โดย: Tonvet

ทำไมสุนัขไปบริจาคเลือดให้กัน แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้

มาทำความเข้าใจ ถึงความยุ่งยากในการนำเลือดสุนัขอีกตัวมาให้สุนัขอีกตัวกันครับ

21 เมษายน 2559 · · อ่าน (17,652)
4,213

SHARES


4,213 shares

Dogilike.com :: ทำไมสุนัขไปบริจาคเลือดให้กัน แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้



     ช่วงนี้กระแสการบริจาคเลือดของสุนัขกำลังเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากมีข่าวสุนัขพันธุ์ชิบะตัวหนึ่งถูกทำร้าย ทำให้ต้องสูญเสียขาข้างหนึ่งไป ซึ่งเหตุดังกล่าวส่งผลทำให้ค่าเลือดเกิดความผิดปกติตามมา จึงต้องประกาศขอรับบริจาคเลือดสด (Fresh whole blood) จากเพื่อนสุนัขด้วยกัน เพื่อนำมาใช้ประกอบการรักษา หลังจากนั้นไม่นานก็มีเพื่อนสุนัขมากมายทยอยมาบริจาคเลือดให้

     แต่ก็มีเลือดสุนัขหลายตัวที่นำไปใช้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบการเข้ากันได้ของหมู่เลือด (cross matching) ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? ทั้ง ๆ ที่สุนัขที่มาบริจาคเลือดตัวนั้นก็มีสุขภาพดี ผลเลือดปกติอย่าง แล้วยังปราศจากโรคติดต่อทางกระแสเลือดอีกต่างหาก...

Dogilike.com :: ทำไมสุนัขไปบริจาคเลือดให้กัน แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจาก สมาชิก facebook คุณ Sik Luesopon

 
     ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักหมู่เลือดในสุนัขกันหน่อยดีกว่าครับ หมู่เลือดของสุนัขจะแบ่งตามแอนติเจนที่อยู่บนผิวเซลล์ของเม็ดเลือดแดงของสุนัข หรือ Dog Erythrocyte antigen (DEA) ปัจจุบันมีการค้นพบแล้ว 13 หมู่เลือด จากเดิมที่มีเพียงแค่ 8 หมู่เลือด คือ DEA 1.1, DEA 1.2, DEA 3, DEA 4, DEA 5, DEA 6, DEA 7 และ DEA 8 ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 จึงมีรายงานการค้นพบเพิ่มในสุนัขพันธุ์ Dalmatian ของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเรียก Dal antigen เป็นชื่อกลุ่มเลือดนี้ (ชั่วคราว) และยังมีอีกหลายแอนติเจนที่คาดว่าจะค้นพบเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้  นอกจากนี้ก็ยังมีการแยกกลุ่มเลือดเป็น positive กับ negative ด้วย คล้ายกับ Rh+/Rh- ในมนุษย์ครับ
 
     สำหรับหมู่เลือดที่มีความน่าสนใจก็ได้แก่ หมู่เลือด DEA 1 ซึ่งประกอบจากยีนควบคุมที่ต่างกันอีก 4 ยีน ได้แก่ DEA Negative, DEA 1.1, DEA 1.2, และ DEA 1.3 โดยหมู่เลือด DEA 1.1 กับ DEA 1.2  จะไม่สามารถเป็นผู้บริจาคเลือดให้หมู่เลือดอื่นได้ คล้ายกับกลุ่มเลือด AB ในมนุษย์ แม้แต่หมู่เลือด DEA 1.2 เองก็ยังสามารถสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านหมู่เลือด DEA 1.1 ภายหลังจากการถ่ายเลือดได้เช่นกัน  

     ส่วนหมู่เลือด DEA 4 นั้นสามารถให้เลือดได้กับสุนัขทุกหมู่เลือด คล้ายกับกลุ่มเลือด O ในมนุษย์ เนื่องจากไม่มีการสร้างแอนติบอดี ยิ่งถ้าสุนัขตัวไหนมีแอนติเจนนี้เดี่ยว ๆ เลย จะถือเป็น Universal donor  แต่อย่างไรก็ดี เราพบว่าถ้าสุนัขตัวไหนเคยได้รับเลือดหมู่ DEA 4 ไปแล้ว หากครั้งที่สองได้รับอีก ในบางกรณีก็อาจพบเม็ดเลือดแดงแตกได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรทำการทดสอบการเข้ากันได้ของหมู่เลือด (crossmatch) กันก่อนถ่ายเลือดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย 
 
