โดย: Tonvet

5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป

มาดูกันว่าช่วงหน้าฝนแบบนี้ น้องหมาจะเสี่ยงป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง

18 สิงหาคม 2559 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (17,056)
948

SHARES


948 shares

Dogilike.com :: 5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป



     เวลานี้บ้านเราก็เข้าสู่หน้าฝนอย่างเต็มตัวทั่วทั้งประเทศกันแล้วนะครับ หลาย ๆ พื้นที่เริ่มมีอุทกภัย น้ำท่วม น้ำหลากกันบ้างแล้ว สภาพอากาศที่เปียกชื้นเช่นนี้ ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสัตว์พาหะนำโรคบางอย่างก็พบได้บ่อยขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน น้องหมาบางตัวต้องหนีน้ำท่วมไปอยู่รวมกัน ก็ทำให้ติดโรคจากเพื่อนตัวอื่น ๆ จนป่วยตามมาได้ เพื่อความไม่ประมาท เรามาดูกันครับว่า ช่วงหน้าฝนแบบนี้ น้องหมาจะเสี่ยงป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง...

 

1 โรคฉี่หนู

 
 
     โรคเลปโตสไปโลซีส (Leptospirosis) หรือที่เรียกกันติดปากว่า "โรคฉี่หนู" ซึ่งเป็นชื่อโรคที่หลายคนคุ้นหูกันดี เพราะถึงหน้าฝนทีไร ก็จะมีการรณรงค์ให้ระวังติดโรคนี้ เพราะเชื้อมักอยู่ตามแหล่งน้ำท่วมขัง ตามดินและโคลนตม ฯลฯ ยิ่งหน้าฝนแบบนี้ หากเราปล่อยน้องหมาไปเดินพบพื้นดินที่สกปรก หรือลงเล่นตามแหล่งน้ำท่วมขัง หากมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ก็มีโอกาสไปรับเชื้อมาได้ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายน้องหมาทางบาดแผลที่ผิวหนัง เยื่อเมือกที่ตา จมูก และปาก ยิ่งน้องหมาตัวไหนซุกชนชอบแอบไปเล่นซากหนู ก็จะมีโอกาสรับเชื้อมาได้โดยตรงเลย เพราะหนูเป็นสัตว์รังโรค (reservoir host) สำคัญ ที่สามารถกักเก็บเชื้อเอาไว้ในท่อไตได้ยาวนาน
 
 
     สำหรับอาการป่วยก็ขึ้นกับระดับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย บางตัวอาจป่วยรุนแรงจนถึงขั้นไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ บางตัวก็อาจไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในร่ายกายที่ดี  โดยเชื้อจะเข้าไปตามกระแสเลือด ไปทำลายเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ไต ตับ ม้าม ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาทส่วนกลาง และที่ตาได้ด้วย น้องหมาที่ป่วยจะแสดงอาการ เช่น ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน กินน้ำมาก ปัสสาวะมากหรืออาจปัสสาวะน้อย ไปจนถึงไม่มีปัสสาวะเลย บางตัวก็แสดงอาการร่างกายขาดน้ำ มีไข้สูง เกิดภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง) ตาแดง (พบการอักเสบในส่วนยูเวียของตาและเยื่อบุตา) อาจเจ็บปวดบริเวณท้อง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ หากน้องหมากำลังตั้งท้องอยู่ก้จะแท้งลูกได้ 

 

Dogilike.com :: 5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป


 
     สำหรับเชื้อก่อโรคนี้ ก็เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปล่า (Leptospira spp.) เป็นแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochetes) เคลื่อนที่ได้ (motile) และมีส่วนปลายเป็นตะขอ มีทั้งกลุ่มที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค ตัวเชื้อที่ก่อโรคและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ทำให้เกิดการระบาดติดต่อทั้งในคนและในสัตว์ทั่วโลก ได้แก่ Leptospira interrogans ซึ่งยังแยกย่อยออกไปได้อีกมากกว่า 250 serovars โดยแต่ละ serovars จะมีการปรับตัวให้เข้ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแต่ละชนิด และมีกระจายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ทำให้วัคซีนที่ฉีดนั้นจะต้องมี serovar ของเชื้อที่ตรงกับ serovar ที่พบได้บ่อยในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย จึงจะสามารถป้องกันโรคฉี่หนูได้ครับ 
 
 
 
 

2 โรคพยาธิในเม็ดเลือด

 
 
