โดย: Tonvet
ย้อนรอยการระบาดของโรคมรณะในสุนัข
ตามไขปริศนาในอดีต เมื่อมีน้องหมาป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคนั้นคืออะไรกันแน่
24 พฤศจิกายน 2558 · · อ่าน (4,520)
มนุษยชาติผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโรคระบาดมามากมาย ทั้งการระบาดของกาฬโรค โรคไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค หรือแม้แต่โรคอีโบลาในยุคสมัยปัจจุบันก็ดี หลายครั้งที่กว่าจะรู้ว่าถึงต้นสายปลายเหตุ โรคเหล่านั้นก็คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากเสียแล้ว จนบางทีก็ถึงกับต้องทิ้งบ้านย้ายเมืองหนีตายกันเลยทีเดียว
เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นในสุนัขเพื่อนรักของเราเช่นกัน หลายโรคก็เล่นเอาน้องหมาสะบักสะบอม บางโรคก็ยังคงอยู่จนมาถึงปัจจุบัน อย่างเหตุการณ์ที่ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปย้อนรำลึกถึงในวันนี้ หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว หรือไม่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันได้เกิดขึ้นมาแล้ว มาย้อนรอยเหตุการณ์การระบาดของโรคมรณะในสุนัข และการไขปมปริศนาถึงสาเหตุการตายของน้องหมาเหล่านั้นกันครับ
ปฐมบท : การปรากฎของอาการป่วย
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเวียดนาม เมื่อปี ค.ศ. 1968 ตอนนั้นกองทัพสหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในเวียดนามใต้รวมถึงประเทศไทย นอกจากกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำมาแล้ว กองทัพสหรัฐฯ ยังได้นำสุนัขจำนวนกว่า 4,000 ตัว เข้ามาด้วย สุนัขเหล่านีมีหน้าที่ช่วยลาดตระเวณ และเฝ้ายาม
ในเดือนกันยายนของปีนั้นเอง อยู่ ๆ ก็มีสุนัขตัวหนึ่งป่วยด้วยอาการเลือดไหลออกจากจมูกโดยไม่ทราบสาเหตุ จากนั้นก็พบสุนัขตัวอื่น ๆ เริ่มทยอยป่วยตามมา ไม่นานก็มีสุนัขตัวหนึ่งตายไป โดยอาการที่พบในสุนัขที่ป่วยจะมีอาการคล้าย ๆ กัน คือ มีเลือดกำเดาไหลออกจากรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อ่อนแรง มีภาวะขาดน้ำ ซึม ไม่กินอาหาร น้ำหนักลด มีจุดเลือดออกขึ้นตามผิวหนัง จากผลการตรวจเลือดก็พบว่า สุนัขที่ป่วยจะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (leukopenia) และมีภาวะโลหิตจาง
แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่มีสัตวแพทย์ในกองทัพท่านใดระบุสาเหตุการป่วยของสุนัขเหล่านี้ได้ ทำได้แค่เพียงคัดแยกสุนัขที่มีอาการป่วยด้วยเลือดกำเดาไหล แล้วส่งตัวไปรักษาอยู่รวมกันที่ฐานทัพอากาศ Tan Son Nhut ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงไซง่อน (นครโฮจิมินห์) เพื่อลดการสูญเสียจากการติดต่อไปยังสุนัขที่ยังมีสุขภาพปกติ
เริ่มต้นการไขปริศนา
ในตอนแรกมีการตั้งชื่อโรคนี้ว่า idiopathic hemorrhagic syndrome หรือ กลุ่มอาการเลือดออกที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งจากการสังเกตก็พบว่า สุนัขที่ป่วยจะอาศัยอยู่ที่เดียวกัน หรือไม่ก็มีประวัติเคยไปอาศัยบริเวณที่มีสุนัขป่วยมาก่อน จากนั้นตัวเองก็ป่วยตาม เลยสรุปในตอนต้นว่า โรคนี้สามารถติดต่อกันระหว่างสุนัขกับสุนัขได้ สิ่งแรกที่นักวิจัยให้ความสนใจจึงมองไปที่โรคติดเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ริกเกตเซีย หรือโปรตัวซัวในเลือด แต่เมื่อได้นำเลือดสุนัขที่ป่วยไปเพาะเชื้อหาแบคทีเรีย ก็ไม่พบเชื้อแบคทีเรียก่อโรคแต่อย่างใด นักวิจัยจึงมุ่งไปที่เชื้อไวรัส โปรตัวซัว และริกเกตเซียแทน
ต่อมาได้สังเกตพบว่าสุนัขที่ป่วยจะอาศัยในสถานที่ที่มีเห็บ ซึ่งเห็บที่พบมากเวียดนามและประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ เห็บสุนัขสีน้ำตาล หรือ Rhipicephalus sanguineus หากเห็บเป็นพาหะนำโรคที่ทำให้สุนัขป่วยนี้จริง เชื้อที่ว่าก็น่าจะเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อผ่านเห็บได้ จากข้อมูลที่ค้นพบ ณ. ในขณะนั้น มีรายงานสุนัขในกองทัพอังกฤษที่สิงคโปร์ ป่วยด้วยอาการคล้ายกันนี้เมื่อปี ค.ศ. 1963 แต่ของอังกฤษเรียกชื่อว่า โรค Tropical canine pancytopenia ซึ่งในช่วงปลายปี ค.ศ. 1966 ถึงต้นปี ค.ศ. 1967 กองทัพสหรัฐฯ ได้ซื้อสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ของกองทัพอังกฤษมาจากสิงคโปร์ บางทีสุนัขเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุในการระบาดของโรคดังกล่าวในเวียดนามก็เป็นได้
