โดย: Tonvet

ให้สุนัขพบคนไข้ในโรงพยาบาล ช่วยบำบัดหรือช่วยระบาด?

มาดูกันว่า การใช้สุนัขบำบัดที่ถูกต้องนั้นมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

22 ตุลาคม 2558 · · อ่าน (5,387)
0

SHARES


0 shares

Dogilike.com :: ให้สุนัขพบคนไข้ในโรงพยาบาล ช่วยบำบัดหรือช่วยระบาด?


     การใช้สัตว์เพื่อการบำบัดคนที่ป่วยนั้นมีมานานแล้วนะครับ หากย้อนในไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นมีสุนัขตัวหนึ่งชื่อว่าเจ้า สโมคกี้ (Smoky) เป็นสุนัขพันธุ์ยอร์คเชียร์ตัวน้อย ที่ทหารนายหนึ่งเก็บมาเลี้ยง ครั้งหนึ่งเมื่อนายทหารผู้นี้ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคไข้ป่า เจ้าสโมคกี้ได้มาเยี่ยมเจ้านายที่โรงพยาบาล ซึ่งพยาบาลก็อนุญาตให้เจ้าสโมคกี้สามารถมาอยู่กับเจ้านายได้ และมันก็กลายเป็นขวัญใจของบรรดาผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล หลังจากนั้นเจ้าสโมคกี้ก็ได้รับหน้าที่เป็นสุนัขบำบัดเรื่อยมาจนกระทั่งหลังสงคราม 
 
 
     แนวคิดการใช้สัตว์เพื่อการบำบัดผู้ป่วยเช่นนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่สุนัขเท่านั้น ยังมีการใช้สัตว์อื่น ๆ ด้วย เช่น ม้า แมว ลา กระต่าย นก หนู หมู ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันได้มีการฝึกฝนสัตว์เหล่านี้เพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดมนุษย์ในหลายๆ กรณี เช่น ช่วยบำบัดเด็กที่กลัวการรักษาทางทันตกรรม ช่วยบำบัดผู้ป่วยสูงวัยที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ช่วยบำบัดผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ รวมถึงช่วยบำบัดเด็กที่เป็นเด็กพิเศษออทิสติก ฯลฯ 
 

Dogilike.com :: ให้สุนัขพบคนไข้ในโรงพยาบาล ช่วยบำบัดหรือช่วยระบาด?

     
     การใช้สัตว์บำบัดนี้มีประโยชน์ทั้งทางด้านจิตใจ สามารถช่วยลดความเครียด ซึมเศร้า ความวิตกกังวล ช่วยฝึกการเข้าสังคมของมนุษย์ได้ และยังมีประโยชน์ทางร่างกายด้วย เช่น ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการหลั่งฮอร์โมน cortisol ได้ด้วยเช่นกัน จึงมีการนำสุนัขมาใช้บำบัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล เรียกกันว่า Dog therapy หรือ Pet therapy
 
 
     แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับโรคติดต่อ ที่สัตว์เหล่านี้จะนำมาติดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เช่นกัน มีการศึกษาประเด็นความชุกของเชื้อโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในสุนัขที่มาเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล Ontario ของ Lefebvre SL. และคณะ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2006 พบว่า 80% ของสุนัขที่ได้มาเยี่ยมผู้ป่วยนี้ (80 ตัว จาก 102 ตัว) มีเชื้อโรคติดต่อสู่คนได้ เช่น เชื้อ Clostridium difficile ซึ่งตรวจได้จากอุจจาระสุนัขพบได้ 58% เชื้อ Pasteurella multocida ซึ่งตรวจจากการป้ายเก็บในช่องปากพบได้ 29% เชื้อ Malassezia pachydermatis ซึ่งตรวจจากการป้ายเก็บในช่องหูพบได้ 8% เป็นต้น นอกจากนี้ในรายงานยังมีเชื้ออื่น ๆ อีก ซึ่งสุนัขอาจนำเชื้อเหล่านี้มาติดต่อยังผู้ป่วยได้
 

Dogilike.com :: ให้สุนัขพบคนไข้ในโรงพยาบาล ช่วยบำบัดหรือช่วยระบาด?


     นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ Lefebvre SL. และคณะ อีกเช่นกัน ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 พบว่า สุนัขที่มาเยี่ยมผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการนำเชื้อ methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) และ Clostridium difficile ได้มากกว่า 4.7 เท่า และ 2.4 เท่า ของสุนัขที่ไม่ได้คลุกคลีหรือเลียตัวผู้ป่วยระหว่างที่มาเยี่ยมผู้ป่วย ตามลำดับ
 
 
     ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีหลาย ๆ องค์กรทั่วโลกที่พยายามออกมาตรการหรือคำแนะนำต่างๆ เพื่อให้การใช้สัตว์บำบัดกับผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลหรือสถานที่อื่นๆ นอกโรงพยาบาลก็ตาม เช่น ทางสมาคม Society for Healthcare Epidemiology of America หรือ SHEA ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกระเบียบการแนะนำการใช้สัตว์บำบัดในสถานพยาบาล ซึ่งมีใจความพอสรุปคร่าวๆ ดังนี้ครับ 
 
     - สุนัขที่จะพามาพบผู้ป่วยจะต้องมีสุขภาพดี ฉีดกระตุ้นวัคซีน ถ่ายพยาธิตามกำหนด โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) และพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน โดยมีใบรับรองสุขภาพจากสัตวแพทย์ยืนยัน
     - สุนัขที่ใช้บำบัดควรเป็นสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนและประเมินพฤติกรรมมาก่อน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงฝึกในการควบคุมการขับถ่ายสุนัข ให้สุนัขขับถ่ายเป็นที่ ไม่ควรขับถ่ายขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่เพื่อสุขอนามัยที่ดี จะได้ไม่นำเชื้อโรคมาติดผู้ป่วย
     - ในสุนัขที่มีอาการป่วย ไอ จาม ท้องเสีย หรืออาเจียน ให้งดนำมาเยี่ยมผู้ป่วยอย่างน้อยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือตามที่สัตวแพทย์พิจารณาเห็นสมควร
     - สุนัขเพศเมียที่เป็นสัดควรงดนำมาเยี่ยมผู้ป่วยเช่นกัน
     - ก่อนเข้าพบผู้ป่วย ต้องอาบน้ำทำความสะอาดและหวีขนเพื่อขจัดขนที่ร่วง สะเก็ดรังแค และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ บนตัวสุนัขก่อน รวมถึงกำจัดปรสิตบนตัวสุนัขสม่ำเสมอ อย่าให้มีเห็บหรือหมัดบนตัวเด็ดขาด
     - ตัดเล็บสุนัขให้สั้นและตะไบเล็บอย่าให้เล็บมีความคมมาเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
     - ควรทำความสะอาดกรงหรือกระเป๋าที่จะใช้บรรจุสุนัขมายังโรงพยาบาล รวมถึงให้ทำความสะอาดอุปกรณ์บนตัวสุนัข เช่น สายรัดอก ปลอกคอ สายจูง เสื้อผ้า ฯลฯ ด้วยเช่นกัน
     - การนำสุนัขเข้าสถานพยาบาลต้องขออนุญาตและแจ้งเจ้าหน้าที่ (แพทย์ พยาบาล) ก่อน และพิจารณาว่าบริเวณไหนที่สุนัขสามารถเข้าได้หรือเข้าไม่ได้บ้าง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้เข้าพบได้หรือไม่เป็นกรณี ๆ ไป ขึ้นกันผู้ป่วยแต่ละคน สุนัขไม่สามารถเข้าไปในโรงพยาบาลได้ทุกพื้นที่ โดยจะมีการกำหนดพื้นที่ที่อนุญาตให้สุนัขเข้าไปได้เพื่อการบำบัดผู้ป่วยเฉพาะเท่านั้น
     - ผู้ป่วยที่ไม่แนะนำให้พบสุนัขบำบัด ก็อย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่แพ้ขนสุนัข หรือ ผู้ที่กลัวสุนัข ฯลฯ
     - สุนัขบำบัดจะต้องมีผู้ควบคุมตลอดเวลา (สุนัข  1 ตัวต่อผู้ควบคุม  1 คน) ซึ่งผู้ควบคุมจะต้องสามารถออกคำสั่งสุนัขได้ รู้จักภาษากายสุนัข รู้จักสังเกตอาการต่าง ๆ สุนัขรวมถึงอาการป่วยของสุนัขเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี และต้องระวังอันตรายจากสุนัขให้กับผู้ป่วยได้ด้วย
     - การเข้าหาผู้ป่วยของสุนัขให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่ร่างกายของผู้ป่วยมีการติดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ตำแหน่งแทงเข็มให้น้ำเกลือ ตำแหน่งที่มีบาดแผล ใส่เฝือก หรือตำแหน่งอื่นๆ ที่ต้องระวังการติดเชื้อเป็นพิเศษ อย่าให้สุนัขสัมผัสหรือเลียอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวด้วย 
     - ผู้ป่วยจะต้องไม่มีการดื่มหรือกินอาหารขณะกำลังอยู่กับสุนัขบำบัด
     - ผู้ป่วยจะต้องไม่สัมผัสสุนัขบริเวณจมูก ปาก หรือบริเวณก้น เพราะอาจได้รับเชื้อโรคจากสุนัขได้
     - ระยะเวลาในการอยู่ร่วมกันของผู้ป่วยและสุนัขบำบัดไม่ควรเกิน  1-2 ชั่วโมง เพื่อลดอุบัติเหตุจากความเมื่อยล้าจากการทำงานของสุนัข
     - หากเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้ป่วยถูกสุนัขกัดหรือข่วนจนเกิดบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ (แพทย์ พยาบาล) ให้ทราบโดยทันที และให้ยุติการเข้าพบของสุนัขทันทีเช่นกัน
     - เมื่อผู้ป่วยสัมผัสหรือคลุกคลีสุนัขบำบัด จะต้องล้างมือทั้งก่อนและหลังทุกครั้ง ร่วมถึงต้องทำความสะอาดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ฯลฯ และทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขเข้าไปทั้งพื้นห้อง เก้าอี้ด้วยเช่นกัน
       ฯลฯ 
 

