โดย: Tonvet

5 โรคสำคัญในสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ ที่ผู้เลี้ยงต้องรู้!!

เตรียมพร้อมเพื่อรับมือ มาเรียนรู้โรคสำคัญในสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์กัน

2 กันยายน 2558 · · อ่าน (14,107)
1,078

SHARES


1,078 shares

Dogilike.com :: 5 โรคสำคัญในสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ ที่ผู้เลี้ยงต้องรู้!!



     สวัสดีครับเพื่อน ๆ ชาว ด็อกไอไลค์  (Dogilike) บทความเดือนนี้เอาใจคนรักสุนัขพันธุ์ยักษ์กันหน่อย มุมหมอหมา ขอเริ่มต้นด้วยการพาไปรู้จักกับโรคสำคัญ ในสุนัขพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอบอุ่น ใจดี ขี้อ้อน เป็นมิตร อารมณ์ดี ตัวใหญ่ ขนหนา น่ากระโดดเข้าไปกอด เขียนมาขนาดนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่สุนัขพันธุ์ “อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute)”
 
     เชื่อว่ามีใครหลายคนกำลังเลี้ยงหรือคิดจะนำสุนัขพันธุ์นี้มาเลี้ยงกันอยู่เลยใช่ไหมครับ แต่เห็นตัวใหญ่ล่ำกล้ามโตแบบนี้ ก็มีโรคประจำพันธุ์กับเขาเหมือนกันนะ ผู้ที่เลี้ยงก็ควรต้องเรียนรู้และศึกษาเอาไว้ อย่างน้อยก็จะได้ใช้รับมือได้ หากบังเอิญเกิดขึ้นกับสุนัขของเรา อยากรู้แล้วยังครับว่ามีโรคอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยครับ...

 
 

1 โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia)


 
     โรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติบริเวณข้อต่อของหัวกระดูกต้นขาหลัง ซึ่งไม่สามารถสวมอยู่ในเบ้าสะโพกได้อย่างพอดี อาจเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดรูป จากอุบัติเหตุที่เกิดกับบริเวณข้อสะโพก ถุงหุ้มข้อ หรือเอ็นยึดที่หัวกระดูกต้นขาหลังเกิดการฉีกขาด บางรายพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ถึง 1 ปีก็มี โดยมีปัจจัยเสริมจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ให้อยู่บนลื้น ๆ มีการเสริมแคลเซียมมากเกินไปไม่ถูกสัดส่วน หรือเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่โตไวเกินไป ฯลฯ ส่งผลให้การลุก ยืน เดิน หรือวิ่งลำบาก ต้องใช้ความพยายามในการลุกมากกว่าสุนัขทั่วไป มีการเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหว จึงไม่อยากลุก ยืน หรือเดินเลยก็มี บางตัวอาจเดินท่าแปลก ๆ ให้เราเห็น เช่น เดินแบบใช้กระกระโดดสองขาหลังไปพร้อม ๆ กัน เหมือนกับเวลาที่กระต่ายเดิน เรียกว่า bunny hopping 
 
     จากการสำรวจของ The Orthopedic Foundation for animals ในสุนัขพันธุ์พันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ จำนวน 14,211 ตัว โดยเก็บข้อมูลเป็นเวลา 40 ปี นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1974-2014 พบว่าป่วยเป็นโรคนี้ถึง 11.3% เลยทีเดียว บางส่วนเกิดจากพันธุกรรม การคัดเลือกสายพันธุ์จึงมีส่วนช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดีการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงการอยู่บนพื้นลื่น ไม่เสริมแคลเซียมเกินความจำเป็น และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพิ่มความมั่นคงให้ขาหลัง สามารถช่วยลดหรือชะลอการเกิดโรคนี้ได้ครับ

 

Dogilike.com :: 5 โรคสำคัญในสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ ที่ผู้เลี้ยงต้องรู้!!



 

2 โรคต้อกระจก (Cataracts)


 
     โรคต้อกระจก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนภายในเลนส์ตา จนเกิดการ ขุ่นมัวของเลนส์ตา ทำให้แสงผ่านผ่านไปตกยังจอประสาทตาลดลง จึงมองเห็นภาพจึงไม่ชัด บางรายอาจถึงขั้นมองไม่เห็นอะไรเลย ส่วนใหญ่จะพบในสุนัขที่มีอายุมาก หรือเป็นโรคบางอย่างมาก่อน แล้วส่งผลทำให้เกิดโรคต้อกระจกตามมา แต่ในสุนัขพันธุ์พันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์นั้น มักเป็นชนิด hereditary cataracts ซึ่งเกิดจากพันธุกรรม ทำให้สามารถพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย 
 
