โดย: Tonvet
5 โรคน่าสนใจในน้องหมา จากรายงานสุขภาพประจำปี 2015
รวมโรคน่าสนใจในน้องหมาประจำปี 2015 จากรายงาน State of Pet Health จัดทำโดย Banfield Pet Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา
24 ธันวาคม 2558 · · อ่าน (5,340)สวัสดีครับเพื่อน ๆ เวลาหนึ่งปีผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกินนะครับ ไม่ทันไรก็มาถึงสิ้นปีแล้ว ซึ่งในทุก ๆ ปี มุมหมอหมา ก็จะมีบทความสรุปเกี่ยวกับบทความยอดฮิตประจำคอลัมน์เป็นการส่งท้าย แต่ปีนี้ขอฉีกแนวนิดนึง โดยจะเปลี่ยนมาเป็นรายงานสรุปสุขภาพน้องหมาประจำปีนี้แทน เพื่อที่เพื่อน ๆ จะได้เอาไปปรับใช้ประโยชน์สำหรับการดูแลสุขภาพให้กับน้องหมาต่อไปได้
สำหรับบทความตอนนี้ผมได้รวบรวมเอารายงานสุขภาพสัตว์เลี้ยงจาก State of Pet Health 2015 ซึ่งจัดทำโดย Banfield Pet Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการรวบรวมข้อมูลสุนัขที่เข้ารับการรักษาเกือบ 2.4 ล้านตัวทั่วประเทศ ในรายงานปีนี้ผู้จัดทำได้แบ่งการรายงานโรคออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความผิดปกติที่พบได้บ่อย กลุ่มโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย และกลุ่มโรคติดต่อที่พบได้บ่อย ซึ่ง มุมหมอหมา ขอสรุปเนื้อหา โดยยกเอา 5 โรคที่น่าสนใจ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์โรคของในสุนัขของบ้านเรา มาเล่าให้เพื่อน ๆ อ่านกันนะครับ จะมีข้อมูลของโรคอะไรบ้างนั้น…ไปดูกันเลย
1 โรคทางช่องปากและฟัน
โรคทางช่องปากและฟันในสุนัขในรายงานนี้ จะรวมทั้งปัญหาการอักเสบ หินปูน และโรคปริทนต์ ซึ่งตรวจพบในสุนัขที่เข้ารับการรักษาได้ถึง 92% เลยทีเดียว (โฮ้!! เยอะอะ) ส่วนใหญ่จะพบในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้าเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการเจ็บช่องปาก สูญเสียฟัน และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา เหนี่ยวนำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจและโรคไตต่อได้ ตรงตามบทความ ปล่อยให้หมาปากเหม็น ระวัง!! เสี่ยงป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจอักเสบ ที่ มุมหมอหมา เคยนำเสนอไปแล้ว เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในคราบจุลินทรีย์เกาะอยู่ตามผิวฟันและซอกฟัน สามารถแพร่กระจายผ่านเข้ายังกระแสเลือดได้ เมื่อผิวผนังของหลอดเลือดและผิวของลิ้นหัวใจเสื่อมลงหรือมีโครงสร้างเปลี่ยนไป แบคทีเรียพวกนี้จะเข้าไปเกาะ เจริญเติบโต และเพิ่มจำนวน จนก่อโรคดังกล่าวตามมาได้
สำหรับอาการสำคัญที่เจ้าของต้องหมั่นสังเกต สุนัขที่มีปัญหาช่องปากและฟันจะมีกลิ่นปาก มีคราบหินปูน เคี้ยวลำบาก ไม่อยากกินอาหารเนื่องจากเจ็บปาก ฟันหัก ฟันโยก มีเลือดออกตามไรฟัน น้ำลายไหลมากขึ้น ฯลฯ เจ้าของสามารถป้องกันโรคช่องปากให้กับสุนัขได้โดย การแปรงฟันด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขโดยเฉพาะ ล้างปากด้วยยาล้างปากที่มีส่วนผสมของ 0.12% chlorhexidine วันละ 2 ครั้งหรือทุกครั้งหลังสุนัขกินอาหาร ปรับอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลช่องปาก ลดคราบหินปูนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ใน Veterinary Oral health Council ซึ่งสุนัขปกติควรพาไปตรวจช่องปากอย่างละเอียดทุก 6 เดือนครับ
2 โรคอ้วนและน้ำหนักเกิน
ปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในสุนัขพบบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในรายงานบอกว่า สุนัขในอเมริกาเป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเพิ่มมากขึ้นถึง 74% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2007 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของสุนัขทั้งหมด ซึ่งเมื่อสุนัขเป็นโรคอ้วนแล้ว จะโน้มนำทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคหลอดท่อลมตีบแคบ ปัญหาคลอดยาก ฯลฯ อีกทั้งสุนัขที่อ้วนจะใช้ชีวิตลำบากมากกว่าสุนัขปกติ เหมือนแบกเอาถุงทรายหนักๆ ติดไว้กับตัว การที่สุนัขมีน้ำหนักแม้เพียงเล็กน้อยจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น หากสุนัขปกติน้ำหนัก 5 กิโลกรัม แต่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม เท่ากับคนน้ำหนัก 70 กิโลกรัม แต่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 14 กิโลกรัม เลยทีเดียว