แล้วความจริงก็ปรากฎ
จนเวลาได้ผ่านไปร่วมปี มีรายงานสุนัขทยอยป่วยตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1969 มีรายงานสุนัขเสียชีวิตด้วยอาการเช่นนี้ไปแล้วถึง 160 ตัว แล้วในที่สุดปริศนาที่ค้นหาอยู่ก็ปรากฏ กลางปี ค.ศ. 1970 เมื่อนักวิจัย Huxsoll DL. ได้พบว่า เชื้อที่ทำให้สุนัขป่วยด้วยอาการดังกล่าว ก็คือ เชื้อ Ehrlichia canis นั่นเอง เชื้อนี้ทำให้เกิดโรค Ehrlichiosis ในสุนัข โดยมีเห็บสุนัขสีน้ำตาลเป็นพาหะ จัดเป็นเชื้อริกเกตเซีย พบได้ในไซโตพลาสซึมของเม็ดเลือดขาว จึงเรียกอีกชื่อว่า โรคพยาธิในเม็ดเลือด สำหรับตัวเชื้อ Ehrlichia canis นั้น มีรายงานพบครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 ในแถบแอฟริกา
เหตุการณ์นี้คร่าชีวิตสุนัขสงครามของสหรัฐฯ ในเวียดนามไปราว 220 ตัวเลยทีเดียว หลังจากสงครามยุติลง สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากเวียดนาม ก็มีสุนัขปลดประจำการตามกลับไปด้วย ปัจจุบันโรค Ehrlichiosis มีระบาดในหลายประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา อินเดีย และไทย
สำหรับในประเทศไทยมีรายงานพบโรคนี้ครั้งแรกใน ปี ค.ศ. 1975 โดย Davidson และคณะ ในสุนัขพันธุ์เยอรมันเชฟเพิร์ดที่นำเข้ามาใช้งานในการสงครามจากต่างประเทศ หลังจากนั้นก็มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยมีการเก็บตัวอย่างเลือดจากสุนัขตามฐานทัพต่าง ๆ ในประเทศมาตรวจ เช่น ที่ดอนเมือง นครปฐม ปากช่อง ลพบุรี ตาคลี พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย เชียงคำ น่าน ประจวบคีรีชันธ์ นครศรีธรรมราช และที่หาดใหญ่ ก็พบเชื้อนี้เช่นกัน คิดเป็นประมาณ 17% (87 ใน 514 ตัวอย่าง)
แม้ปัจจุบันเวลาจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว โรคพยาธิในเม็ดเลือดจากเชื้อ Ehrlichia canis นี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของสุนัขในประเทศไทย และดูทีท่าว่าจะคงอยู่คู่ประเทศนี้ไปอีกนาน ตราบใดที่เห็บยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่กำจัดไม่หมดไปเสียที ทางเดียวที่จะป้องกันโรคนี้ได้ก็คือ การหมั่นป้องกันเห็บให้สุนัขเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเน้นป้องกันทั้งเห็บบนตัวสุนัขและกำจัดเห็บตามในพื้น กำแพง หรือตามสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป รวมถึงต้องหมั่นพาสุนัขไปตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นประจำอย่างน้อยทุก 6 เดือนด้วยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
มานพ ม่วงใหญ่, วิทยาสัตว์เซลล์เดียวทางสัตวแพทย์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 2 : มิถุนายน 2545. หน้า 208-210
Huxsoll, DL, et al. 1969. Ehrlichia canis- The cause of a haemorrhagic disease of dogs? Veterinary Record 85: 587.
David E. Davidson, Garrett S. Dill, Markpol Tingpalapong, Suchai Premabutra, Pralong La-or Nguen, Edward H. Stephenson, Miodrag Ristic. 1975. Canine Ehrlichiosis (Tropical Canine Pancytopenia) in Thailand. S.E.A.J.T.M and P.H. 6(4): 540-543
Kelch, WJ. 1977. Military working dogs and canine Ehrlichiosis (tropical canine pancytopenia) in the Vietnam War. Fort Leavenworth, KS.
http://www.uswardogs.org/health-issues-with-canines-in-vietnam/
http://jonathansellmanmd.com/tag/dogs/
รูปภาพประกอบ:
http://www.k9hardcase.com/uploads/1/1/4/9/11497308/37580_orig.jpg
http://spotlights.fold3.com/wp-content/uploads/2012/12/veterinarians_main.jpg
http://spotlights.fold3.com/wp-content/uploads/2012/12/veterinarians_dog.jpg
http://www.carolinecoile.com/uploads/9/4/5/6/9456251/6334254_orig.jpg
SHARES