     เมื่อน้องหมาป่วยเจ้าของจะสังเกตเห็นว่า เลนส์ตาของน้องหมาจะขุ่นขาวขึ้น มองเห็นไม่ชัด จนเดินชนวัตถุสิ่งของ ผนังกำแพง โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่คุ้นชินมาก่อน อาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวอาจก้าวร้าวขึ้น หงุดหงิดและตกใจง่าย เนื่องจากมองไม่เห็น ดังนั้นการเข้าหาน้องหมาควรส่งเสียงให้เขารู้ตัวก่อน ในรายที่มองไม่เห็นแล้ว อาจพิจารณาผ่าตัดเอาเลนส์ตาออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ครับ
 
 
 

3 โรคลมชัก (Epilepsy)


 
     โรคลมชัก เป็นความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าในสมองส่วน cerebral cortex ทำให้ resting membrane potential ลดต่ำลงกว่าปกติ จึงถูกกระตุ้นได้ง่าย ผลคือ กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง การชักแบบทั้งตัว (Generalized seizure) อาการคือ น้องหมาจะล้มลงนอนชัก ขาเหยียดเกร็ง ทำท่าเหมือนว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานอากาศ กัดฟัน ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจาระราดได้ ไม่รู้สึกตัวในขณะเกิดอาการชัก ฯลฯ โดยอยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้นเองและหยุดไปเอง ระยะเวลาในการชักก็จะต่างกันไป เจ้าของจึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แต่หากชักอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 นาที ไม่ยอมหยุด หรือชักบ่อยมากกว่า 3 ครั้งภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง จะถือว่าอันตรายมาก เพราะสมองจะขาดออกซิเจนได้  ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
 
     จุดสังเกตสำคัญ คือ ช่วงก่อนที่จะชักหรือระยะออร่า (Aura) น้องหมาจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวหลบซ่อนตัว หอน ร้องคาง ตัวสั่น น้ำลายไหลมาก หรือดุขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งเตือนเจ้าของว่าอีกไม่นานน้องหมาจะชักแน่นอน ในช่วงที่น้องหมากำลังแสดงอาการชัก เจ้าของต้องระมัดระวังอันตรายจากการที่ตัวหรือหัวน้องไปฟาดกับสิ่งของ คุณหมอจะให้ยาระงับชักในรูปสวนทวารมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เจ้าของจะต้องระวังตัวเองด้วย เพราะน้องหมาที่ชักจะไม่รู้สึกตัว จึงอาจกัดเราได้ และหลังจากอาการชักสงบแล้ว น้องหมาอาจยังจำเจ้าของไม่ได้ บางตัวอาจซึมลง มึนงง เดินเซ และหายใจเร็ว ฯลฯ 
 
     น้องหมาที่เป็นโรคลมชักจะต้องได้รับยากิน เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของอาการชักลง โดยยาระงับชักนั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป เจ้าของต้องมีวินัยในการป้อนยาให้น้องหมาอย่างเคร่งคัด สม่ำเสมอ จะขาดไม่ได้เด็ดขาด ตลอดจนต้องหมั่นพาน้องหมาเข้ารับการตรวจวัดระดับยาในกระแสเลือด และตรวจประเมินค่าตับ ค่าไตเพื่อดูผลข้างเคียงจากยาเป็นระยะ ๆ ด้วย โรคลมชักเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องยาวนาน จะหยุดยาได้ก็ต่อเมื่อไม่พบอาการชักมาแล้วมากกว่า 1 ปีครับ
 

 

4 โรคทางเส้นประสาท (polyneuropathy)


 
     โรคทางเส้นประสาท เป็นความผิดปกติของเส้นประสาท (nerve) ซึ่งมีหน้าที่เป็นทางผ่าน (สายส่ง) สัญญาณของประสาทไปยังอวัยวะต่าง ๆ เปรียบเสมือนสายไฟฟ้าที่ชำรุด ทำให้วงจรไฟฟ้าเสียไป ร่างกายจึงไม่สามารถทำงานได้ สำหรับโรคทางเส้นประสาทในสุนัขพันธุ์พันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์นั้น เป็นความผิดปกติที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม หรือ Hereditary polyneuropathy ซึ่งเป็นการสืบทอดทางพันธุกรรมลักษณะยีนด้อย (autosomal recessive) โดยการกลายพันธุ์ของ NDRG1 gene (G>T substitution) อาจมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าว 
 
     สุนัขที่ป่วยจะแสดงอาการทางระบบประสาทได้หลากหลาย เช่น เดินผิดปกติ ขาหลังอ่อนแรง กล้ามเนื้อฝ่อลีบ เสียงเปลี่ยน (กล่องเสียงเป็นอัมพาต) หายใจลำบากขณะออกกำลังกาย และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน โดยพบความผิดปกติได้ตั้งแต่อายุยังน้อยประมาณ 6-18 เดือนเท่านั้นครับ  
 

 

5 Zinc-responsive dermatosis


 
     ภาวะ Zinc-responsive dermatosis เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในสุนัขกลุ่ม Arctic breeds อย่างสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ สุนัขพันธุ์ซามอยด์ รวมถึงสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ด้วยเช่นกัน เกิดจากการที่ทางเดินอาหารของร่างกายดูดซึมแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) ไปใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าปกติ บางรายอาจเกิดจากได้รับอาหารที่มีปริมาณสังกะสีไม่เพียงพอ หรือมีแร่ธาตุบางอย่างที่ได้รับจากอาหาร ไปขัดขวางการดูดซึมของสังกะสีในลำไส้ อย่างเช่น การเสริมแคลเซียม เหล็ก หรือทองแดงมากเกินไป จะทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุสังกะสีลดลงได้ 

Dogilike.com :: 5 โรคสำคัญในสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ ที่ผู้เลี้ยงต้องรู้!!

