โดย: Tonvet

คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 1

มาเช็คสุขภาพน้องหมาสูงวัยจากคำถามต่อไปนี้กันเถอะ

20 กรกฏาคม 2559 · · อ่าน (9,325)
1,555

SHARES


1,555 shares

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 1



     เพื่อน ๆ หลายคนที่เลี้ยงสุนัขมานานหลายปีอาจจะเคยตั้งคำถามว่า สุนัขของเราจะเข้าข่ายสูงวัยแล้วหรือยัง แล้วเมื่อสุนัขแก่จะเหมือนกับคนเราที่ชราภาพหรือไม่ อย่างถ้าเป็นในมนุษย์เมื่ออายุย่างเข้า 60 ปี ก็จะถือเป็นวัยเกษียณ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีกำหนดตายตัวเหมือนกันในทุกประเทศ  เพราะบางประเทศก็อาจจะกำหนดอายุวัยเกษียณที่ 65-70 ปี คนบางคนที่ยังมีสุขภาพดี ก็ยังสามารถเป็นแรงงานในการพัฒนาประเทศต่อไปได้อีก ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแแปลงทางด้านร่างกายและสุขภาพไปบ้างก็ตาม


 
     นิยามของความสูงวัยจึงมักพิจารณาในด้านของความเสื่อมโทรมและการสึกหรอของร่างกาย ซึ่งก็จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เรี่ยวแรงลดลง เหนื่อยง่าย มองเห็นไม่ค่อยชัด ฟังก็ไม่ค่อยได้ยิน ฯลฯ อย่างในสุนัขจะมีช่วงอายุเข้าสู่วัยชราที่ค่อนข้างต่างกัน โดยพบว่า สุนัขพันธุ์ใหญ่จะผ่านเข้าสู่วัยชราได้อย่างรวดเร็วกว่าในสุนัขพันธุ์เล็ก จากการเก็บข้อมูลของ Michell และคณะ พบว่า สุนัขพันธุ์เล็กจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-14 ปี แต่สุนัขพันธุ์ใหญ่กลับมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่แค่ 5-8 ปีเท่านั้น อัตราความสูงวัยในสุนัขถึงแตกต่างไปจากของคน ทำให้การดูแลสุขภาพแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์


     ดังนั้นผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่จึงต้องใส่ใจหมั่นคอยสังเกตสุขภาพของสุนัข เริ่มตั้งแต่สุนัขมีอายุ 5-6 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว ซึ่งวันนี้ผมมีคำถามสุขภาพเกี่ยวกับสุนัขสูงวัย มาให้เพื่อน ๆ เอาไว้ใช้สังเกตสุขภาพของสุนัขกันครับ

 

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 1



 

1 สุนัขสูงวัยของเราสามารถกิน เคี้ยว และกลืนอาหารได้ตามปกติหรือไม่ ?

 

 
     สุนัขสูงวัยมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟันกันแทบทั้งนั้น เอาง่าย ๆ ที่เจอกันบ่อยก็อย่างเช่น ปัญหาหินปูนและกลิ่นปาก ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ลุกลามจนทำให้เกิดโรคหัวใจ ตับ และไตได้จากการติดเชื้อในช่องปาก สุนัขที่มีปัญหาในช่องปากมักจะมีปัญหาการกิน เช่น กินลดลง สุนัขบางตัวอาจยังมีความอยากกินอาหารอยู่ อาจจะเข้าไปดม ๆ อาหาร แต่กลับกินไม่ได้ เพราะกำลังปวดฟันอยู่ หรือไม่ก็กำลังมีแผลในช่องปากหรือที่ลิ้น บางตัวก็จะเลือกกินแต่อาหารที่นิ่ม ๆ กินง่ายๆ แทน ไม่แตะอาหารเม็ดเลยก็มี 

 
     สุนัขสูงวัยบางตัวก็มีการเคี้ยวที่ผิดปกติไป ตามปกติเมื่อน้องหมารับอาหารผ่านทางปาก อาหารจะถูกย่อยผ่านการเคี้ยวบ้างเล็กน้อย จากนั้นจะใช้เวลาไม่เกิน 5 -10 วินาที อาหารจะถูกส่งผ่านต่อไปยังหลอดอาหาร สุนัขที่มีปัญหาในการเคี้ยวอาจจะใช้เวลานานขึ้น บางตัวเลือกที่จะเคี้ยวฟันในข้างที่ไม่เจ็บ ถ้าเราสังเกตก็จะพบว่า สุนัขมักจะเคี้ยวอาหารกับฟันข้างใดข้างหนึ่ง หรือไม่ก็ไม่เคี้ยวเลย


