โดย: Tonvet
5 คำถามยอดฮิต เมื่อน้องหมาต้องเข้ารับการวางยาสลบ
การวางยาสลบน้องหมามีความเสี่ยง เจ้าของควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจด้วยนะ
7 กรกฏาคม 2559 · · อ่าน (52,671)
การวางยาสลบเป็นสิ่งที่คู่กับการผ่าตัดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue surgery) หรือการผ่าตัดกระดูก (Orthopedic surgery) ซึ่งข้อดีของการวางยาสลบนั้นก็คือ ทำให้สัตว์ไม่รู้สึกตัวขณะทำการผ่าตัด สัตว์จะไม่แสดงอาการเจ็บปวด ไม่มีการโต้ตอบขณะที่คุณหมอกำลังลงมือผ่าตัด และทำให้กระบวนการผ่าตัดนั้นราบรื่นและปลอดภัย
ซึ่งนอกจากคุณหมอจะวางยาสลบเพื่อผ่าตัดแล้ว ในหลาย ๆ ครั้ง คุณหมอก็อาจวางยาสลบน้องหมาเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ถ่ายภาพรังสี ส่องกล้องในทางเดินอาหาร หรือทำหัตถการต่าง ๆ ในสัตว์ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพื่อให้สัตว์ตัวนั้นอยู่นิ่งและง่ายต่อการรักษา
ซึ่งนอกจากคุณหมอจะวางยาสลบเพื่อผ่าตัดแล้ว ในหลาย ๆ ครั้ง คุณหมอก็อาจวางยาสลบน้องหมาเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ถ่ายภาพรังสี ส่องกล้องในทางเดินอาหาร หรือทำหัตถการต่าง ๆ ในสัตว์ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพื่อให้สัตว์ตัวนั้นอยู่นิ่งและง่ายต่อการรักษา
แต่ทุกครั้งที่พูดถึงการวางยาสลบ โดยเฉพาะกับการวางยาสลบแบบระงับความรู้สึกทั่วทั้งร่างกาย (General anesthesia) แล้ว ก็จะมีเจ้าของน้องหมาหลายคนไม่สบายใจ บางคนวิตกกังวลว่าจะเป็นอันตรายกับน้องหมา บางคนกลัวว่าหากวางยาสลบไปแล้วน้องหมาจะไม่ฟื้น วันนี้ผมจึงขอรวบรวมคำถามที่เพื่อน ๆ หลายคนมักสงสัยเกี่ยวกับการวางยาสลบในน้องหมา มาตอบให้ได้ทราบกันครับ
1 การตรวจเลือดก่อนวางยาสลบมีความจำเป็นหรือไม่ ?
การวางยาสลบมีความเสี่ยง เนื่องจากยาสลบมีผลกระทบต่อกลไกการทำงานของร่างกาย ทั้งสมอง หัวใจ ตับ และไต โดยไปกดการทำงานของระบบประสาท การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต แม้สัตว์จะมีสุขภาพปกติ ก็อาจเกิดข้อแทรกซ้อนขึ้นได้ทั้งในระหว่างและหลังการวางยาสลบ ยิ่งถ้าหากน้องหมาตัวไหนมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นโรคตับ เป็นโรคไต เป็นโรคหัวใจ ฯลฯ ก็จะมีความเสี่ยงในการวางยาสลบมากกว่า ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงน้องหมาบางตัวที่อาจแพ้ยาอื่น ๆ บางชนิดได้อีกด้วย
ดังนั้นก่อนวางยาสลบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องซักประวัติ และตรวจสุขภาพน้องหมาโดยรวมอย่างละเอียด ...เพื่อเป็นการคัดกรองและประเมินสุขภาพของน้องหมา โดยคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก ตรวจทางโลหิตวิทยา เช่น ตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจค่าตับ ตรวจค่าไต ฯลฯ หรือตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพรังสี ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ฯลฯ เพื่อจำแนกความแข็งแรงของสุขภาพ และใช้ประเมินความเสี่ยงในการวางยาสลบ โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ของ American Society of Anesthesiologist (ASA) การตรวจประเมินสุขภาพเช่นนี้ ก็เพื่อให้คุณหมอทราบ และจะได้เลือกใช้ชนิดยา ขนาดของยา และวิธีการวางยาสลบให้เหมาะสมกับน้องหมาตัวนั้น ๆ ซึ่งการประเมินสภาพสัตว์นั้นมีความสำคัญมาก หากประเมินคาดเคลื่อนไปก็อาจทำให้น้องหมาเป็นอันตรายได้เลยครับ
2 ทำไมจึงต้องงดอาหารและน้ำก่อนวางยาสลบ ?