    
     ซึ่งการที่น้องหมาได้รับแร่ธาตุสังกะสีไม่เพียงพอนี้ ทำให้เกิดอาการขนร่วง ผิวหนังอักเสบ ขนหยาบ มีสะเก็ด รังแค และผิวหนังหนาตัว โดยเฉพาะตามบริเวณรอบตา รอบจมูก รอบปาก ขา และข้อศอก บางรายมีการติดเชื้อพวกแบคทีเรียและเชื้อราแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย พบเป็นบ่อยในช่วงที่ร่างกายน้องหมากำลังเจริญเติบโต ตั้งท้อง หรือกำลังเป็นสัด เนื่องจากมีความต้องการใช้แร่ธาตุสังกะสีมากขึ้น เพราะแร่ธาตุสังกะสีมีประโยชน์ต่อการเจริญของเซลล์ การหายของแผล การสืบพันธุ์ และการสังเคราะห์โปรตีน
 
     น้องหมาที่ป่วยจะต้องได้รับการเสริมแร่ธาตุสังกะสี ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบทั้ง Zinc methionine ที่มีราคาแพง แต่ดูดซึมได้ดี Zinc gluconate และ Zinc sulfate ที่มีราคาถูก แต่มีผลข้างเคียงทำให้อาเจียนได้ โดยจะเสริมให้กินทุกวันนาน 4-8 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะดีขึ้น หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ก็ต้องได้รับยาฆ่าเชื้อหรือแชมพูฆ่าเชื้อร่วมด้วย 
 
     สำหรับการป้องกันนั้นไม่แนะนำให้เสริมแคลเซียมให้น้องหมามากเกินไป โดยเฉพาะในลูกสุนัข เพราะแคลเซียมจะไปขัดขวางการดูดซึมของสังกะสีในลำไส้ จึงเกิดภาวะนี้ตามมาได้ ในสุนัขเพศเมียที่ไม่สามารถควบคุมการขาดแร่ธาตุสังกะสีได้ด้วยการเสริมให้ในอาหาร จะแนะนำให้ผ่าตัดทำหมันไปเลย อย่างไรก็ดีการเสริมแร่ธาตุสังกะสีให้ก่อนนั้นก็ไม่แนะนำเช่นกัน เพราะการเสริมแร่ธาตุสังกะสีมากเกินความต้องการ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้
 
 
     นอกจากโรคที่ มุมหมอหมา นำมาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ทราบกันไปข้างต้นแล้ว ยังมีโรคสำคัญอื่น ๆ ที่พบได้ในสุนัขพันธุ์นี้อีกนะครับ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ โรค von Willebrand disease ที่ส่งผลให้เลือดหยุดยาก รวมถึงเสี่ยงเกิดปัญหาภาวะกระเพาะบิดได้ด้วย เพราะน้องหมาพันธุ์นี้มีโครงสร้างช่องอกค่อนข้างลึก จึงทำให้เสี่ยงเกิดความผิดปกติเช่นนี้ได้ง่าย เพื่อนๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ กระเพาะบิดในสุนัข ถึงเสี่ยง...แต่เลี่ยงได้
 

Dogilike.com :: 5 โรคสำคัญในสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ ที่ผู้เลี้ยงต้องรู้!!

 
     สุนัขแต่ละพันธุ์ต่างก็มีโรคประจำพันธุ์ไม่เหมือนกัน การศึกษาและทำความเข้าใจกับโรคต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงควรต้องรู้ เพื่อจะได้เตรียมตัวเพื่อรับมือหากเกิดขึ้นกับสุนัขของเรา หวังว่าบทความตอนนี้ จะเป็นประโยชน์กับคนรักสุนัขพันธุ์อลาสกัน มาลามิวท์ทุกคนนะครับ 
 


 
 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
http://idid.vet.cam.ac.uk/results.php
http://www.thekennelclub.org.uk/ 
http://alaskanmalamute.org/health/health-topics
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://puppytoob.com/wp-content/uploads/sites/3/2014/12/14741606319_15d0e30d68_z.jpg
http://cdn.images.express.co.uk/img/dynamic/1/590x/secondary/128955.jpg
http://bunkblog.net/wp-content/uploads/2013/12/Alaskan-Malamute10.jpg
http://www.wds2015.com/blog/wp-content/uploads/DPP_0284.jpg