     โรคนี้หลายคนคงจะรู้จักกันดี และเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนคงจะเคยมีน้องหมาของตัวเอง ป่วยเป็นโรคนี้กันมาบ้างแล้ว เข้าสู่หน้าฝนที่ไรก็จะมีปัญหาเรื่อง "เห็บ" มาให้กวนใจ นอกจากจะมาแย่งกินเลือดในตัวน้องหมาแล้ว ทำให้น้องหมาเกิดภาวะโลหิตจางได้แล้ว ยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาแพร่ได้อีก เห็บสามารถนำเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซีย ได้แก่ บาบิเซีย (Babesia sp.) เฮปปาโตซูน (Hepatozoon sp.) เออร์ลิเชีย (Ehrlichia sp.) อะนาพลาสมา (Anaplasma sp.) และบาร์โทเนลล่า (Bartonella sp.) หรือพวกเชื้อแบคทีเรีย Spirochete ที่ชื่อ Borrelia burgdorferi เป็นสาเหตุการป่วยเป็น "โรคลายม์ (Lyme Disease)" ได้ด้วย โดยเห็บก็มีหลายชนิด แต่ละชนิดก็เป็นพาหะนำเชื่อได้ต่างกันไป
 
 
     สำหรับโรคพยาธิในเม็ดเลือด เกิดจากการติดเชื้อสิงมีชีวิตเซลล์เดียวที่เข้าไปแฝงอยู่ในเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดง และตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม และไขกระดูก สามารถพบสุนัขป่วยได้ตลอดทั้งปี เกิดได้กับสุนัขทุกตัว โดยเฉพาะสุนัขที่ขาดการป้องกับเห็บให้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อาการที่พบก็คือ สุนัขที่ป่วยจะซึม เบื่ออาหาร เยื่อเมือกซีด มีไข้สูง น้ำหนักลด เลือดกำเดาไหล เป็นอัมพาตขาหลัง พบจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ เราสามารถทราบได้จากการตรวจเลือด หากเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดยา หรือกินยาต่อเนื่องเป็นเดือนจนกว่าจะหายครับ 
 
 

Dogilike.com :: 5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป



 

3 โรคพยาธิหนอนหัวใจ

 
 
     โรคพยาธิหนอนหัวใจ เป็นโรคที่มีหลายคนสับสนกับโรคพยาธิในเม็ดเลือด บางคนคิดว่าเป็นโรคเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้วสองโรคนี้ต่างกันมาก  โรคพยาธิหนอนหัวใจจะมี "ยุง" เป็นพาหะ นำตัวอ่อนระยะที่  3 (ระยะติดต่อ) มาสู่น้องหมาจากนั้นก็จะล่องลอยไปตามกระแสเลือด จนพัฒนาเป้นตัวเต็มวัยที่หัวใจของสุนัข ซึ่งตัวเต็มวัยสามารถอาศัยอยู่ในหัวใจสุนัขได้นานถึง 5-7 ปีเลยทีเดียว และตัวเต็มวัยก็ไม่ได้อาศัยอยู่เฉย ๆ นะครับ ยังสามารถปล่อยตัวอ่อนออกสู่กระแสเลือดได้นานเป็นเวลา 3-6 ปี ถ้ามียุงมากัดสุนัขที่ป่วย ก็จะรับเชื่อจากกระแสเลือดไปแจกจ่ายน้องหมาตัวอื่น ๆ ได้อีกนับไม่ถ้วนเลย
 
 
     ก็อย่างที่ทราบครับว่า ฤดูฝนเป็นหน้าที่ยุงชุกชุมเป็นพิเศษ เพราะมีแหล่งน้ำขังให้ยุงมาวางไข่ขยายพันธุ์ น้องหมาที่เลี้ยงอยู่นอกตัวบ้าน ที่ไม่ได้รับยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำ จึงเสี่ยงที่จะรับเชื้อและก่อโรคได้ง่าย หากมียุงที่มีเชื้ออยู่มากัด ซึ่งเมื่อเป็นแล้วน้องหมาก็จะมีอาการหอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ไอเรื้องรัง ท้องมาน เบื่ออาหาร ถ้าเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรักษาก็ขึ้นกับระยะการติดเชื้อ และสภาพของสุนัขด้วยครับ มีหลายวิธีด้วยกัน ทั้งให้ยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยรูปแบบฉีด หรือให้ยากำจัดพยาธิตัวอ่อนเพื่อลดจำนวนไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลารักษาเป็นเวลานาน 

 

Dogilike.com :: 5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป


 
 

4 โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ 

 
 
     ฤดูฝนเป็นหน้าที่มีความเปียกชื้น ซึงความเปียกชื้นนี่เอง เป็นสาเหตุทำให้น้องหมาป่วยเป็นโรคผิวหนังได้ โรคผิวหนังที่เกิดจากความชื้นส่วนมากจะมีเชื้อก่อโรคสำคัญได้แก่ เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา น้องหมาที่นอนนอกบ้าน เล่นน้ำฝน  นอนบนพื้นหรือวัสดุปูรองที่เปียกชื้น ก็จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคผิวหนังแบบนี้ได้ ซึ่งจะทำให้สุนัขมีอาการคัน ผื่นแดง มีเม็ดตุ่มแดง มีตุ่มหนอง ขนร่วง และมีกลิ่นตัวได้ ซึ่งการรักษาก็ต้องใช้ระยะเวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีทั้งยากิน ยาทา และแชมพูฆ่าเชื้อ ที่สำคัญเราต้องดูและรักษาความสะอาดให้ดีๆ  เพราะอาจกลับมาเป็นอีกได้หลังจากรักษาหายไปแล้ว 
 

