โดย: Tonvet

4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล

มาดูว่าพืชชนิดอะไรที่นำมาสกัดสาร แล้วใช้เป็นสารเสริมอาหารประกอบการรักษาโรคแล้วได้ผลบ้าง

11 พฤษภาคม 2559 · · อ่าน (8,600)
416

SHARES


416 shares

 

Dogilike.com :: 4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล



     แม้การรักษาสัตว์ในปัจจุบันจะมุ้งเน้นการรักษาตามการแพทย์แผนตะวันตก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยาบางอย่างของทางตะวันตกนั้น ก็ผลิตมาจากพืชหรือส่วนประกอบของพืช เช่น มอร์ฟีนจากยางของผลฝิ่น อะโทรปีนจากดอกต้นลำโพง ควินินจากต้นควินิน เป็นต้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นนักวิจัยในปัจจุบันหันกลับมาสนใจศึกษาสารออกฤทธิ์สำคัญที่มีในพืชสมุนไพร เผื่อว่าจะนำมาใช้เป็นยาหรือสารเสริมการรักษาโรคได้
 
 
     แนวคิด โภชนเภสัช (nutraceutical) หรือสารเสริมอาหารประกอบการรักษาโรค จึงได้รับนิยมมากขึ้นทั้งในคนและในสัตว์ ปัจจุบันมีงานการศึกษามากมายถึงผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ได้จากการสกัดสารจากพืช และมีการนำมาใช้ในน้องหมาจริง ๆ บ้างแล้ว เรามาดูกันครับว่า มีสารสกัดจากพืชชนิดอะไร ที่ใช้แล้วได้ผลบ้าง...
 

Dogilike.com :: 4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล


 

สารสกัดจากแครนเบอร์รี่ (cranberry extract) 

 
 
     แครนเบอร์รี่ (cranberry) เป็นพืชในตระกูลเบอร์รี่ ที่นิยมปลูกกันในแถบประเทศเขตหนาว มีการนำมาใช้ทั้งในการป้องกัน และรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งโรคนี้มักพบในสุนัขเพศเมียมากกว่าสุนัขเพศผู้ โดยในแครนเบอร์รี่จะมีสารออกฤทธิ์สำคัญที่ชื่อว่า โปรแอนโธรไซยานิดิน (Proantrocyanidins) ช่วยป้องกันไม่ให้เชื่อโรคมาสัมผัสกับผนังกระเพาะปัสสาวะ และยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้ด้วย 
 
 
     มีการนำสารสกัดจากแครนเบอร์รีมาใช้ในสุนัขแล้ว พบว่าสามารถช่วยยับยั้งการเกาะของเชื้อแบคทีเรียกับผนังกระเพาะปัสสาวะของสุนัขได้ (Bacteriostatic effect) และยังช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินปัสสาวะด้วย ปัจจุบันมีรูปแบบของสารสกัดชนิดแคปซูล ซึ่งใช้ได้สะดวก เพราะทราบปริมาณโปรแอนโธรไซยานิดินชัดเจน โดยขนาดที่แนะนำให้กินในสัตว์เลี้ยง คือ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์
 

Dogilike.com :: 4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล


 
 

สารสกัดจากเมล็ดต้นมิลค์ ทิสเซิล (Milk thistle)

 
 
     ต้นมิลค์ ทิสเซิล (Milk thistle) เป็นพืชที่นิยมปลูกกันในแถบเมดิเตอร์เรเนียน  ซึ่งในเมล็ดจะมีสารออกฤทธิ์สำคัญที่ชื่อว่า ไซลิมาริน (Silymarin) ซึ่งสารประเภท ฟลาโวนอยด์ (Flavanoid) ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ สามารถปกป้องไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้สารไซลิมาริน (Silymarin) ยังช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนของเซลล์ตับได้ด้วย จึงช่วยในการฟื้นฟูเซลล์ตับ และยับยั้งการแปรสภาพของเซลล์ตับที่ดีไปเป็นเซลล์ตับที่เสีย
 
 
     ในอดีตชาวยุโรปมีการใช้เมล็ดของต้นมิลค์ ทิสเซิล (Milk thistle) มารักษาภาวะดีซ่าน อาการผิดปกติของตับและน้ำดี แต่ในปัจจุบันมีการผลิตออกมาเป็นรูปแบบยาเม็ดขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบัน มีขนาด 70 และ 140 มิลลิกรัม โดยขนาดที่แนะนำให้ใช้ในสัตว์เลี้ยง คือ 10 -15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในรูปแบบสารสกัด (Extract) ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้น

 

Dogilike.com :: 4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล


 
 

สารสกัดจากมะระขี้นก (Momordica charantia)

 
 