     สุนัขบางตัวมีการกลืนที่ผิดปกติ บางตัวกลืนลำบาก บางตัวมีการขย้อนอาหารที่ไม่ย่อยออกมา ให้ลองเปิดช่องปากสุนัขดูนะครับว่า มีก้อนอะไรในช่องปากขวางอยู่หรือไม่ ลองคลำบริเวณต้นคอดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ให้สังเกตลักษณะลิ้นของสุนัขว่าเป็นไง มีฟันหัก ฟันโยก หรือมีเลือดออกตามไรฟันหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้เราควรตรวจสุขภาพช่องปากทุกวัน สังเกตการกินอาหารของสุนัขในแต่ละมื้อ การป้องกันที่ดี คือ หมั่นดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากสุนัข พาสุนัขไปตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนกับสัตวแพทย์ทุก ๆ  6-12 เดือน เป็นอย่างน้อยด้วยครับ
  

 

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 1



2 สุนัขสูงวัยของเรามีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ ?

 

 
     เรื่องจริงที่เคยพบก็คือ เจ้าของส่วนใหญ่มักไม่ทราบน้ำหนักตัวสุนัขของตนเอง แต่กลับรู้น้ำหนักตัวของดาราที่ชื่นชอบได้ซะอย่างนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวทำให้ทราบความผิดปกติได้หลายอย่างเลยครับ เช่น ถ้าสุนัขป่วยไม่กินอาหารต่อเนื่องหลายวัน น้ำหนักตัวก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด


     ในสุนัขสูงวัยร่างกายมักเสื่อมโทรมลงเป็นเรื่องธรรมดา อวัยวะที่ทำหน้าในการผลิตน้ำย่อยในทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้เล็ก ตับ และตับอ่อน เกิดความผิดปกติไป ทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารได้ เมื่อการย่อยอาหารมีปัญหา ผลที่ตามมก็คือ ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเอาสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ บางตัวป่วยเป็นโรคบางอย่างอยู่ก่อน เช่น โรคเบาหวาน เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีอินซูลินแต่ไม่สามารถทำงานได้ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ได้ จึงพบน้ำตาลสูงในกระแสเลือด น้องหมาจะกินเก่งขึ้น แต่กลับผอมลง เพราะร่างกายต้องไปสลายไขมันหรือโปรตีน เพื่อนำมาเป็นพลังงานทดแทน หรือ โรคไตวายเรื้อรัง เมื่อไตสูญเสียการทำหน้าที่ไป สารอาหารบางอย่างแทนที่จะถูกเก็บไว้ใช้ประโยชน์กับร่างกาย กลับหลุดลอดปะปนออกมากับปัสสาวะ เช่น เกิดภาวะ Protein losing nephropathy ทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนออกมากับปัสสาวะ ร่างกายจึงขาดโปรตีน  เป็นต้น  


 
     แต่สุนัขสูงวัยบางตัวก็น้ำหนักขึ้นเอาขึ้นเอา พวกนี้พบได้บ่อยในรายที่ มีปัญหาข้ออักเสบ เจ็บขา ไม่อยากลุกเดินไปไหน ทำให้การเคลื่อนไหวออกกำลังกายลดลง กินแล้วก็นอน ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากไปกว่าเดิมอีก หรือบางตัวก็ปัญหาภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ สุนัขพวกนี้ก็จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้กินมากขึ้นกว่าปกติเลย เพียงแต่ระบบการเผาผลาญ (metabolism) ลดลงไปนั่นเอง เจ้าของควรชั่งน้ำหนักตัวของสุนัขเป็นประจำเพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วครับ
 
 

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 1



 

3 สุนัขสูงวัยของเรามีปัญหาในการลุกนั่ง หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติหรือไม่ ?