เจ้าของสามารถประเมินความอ้วนให้กับสุนัขได้ด้วยตัวเอง โดยสังเกตง่าย ๆ 7 จุดสำคัญสุนัขอ้วน ได้แก่ มองไม่พบเอว มองจากด้านบนลำตัวพบแผ่นหลังหนากว้าง มองจากด้านข้างลำตัวพบท้องย้อยขยายใหญ่ คลำไม่พบปุ่มกระดูกสะโพก คลำไม่พบกระดูกบริเวณโคนทาง คลำไม่พบกระดูกซี่โครง และคลำไม่พบกระดูกสะบักบริเวณหัวไหล่ สำหรับสุนัขที่อ้วน เจ้าของจะต้องร่วมมือกับสัตวแพทย์เพื่อลดน้ำหนัก โดยยึดหลักง่าย ๆ คือ ให้กินอาหารที่มีพลังงานต่ำ ๆ ซึ่งไม่ใช่การลดปริมาณอาหารลง แต่เปลี่ยนมาให้กินอาหารแคลอรี่น้อย ๆ แทน ร่วมกับออกกำลังอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญเอาไขมันที่สะสมออกไป ทำให้ร่างกายเกิด negative energy balance เพื่อน ๆ สามารถศึกษารายละเอียดวิธีการพิชิตโรคอ้วนในสุนัขเพิ่มเติมได้ใน บทความ หยุด!! โรคอ้วนสุนัข ด้วยหลักโภชนาการที่ถูกต้อง นะครับ
3 โรคช่องหูส่วนนอกอักเสบ
โรคนี้เจ้าของหลายคนมักมองข้ามไป แต่กลับก่อปัญหาให้กับสุนัขเป็นจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ บางรายก็ป่วยจนเรื้อรังรักษาไม่หายขาดสักที สำหรับโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบนั้น ส่วนมากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทั้งแบคทีเรีย ยีสต์ และตัวไรหู ซึ่งเป็นสาเหตุรองที่สามารถจัดการได้ง่าย ในบางรายที่เป็น ๆ หาย ๆ ส่วนมากจะมีสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างช่องหูผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ฯลฯ สุนัขที่ป่วยจะมีอาการคันหู หูมีกลิ่นเหม็น มีขี้หูมากกว่าปกติ ขี้หูมีสีดำหรือสีน้ำตาล ผิวใบหูและผิวช่องหูจะหนาตัว และแดงขึ้น บางรายอาจพบว่ามีใบหูบวมเบ่งโป่งพองขึ้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ต้องหมั่นทำความสะอาดช่องหูให้กับสุนัขอย่างถูกวิธี ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหูสำหรับสุนัขที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อย่างน้อยทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง แต่ถ้าเป็นโรคนี้แล้วต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดขึ้นเป็น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์แทน เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ 4 วิธีรับมือปัญหาช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข ครับ
4 โรคลายม์ (Lyme disease)
โรคนี้หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก เพราะไม่ค่อยพบในบ้านเรา แต่เป็นโรคที่ติดจากเห็บเช่นเดียวกับโรคพยาธิในเม็ดเลือดในสุนัขที่หลายคนรู้จักกันดี แต่โรคลายม์เกิดจากเชื้อ Borrelia burgdorferi คนละเชื้อกับโรคพยาธิในเม็ดเลือดที่พบบ่อยในบ้านเรา ซึ่งในรายงานบอกว่า สุนัขในสหรัฐอเมริกาพบการระบาดของโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 22% จากเมื่อ 5 ปีก่อนเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อลองเทียบกับรายงานการสำรวจโรคพยาธิในเม็ดเลือดจากเชื้อ E. canis ที่มีการสำรวจที่จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 2014 แล้ว ก็พบราว 21.5% มากที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อก่อโรคพยาธิในเม็ดเลือดตัวอื่น ๆ (Piratae S. et al., 2015)
สำหรับสุนัขที่เป็นโรคลายม์นั้น จะมีแสดงอาการมีไข้ เจ็บปวดตามข้อ ไม่อยากลุกยืนหรือเดิน ซึมลง บางตัวอาจมีอาการทางระบบประสาท บางตัวเป็น ๆ หาย ๆ บางตัวเป็นเรื้อรังยาวนานอาจส่งผลต่อหัวใจและไต ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาน้องหมาจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 30 วัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันเห็บให้กับสุนัข ในบางประเทศมีวัคซีนป้องกันโรค โดยฉีด 2 ครั้งในปีแรก กระตุ้นห่างกัน 2-3 สัปดาห์ จากนั้นให้พาไปฉีดกระตุ้นเป็นประจำทุกปี ข้อสังเกตก็คือ โรคนี้ติดจากเห็บ ซึ่งเห็บก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญในบ้านเราเช่นกัน แม้โรคนี้จะยังพบไม่บ่อยในบ้านเรา เจ้าของน้องหมาก็ควรต้องเฝ้าระวังและป้องกันสุนัขของตัวเองให้ดี เพื่อน ๆ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ ลายม์ (Lyme disease) โรคร้ายจากเห็บ ที่คนรักสุนัขต้องเฝ้าระวัง ครับ
