ตลอดปี ค.ศ. 2015 นี้มีข่าวสารเกี่ยวกับน้องหมาจำนวนมากที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจและแชร์ต่อกันจำนวนมาก บางเรื่องจริงบ้าง บางเรื่องก็เท็จบ้าง หลาย ๆ ประเด็นก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องของข้อมูล ทางด็อกไอไลค์เองก็มีบทความออกมาไขข้อข้องใจให้กับเพื่อน ๆ กันอยู่เสมอ ๆ เรามาย้อนดูกันนะครับว่า ปีนี้จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพของน้องหมาอะไรบ้างที่ชาวเนตแชร์กันสนั่นโซเชียล
1 สุนัขเอาหัวพิงผนังอันตรายจริงหรือไม่ ?
ต้นเดือนมีนาคม ปี 2015 มีประเด็นหนึ่งที่แชร์กันสนั่นโซเชียลเกี่ยวกับ "สุนัขเอาหัวพิงกำแพง หรือ head pressing" ว่าสุนัขที่แสดงอาการแบบนี้อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของอาการป่วย ซึ่งตอนนั้น มุมหมอหมา ก็มีบทความมาอธิบายถึงอาการดังกล่าวเช่นกัน
สำหรับ Head pressing นั้น เป็นอาการหนึ่งทางระบบประสาท ซึ่งอาจมาจากความผิดปกติของสมอง การได้รับสารพิษ ความผิดปกติของหลอดเลือดที่บริเวณตับ ฯลฯ สุนัขที่ป่วยนอกจากจะแสดงอาการ Head pressing แล้ว จะต้องแสดงอาการอื่น ๆ ทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น เดินเรื่อยเปื่อยแบบไร้จุดหมาย เดินวนกับที่ เหม่อลอย ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว มีอาการชัก ฯลฯ
หากพบอาการดังกล่าวควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค แต่ไม่ต้องตกใจไปนะครับ เพราะ Head pressing ก็เป็นเพียงหนึ่งอาการเท่านั้น เวลาคุณหมอตรวจ จะต้องอาศัยประวัติ และอาการอื่น ๆ ประกอบด้วย สุนัขที่ผิดปกติทางระบบประสาทก็ไม่ได้แสดงแค่อาการ head pressing เพียงอย่างเดียว เพื่อน ๆ ก็อย่าลืมสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยว่ามีหรือไม่ จะได้นำไปแจ้งกับคุณหมอได้อย่างถูกต้องครับ
2 พยาธิจากอึน้องหมาไชผิวหนังคนได้จริงหรือ ?
ปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2015 มีสมาชิกเฟสบุ๊คท่านหนึ่ง ได้โพสรูปและข้อความไว้ใจความว่า "มีแพทย์ท่านหนึ่งบอกเป็น hookworm พยาธิปากขอ ชอบเที่ยวป่า เขา ทะเล เชื้อโรคมีปนอยู่เพราะเกิดจาก อึ ฉี่ หมาและแมว เส้นๆ ที่เราเห็นใต้ผิวหนังไม่ใช่ตัวพยาธิ แต่เป็นเส้นทางที่พยาธิชอนไชผ่าน ส่วนปื้น ๆ อักเสบที่ผิวหนังคือการที่ร่างกายเราสร้างภูมิมาสู้กับพยาธิ แต่สู้ไม่ได้ ต้องกินยา"
พอเห็นข้อความนี้แล้วก็มีผู้เลี้ยงสุนัขหลายคนเป็นกังวล เข้ามาถามเรื่องข้องใจเกี่ยวกับรูปและเนื้อหาทางแฟนเพจเฟสบุ๊คด็อกไอไลค์ (Dogilike) มากมาย ซึ่ง มุมหมอหมา ก็มีบทความมาอธิบายถึงอาการดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจากรอยโรคดังกล่าว คือ ร่องรอยของการชอนไชผ่านผิวหนังของตัวอ่อนพยาธิปากขอระยะที่ 3 เกิดจากการที่พยาธิปล่อยเอนไซม์มาย่อยสลายโปรตีนในชั้นผิวหนัง จนเกิดเป็นช่องว่างที่พยาธิใช้เคลื่อนที่เข้าสู่ร่างกาย
