โดย: Tonvet

โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ

มาดูกันว่า สุนัขพันธุ์ไหนมีความเสี่ยงเป็นโรคพันธุกรรมใด และเป็นแล้วจะกินอาหารอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง

14 ตุลาคม 2558 · · อ่าน (5,593)
1,002

SHARES


1,002 shares

 

Dogilike.com :: โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ



     สุนัขเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นอย่างมาก การเลี้ยงดูสุนัขแต่ละพันธุ์จึงมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องของการดูแลสุขภาพ กิจกรรมที่เลือกให้ทำ รวมถึงในเรื่องของอาหารการกินด้วย
 
     โรคในสุนัขหลาย ๆ โรคมีปัจจัยโน้มนำมาจากอาหารที่กิน อย่างเช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคไต ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่กินอาหารเหมือนกัน สุนัขตัวหนึ่งป่วย แต่อีกตัวกลับไม่ป่วย นั่นก็เป็นเพราะว่า  สุนัขแต่ละพันธุ์ต่างก็มีข้อจำกัดในการดูดซึม การเผาผลาญ และการขับเอาสารบางอย่างออกจากร่างกายได้ไม่เหมือนกัน สุนัขบางตัวต้องการสารอาหารบางอย่างมากกว่า ในขณะที่สุนัขบางตัวกลับต้องการสารอาหารบางอย่างน้อยกว่า ซึ่งถ้าได้รับน้อยไปหรือมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดโรคบางอย่างตามมาได้
 
     เพื่อน ๆ คงอยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่า สุนัขพันธุ์ไหนต้องการสารอาหารอะไรเป็นพิเศษ หรือควรหลีกเลี่ยงการกินสารอาหารใดบ้าง ตามมาอ่านบทความตอนนี้ได้เลย มาทำความรู้จักโรคทางพันธุกรรมในสุนัขที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษกันครับ
 

Dogilike.com :: โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ


 

ภาวะการดูดซึมสังกะสีได้น้อยผิดปกติ

 
 
     สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุรองที่มีความสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความสมบูรณ์ของผิวหนังและความเงางามของเส้นขน ช่วยขนส่งวิตามินเอในกระแสเลือด ช่วยในการเจริญของเซลล์ การหายของแผล และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฯลฯ พบมากในพืชที่มีเมล็ด และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากสัตว์ 
 
     สุนัขบางพันธุ์อย่างเช่น พันธุ์ Siberian Husky, Alaskan Malamute, Samoyed หรือสุนัขในกลุ่มพันธุ์ Nordic จะมีปัญหาการดูดซึมแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) ไปใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (autosomal recessive gene) ทำให้เกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า ภาวะ Zinc-responsive dermatosis ทำให้สุนัขแสดงอาการขนร่วง ผิวหนังอักเสบ ขนหยาบ มีสะเก็ด รังแค และผิวหนังหนาตัว โดยเฉพาะตามบริเวณรอบตา รอบจมูก รอบปาก ขา และข้อศอก บางรายมีการติดเชื้อพวกแบคทีเรียและเชื้อราแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย พบเป็นบ่อยในช่วงที่ร่างกายน้องหมากำลังเจริญเติบโต ตั้งท้อง หรือกำลังเป็นสัด เนื่องจากมีความต้องการใช้แร่ธาตุสังกะสีมากขึ้น
 

Dogilike.com :: โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ

     สุนัขพันธุ์เหล่านี้จึงต้องได้รับการเสริมสังกะสี ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบทั้ง Zinc methionine ที่มีราคาแพง แต่ดูดซึมได้ดี Zinc gluconate และ Zinc sulfate ที่มีราคาถูก แต่มีผลข้างเคียงทำให้อาเจียนได้ โดยจะเสริมให้กินทุกวันนาน 4-8 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ร่วมกับการลดแร่ธาตุบางอย่างที่ไปขัดขวางการดูดซึมของสังกะสีในลำไส้ด้วย อย่างเช่น พวกแคลเซียม เหล็ก หรือทองแดง เพราะถ้าได้รับแร่ธาตุเหล่านี้มากไป จะทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุสังกะสีลดลงได้ อย่างไรก็ดีการเสริมสังกะสีนั้นควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสังกะสีมากเกินความต้องการ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้เช่นกัน
 

 

ภาวะการดูดซึมวิตามินบี 12 ได้น้อยผิดปกติ

 
 