เพื่อน ๆ อาจจะเคยได้ยินมาว่า น้องหมาที่จะเข้ารับการวางยาสลบนั้น จะต้องงดอาหารและน้ำทุกชนิดก่อนอย่างน้อยเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง (ถ้าเป็นในลูกสุนัขอาจงดน้อยกว่า เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ) ทั้งนี้ก็เพราะว่า ยาสลบนั้นจะไปทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว โดยเฉพาะกับกล้ามเนื้อทางเดินอาหาร จึงทำให้อาหารและน้ำที่อยู่ในทางเดินอาหารไหลย้อนกลับได้ จนน้องหมาเกิดการอาเจียนและอาจสำลักลงปอด หรืออาจไปอุดกลั้นทางเดินหายใจเป็นอันตรายถึงแต่ชีวิตได้ ซึ่งหากเจ้าของไม่ได้ทำการงดน้ำและอาหารมาก่อน หรือไม่มั่นใจว่าน้องหมาไปแอบกินอะไรมาหรือไม่ ก็ควรต้องแจ้งคุณหมอก่อนทำการวางยาสลบด้วยนะครับ
3 การดมยาสลบกับการฉีดยาสลบต่างกันอย่างไร ?
ยาที่ใช้ในการวางยาสลบน้องหมานั้นมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีข้อควรพึงระวังแตกต่างกันไป ยาบางชนิดเหมาะที่จะใช้กับน้องหมาตัวหนึ่งแต่อาจไม่เหมาะที่จะใช้กับน้องหมาอีกตัวหนึ่ง การเลือกใช้ยาจึงอยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์ ภายใต้หลักการประเมินความเสี่ยงการวางยาสลบ แต่ก่อนที่เราจะทราบถึงความแตกต่างระหว่างยาสลบแบบฉีดกับการดมยาสลบนั้น ผมขออธิบายขั้นตอนการวางยาสลบให้ทราบคร่าวๆ ก่อนนะครับ
เมื่อน้องหมาได้รับการประเมินสุขภาพและจำแนกความเสี่ยงในการวางยาสลบแล้ว ขั้นตอนแรกที่คุณหมอจะเริ่มวางสลบ คือ การให้สารน้ำเข้าเส้นเลือด จากนั้นจะทำการให้ยาเหนี่ยวนำการสลบก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาฉีด แต่ในน้องหมาที่ไม่ยอมให้จับบังคับ คุณหมออาจให้ยานำสลบก่อน แล้วค่อยทำการแทงเส้นเพื่อให้สารน้ำ เมื่อน้องหมาเริ่มซึมลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการให้ยาสลบเข้าเส้นเลือด หลังจากนี้แล้วน้องหมาก็จะอยู่ในภาวะของการสลบ ซึ่งน้องหมาทุกตัวที่เข้ารับการวางยาสลบก็จะได้รับการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวไปนี้ แต่อาจต่างกันไปในเรื่องวิธีการหรือชนิดของยาที่นำมาใช้
ในส่วนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนในการรักษาสภาพการสลบ ตรงนี้เองที่จะมีวิธีต่างกัน อย่างที่เพื่อน ๆ เข้าใจว่า จะมีการใช้ยาฉีดกับการใช้การดมยาสลบ เพื่อรักษาสภาพการสลบของน้องหมา จริง ๆ แล้วการเลือกใช้ยาสลบในส่วนนี้จะอยู่ในดุลพินิจของสัตวแพทย์ โดยได้จากการประเมินความเสี่ยงในข้างต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของน้องหมา การดมยาสลบนั้นจะมีข้อดีตรงที่ สามารถควบคุมระดับความลึกของการสลบได้ง่ายกว่ารูปแบบฉีด เหมาะในรายที่มีข้อจำกัดในการขับยาออกจากร่างกาย ไม่ทำให้ยาถูกสะสมในร่างกายมากเกิน ทำให้น้องหมาไม่สลบลึกเกินไป และฟื้นจากการสลบได้เร็วขึ้น แต่การดมยาสลบจะต้องมีการสอดท่อ อาจทำให้อาจเกิดความระคายเคืองต่อหลอดลมน้องหมาในบางรายได้ครับ
4 เราควรดูแลสุนัขที่เพิ่งฟื้นจากยาสลบอย่างไร ?