Dogilike.com :: ให้สุนัขพบคนไข้ในโรงพยาบาล ช่วยบำบัดหรือช่วยระบาด?


     ซึ่งข้อปฏิบัติที่ยกมานี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเองครับ จริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดอีกมาก เพื่อนๆ สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ใน Animals in Healthcare Facilities: Recommendations to Minimize Potential Risks หรือ ลองศึกษาเปรียบเทียบกับคำแนะนำการใช้สุนัขบำบัดของประเทศออสเตรเลีย เช่น Guidelines for Animal Visits and Interventions in Public and Private Health Facilities in New South Wales ก็ได้เช่นกัน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ หากจำเป็นจะต้องนำสุนัขมาใช้เพื่อการบำบัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลในประเทศของเราต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดที่สุนัขจะนำมาติดผู้ป่วยได้ครับ
 
 
     คนและสุนัขต่างก็มีความรู้สึกเหมือนๆ กัน เวลาป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น นอกจากยารักษาโรคที่ได้รับแล้ว ก็ต้องการกำลังใจจากใครสักคนด้วย แต่การเข้าเยี่ยมผู้ป่วยนั้น อาจไม่สามารถทำได้ตามที่ใจต้องการ บางกรณีก็มีข้อกำจัดที่ไม่สามารถอนุญาตให้เข้าพบได้ ไม่ใช่แค่เพียงความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่ายเช่นกัน  
 
 
 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์

 
 ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
Lefebvre SL, Waltner-Toews D, Peregrine AS, Reid-Smith R, Hodge L, Arroyo LG, Weese JS. 2006. Prevalence of zoonotic agents in dogs visiting hospitalized people in Ontario: implications for infection control. J Hosp Infect. 62(4): 458-66.
Lefebvre SL, Reid-Smith RJ, Waltner-Toews D, Weese JS. 2009. Incidence of acquisition of methicillin-resistant Staphylococcus aureus, Clostridium difficile, and other health-care-associated pathogens by dogs that participate in animal-assisted interventions. J Am Vet Med Assoc. 234(11): 1404-17. 
http://www0.health.nsw.gov.au/policies/gl/2012/pdf/GL2012_007.pdf
http://www.shea-online.org/Portals/0/PDFs/Animals%20in%20Healthcare%20Facilities.pdf
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://www.saragingerich.com/wp-content/uploads/2012/03/ely3.jpg
http://graphics8.nytimes.com/images/2008/11/11/giving/11dogs_650.jpg
http://static1.squarespace.com/static/53e8f7efe4b02354ac1d2f6c/54ce9fe0e4b0e1b490fcf71e/54cea043e4b02458d07e3f40/1422827592646/dog-therapy.jpg