โดย: Tonvet

รู้ไว้ โรคเรบีส์สายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อวันเดียวตาย ไม่เป็นความจริง!!!

เช็กก่อนแชร์ ... มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้ากันอย่างถูกต้องดีกว่า

8 กันยายน 2559 · · อ่าน (4,555)
297

SHARES


297 shares
     ถือเป็นข่าวที่สร้างกระตระหนกไม่น้อยเลยกับพาดหัวข่าวที่ว่า "ชาวปทุมฯ ผวาหนัก พิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ หนุ่มถูกหมากัดตายในวันเดียว" ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาข่าวไม่มีระบุผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเลยว่าพบเชื้อเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) จริงหรือไม่ และยังไม่มีการผ่าชันสูตรศพผู้ตายแต่อย่างใด มีเพียงร่อยรองถูกสุนัขกัด ที่ระบุมากับเอกสารที่เท่านั้น แถมยังไม่บอกด้วยว่า ถูกกัดบริเวณไหน กลับพาดหัวข่าวในลักษณะทำให้ผู้รับข่าวอาจตื่นตระหนกได้หากไม่วิเคราะห์เนื้อหาข่าวให้ดีก่อน และแน่นอนครับว่าเมื่อข่าวถูกเผยแพร่ออกไปทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากมาย

Dogilike.com :: รู้ไว้ โรคเรบีส์สายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อวันเดียวตาย ไม่เป็นความจริง!!!
 
     และเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับ "โรคเรบีส์" และคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับโอกาสที่คนจะตายจากการถูกสุนัขกัดเพราะเชื้อเรบีส์นั้น เป็นไปได้หรือไม่ เราไปทราบข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมดกันครับ ...
 


โรคเรบีส์สายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อแล้วตายภายในวันเดียว "ไม่เป็นความจริง!!!"

 

     สำหรับโรคเรบีส์ หรือพิษสุนัขบ้านั้น ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุไว้ว่า มีระยะฟักตัวของโรค (incubation period) ตั้งแต่วันรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนถึงวันที่แสดงอาการเฉลี่ยอยู่ที่ 1-3 เดือน ขึ้นกับตำแหน่งของการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ชนิดของเชื้อและปริมาณของเชื้อเรบีส์ที่ร่างกายรับเข้าไป ตลอดจนภูมิคุ้มกันต่อโรคเรบีส์ของร่างกายผู้ป่วยด้วย  อาจพบอาการได้เร็วกว่า 1 สัปดาห์ ไปจนพบอาการได้นานกว่า 1 ปีขึ้นไปหลังจากวันรับเชื้อก็มี ซึ่งโอกาสที่จะพบแสดงอาการได้ภายใน  1 วันนั้นเป็นไปได้น้อยมาก เพราะเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วต้องผ่านไปยังสมอง ทำให้ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยแสดงอาการป่วย  แล้วจากนั้นจะแพร่จากสมองมายังต่อมน้ำลายและน้ำลาย ซึ่งเป็นช่องทางในการแพร่เชื้อได้ต่อไป ในข้อมูลของ Center for disease control and prevention (CDC) ระบุไว้ว่า ระยะฟักตัวที่สั้นสุดต้องใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 วัน ดังนั้นโอกาสที่จะรับเชื้อและแสดงอาการภายใน  1 วัน ตามข่าวจึงเป็นไปได้น้อยมาก ยังต้องรอผลการชันสูตรศพผู้ตายต่อไป ผู้รับข่าวดังกล่าวจึงไม่ควรต้องตื่นตระหนก แต่ให้ระวังไว้จะดีกว่าครับ เพราะโรคนี้รักษาไม่หาย
 
     ยอมรับเลยครับว่าปีนี้มีข่าวพบการระบาดของโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) รุนแรงมากทั่วทั้งประเทศ เชื่อว่าที่ไม่เป็นข่าวก็ยังมีอีกจำนวนมาก ล่าสุดมีคนได้เสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ และได้รับการยื่นยันชัดเจนแล้ว เนื่องจากถูกสุนัขจรจัดกัดแล้วไม่ได้ล้างแผลและฉีดวัคซีน ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก ...

 

ดูแลตัวเองและน้องหมายังไงให้ห่างไกลโรคเรบีส์

 

     ต้องขอฝากทุกคนเลยว่า เราต้องไม่ละเลยเด็ดขาด เพราะโรคนี้เป็นแล้วรักษาไม่หาย ใครที่มีโอกาสสัมผัสหรือเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ สามารถที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคแบบล่วงหน้า (pre-exposure immunization) ก่อนได้ โดยการฉีดกระตุ้น 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 (0 คือ วันแรกที่ฉีดวัคซีน) หากได้รับการกระตุ้นวัคซีนครบ 3 ครั้งแล้ว เมื่อเกิดไปสัมผัสกับโรคหลังจากการฉีดภายใน 6 เดือน นับจากวันที่รับวัคซีนครั้งสุดท้าย ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 ครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นในระดับสูงอย่างรวดเร็ว แต่หากนานเกินกว่า 6 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 2 ครั้ง 
 
     สำหรับคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือฉีดไม่ครบ 3 ครั้ง หากถูกกัด ข่วน เลียแล้วน้ำลายถูกผิวหนังที่มีแผล หรือแม้แต่มีสารคัดหลั่งกระเด็ดถูกเยื่อยุตา ปาก จมูก หรือรับทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบดิบๆ (ปรุงไม่สุก) ถือว่ามีโอกาสติดโรคสูง หากมีบาดแผลให้รีบล้างแผล แต้มยา แล้วรีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบูลินโดยเร็วที่สุด
 
     ส่วนสุนัขที่มีอายุมากกว่า 3 เดือน ผู้เลี้ยงก็ต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคกับสัตวแพทย์เช่นกัน และฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้งในปีแรก จากนั้นให้พาไปฉีดกระตุ้นทุกๆ ปีตามคำแนะนำของสัตวแพทย์โดยเคร่งครัด ผู้เลี้ยงไม่พาสุนัขไปฉีดวัคซีนถือว่า กระทำผิดกฎหมายนะครับ ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 เช่นกันครับ  


     รู้ข้อเท็จจริงกันไปแล้วยังไงก็อย่าลืมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องนี้ไปให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นด้วยนะครับจะได้ไม่ตื่นตระหนกกับข่าวและรู้จักวิธีการป้องกันอย่างถูกต้อง ... เดี๋ยวนี้ข้อมูลที่เผยแพร่ทางโลกโซเชียลมีมากมายหลากหลาย ก่อนเชื่อก่อนแชร์ทุกครั้งควรเช็กข้อมูลให้ดีก่อนนะครับ ^^


 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
 

ข้อมูลอ้างอิง :
http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs099/en/
http://www.cdc.gov/rabies/transmission/body.html

ภาพประกอบ :
www.thairath.co.th/content/715558