 

5 โรคระบบทางเดินหายใจ

 
 
     ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย ความชื้นทำให้เชื้อโรคบางอย่างเจริญเติบโตได้ดีหรือแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่ายขึ้น โรคสำคัญ ๆ ทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในน้องหมาก็อย่างเช่น โรคหวัด หรือ โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัข พบได้บ่อยในลูกสุนัข สุนัขสูงวัย และสุนัขที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย หากติดร่วมกัน จะเรียกว่า "Super infection"
 
     น้องหมาที่เป็นจะแสดงอาการไอแบบมีเสมหะ แล้วทำท่าขากๆ เหมือนมีอะไรติดคอ บางรายอาจมีขี้ตา ตาอักเสบ มีน้ำมูกใส ๆ ไปจนถึงมีน้ำมูกข้นสีเขียว  เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ส่วนใหญ่น้องหมาจะยังซน ร่าเริงดี กินอาหารได้ครับ แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ปอดบวม หายใจลำบาก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยก็มี 


Dogilike.com :: 5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป


 
     โรคนี้ติดต่อกันง่ายมาก จากการไอหรือจามของสัตว์ป่วยเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรง หรือปนเปื้อนมากับภาชนะและมือของคนที่ไปสัมผัสกับน้องหมาที่ป่วยก็ได้แล้ว ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็อาจไม่แสดงอาการ แต่บางรายเกิดความเครียด เพราะไม่ได้ออกไปไหนต้องอยู่แต่ในบ้าน หรือถูกเลี้ยงในที่มีสุนัขหลายตัวร่วมกัน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคในกลุ่มสุนัขดังกล่าวได้
 
 
    สำหรับการรักษา ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน ช่วงนี้ต้องให้น้องหมาได้พักผ่อนเต็มที่ ให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรให้น้องหมาอยู่ในที่ที่อบอุ่น ไม่นอนบนพื้นที่เย็นชื้น ไม่เปิดพัดลมโกรกหรือนอนตากแอร์ อาจหาเสื้อมาสวมให้ก็ได้ หากมีเสมหะมากเจ้าของอาจช่วยน้องหมาทำการ "ตบอก (Coupage)" โดยทำฝ่ามือโค้งเป็นรูปถ้วย ตบลงบริเวณซี่โครงช่วงอกด้วยแรงที่พอเหมาะ ไล่จากส่วนท้ายไปต้น คล้ายการตีกลองด้วยมือ เพื่อให้น้องหมาได้ไอแล้วขับเสมหะออกมา ควรทำวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที หรืออาจจะพาเดินเล่นเพื่อกระตุ้นให้ไอก็ได้ครับ หากมีอาการมากขึ้นคุณหมออาจจะฉีดยา พ่อยา และให้ยามาป้อนต่อทีบ้านครับ


Dogilike.com :: 5 โรคเสี่ยงของน้องหมาในหน้าฝน...ที่เจ้าของมักมองข้ามไป



     เข้าสู่หน้าฝนทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลสุขภาพน้องหมาให้ดีนะครับ อย่าปล่อยให้ไปเล่นน้ำหรือกินน้ำที่สกปรก พวกน้ำท่วมขัง หรือเล่นดินโคลนก็ไม่ควร เพราะอาจมีเชื้อโรคอยู่ได้ เรื่องเห็บก็ต้องหมั่นกำจัดทั้งบนตัวน้องหมา และตามพื้นบริเวณที่น้องหมาอยู่ ให้ยาป้องกันเห็บ ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำ จัดที่อยู่ให้สุนัขมาอยู่ในสะอาด ไม่เปียกชื้น มีอากาศถ่ายเทสะดวก เวลาเปียกฝนมาหรือเวลาที่อาบน้ำให้น้องหมาก็ต้องเช็ดและเป่าขนตัวให้แห้งเสมอ หากจำเป็นต้องเลี้ยงรวมกับน้องหมาตัวอื่น ๆ ก็ควรต้องป้องกันน้องหมาของเราด้วยการพาไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนก่อน หวังว่าหน้าฝนปีนี้ น้องหมาของเพื่อน ๆ คงจะมีสุขภาพดีกันทุกตัวเลยนะครับ



 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://favimages.com/wp-content/uploads/2012/08/mud-dog-walk-rain-bad-weather.jpg
http://www.weathercast.co.uk/typo3temp/pics/668b4ab0d7.jpg
http://cdn.images.express.co.uk/img/dynamic/128/590x/secondary/dog-468035.jpg
http://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/articles/health_tools/mistakes_pet_owners_make_slideshow/photolibrary_rm_photo_of_tick_in_tweezers.jpg
http://www.trbimg.com/img-559c2ff0/turbine/ct-ctlfl-ct-ptb-mosquito-abatement-jpg-20150707/650/650x366
https://news.wsu.edu/wp-content/uploads/sites/609/2011/11/dog-island-500.jpg