โดย: Tonvet

5 สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับขึ้น

มาดูสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อตับและทำให้ค่าเอนไซม์ตับน้องหมาสูงขึ้น

20 มกราคม 2559 · · อ่าน (57,859)
265

SHARES


265 shares

Dogilike.com :: 5 สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับขึ้น



     บ่อยครั้งที่มีเพื่อน ๆ เข้ามาถามในเว็บไซต์ด็อกไอไลค์ (Dogilike) ว่า พาน้องหมาไปตรวจเลือดมา แล้วพบว่ามีค่าตับสูงขึ้น จะเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ความจริงคำถามอย่างนี้ก็ตอบยากนะครับ เพราะค่าเอนไซม์ตับนั้นมีมากมายหลายค่าเลยครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณหมอจะเลือกตรวจค่าไหน ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความผิดปกติที่น้องหมาเป็น

 
     สำหรับกรณีที่เจ้าของพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพทั่วไปนั้น ค่าเอนไซม์ตับที่คุณหมอมักจะเลือกตรวจอยู่บ่อย ๆ ก็ คือ aspartate aminotransferase (AST หรือ SGOT ) และ alanine aminotransferase (ALT หรือ SGPT) บทความตอนนี้ผมจึงขอเล่าถึงเอนไซม์ตับสองตัวนี้ก่อนนะครับ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย...
 

 

มารู้จักค่าเอนไซม์ตับกันหน่อย


 

Dogilike.com :: 5 สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับขึ้น


 
     ค่าเอนไซม์ตับนั้นมีหลายค่าและมีชื่อที่ค่อนข้างยาว ส่วนมากเรามักจะเรียกชื่อตามอักษรย่อภาษาอังกฤษ คือ AST หรือ SGOT และ ALT หรือ SGPT เวลาที่ตรวจพบว่าค่าเอนไซม์เหล่านี้สูงขึ้นนั้น ก็บ่งบอกได้ว่า มีเอนไซม์ที่รั่วออกมาจากเซลล์ตับ เมื่อเวลาที่เซลล์ตับเกิดความเสียหายขึ้น

     สำหรับ AST นั้นเป็นเอนไซม์ที่พบได้ในไมโตรคอนเดรียของเซลล์ตับ ค่า AST นั้นมีความไวมากและมักจะถูกตรวจพบได้ง่าย เมื่อเกิดความเสียหายต่อเซลล์ตับในระยะแรก ๆ แต่ในทางกลับกันค่า AST จะมีความจำเพาะต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ตับน้อยกว่า เพราะนอกจากพบที่เซลล์ตับแล้วยังพบเอนไซม์นี้ที่เซลล์กล้ามเนื้อและไตได้ด้วย 
 
     ดังนั้นคุณหมอจึงมักจะตรวจค่า AST ควบคู่ไปกับค่า ALT ด้วย หรือตรวจร่วมกับค่าเอนไซม์อื่น ๆ ที่บ่งบอกภาวะการทำงานของเซลล์ตับ เช่น ALP, serum bile acid, GGT ฯลฯ แล้วนำมาพิจารณาควบคู่กันหลาย ๆ ค่า เพื่อใช้พยากรณ์โรคที่น้องหมากำลังเป็นอยู่ ในกรณีที่ค่าเอนไซม์ตับสูงกว่าผิดปกติเกินหลายเท่าตัว ก็อาจบ่งชี้ภาวะของโรคได้เช่นกัน

 
 

สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับสูง


 

Dogilike.com :: 5 สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับขึ้น


 
     การที่คุณหมอตรวจพบว่าน้องหมามีค่าตับสูงขึ้นนั้น อาจไม่สามารถบ่งบอกถึงสาเหตุได้ในทันที การจะระบุถึงสาเหตุได้นั้น จำเป็นต้องมีการตรวจอย่างอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็นการค่าเลือดอื่น ๆ การอัลตร้าซาวด์ หรือแม้แต่การซักประวัติและอาการต่าง ๆ เพิ่มเติม ดังนั้นในการวินิจฉัยโรค จึงต้องอาศัยข้อมูลหลาย ๆ ทาง เพื่อระบุหาสาเหตุที่แท้จริง
 
     สำหรับสาเหตุที่ทำให้น้องหมามีค่าเอนไซม์ตับสูงนั้นมีมากมาย วันนี้ผมขอคัดเอาสาเหตุเด่น ๆ มาเล่าให้เพื่อน ๆ อ่าน โดยแยกออกเป็นกลุ่มโรคดังนี้นะครับ


 

1 โรคที่ตับ


 
     ความผิดปกติที่ตับ ไม่ว่าจะเกิดจากเซลล์ตับถูกทำลาย เกิดการอักเสบ ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดความเสื่อมของเซลล์ตับก็ดี ล้วนส่งผลให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้ ความผิดปกติของตับที่มักพบบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น ภาวะตับวายเฉียบพลัน ภาวะตับวายเรื้อรัง ไขมันพอกตับ ตับโต ฝีที่ตับ ซีสต์ที่ตับ ตับแข็ง (Liver Cirrhosis) เป็นต้น เหล่านี้อาจส่งผลให้ตับสูญเสียการทำงาน และส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเหลือง ท้องโต เจ็บท้อง น้ำหนักลด ท้องเสีย อาเจียน อ่อนแรง ไม่อยากอาหาร ฯลฯ ตามมาได้ครับ 
 

 

2 โรคติดเชื้อ

 
 
