogs.scientificamerican.com/dog-spies/files/2013/10/4450294719_990c02725f_z.jpg
SHARES