โดย: Tonvet
3 โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองสุดฮิตในสุนัข
รู้จักโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองในสุนัข ที่ความเพี้ยนของร่างกายกลับมาทำให้ร้ายตัวเอง
30 กันยายน 2558 · · อ่าน (25,336)
ร่างกายสิ่งมีชีวิตเป็นอะไรที่สุดยอดมากเลยครับ เพราะมีระบบป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้ามาสู่ร่างกาย ไม่ให้มันมาทำอันตรายกับร่างกายของเราได้ง่าย ๆ เราจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น เพราะมีระบบเหล่านี้คอยดูแล แต่บางครั้งปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันนี้ กลับเพี้ยนไปแล้วดันมาสร้างปัญหาให้กับตัวเองซะอย่างนั้น จากที่เคยต่อต้านผู้รุนรานกลายเป็นมาทำร้ายร่างกายพวกเดียวกันเอง จึงทำให้เกิดเป็นความผิดปกติที่เราเรียกว่า โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง หรือ Autoimmune disease ซึ่งเป็นความล้มเหลวส่วนความทรงจำของร่างกาย ทำให้เกิดสภาพการต้านตัวเอง จากแอนติบอดีที่ร่างกายตัวเองสร้างขึ้นมาทำปฏิกิริยากับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตัวเอง
ในสุนัขก็สามารถเป็นโรคเช่นนี้ได้เช่นกันครับ และมีอยู่ด้วยกันหลายโรคด้วย สาเหตุที่พบก็แตกต่างกันไป และส่งผลต่อร่างกายได้ในหลายระบบ บางโรคก็สร้างความเสียหายกับบางอวัยวะ เช่น ผิวหนัง ข้อต่อ ต่อมไทรอยด์ และบางโรคก็ไม่มีความจำเพาะ สามารถสร้างความเสียหายได้กับอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วทั้งร่างกายเลย วันนี้เรามาดูกันครับว่า โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองอะไรบ้างที่พบได้ในสุนัข
1 โรค Autoimmune hemolytic anemia (AIHA)
เป็นโรคภาวะโลหิตจางเนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตัวเอง เกิดจากการที่ร่างกายของน้องหมาสร้างแอนติบอดีขึ้นมาจับกับแอนติเจนบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงของตัวเอง เพราะร่างกายเข้าใจว่า เม็ดเลือดแดงของตัวเองนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดทิ้ง เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายไปมาก ๆ ผลที่ตามมาก็คือ การเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ซึ่งเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายจะขับออกทางตับและม้าม ทำให้พบตับและม้ามโตร่วมด้วย บางรายอาจพบว่านอกจากเม็ดเลือดแดงต่ำแล้ว ยังเกิดเกล็ดเลือดต่ำตามมาได้ด้วย
พบได้ในสุนัขหลากหลายพันธุ์ แต่พบบ่อยในพันธุ์ Cocker spaniel, Miniature poodle, Maltese, Irish setter ฯลฯ บางตัวเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเม็ดเลือดแดงโดยตรง บางตัวก็อาจป่วยจากการที่มีสาเหตุอื่น ๆ มาเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรค ทั้งการได้รับยาบางชนิด หรือการติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อโรคพยาธิในเม็ดเลือดจากเห็บ
น้องหมาที่ป่วยจะมีอาการเยื่อเมือกซีด เบื่ออาหาร ซึม มีไข้ ม้ามโต ปัสสาวะสีเปลี่ยน (สีน้ำตาล) เยื่อเมือกมีสีเหลือง (ดีซ่าน) หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น เพื่อต้องการออกซิเจนไปชดเชย เพราะเม็ดเลือดถูกทำลายมากไป จนไม่มีเม็ดเลือดแดงไว้ใช้สำหรับลำเลียงออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ
2 โรค Systemic lupus erythematosus (SLE)
โรคเอสแอลอี หรือที่ใครหลายคนคุ้นกันในชื่อของ “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อแอนติเจนของตัวเอง ในสุนัขก็สามารถป่วยเป็นโรคเอสแอลอีได้เช่นกัน โดยพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ German Shepherd, Beagles, Old English Sheepdogs, Poodles, Collies, Shetland sheepdogs, Afghan hounds, cocker spaniels ฯลฯ ซึ่งมีสาเหตุเกิดได้จากพันธุกรรม การติดเชื้อ ฮอร์โมน หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