     การได้รับเชื้อโรคบางชนิดก็สามารถไปทำลายเซลล์ตับได้ เช่น เชื้อไวรัส adenovirus (CAV-1) ทำให้เกิดโรคตับอักเสบติดต่อในสุนัข เชื้อ Toxoplasma เชื้อพยาธิในเม็ดเลือด Hepatozoon เชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ระบบร่างกาย ฯลฯ นอกจากนี้เชื้อราที่สร้างสารพิษอัลฟลาทอกซิน ซึ่งมักพบในข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วที่นำมาทำเป็นอาหารสำหรับน้องหมา ก็ทำให้เกิดโรคตับอักเสบหรือมะเร็งที่ตับได้เช่นกันครับ


Dogilike.com :: 5 สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับขึ้น



 

3 โรคหัวใจและหลอดเลือด

 
 
     หลายคนคงสงสัยว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดทำให้น้องหมามีค่าตับสูงได้อย่างไรกันนะ ก็คือว่า เวลาที่น้องหมาป่วยเป็นโรคหัวใจ จะส่งผลต่อการสูบฉีดและการลำเลียงเลือด ซึ่งตับเป็นอวัยวะที่ต้องการเลือกไปเลี้ยงมาก เมื่อระบบการไหลเวียนเลือดถูกรบกวน เลือดไปเลี้ยงที่ตับลดลงหรือไม่เพียงพอ เซลล์ตับจึงขาดออกซิเจน ก็จะทำให้เซลล์ตับตาย เช่นเดียวกับเวลาที่น้องหมาช็อกหรือเกิดภาวะโลหิตจาง เมื่อเซลล์ตับเสียหาย ค่าเอนไซม์ตับก็เลยสูงขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ค่าเอนไซม์ตับบางตัว สามารถพบได้ที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจด้วย การที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้เช่นกันครับ
 
 
 

4 โรคเนิ้องอกและมะเร็ง

 
 
     เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ร้าย เมื่อเกิดขึ้นกับอวัยวะไหนแล้ว ก็สร้างความเสียหายให้กับอวัยวะนั้น กรณีของมะเร็งตับก็เช่นกัน เมื่อเซลล์ตับถูกทำลาย ค่าเอนไซม์ตับก็สูงขึ้นตามมา มะเร็งที่ตับนั้นอาจเกิดได้จากที่ตับเอง หรือเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่ตับก็ได้ ซึ่งโรคเนื้องอกและมะเร็งที่ตับก็มีอยู่หลายชนิด เช่น hepatocellular carcinoma, bile duct carcinoma (cholangiocarcinoma), chemodectoma, hepatocellular adenoma, hepatoblastoma, hepatic sarcomas, secondary metastatic lymphoma เป็นต้น ครับ 

 

Dogilike.com :: 5 สาเหตุที่ทำน้องหมามีค่าเอนไซม์ตับขึ้น



 

5 การได้รับสารพิษหรือยาบางชนิด

 
 
     ตับเปรียบเสมือนโรงงานหลักของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารอะไรก็ตาม จะถูกลำเลียงมายังตับ เพื่อสังเคราะห์ แปรรูป สะสม หรือกำจัดออกที่ตับ ตับจึงเป็นอวัยวะที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารพิษมากกว่าอวัยวะอื่น ๆ การได้รับสารพิษหรือยาเป็นเวลานานหรือได้รับในปริมาณสูงเกินไป จะส่งผลให้เซลล์ตับได้รับความเสียหาย ค่าเอนไซม์ตับก็เลยสูงขึ้น ซึ่งสารพิษในที่นี้ก็อาจจะมาจาก อาหารที่น้องหมากินเข้าไป เนื้อดิบที่ปรุงไม่สุก ยาและอาหารเสริมบางอย่าง แร่ธาตุทองแดง (Copper) ฯลฯ ในกรณีนี้บางรายอาจะดีขึ้นหลังจากหยุดรับยาหรือสารพิษนั้นไปแล้วครับ
 
 
 
     สำหรับน้องหมาที่มีค่าเอนไซม์ตับสูงนั้น ควรต้องหาสาเหตุที่แท้จริงเพิ่มเติมต่อว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า การตรวจพบว่าน้องหมามีค่าตับสูงขึ้นนั้น อาจไม่สามารถบ่งบอกถึงสาเหตุได้ในทันที สาเหตุที่ทำให้น้องหมามีค่าตับสูงนั้นก็มีมากมาย ซึ่งการรักษาโรคตับให้ตรงจุดควรต้องรักษาที่สาเหตุ น้องหมาอาจต้องได้รับยาบำรุงตับ ยาบรรเทาอาการ นอกจากนี้แล้วก็อาจต้องมีการปรับสูตรอาหารรักษาโรค ปัจจุบันมีสูตรอาหารสำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคตับโดยเฉพาะ ซึ่งต้องควบคุมปริมาณไขมันในอาหารด้วยครับ...และนี่ ก็คือสาเหตุที่ทำให้ค่าเอนไซม์ AST และ ALT จากตับสูงขึ้นในน้องหมา หวังว่าจะคลายข้อสงสัยให้กับเพือน ๆ ได้นะครับ
 


 
บทความโดย : หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ :
http://aboutdoggies.net/wp-content/uploads/2013/09/cute-dog-wallpaper-3.jpg
http://www.askjpc.org/wsco/wsc/images/2012/120103-1.jpg
http://image.slidesharecdn.com/020112-rvandyke-livertests-120621102932-phpapp01/95/020112b-liver-tests-use-and-interpretation-12-728.jpg?cb=1340274729
http://keyassets.timeincuk.net/inspirewp/live/wp-content/uploads/sites/6/2013/08/bilirubin_jaundice_in_dogs.jpg
http://www.lbah.com/images/liver/roundedliver.jpg