สุนัขสามารถติดพยาธิปากขอได้เช่นเดียวกับมนุษย์ครับ โดยอาจจะรับตัวอ่อนเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการถูกชอนไชทางผิวหนัง หรือรับผ่านการกินเข้าไปโดยตรง หรือกินผ่านเหยื่ออย่างเช่น หนู ที่มีพยาธิชนิดนี้อยู่ในร่างกายอีกทีก็ได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปเจริญเติบโตจนเข้าสู่ระยะโตเต็มวัย ผสมพันธุ์และออกไข่เพื่อเพิ่มจำนวนต่อไป
แต่การจะติดคนได้นั้นจะติดในระยะตัวอ่อนที่ 3 ซึ่งมักอาศัยอยู่ในดินหรือสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นแฉะ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่ไม่ได้ป้องกันตัวเองได้ดีพอ เช่น ไม่สวมรองเท้าป้องกันให้มิดชิด ชอบเดินเท้าเปล่าในดิน ในโคลน หรือตามพื้นที่ชื้นแฉะ หรือไม่ก็ติดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนตัวอ่อนระยะที่ 3 เข้าไป ซึ่งกว่าที่พยาธิจะโตมาถึงตัวอ่อนระยะที่ 3 นี้ ต้องใช้ระยะเวลาฟักและเจริญเติบโต (ลอกคราบ) ไม่น้อยกว่า 14-20 วันเลยทีเดียว และหากอยู่ในที่แห้งแล้งตัวอ่อนก็จะตายได้ภายใน 1 วัน
ดังนั้นการป้องกันที่ดี คือ การไม่พาตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยง ไม่เดินเท้าเปล่าลุยโคลน กินอาหารปรุงสุกสะอาด เป็นคนรักสะอาดชำระล้างมือและร่างกายทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรก โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ คนและสุนัขสามารถอยู่ร่วมกันได้ ผู้เลี้ยงควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุก 3 เดือนเพื่อป้องกัน รวมถึงหมั่นทำความสะอาดที่อยู่ของน้องหมาเป็นประจำ คนและสุนัขที่ป่วยมีพยาธิปากขอในร่างกาย สามารถรักษาให้หายขาดได้ครับ ไม่ต้องกังวล
3 คลิปสุนัขเต้น เรื่องตลกร้ายที่หลายคนไม่เคยรู้
กลางเดือนสิงหาคม ปี 2015 มีการแชร์คลิปสุนัขตัวหนึ่งเต้นประกอบจังหวะเพลง ซึ่งเป็นคลิปเก่าที่เคยเผยแพร่มาตั้งแต่ ปี 2013 หลายคนดูแล้วก็อดที่จะหัวเราะตามไม่ได้ เพราะว่าสุนัขในคลิปนั้นเต้นเข้ากับจังหวะเพลงได้อย่างยอดเยี่ยมพอดิบพอดี
ความจริงแล้วสุนัขในคลิปดังกล่าวอาจไม่ตั้งใจมาเต้นตามจังหวะเพลง ให้คนเอามาแชร์เป็นเรื่องสนุกสนานหรอกครับ หากแต่สุนัขตัวนั้นอาจกำลังป่วยด้วยอาการ
"myoclonus" ซึ่งเป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อทั้งมัดแบบเฉียบพลัน โดยจะหดเกร็งเป็นจังหวะสั้น ๆ สลับกับกับการหยุดนิ่ง แล้วก็กลับมาหดเกร็งใหม่ วนไปวนมาเรื่อย ๆ นอกเหนืออำนาจจิตใจ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนมากจะเกิดที่กลุ่มกล้ามเนื้อขา และใบหน้า สาเหตุเกิดจากผลของการที่สมองอักเสบจากโรคไข้หัดสุนัข (Canine distemper) ลองดูคลิปนี้เปรียบเทียบอาการดูนะครับ
โพสโดยสมาชิกยูทูป VetClinicGambia
สังคมโซเชียลทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีหากข้อมูลที่แชร์ไปนั้นถูกต้อง แต่ก็มีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ผิดเพี้ยน การแชร์ข่าวลือ ข่าวกระแสโดยขาดการตรวจสอบให้ดีก่อน ทำให้ส่งผลกระทบในแง่ลบเป็นวงกว้าง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับน้องหมาแล้วหล่ะก็ ด็อกไอไลค์ไม่ปล่อยผ่านแน่นอน สุดท้ายจึงอยากฝากให้เพื่อน ๆ ทุกคน เช็คข้อมูลก่อนแชร์ด้วยนะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
SHARES