     วิตามินบี 12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin หรือ Cyanocobalamin) เป็นสารที่จำเป็นต่อการกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ (เป็น coenzyme) เกี่ยวข้องกับการเกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมี การสังเคราะห์โปรตีน การสร้างเม็ดเลือดแดง การสังเคราห์ deoxyribonucleic acid (DNA) ฯลฯ สุนัขจะได้รับวิตามินบี 12 จากอาหารเป็นส่วนใหญ่ วิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ ตับ ไต และเนื้อปลา แต่การที่ร่างกายน้องหมาจะรับวิตามินบี 12 ไปใช้ได้นั้น ต้องอาศัยสารประกอบที่เรียกว่า intrinsic factor (IF) ซึ่งสร้างมาจากกระเพาะอาหารและตับอ่อน มาจับวิตามินบี 12 เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่อไป
 
     โดยทั่วไปแล้วร่างกายของสุนัขสามารถสะสมวิตามินบี 12 ไว้ที่ตับได้ จึงมักไม่ค่อยพบการขาดวิตามินบี 12 ในสุนัขสักเท่าไหร่ ยกเว้นในรายที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับตับเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึม หรือจัดเก็บวิตามินบี 12 ไว้ใช้อย่างเพียงพอได้
 

Dogilike.com :: โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ

     ในสุนัขบางพันธุ์อย่างเช่น พันธุ์ Giant Schnauzer, Australian Shepherd, Beagle, Shar-Pei และ พันธุ์ Border Collie เป็นพันธุ์ที่มีข้อกำจัดในการดูดซึมวิตามินบี 12 ไปใช้ เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากการผ่าเหล่าของ amnionless gene (โดยเฉพาะพันธุ์ Australian Shepherd)  ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ได้ง่าย เกิดภาวะโลหิตจาง และมีความผิดปกติทางระบบประสาทตามมาได้ 
 
     อาการจะพบได้ตั้งแต่ขณะยังเป็นลูกสุนัข อายุ 6 สัปดาห์ – 5 เดือน เริ่มจากอ่อนแรง ซึม ไม่ค่อยอยากอาหาร เยื่อเมือกซีด โลหิตจางแบบ non-regenerative anemia เราสามารถทราบได้ว่า ลูกสุนัขขาดวิตามินบี 12 นี้ ได้จากการตรวจวัดระดับ serum cobalamin ในกระแสเลือด และการตรวจวัดระดับ methylmalonic acid ที่เพิ่มขึ้นจากปัสสาวะของสุนัขเพื่อยืนยันได้  ซึ่งสุนัขที่ขาดวิตามินบี 12 จำเป็นต้องได้รับการชดเชย โดยการฉีดวิตามีนบี 12 จะได้ผลดีกว่าการกิน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่ขาดตัวรับ intrinsic factor (IF)- cobalamin complex ที่ผนังลำไส้ โดยคุณหมอจะฉีดให้เป็นประจำทุก ๆ สัปดาห์หรือทุก ๆ 4-5 เดือนขึ้นกับขนาดที่ให้ในแต่ละครั้งครับ
 

 

ภาวะการสลายพิวรีนผิดปกติ

 
 
     พิวรีน (Purine) เป็นสารประกอบของกรดนิวคลิอิก (nucleic acids) ซึ่งพบได้ในนิวเคียสของพีชและสัตว์ พิวรีนมีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ปลา เห็ด ธัญพืช ยอดใบ และผลไม้เกือบทุกชนิด เมื่อร่างกายได้รับพิวรีนเข้าไป จะย่อยสลายได้มาเป็นกรดยูริก (uric acid) 
 
     สุนัขพันธุ์ Dalmatian จะมีความสามารถในการย่อยสลายพิวรีนและสร้างกรดยูริกได้สูงมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นประมาณ 2-4 เท่า แต่สร้างออแลนโตอิน (allantoin) ได้น้อย (ปกติกรดยูริกจะเปลี่ยนเป็นออแลนโตอิน) อีกทั้งยังไม่สามารถในการดูดกลับกรดยูริกที่หน่วยไตส่วน proximal tubules ได้ดีเท่าสุนัขพันธุ์อื่นด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ความเข้มข้นของกรดยูริกในปัสสาวะสูงขึ้น ซึ่งยูริกจะมีความสามารถของการละลายในน้ำต่ำ ทำให้เกิดนิ่วชนิดยูเรต (Urate urolith) ตามมาได้ง่าย สุนัขพันธุ์  Dalmatian จึงมีความเสี่ยงเป็นนิ่วชนิดนี้ได้ถึง 45-65% เลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (autosomal recessive gene) โดยพบมากในสุนัขเพศผู้มากกว่าเพศเมีย
 

