โดย: Tonvet

น้องหมาสามารถวัดความดันโลหิตได้ไหมนะ ?

มาดูกันว่า มีการวัดความดันโลหิตในน้องหมาหรือไม่ ทำไมถึงต้องวัด และมีวิธีการวัดอย่างไร

21 ธันวาคม 2559 · · อ่าน (9,446)
125

SHARES


125 shares


   

Dogilike.com :: น้องหมาสามารถวัดความดันโลหิตได้ไหมนะ ?


    

     เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหมครับว่า ในสุนัขเขามีการวัดความดันโลหิตกันหรือไม่ ? เพราะอย่างในคนนั้น เวลาที่เราเข้ารับบริการทางการแพทย์ ทุกครั้งคุณพยาบาลก็จะต้องตรวจวัดความดันโลหิตให้ ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ ต่างกับเวลาที่เจ้าของพาน้องหมามาพบสัตวแพทย์ ทำไมไม่เห็นคุณหมอทำการวัดความดันโลหิตให้เลย หรือว่าไม่จำเป็นต้องวัดกันนะ  วันนี้ มุมหมอหมา มีคำตอบครับ
 

 
 

มีการวัดความดันโลหิตในสุนัขหรือไม่

 
 
     ความจริงแล้ว ในสุนัขก็มีการวัดความดันโลหิตเช่นกันครับ แต่ปกติเราจะทำการวัดในรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น อาจไม่ได้ทำการวัดกันทุกรายอย่างเช่นในคน เนื่องจากการวัดความดันโลหิตในสัตว์เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าในคน สุนัขมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการวัด อีกทั้งเส้นเลือดแดงนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ลึกและวัดยากกว่าถ้าเทียบกับในคนเรา ที่สำคัญสุนัขยังมีขนปกคลุมหนา และขนาดของขาในสุนัขแต่ละพันธุ์นั้นก็แตกต่างกัน จำเป็นต้องเลือกใช้แผ่นรัดขา (Cuffs) ในขนาดที่เหมาะสม ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิตในสัตว์นั้น จึงต้องเป็นเครื่องมือที่ใช้เฉพาะในสัตว์ จะเอาเครื่องวัดความดันโลหิตของคนมาใช้กับสุนัขไม่ได้ อย่างในคนการวัดความดันจากภายนอก สามารถใช้เครื่องวัดความดันพร้อมกับหูฟัง  (Stethoscope) แต่หากเป็นของในสุนัขแล้วอาจต้องใช้เครื่อง Doppler ultrasound มาใช้ในการหาการตำแหน่งของหลอดเลือดแดงแล้วฟังเสียงแทนหูฟัง ซึ่งมีราคาแพงกว่า ดังนั้นในการดันความดันโลหิตแต่ละครั้งจึงมีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาวัดค่อนข้างนาน เนื่องจากต้องวัดซ้ำหลายครั้ง เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันโลหิตในสุนัขแบบอัตโนมัติ ทำให้การวัดทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก


 

Dogilike.com :: น้องหมาสามารถวัดความดันโลหิตได้ไหมนะ ?

 
 

 

การวัดความดันโลหิตในสุนัขมีประโยชน์อย่างไร

 
 
 
     ความดันโลหิต นั้นเป็นค่าที่บ่งบอกถึงการทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งความดันโลหิตมีผลต่อการนำพาออกซิเจนและสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากความดันโลหิตเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะสูงเกินหรือต่ำเกินไปก็ตาม ร่างกายจะมีการปรับตัวเพื่อชดเชย แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่ร่างกายจะควบคุมได้ ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว ส่วนมากเรามักจะวัดความดันโลหิตในน้องหมาเวลาที่เข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะในร่างกายเข้ารับการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องเฝ้าติดตามสัญาณชีพอย่างใกล้ชิด หรือในรายที่ป่วยเป็นโรคบางอย่างที่ต้องเฝ้าติดตามค่าความดันโลหิตเป็นประจำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่เป็นอยู่

 
 
     นอกจากนี้การวัดความดันโลหิตยังช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วย โดยโรคที่มีผลต่อความดันโลหิตนั้นก็ได้แก่ โรคหัวใจ  โรคไต โรคเบาหวาน โรคคุชชิ่ง  โรคทางระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมน โรคทางระบบประสาท ภาวะช็อค ฯลฯ แต่ในสุนัขที่มีสุขภาพปกติก็สามารถทำการวัดความดันโลหิตได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบหากร่างกายเกิดความผิดปกติในอนาคต โดยเฉพาะในสุนัขที่เข้าสู่วัยชรามีอายุมากกว่า 6-10 ขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว สามารถทำการวัดได้แม้จะยังไม่มีอาการป่วยก็ตาม โดยความดันโลหิตที่เปลี่ยนไป เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงของโรคหัวใจในระยะแรกได้ ทั้งนี้ความเครียด ความกลัว  สภาพแวดล้อม อายุ เพศ อารมณ์ คนแปลกหน้า ฯลฯ ล้วนมีผลต่อความดันโลหิตเช่นกัน หากเราปล่อยให้ความดันโลหิตผิดปกติไปนาน ๆ แล้วไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ตามมาได้ ทั้งต่อดวงตา ไต สมอง และหลอดเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ด้วยครับ 

 

Dogilike.com :: น้องหมาสามารถวัดความดันโลหิตได้ไหมนะ ?