5 โรคไข้หวัดใหญ่ในสุนัข
เป็นโรคระบาดสำคัญประจำปี 2015 เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H3N2 ที่มีรายงานการระบาดในชิคาโก สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีนี้ มีสุนัขที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่า ได้รับเชื้อดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 2,000 ตัว อาการส่วนใหญ่จะคล้ายสุนัขที่เป็นโรคหวัด คือ สุนัขจะมีอาการไอ มีน้ำมูก มีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร ฯลฯ แต่จะแสดงอาการ 2-3 วันหลังการติดเชื้อ และระยะแพร่เชื้อไวรัสจะ peak มากที่ 3-4 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยจะแสดงอาการไปยาวนานประมาณ 7-10 วัน ซึ่งสุนัขบางตัวอาจแสดงอาการนานถึง 24 วัน อย่างไรก็ดีมีสุนัขประมาณ 20-25% ที่รับเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อได้ (ข้อมูลจาก American Veterinary Medical Association) การรักษาจะรักษาตามอาการ บางรายอาจได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อลดปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้สุนัขเสียชีวิตได้
แม้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในสุนัขชนิดเอ สายพันธุ์ H3N8 แล้ว แต่สำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H3N2 ที่ระบาดในปีนี้ เป็น strain ใหม่ ที่วัคซีนอาจยังไม่ครอบคลุม (ข้อมูลจาก Cornell University College of Veterinary Medicine) คาดว่าเชื้อสายพันธุ์ H3N2 นี้ ระบาดมาจากทวีปเอเชีย พบรายงานครั้งแรกที่ประเทศเกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 2007 จากนั้นก็มีรายงานการระบาดในประเทศจีน และพบรายงานการระบาดในประเทศไทยของเราด้วย ในปี ค.ศ.2012 อย่างไรก็ดีเชื้อไข้หวัดใหญ่ในสุนัขนี้ติดต่อกันในสุนัขและแมว ยังไม่รายงานติดต่อมายังมนุษย์นะครับ
สาเหตุที่ยกโรคเหล่านี้มาเล่านั้น เพราะว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะโรคทางช่องปากและฟัน โรคอ้วน และโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบ ส่วนโรคลามย์นั้น แม้หลายคงจะยังไม่รู้จัก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคนี้มีความสำคัญ ติดได้จากเห็บ ทั้งยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วย และสุดท้ายโรคไข้หวัดใหญ่ในสุนัข H3N2 ที่ระบาดในปีนี้ เป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งพบในสุนัขประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ไม่น่าเชื่อว่า เคยมีรายงานในประเทศเราแล้ว จึงอยากนำมาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ทราบกันเอาไว้ครับ
นอกจากโรคทั้ง 5 โรคนี้แล้ว ยังมีรายงานถึงโรคอื่น ๆ อีกมากมาย โดยแบ่งออกตามกลุ่มโรคต่าง ๆ ทั้ง 3 กลุ่มตามที่ได้กล่าวไป เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ State of Pet Health สำหรับปีนี้ผมคงต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ปีหน้า...สวัสดีครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
เนื้อหาบางส่วน:
Piratae S, Pimpjong K, Vaisusuk K, Chatan W. 2015. Molecular detection of Ehrlichia canis, Hepatozoon canis and Babesia canis vogeli in stray dogs in Mahasarakham province, Thailand. Annals of Parasitology 2015, 61(3), 183-187
http://www.banfield.com/state-of-pet-health
https://www.avma.org/KB/Resources/reference/Pages/Canine-influenza-Backgrounder.aspx
https://ahdc.vet.cornell.edu/news/civchicago.cfm
รูปภาพประกอบ:
www.dogslife.com.au
www.caninegoodcitizen.wordpress.com
www.dogilike.com
www.flickr.com
www.bakerinstitute.vet.cornell.edu
www.vetstreet.com
SHARES