Dogilike.com :: โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ

     ผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์  Dalmatian จึงต้องป้องกันไม่ให้สุนัขเกิดนิ่วนี้  โดยให้อาหารที่มีพิวรีนต่ำ จะได้ไม่สลายมาเป็นกรดยูริกมาก โดยลดอาหารที่มีพิวรีน และลดอาหารจำพวกโปรตีนลง ร่วมกับการกินน้ำมากๆ ปรับสภาพ pH ของปัสสาวะให้เป็นเบส เช่น ให้ sodium bicarbonate และป้อนยา allopurinal (ถ้าจำเป็น) เพื่อยับยั้งเอนไซม์ Xanthine oxidase ไม่ให้เปลี่ยนพิวรีนมาเป็นกรดยูริกมากเกินไปภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์
 
 

ภาวะทองแดงสะสมเกินในร่างกาย

 
 
     ทองแดง (Copper) ถือเป็นแร่ธาตุรองของร่างกาย พบมากในเนื้อสัตว์และธัญพืชที่มีโปรตีนสูง มีหน้าที่สังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ช่วยในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของเซลล์ สังเคราะห์คอลลาเจนในเส้นเอ็น ฯลฯ ถึงแม้จะมีความสำคัญ แต่ร่างกายกลับมีความต้องการน้อย เนื่องจากตับสามารถสะสมทองแดงไว้ใช้ในร่างกายได้ 
 
     ในสุนัขบางพันธุ์ที่มีข้อจำกัดในการขับทองแดงออกจากตับเนื่องจากพันธุกรรม เช่น สุนัขพันธุ์ Bedlington Terrier, West Highland White Terrier มีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (autosomal recessive gene) ส่วนในสุนัขพันธุ์ Dalmatian, Cocker Spaniel, Labrador Retriever และ Doberman Pinscher มีการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่นกัน แต่พบในบางสายโลหิต (บางครอบครัว) 
 

Dogilike.com :: โรคพันธุกรรมในน้องหมาที่ต้องดูแลโภชนาการเป็นพิเศษ

     เมื่อร่างกายมีปริมาณแร่ธาตุทองแดงสะสมสูงมากเกินไป จึงเกิดความเป็นพิษตามมา โดยจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง ดีซ่าน ท้องมาน ร่วมกับอาการของโรคตับ สามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป (เฉลี่ยพบเมื่อายุ 4-8 ปี) สุนัขพันธุ์เหล่านี้หรือสุนัขที่เกิดภาวะเช่นนี้ จะต้องจำกัดการได้รับทองแดงในอาหาร งดอาหารที่มีทองแดงสูง จำพวกเนื้อสัตว์และธัญพืชที่มีโปรตีนสูง รวมถึงต้องได้รับสารที่ช่วยขัดขวางการดูดซึมทองแดง เช่น Zinc acetate ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ด้วยครับ
 
 
     เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า สุนัขแต่ละพันธุ์นั้นมีความต้องการสารอาหารไม่เหมือนกัน สุนัขพันธุ์ Siberian Husky มีความต้องการสังกะสีมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ในขณะที่สุนัขบางพันธุ์ Dalmatian กลับไม่ต้องการพิวรีนมากนัก เพราะจะเกิดโรคนิ่วตามมาได้

     ดังนั้นการให้อาหารกับสุนัข เจ้าของจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในสุนัขแต่ละพันธุ์ด้วย ยิ่งบ้านไหนปรุงอาหารให้สุนัขกินเอง ยิ่งต้องรู้และคัดเลือกวัตถุดิบมาปรุงอาหารให้สุนัขได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม น้องหมาจะได้ไม่เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาไงครับ


บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/

อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Michael S. Hand. 2002. Pocket companion to Small animal Clinical Nutrition. 4thedition.
Mark Morris Institute: United States of America

รูปภาพประกอบ:
http://img0.joyreactor.com/pics/post/full/art-3D-dog-food-995373.jpeg
http://www.pets4homes.co.uk/images/articles/1826/large/how-to-make-dry-dog-food-more-appealing-to-your-dog-53bacc6b81ed7.jpg
http://commons.wikivet.net/images/7/76/Small_Animal_Dermatology_Q%26A_22.jpg
http://vetneuromuscular.ucsd.edu/cases/2006/images/1106image007.jpg
http://www.cliniciansbrief.com/sites/default/files/Ask-Amm-Urolith-Fig-2.jpg
http://vet.uga.edu/ivcvm/courses/vpat5215/digestive/images/livercah1.jpg