     สำหรับสุนัขที่มีหมู่เลือดอื่น ๆ ก็มีรายงานว่า สามารถสร้างแอนติบอดีได้บางส่วน เช่น หมู่เลือด DEA 3 negative สามารถสร้างแอนติบอดีได้ราว 20% แต่ที่เหลือก็พอจะนำเลือดไปใช้ได้ เพียงแต่ต้องทำการทดสอบการเข้ากันได้ของหมู่เลือดเสียก่อน เพื่อคัดกรองให้มั่นใจก่อนนำมาใช้ ยกเว้น หมู่เลือด DEA 7 ที่จะมีการสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านตัวเอง แล้วจะเกิดปฏิกิริยาแบบ Delay ภายหลังจากการถ่ายเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงที่ถ่ายให้นั้นมีอายุสั้นลง ไม่ถึงกับทำให้เม็ดเลือดแดงแตกซะทีเดียว แต่ก็ไม่แนะนำให้ใช้หมู่เลือด DEA 7 เช่นกัน ถ้าทราบมาก่อน 
 

Dogilike.com :: ทำไมสุนัขไปบริจาคเลือดให้กัน แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้

     
     หลังจากเรารู้ว่าสุนัขแต่ละตัวมีหมู่เลือดอะไรแล้ว ก็ใช่ว่าจะนำมาให้กันได้เลยนะครับ เรื่องมันยังไม่จบเท่านี้ ก่อนจะให้เลือดกัน ยังต้องทำการทดสอบการเข้ากันได้ของหมู่เลือดด้วยว่าได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย ตรงนี้ก็ต้องทดสอบทั้ง Major cross matching โดยนำเม็ดเลือดแดง (แอนติเจน) ของผู้ให้ มาทดสอบกับซีรั่มของผู้รับ เพื่อดูว่าในซีรั่มของผู้รับมีแอนติบอดีที่ต่อต้านแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดงของผู้ให้หรือไม่ เพราะถ้ามีแอนติบอดีก็ให้กันไม่ได้ ถือว่า Cross match ไม่ผ่าน ในทางตรงกันข้าม ก็จะทำการทดสอบ Minor cross matching ด้วย โดยนำซีรั่มของผู้ให้ มาทดสอบกับ เม็ดเลือดแดง (แอนติเจน) ของผู้รับ เพื่อดูว่าในซีรั่มของผู้ให้มีแอนติบอดีที่ต่อต้านแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดงของผู้รับหรือไม่ เพราะถ้ามีแอนติบอดีก็ให้กันไม่ได้ ถือว่า Cross match ไม่ผ่านเช่นกัน แต่กรณีหลังนี้จะเกิด tranfution reaction ไม่มากเท่ากับกรณีแรก เพราะปริมาณพลาสมาของตัวให้มีปริมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับเม็ดเลือดแดงในร่างกายของตัวรับ

     อย่างไรก็ดีทั้งสองกรณีเป็นการทดสอบเพื่อให้มันใจว่า เลือดที่นำมาให้นั้น จะไม่จับกลุ่มกันตกตะกอน (hemaglutination) ใด ๆ ทั้งสิ้น ขั้นตอนนี้เองที่มักจะไม่ผ่านกัน เพราะถ้าหากซีรั่มของสุนัขฝ่ายใดฝ่ายหนึงหรือทั้งสองฝ่ายมีแอนติบอดีต่อต้านแอนติเจนของอีกฝ่าย ก็จะถือว่า “ไม่ปลอดภัย” นำมาใช้ไม่ได้

Dogilike.com :: ทำไมสุนัขไปบริจาคเลือดให้กัน แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้