 
 
     เรื่องนี้สำคัญครับ เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขสูงวัยส่วนมากมักเข้าใจไปเองว่า การที่สุนัขมีอายุมากขึ้นก็มักไม่ค่อยร่าเริง ไม่วิ่งเล่นเหมื่อนสุนัขเด็ก ๆ มักคิดไปเองอย่างนั้นว่า มันก็ปกติแล้วในหมาแก่นี่นา แต่กลับลืมไปว่า บางทีการที่สุนัขลุกยืน เดิน วิ่ง หรือนั่งลงลำบากนั้น อาจเป็นเพราะสุนัขสูงวัยตัวนั้น กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับประดูกและข้อต่ออยู่ก็ได้ สุนัขที่เป็นโรคเหล่านี้ก็มักจะเจ็บปวดมาก เลยไม่ค่อยลุกเดินไปไหน จะเดินก็เมื่อจำเป็นจริง ๆ เช่น ไปขับถ่าย ไปกินอาหารหรือน้ำ ซึ่งถ้าเราคิดว่า น้องมาสูงวัยจะต้องวัน ๆ เอาแต่นอน ไม่ค่อยชอบลุกเดินไปไหน นั่นเป็นพฤติกรรมของหมาแก่ตามปกติอยู่แล้ว ก็ต้องขอบอกว่า "คุณคิดผิด" 
 
 
     สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัขสูงวัยควรสังเกตเป็นประจำว่า สุนัขของเรามีการลุก นั่ง ยืน เดินเป็นอย่างไร เช่น ถ้าลุกยืนช้าใช้เวลานานมาก ก็อาจมีปัญหาที่ข้อสะโพกอยู่ก็ได้ หรือบางตัวอยู่ดี ๆ ก็เดินยกขา มีข้อบวม จับดูแล้วสุนัขเจ็บ จับยืดหดข้อแล้วเกิดเสียงกรอบแกรบ (crepitus sound) พิสัยหรือมุมในการยืดหดลดลง  แบบนี้ให้รีบพาไปพบคุณหมอทันทีเลยครับ เพราะบางรายกว่าจะพามาตรวจ ก็พบว่าเป็นมานานจนเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบไปแล้วก็มี
 

 

4 สุนัขของเรามีปัญหาในการนอนหรือไม่ ?

 
 
     ถ้าเปรียบเทียบกับคนชราที่มักจะพบว่ามีปัญหาในการนอน บางคนนอนยากมากถึงกับต้องพึ่งยานอนหลับ บางคนเวลาตอนกลางคืนไม่นอน มักจะมานอนหลับยาวนานในช่วงตอนกลางวันแทน ในสุนัขสูงวัยก็เช่นกัน สุนัขที่มีภาวะความผิดปกติของการรับรู้และความคิด หรือ Canine Cognitive Dysfunction Syndrome (CDS) ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเซลส์สมองตาย ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในสมองถูกยับยั้ง อีกทั้งระดับของ Dopamine ในสมองที่ลดลงด้วย เป็นเหตุให้การสั่งการของสมองหยุดชะงักลง สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ จนถึงขั้นไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดิมได้ มักจะแสดงความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมออกมาให้เราเห็น ซึ่งมักพบรูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็นมา เจ้าของสุนัขสูงวัยที่สุนัขมีปัญหานี้ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันทีครับ
 

Dogilike.com :: คำถามสุขภาพในสุนัขสูงวัยที่เจ้าของต้องรู้ ตอนที่ 1



     ความคาดหวังของคนรักสุนัขทุกคนก็คือ ทำอย่างไรให้สุนัขอยู่กับเราไปนาน ๆ ดังนั้นการดูแลใส่ใจหมั่นสังเกตพฤติกรรม และตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ ซึ่งในตอนหน้าเรามาดูกันต่อครับว่า ยังมีคำถามอะไรอีกที่ผู้เลี้ยงสุนัขสูงวัยต้องรู้..ห้ามพลาด!!



 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://3milliondogs.com/blog-assets-two/2014/10/old_dog.jpg
http://www.atlantalabrescue.com/wp-content/uploads/2014/01/Senior-Dog-Photography03.jpg
http://4.bp.blogspot.com/-WDlrCDdi97k/UEn9rppfuOI/AAAAAAAAALE/cx3_owoBEU8/s1600/dog's+diet.jpg
https://dogs.thefuntimesguide.com/files/toothless-dog.jpg
http://www.slchomevet.com/wp-content/uploads/2014/04/Old-Dog.jpg