     มะระขี้นก (Momordica charantia) เป็นพืชที่นิยมปลูกกันในแถบทวีปเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ในมะระขี้นกมี สารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซิน มีผลช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือด เสริมการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน เพิ่มความไวในการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ยับยั้งการหลั่งกลูโคส และลดการสร้างน้ำตาลจากตับ จึงมีผลช่วยในการรักษาน้องมาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
 
 
     มีการทดลองนำสารสกัดจากมะระขี้นกมาใช้เสริมการรักษาสุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ประเภทที่ 1 โดยทดลองให้สุนัขในขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว  10 กิโลกรัม แบ่งให้กินวันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหารเป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าระดับ Fructosamine ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมน้ำตาลในเลือดลงได้ 
 
 
     การนำสารสกัดจากมะระขี้นกมาใช้ ก็เพื่อหวังผลไปช่วยเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้การรักษาเบาหวานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถหยุดการใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้ หากจะใช้ควบคู่กับการรักษาควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนนะครับ
 
 

Dogilike.com :: 4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล



 

สารสกัดจากใบชาเขียว (Camellia sinensis)

 

 
     ในใบชาเขียวที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก จะมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenal) สารคาทีชิน (Catechins) ในสารคาทีชินจะประกอบด้วยสารหลายชนิด แต่ที่เด่นที่สุด คือ epigallocatechin-3-gallate (EGCG) มีความสามารถในการดักจับสารอนุมูลอิสระของออกซิเจนในหลอดทดลอง และอาจทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในระบบทางเดินอาหารและในเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้ และยังสามารถช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ urokinase ลดการสร้างหลอดเลือด ทำให้เซลล์มะเร็งตาย (apoptosis)
 
 
     มีงานวิจัยการใช้ในสุนัขบีเกิลที่เป็นโรคอ้วนและมีภาวะต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน (insulin resistance) โดยใช้ EGCG จากสารสกัดชาเชียว พบว่าสามารถเพิ่มความไวต่อการตอบสนองฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายได้  นอกจากนี้มีผลการศึกษา การรักษาในคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบว่า มีสัดส่วนการเป็นมะเร็งลดลงเมื่อได้รับสารสกัดชาเชียว แต่ยังไม่มีงานวิจัยเช่นนี้ในสุนัขนะครับ

 

Dogilike.com :: 4 สารสกัดจากพืชที่นำใช้เป็นโภชนเภสัชกับสุนัข...แล้วได้ผล


 
     อย่างไรก็ดียังไม่มีปริมาณที่เหมาะสมในสุนัข แต่มีการศึกษาพบว่า ถ้าให้สุนัขได้รับ EGCG ในขนาดสูงมากกว่า 150-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะเกิดความเป็นพิษและเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ จึงมีการแนะนำให้เริ่มต้นแค่ 10-20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน หรือเต็มที่ก็ไม่ควรเกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์
 
 
     การใช้สารเสริมอาหารจากพืชเพื่อช่วยในการรักษาโรคนั้น กำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นในวงการสัตวแพทย์ แต่อย่างไรก็ดีควรมีการศึกษาให้มั่นใจเสียก่อนที่จะนำมาใช้ ไม่แนะนำให้ผู้เลี้ยงนำมาใช้กันเอง เพราะขึ้นชื่อว่ายาหรือสารเสริมแล้ว มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การกินเนื่องนาน ๆ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แม้จะเป็นสารจากพืชก็ตาม ย่อมสามารถเกิดการตกค้างของสารในร่างกายได้ ดังนั้นก่อนนำมาใช้กับสุนัขควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยกับสุนัขของเราทุกคนครับ  
 


 
 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
กมลทิพย์ ถึงรัตน์ พินิจ ภู่สุนทรธรรม ศิรินทร หยิบโชคอนันต์. การรักษาสุนัขป่วยเบาหวานด้วยมะระขี้นก (Momordica charantia) ชนิดแคปซูลร่วมกับฮอร์โมนอินซูลิน. ประมวลเรื่องการประชุมวิชาการทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 33 โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ. 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
เอกสารประกอบคำบรรยาย การใช้สมุนไพรในทางสัตวแพทย์. โครงการเพิ่มพูนความรู้สำหรับสัตวแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
 
 
รูปภาพประกอบ:
https://www.cuteness.com/sites/default/files/diy_blog/Vegetables-That-Are-Safe-for-Dogs.jpg
https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/c0/15/c9/c015c9682f977c90bef6d3f711d9a071.jpg
http://www.newsmobile.in/wp-content/uploads/2015/11/Cranberries-Fotolia_5406389_XL.jpg
http://enabledkids.ca/wp-content/uploads/nature_flowers_macro_pink_flow_1280x800_artwallpaperhi.com_.jpg
http://cg.lnwfile.com/_/cg/_raw/fg/rt/uu.png
http://prayod.com/wp-content/uploads/2014/03/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7.jpg