โดย: Tonvet
ตามหาสาเหตุของอาการ ซึม ของน้องหมาว่าเกิดจากอะไรบ้าง?
มาดูกันว่าน้องหมาสามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบในคนได้หรือไม่ แล้วที่ซึมลงเป็นเพราะอะไรกันแน่
16 มีนาคม 2559 · · อ่าน (195,915)
เวลาที่น้องหมาป่วยหรือไม่สบาย ส่วนมากเจ้าของก็จะสังเกตุได้จาก การที่น้องหมามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เบื่ออาหาร หรือซึมลงใช่ไหมครับ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง ไม่สามารถระบุสาเหตุความผิดปกติหรือโรคได้แน่ชัด จำเป็นต้องซักประวัติและทำการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดเสียก่อน เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวินิจฉัยโรค
แต่ทีนี่ก็มีบางคนสงสัยว่า แล้วอย่างน้องหมาของเราจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ อย่างเคยเห็นเวลาที่มีน้องหมาตัวหนึ่งในบ้านตาย แล้วน้องหมาอีกตัวหนึ่งในบ้านก็หงอยเหงาเศร้าซึม หรือเวลาที่เจ้าของไม่อยู่ไม่ธุระนาน ๆ แล้ว น้องหมาก็เลยไม่ร่าเริงเหมือนเก่า แบบนี้จะเรียกว่า น้องหมาเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่
ความจริงแล้ว โรคซึมเศร้า อย่างที่พวกเราเข้าใจแบบในคนนั้นเป็นความผิดปกติของร่างกายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ซึ่งหากร่างกายมีสารสื่อประสาทบางอย่างมากเกินไป ก็ส่งผลให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ ต่างกับความศร้า ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ เมื่อได้รับการปลอบใจ ก็จะสามารถกลับมาเป็นภาวะปกติได้ แต่โรคซึมเศร้านั้นจะไม่หายไปเอง จนกว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องครับ
น้องหมาซึมลงเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
น้องหมาที่แสดงอาการ "ซึมลง (Depression)" ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย บางตัวไม่สบาย มีไข้ เจ็บปวดร่างกายมาก จนไม่อยากเคลื่อนไหวไปไหน แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากเรื่องช่วงวัยที่มีอายุมากขึ้น หรือเกิดจากอุปนิสัยหรือพฤติกรรมส่วนตัว น้องหมาบางตัวมีประการณ์ไม่ดีจากการถูกคนทำลายมาก่อน ก็มักจะหวาดระแวง ไม่กล้าเข้าใกล้คน เนื่องจากไม่ไว้วางใจคน เหมือนเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก็อาจกลายเป็นเด็กมีปัญหาตามมาได้
สุนัขบางตัวที่มีประสบการณ์ไม่ดีจากการเรียนรู้ในวัยแรกเกิด ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมดังกล่าวได้ เช่น ลูกสุนัขที่ต้องถูกแยกเลี้ยงจากแม่ก่อนวัยอันควร สุนัขที่ถูกทิ้ง หรือสุนัขที่ถูกแยกเลี้ยงจนทำให้สุนัขเกิดความไม่สบายใจ แล้วจดจำความรู้สึกทางด้านลบต่อการถูกทิ้ง
น้องหมาบางตัวอาจมีภาวะความผูกพันมากเกินไป (hyperattachment) เมื่อเวลาที่ต้องห่างจากเจ้าของหรือสมาชิกในฝูง อาจส่งผลให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น กระวนกระวาย เดินไปเดินมา ส่งเสียงร้อง เห่า หอน น้ำลายไหล ขับถ่ายไม่เป็นที่ ทำลายข้าวของภายในบ้านทำท่าขุดดิน เลียตัวเองมากขึ้น บางตัวก็อาจจะซึม ไม่ร่าเริง นอนมากขึ้น ไม่กินอาหารจนกว่าเจ้าของจะกลับมา ซึ่งกลุ่มอาการทางคลินิกที่ส่งผลต่อพฤติกรรมน้องหมาเมื่อเวลาที่ต้องจากกับเจ้าของ เราเรียกว่า ภาวะวิตกกังวลจากการถูกแยก (Separation Anxiety)
บางครั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ หรือฤดูกาล ก็อาจมีผลต่อพฤติกรรมได้เช่นกัน อย่างในต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ชัดเจน จะพบว่าสุนัขจะนอนมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศอาจทำให้รู้สึกว่าร่างกายมีพลังงานลดลง อีกทั้งการออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้แรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉงนั้นลดลงไปด้วย
แต่อย่างที่บอกไปครับว่า เราจำเป็นต้องแยกต้องกับความผิดปกติทางพฤติกรรมออกจากปัญหาของสุขภาพก่อน เพราะสุนัขที่ป่วยส่วนมากก็จะแสดงอาการซึม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ฯลฯ สุนัขที่ซึมลงบางตัวอาจเริ่มป่วย บางตัวอาจป่วยมานานแล้ว ตรงนี้เจ้าของอาจให้เวลาสังเกตอาการต่อเนื่องไปอีกสัก 24 ชั่วโมง ถ้าอาการซึมไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที ซึ่งอาการซึมเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในสุนัขป่วยทุกสาเหตุ จำเป็นต้องพาสุนัขไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพราะสุนัขที่ซึมส่วนมากก็เพราะความเจ็บป่วยทางร่างกายมากกว่าทางใจ จึงจำเป็นต้องตรวจแยกปัญหาสุขภาพทางกายออกไปก่อน
สำหรับการฝึกให้สุนัขเรียนรู้ที่จะอยู่ลำพังได้ เพื่อป้องกันภาวะวิตกกังกลจากการถูกแยกนั้น เราสามารถทำได้โดย เราจะต้อไม่ใจอ่อน หากสุนัขเรียกร้องความสนใจ เจ้าของจะมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขก็ต่อเมื่อตัวเจ้าของสนใจเท่านั้น เพื่อสอนให้สุนัขเรียนรู้ว่าไม่ควรยึดติดกับเจ้าของมากเกินไป บางครั้งเจ้าของอาจทำการเดินไปที่ประตูแล้วกลับไปกลับมา ออกนอกบ้านแล้วกลับเข้ามา ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อย ๆ หรือทำท่าหยิบกุญแจบ้านแล้ววาง ฝึกให้สุนัขคุ้นเคยกับการที่เจ้าของจะออกนอกบ้าน ว่าการที่เจ้าของออกนอกบ้านนั้นเป็นเรื่องปกติ ประเดี๋ยวก็กลับมา การฝึกดังกล่าว ต้องเป็นไปในเชิงบวกเสมอ ไม่ควรทำโทษสุนัขเด็ดขาดนะครับ
สรุปก็คือ การซึมลงของสุนัขส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย บางส่วนเกิดจากปัญหาพฤติกรรม อันเกิดจากการเลี้ยงดู แต่โรคซึมเศร้าในคนนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ที่ส่งผลต่อร่างกายและการแสดงออกทางอารมณ์ ดังนั้นเวลาสุนัขซึมลงเราต้องแยกให้ออกก่อนว่า เกิดจากความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ ตรงนี้เจ้าของต้องหมั่นสังเกตพฤิตกรรมสุนัขของเราอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีความผิดปกติก็อย่านิ่งนอนใจ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเลยครับ
บทความโดย : หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
SHARES