 
 

มาดูวิธีวัดความดันโลหิตในสุนัขกัน

 
 
 
     การวัความดันโลหิตในสุนัขนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การวัดความดันโลหิตจากภายนอก (Non-invasion blood pressure) กับการวัดความดันโลหิตจากภายในเส้นเลือดแดง (Invasion blood pressure) ซึ่งวิธีหลังนี้จะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในเส้นเลือดแดงของน้องหมา ปกติเราใช้วิธีนี้กับสุนัขป่วยรายที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการวัดวิธีนี้จะมีความแม่นยำมากกว่า มักจะทำในรายที่กำลังผ่าตัดหรือป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แต่วันนี้เราจะมาดูวิธีการวัดความดันโลหิตจากภายนอกกันครับ ซึ่งวิธีการวัดก็คล้าย ๆ กับวิธีที่วัดในคนอย่างที่เราคุ้นตากันดี หากแต่อุปกรณ์ที่ใช้มีความเฉพาะกับสุนัข เรามาดูวิธีการวัดกันครับ
 
 
     ก่อนอื่นต้องควบคุมน้องหมาให้นิ่งก่อน เพราะถ้าตื่นเต้นหรือหวาดกลัวแล้ว ก็จะส่งผลต่อค่าความดันโลหิตได้ โดยขั้นตอนนี้อาจต้องพามาอยู่ในห้องที่เงียบสงบ ให้สุนัขทำความคุ้นเคยกับสถานที่ และคนแปลกหน้า (คุณหมอ ผู้ช่วยหมอ ฯลฯ) เสียก่อน อย่างน้อย ๆ สัก 15-60 นาที ก่อนที่จะทำการวัด ซึ่งบางครั้งอาจต้องให้เจ้าของเข้าไปช่วยจับและคอยปลอบใจน้องหมาด้วย เพื่อไม่ให้เขาตื่นกลัว

 

Dogilike.com :: น้องหมาสามารถวัดความดันโลหิตได้ไหมนะ ?



 
     จากนั้นคุณหมอจะเริ่มคลำตรวจหาตำแหน่งของชีพจร ซึ่งอาจจะเป็นที่บริเวณด้านล่างข้อขาของขาหน้าใกล้กับอุ้งเท้า แล้วเริ่มทำการโกนขนออกในรายที่มีขนหนา เพื่อนำหัวตรวจของเครื่อง Doppler ultrasound ไปวางตรวจหาตำแหน่งของเสียงการไหลกระแสเลือดแดง เมื่อหาตำแหน่งเสียงได้แล้วก็จะทำการสวมแผ่นรัดขา (Cuffs) ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของขา โดยพันรอบขาน้องหมา เหมือนอย่างที่พันรอบแขนในคน ตรงตำแหน่งระหว่างตัวสัตว์กับหัวตรวจของเครื่อง Droppler แล้วจึงบีบลูงยาง เพื่อเพิ่มความดันในแผ่นรัดขา จนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงการไหลของเลือดแดง 
 
 
     แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมออกอย่างช้า ๆ จะกระทั้งได้ยินเสียงการไหลของเลือดแดงอีกครั้ง พร้อมกับอ่านค่าความดันโลหิตที่แสดงในเครื่อง Sphygmomanometer ซึ่งความดันนี้จะเป็นความดันโลหิตของตัวบน Systolic และรอจนถึงเสียงเป็นเสียงปกติ ค่าที่อ่านได้ก็จะเป็นความดันโลหิตของตัวล่าง Diastolic แต่การวัดด้วยวิธีนี้จะวัดค่าความดันโลหิตของตัวบน Systolic ได้ดีกว่า จากนั้นให้ทำการวัดซ้ำอีก  3-5 ครั้ง เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด ซึ่งค่่าความดันโลหิตที่ปกติในสุนัขนั้น คือ ค่าความดันโลหิตตัวบน Systolic 120-140 mmHg (+/- 10-20 mmHg)  และค่าความดันโลหิตตัวล่าง Diastolic 60-80 mmHg (+/- 10-20 mmHg) ทั้งนี้ขึ้นกับพันธุ์ของสุนัขด้วยครับ



Dogilike.com :: น้องหมาสามารถวัดความดันโลหิตได้ไหมนะ ?




     คงจะเห็นแล้วนะครับว่า การวัดความดันโลหิตในสุนัขนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ว่าที่เราไม่ค่อยไม่ได้วัดกันนั้น ก็อาจเป็นเพราะทำได้ค่อนข้างยาก และสุนัขก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการตรวจมากนัก อีกทั้งขึ้นตอนในการตรวจวัดก็มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่เหมือนกันในคนเราที่แค่ยื่นแขนให้คุณพยาบาลตรวจ ก็สามารถวัดออกมาได้ในเวลาที่ไม่นาน จนในคนถือเป็นการตรวจ ที่แทบไม่มีค่าใช้จ่ายเลยก็ว่าได้ แต่ในสุนัขนั้นการวัดในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเครื่องมือที่ให้มีความเฉพาะและมีราคาค่อนข้างสูง แต่หากมีโอกาสก็อยากให้ลองพาสุนัขไปวัดความดันโลหิตกันนะครับ เพราะมีประโยชน์ทั้งในแง่ของการเฝ้าระวังโรค และติดตามโรคที่ป่วยอยู่ โดยเฉพาะในสุนัขสูงวัยที่มีอายุมากกว่า  6-10 ปีขึ้นไป ไม่ต้องรอให้มีอาการก่อน ก็สามารถเข้ารับการวัดความดันโลหิตได้นะครับ



 
 
บทความโดย:  หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ:
https://www.healthambition.com/wp-content/uploads/2016/02/Dog-suit.jpg
http://castle-vets.co.uk/castlevets/wp-content/uploads/2016/04/Sphygmomanometer-1.jpg
http://todaysveterinarypractice.navc.com/wp-content/uploads/2015/03/Figure-22.jpg
http://todaysveterinarypractice.navc.com/wp-content/uploads/2015/03/Figure-11.jpg
http://www.cliniciansbrief.com/sites/default/files/column_images/ProP-Indirect-BP-Fig-5.jpg