จัดเป็นโรคที่ไม่มีความจำเพาะกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายๆ อวัยวะทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นปอด หัวใจ ตับ ไต ข้อต่อ เม็ดเลือด ระบบประสาท ฯลฯ โดยร่างกายจะสร้างสารประกอบเชิงซ้อน (complex) ไปเกาะตามเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะนั้น ๆ เช่น ข้อต่ออักเสบ ปอดอักเสบ ปวดท้อง ตับโต ไตอักเสบ ฯลฯ ตลอดจนมีไข้ ซึม อ่อนแรง และมีอาการทางระบบประสาทได้ โดยเฉพาะที่ข้อต่อเมื่อเกิดการอักเสบจะเกิดการบวมตามข้อ เป็นได้กับทุก ๆ ข้อต่อ เรียกว่า Polyarthritis น้องหมาจะเจ็บปวดมากจนไม่อยากใช้ขาเลย
หากเป็นโรค lupus erythematosus ประเภทที่เกิดที่ผิวหนังจะเรียกว่า Discoid lupus erythematosus (DLE) เกิดจากร่างกายสร้างสารประกอบเชิงซ้อน (complex) ไปเกาะบริเวณรอยต่อระหว่างชั้นหนังแท้กับชั้นหนังกำพร้า มีผลต่อเม็ดสีผิวทำให้ผิวหนังซีดจางลง ขนร่วง เกิดเป็นสะเก็ดเกรอะกรัง แต่ไม่ค่อยคัน มักพบรอยโรคตามผิวหนังรอบตา ช่องปาก ใบหู โดยเฉพาะที่บริเวณผิวจมูก จะมีรอยโรคลักษณะคล้ายผีเสื้อ (butterfly pattern) โรคประเภทนี้หากสัมผัสแสงแดดจะถูกกระตุ้นให้แสดงอาการรุนแรงขึ้นได้ด้วยครับ
3 โรค Pemphigus Foliaceus
เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองที่เกิดกับผิวหนังอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในสุนัข ซึ่งร่างกายจะสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านโปรตีนชนิดหนึ่ง (คาดว่า คือ 148 kDa หรือ 160 kDa protein) ในส่วน Desmosome จึงไปทำลายการยึดเกาะของเซลล์ ทำให้เกิดการแยกตัวของเซลล์ (acantholysis) บริเวณผิวหนังชั้นกำพร้า เกิดเป็นตุ่มหรือตุ่มหนองที่แตกออกง่าย กลายเป็นแผล มีสะเก็ดรังแคหรือเป็นคราบสะเก็ด เมื่อสะเก็ดหลุดลอก เราจะพบเห็นรอยถลอกหรือแผลหลุมที่ผิวตามมา
พบบ่อยตามบริเวณใบหน้า ใบหู สันจมูก และฝ่าเท้า ถ้าเป็นที่ฝ่าเท้า เราจะพบผิวหนังหนาตัวขึ้น และบางรายอาจส่งผลต่อการใช้ขาตามมาได้ หากเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจทำให้น้องหมาแสดงอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหารตามมาได้เช่นกัน มีรายงานพบในสุนัขพันธุ์ Akita, Chow Chow, Newfoundland, Doberman Pinscher, English Springer Spaniel, Chinese Shar Pei และ Collie ซึ่งการได้รับรังสีอัลตราไวโอแลต หรือยาบางชนิดอาจมีส่วนทำให้น้องหมาที่ป่วยแสดงอาการรุนแรงขึ้นได้ครับ
การรักษาน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองเหล่านี้ ส่วนมากจะใช้แนวทางคล้าย ๆ กัน คือ การลดการทำงานของภูมิคุ้มกันลง ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การให้ยาแก้ปวด การให้ยาฆ่าเชื้อ หรือการถ่ายเลือดให้ ฯลฯ ตามแต่ละโรคที่น้องหมาเป็น อย่างในโรคภาวะโลหิตจางเนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตัวเอง ถ้าการรักษาทางยาไม่ได้ผล อาจพิจาณาใช้การผ่าตัดเอาม้ามออก เพื่อลดการทำลายเม็ดเลือดแดง
อะไรที่เพี้ยนไปหรือไม่พอดี บางทีจากที่เคยมีประโยชน์ก็กลับมาเป็นโทษกับตัวเองได้ อย่างโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ถ้าเทียบกับโรคอื่น ๆ แล้ว ก็ยังนับว่าโชคดีอยู่บ้าง ที่โรคนี้ยังพบได้ไม่มากนัก บางโรคยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่แท้จริง ปัจจัยทั้งภายในร่างกายเอง เช่น พันธุกรรม การผ่าเหล่า (mutation) ฯลฯ หรือปัจจัยจากภายนอกร่างกาย อย่างเช่น การติดเชื้อ การได้รับยา การสัมผัสกับแอนติเจนที่ไม่เคยได้รับมาก่อนก็ดี ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ บางปัจจัยก็ยากเกินที่ควบคุมและป้องกันได้ เป็นแล้วก็ต้องรักษากันยาวใหญ่เลยทีเดียว...ขออย่าให้เกิดกับน้องหมาของใครเลยนะครับ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
www.vetlearn.com/standards-of-care/systemic-lupus-erythematosus
http://veterinarymedicine.dvm360.com/canine-and-feline-pemphigus-foliaceus-improving-your-chances-successful-outcome?rel=canonical
รูปภาพประกอบ:
http://wrcb.images.worldnow.com/images/23435616_SA.jpg
http://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/10/a6/86/10a686f7ad446855df0ebbe606f7e114.jpg
http://i156.photobucket.com/albums/t21/mycatmilo/11Jan004.jpg
http://www.fmv.ulisboa.pt/atlas/pele/imagens/DSC09774.JPG
SHARES