น้องหมาที่ได้รับการวางยาสลบจะค่อยๆ ฟื้นตัวมีสติและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น จนกระทั้งกลับมาเป็นปกติ ซึ่งระยะเวลาอาจต่างกันไปในแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการวางยาสลบด้วยตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งในช่วงของการฟื้นตัวนี้ ส่วนใหญ่จะแนะนำให้น้องหมาอยู่ในการดูแลของคุณหมอไปก่อน ในระหว่างนี้จะมีการสังเกตอาการน้องหมาอย่างใกล้ชิดว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น ดูอัตราการหายใจ อัตราการเต้นหัวใจ ดูสีของเหงือกว่าซีดมั้ย อุณหภูมิของร่างกายเป็นอย่างไร ฯลฯ เราควรให้น้องหมาอยู่ในที่ที่สงบและปลอดภัย เช่น อยู่ในกรง หรืออยู่ในห้องส่วนตัวที่ีอาการถ่ายเทสะดวกและสะอาด ปราศจากเสียงรบกวน จัดท่าทางน้องหมาให้นอนสบาย สามารถหายใจได้สะดวก อาจเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายน้องหมา เช่น เปิดไฟกก (ควรพลิกตัวน้องหมาทุกๆ 15 นาที เพื่อไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งร้อนเกินไป) หรือปูผ้าขนหนูรองพื้นหากต้องนอนบนพื้นที่เย็น เราไม่ควรตั้งอาหารและน้ำไว้ ในขณะที่น้องหมายังไม่ฟื้นจากสลบอย่างสมบูรณ์ ไม่ควรไปบังคับป้อนอาหาร ควรรอจนกว่าน้องหมาจะสามารถกินอาหารได้เอง ไม่เช่นนั้นจะเกิดการสำลักอาหารได้ครับ
5 น้องหมาอายุมากไม่ควรวางยาสลบจริงหรือ ?
คำถามนี้พบบ่อยมากครับ เพราะหลายคนคิดว่าน้องหมาอายุมากแล้ว หากวางยาสลบอาจทำให้เสียชีวิตได้ ข้อเท็จจริงก็คือ เมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ย่อมมีความเสื่อมถอยของร่างกายเป็นเรื่องธรรมดา บางตัวอาจเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคไตอยู่แล้ว โดยที่เจ้าของเองก็อาจยังไม่ทราบมาก่อน ดังนั้นก็ควรต้องทำการตรวจร่างกายแบบละเอียดก่อน บางรายอาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจนำตาลในเลือด หรือตรวจค่าอิเล็กโตรไลค์ต่างๆ ในเลือดเพิ่มเติม อายุจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการวางยาสลบสักทีเดียว สุนัขอายุมากที่ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงที่ 2 จาก 5 ตามหลักเกณฑ์ของ ASA บางรายถึงแม้จะมีอายุมากแล้ว ก็อาจยังมีสุขภาพดีอยู่ หากเจ้าของใส่ใจดูแลสุขภาพให้เป็นประจำ ดังนั้นการเลือกใช้ยาต่าง ๆ หรือขนาดของยาจะต้องปรับให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของสุนัขตัวนั้น ๆ ตลอดจนการเฝ้าติดตามอาการ สัญญาณชีพต่าง ๆ ทั้งในขณะและหลังการวางยาสลบก็เป็นเรื่องสำคัญ สรุปอีกทีก็คือ น้องหมาที่มีอายุมากก็สามารถวางยาสลบได้ครับ
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็คงจะทำให้เพื่อน ๆ คลายข้อกังวลเกี่ยวกับการวางยาสลบในน้องหมาไปได้มากขึ้นนะครับ ปัจจุบันวงการรักษาสัตว์บ้านเรามีการพัฒนาไปมาก ทั้งองค์ความรู้ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ก็มีความทันสมัย ช่วยติดตามสัญญาณชีพน้องหมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยาที่นำมาใช้ก็มีความปลอดภัยกับน้องหมามากขึ้นเช่นกัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงและข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการวางยาสลบได้มากเลยทีเดียว
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็คงจะทำให้เพื่อน ๆ คลายข้อกังวลเกี่ยวกับการวางยาสลบในน้องหมาไปได้มากขึ้นนะครับ ปัจจุบันวงการรักษาสัตว์บ้านเรามีการพัฒนาไปมาก ทั้งองค์ความรู้ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ก็มีความทันสมัย ช่วยติดตามสัญญาณชีพน้องหมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยาที่นำมาใช้ก็มีความปลอดภัยกับน้องหมามากขึ้นเช่นกัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงและข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการวางยาสลบได้มากเลยทีเดียว
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
http://vet.uga.edu/pr/images/2011/Lakota/20111007-Lakota-22.jpg
http://www.vricenter.com/images/MRI.jpg
http://www.dogster.com/wp-content/uploads/2015/05/ask-a-vet-anesthesia-1.jpg
https://www.toegrips.com/wp-content/uploads/2016/05/Dog-blood-draw.jpg
http://www.theveterinaryexpert.com/wp-content/uploads/2012/09/preparing-your-pet-for-a-general-anaesthetic.jpg
SHARES