    
     เพื่อน ๆ คงพอจะเห็นภาพคร่าว ๆ ถึงความยุ่งยากให้การใช้เลือดของสุนัขแล้วใช่หรือไม่ครับ สรุปก็คือ หมู่เลือดในสุนัขนั้นมีมากมาย บางหมู่เลือดสามารถสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านอีกหมู่หนึ่งได้ หมู่เลือดที่ห้ามนำมาให้เลือดเด็ดขาดเลยก็คือ หมู่เลือด DEA 1.1, DEA1.2 และ DEA 7 นอกจากนี้ยังมีการแยกกลุ่มเลือดเป็น positive กับ negative อีก ซึ่งห้ามนำเลือดสุนัขที่มี DEA 1.1 positive ให้กับสุนัขที่มี DEA 1.1 negative และสุดท้ายก็ต้องผ่านการทดสอบการเข้ากันได้ของเลือดด้วย ซึ่งในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจริงๆ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องผ่านการทดสอบ Major cross matching ก่อน จึงจะนำเลือดมาให้ได้

     การตรวจหากลุ่มเลือดในสุนัขปัจจุบัน จึงถือว่าจำเป็น ซึ่งในอดีตเราจะให้ความสำคัญแค่เพียงการตรวจทดสอบการเข้ากันได้ของหมู่เลือดเท่านั้น แต่หลาย ๆ กรณีที่แม้จะทดสอบว่าเลือดสามารถเข้ากันได้แล้ว แต่ก็ยังพบสุนัขเสียชีวิตหลังจากการให้เลือด เนื่องจากได้รับกลุ่มเลือดที่เข้ากันไม่ได้ โดยเฉพาะสุนัขที่ได้รับการถ่ายเลือดเป็นครั้งที่ 2 เพราะร่างกายได้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาแล้วหลังจากการรับการถ่ายเลือดในครั้งแรก พอได้รับกลุ่มเลือดที่ไม่เหมาะสมกันอย่างแท้จริงซ้ำอีกครั้ง ก็จะทำให้เม็ดเลือดแดงจับกลุ่มกัน และสุนัขก็เสียชีวิตในระยะเวลาไม่นาน เนื่องจากไม่สามารถนำเม็ดเลือดแดงไปใช้ประโยชน์ได้ครับ

Dogilike.com :: ทำไมสุนัขไปบริจาคเลือดให้กัน แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้

     
     ด้วยความหลากหลายอย่างนี้เองที่ทำให้สุนัขที่รอรับการบริจาคเลือด ไม่ได้เลือดตามที่ต้องการเสียที
บางรายทำ cross match เท่าไหร่ก็ไม่ผ่าน คล้ายกับการสุ่มจับฉลากอย่างใดอย่างนั้น ถ้าโชคดีจับได้ตัวที่เข้ากันเร็วหน่อยก็ดีไป แต่บางรายก็ไม่เป็นอย่างนั้น หลายรายทนรอไม่ไหวต้องเสียชีวิตไปก่อนจะได้เลือดก็มี

     ดังนั้นการพาสุนัขมาบริจาคเลือดกันเยอะ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้เป็นการเพิ่มตัวเลือกให้กับสุนัขป่วยที่รอรับการบริจาคเลือดอยู่ ช่วยเพิ่มโอกาสในการหาเลือดที่สามารถเข้ากันได้มากขึ้น แม้เลือดสุนัขตัวหนึ่งอาจไม่เข้ากับสุนัขอีกตัวหนึ่ง แต่อาจนำไปใช้ประโยชน์กับสุนัขตัวอื่น ๆ ที่มีเลือดเข้ากันได้ จึงอยากใช้โอกาสนี้รณรงค์ให้เพื่อน ๆ เห็นความสำคัญของการบริจาคเลือดสุนัขกันด้วยครับ เพื่อนๆ ที่สนใจสามารถศึกษาขั้นตอนการบริจาคอย่างละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บทความนี้



 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
เนื้อหาบางส่วน:
http://veterinarymedicine.dvm360.com/update-blood-typing-crossmatching-and-doing-no-harm-transfusing-dogs-and-cats
 
 
รูปภาพประกอบ:
https://dogsdonateblood.files.wordpress.com/2012/10/037403-donor-dog-brisbane-veterinary-specialist-centre1.jpg
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10156764638710333&set=a.10150590529990333.676186.735710332&type=3
https://www.atdove.org/sites/atdove.org/files/article-images/Transfusion-Medicine-Myths/hanging-prbc-v2.jpg
http://image.slidesharecdn.com/bloodphysiology-120127074803-phpapp02/95/blood-physiology-80-728.jpg?cb=1327651359
http://i2.dailyrecord.co.uk/incoming/article6611515.ece/ALTERNATES/s615b/JS74099948.jpg