โดย: Tonvet
5 โรคพันธุกรรมยอดฮิตในน้องหมา
มาดูกันว่า โรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย ๆ ในน้องหมานั้น จะมีโรคอะไรกันบ้าง
4 มกราคม 2560 · · อ่าน (11,630)
ถ้าให้เลือกได้คงไม่มีใครอยากเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติกันหรอกใช่ไหมครับ แต่ความผิดปกติบางอย่างนั้น ก็ไม่ได้ปรากฎมาให้เห็นกันตั้งแต่แรกเกิด แต่กลับแฝงอยู่ในร่างกาย รอวันว่าเมื่อไหร่จะแสดงออกมาให้เห็น อย่าง "โรคพันธุกรรม" นั้น ก็เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์หรือโครโมโซม ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติจากโครมาโซมร่างกายหรือโครโมโซมเพศก็ตาม หากเป็นแล้วก็จะติดตัวไปทั้งชีวิต ที่สำคัญโรคนี้จึงถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นได้อีก
ซึ่งในน้องหมาก็มีโรคที่ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมอยู่ด้วยกันมากกว่า 350 โรคเลยทีเดียว และมากกว่า 70% ของโรคพันธุกรรมนั้น ก็เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนเด่นเป็นหลัก ซึ่งพบได้ง่ายในสุนัขพันธุ์แท้ ส่วนสุนัขพันธุ์ทางนั้น กลับมีแนวโน้มที่แข็งแรงกว่า เนื่องจากมียีนที่หลากหลายกว่า สำหรับโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในน้องหมานั้น ตามบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ cliniciansbrief เขียนโดย Jerold S. Bell สัตวแพทย์ประจำ Cummings School of Veterinary Medicine at Tufts University ก็มีอยู่ด้วยกัน 5 โรค ดังต่อไปนี้ครับ
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นโรคที่คุกคามคุณภาพชีวิตของน้องหมาเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเป็นแล้วน้องหมาก็มักจะแสดงอาการคันให้เห็นอยู่บ่อย ๆ บางรายก็เป็นโรคหูอักเสบร่วมด้วย รักษาเท่าไรก็ไม่หายสักที โดยโรคนี้เกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ (allergens) ผ่านการสูดดมเอาละอองในอากาศหรือสิ่งแวดล้อมเข้าไป นอกจากนี้ยังรวมถึงการสัมผัสผ่านผิวหนังหรือการกินเข้าไปด้วย บางครั้งก็เรียกโรคนี้ว่า ภูมิแพ้ละอองอากาศหรือภูมิแพ้จากการสูดดม ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวก็มีมากมายหลายอย่าง เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น ขนสัตว์ ซากแมลง สปอร์ของเชื้อรา สะเก็ดผิวหนังของคนและสัตว์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอนุภาคเล็ก จนบางครั้งเราก็อาจมองไม่เห็น โดยมีปัจจัยเรื่องของฤดูกาลมาเกี่ยวข้อง สำหรับสุนัขที่พบว่าเป็นโรคนี้ได้นั้น พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ชิสุ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ลาบลาดอร์ รีทรีฟเวอร์ และเยอรมัน เชฟเฟิร์ด ฯลฯ ด้วยครับ
โรคข้อสะโพกเสื่อม
โรคข้อสะโพกเสื่อม หรือโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกตินี้ ก็เป็นอีกโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์ผสมหรือสุนัขพันธุ์แท้ก็ตาม โดยมีปัจจัยทั้งจากการได้รับอุบัติเหตุทำให้ข้อสะโพก ถุงหุ้มข้อ หรือเอ็นยึดที่หัวกระดูกต้นขาหลังเกิดการฉีดขาด การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม (เลี้ยงบนพื้นลื่น เลี้ยงสัตว์ให้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ฯลฯ) การได้รับสารอาหารไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยพบว่าการเสริมแคลเซียมมากเกินไปไม่ถูกสัดส่วน ก็ทำให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน
จากรายงานของ Orthopedic foundation for animals พบว่า สุนัขที่ตรวจพบโรคนี้มากที่สุด คือ บูลด็อก รองลงมา คือ ปั๊ก แต่ส่วนมากก็จะพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเซนต์เบอร์นาร์ค ไซบีเรียน โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ฯลฯ (สามารถเข้าในดูได้ในนี้ http://ofa.org/stats_hip.html) โดยจากการสำรวจของสมาคม Golden Retriever Club of America (GRCA) ในปี ค.ศ. 1998-1999 พบว่าสุนัขพันธุ์โกลเด้นฯ ป่วยด้วยโรคนี้สูงถึง 1 ใน 6 เลยทีเดียว น้องหมาที่เป็นโรคนี้ เมื่อถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) จะพบว่า เบ้ากระดูกเชิงกรานกับหัวกระดูกต้นขาหลังไม่สามารถสวมรับกันได้อย่างพอดี หัวกระดูกไม่อยู่ในเบ้า อาจเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดรูป
กลุ่มอาการทางเดินหายใจของสุนัขพันธุ์หน้าสั้น
สุนัขพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic dogs) เป็นสุนัขที่มีส่วนจมูกและปาก (Muzzle) สั้น หน้าแบน ทำให้เบ้าตาตื้นกว่าปกติ กะโหลกกลม มีส่วนของเพดานปากสั้น กรามบนสั้นกว่ากรามล่าง ทำให้ฟันล่างยื่น ด้วยเหตุนี้ถึงทำให้เกิดความผิดปกติตามมาได้ โดยเฉพาะกับโรคทางเดินหายใจ เราเรียกปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพันธุกรรมเหล่านี้ว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจของสุนัขพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic respiratory syndrome หรือ Brachycephalic airway obstruction syndrome)
ซึ่งประกอบด้วย ปัญหารูจมูกตีบแคบ (Stenotic nares) ปัญหาเพดานอ่อนของช่องปากยื่นยาว (Elongate soft palate) ทำให้ปิดกลั้นทางเดินหายใจอยู่ตลอดเวลา เกิด Everted Laryngeal Saccules ซึ่งเป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างของเส้นเสียง (Vocal cord) ที่ฟอร์มตัวเป็นถุงเล็กๆ (Pockets) ซึ่งหากน้องหมาหายใจ จะถูกดึงหรือม้วนเข้าไปในกล่องเสียง ทำให้ปิดกลั้นทางเดินหายใจบางส่วนได้ และสุดท้ายคือ โรคกล่องเสียงตีบ (Laryngeal collapse)
ซึ่งประกอบด้วย ปัญหารูจมูกตีบแคบ (Stenotic nares) ปัญหาเพดานอ่อนของช่องปากยื่นยาว (Elongate soft palate) ทำให้ปิดกลั้นทางเดินหายใจอยู่ตลอดเวลา เกิด Everted Laryngeal Saccules ซึ่งเป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างของเส้นเสียง (Vocal cord) ที่ฟอร์มตัวเป็นถุงเล็กๆ (Pockets) ซึ่งหากน้องหมาหายใจ จะถูกดึงหรือม้วนเข้าไปในกล่องเสียง ทำให้ปิดกลั้นทางเดินหายใจบางส่วนได้ และสุดท้ายคือ โรคกล่องเสียงตีบ (Laryngeal collapse)
สุนัขพันธุ์หน้าสั้นจึงมักแสดงอาการหายใจเข้าลำบาก หายใจเสียงดัง นอนกรน ไม่ทนต่อสภาพอากาศร้อน และออกกำลังกายหนัก ๆ นานเกินไปไม่ได้ บางรายหายใจไม่ทันถึงขั้นเป็นลม หน้ามืด เกิดฮีทสโตรก และเสียชีวิตไปเลยก็มี นอกจากนี้สุนัขพันธุ์หน้าสั้น ยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ใน (5 ปัญหาสุขภาพของหมาพันธุ์ (เล็ก) หน้าสั้น)
โรคลิ้นหัวในเสื่อม
โรคลิ้นหัวใจเสื่อม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโรคลิ้นหัวใจรั่วนั้น พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป โดยสุนัขที่เป็นจะชอบไอแห้ง ๆ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลากลางคืนและเวลาตื่นเต้น บางตัวก็ชอบหอบ ออกกำลังกายหรือทำอะไรหนัก ๆ นาน ๆ ไม่ได้ เพราะจะเหนื่อยง่าย สามมารถตรวจพบด้วยการพาสุนัขไปฟังเสียงหัวใจ ถ่ายภาพรังสี อัลตราซาวด์ดูโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย โดยพันธุ์สุนัขที่พบได้บ่อย คือ คาวาเรีย คิง ชาร์ล สแปเนียล (พบได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป) ค็อกเกอร์สเปเนียล มิเนเจอร์พูเดิ้ล ดัชชุน มิเนเจอร์ชเนาวเซอร์ ปอมเมอเรเนียน ปักกิ่ง ชิวาวา บอสตันเทอร์เรีย และฟ็อกเทอร์เรีย รวมถึงพันธุ์ผสมของสุนัขพันธุ์เหล่านี้ด้วยครับ
ปัญหาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด
ปัญหาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ เวสไฮแลนด์ไวท์เทอร์เรีย โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ยอร์คเชีย เทอร์เรียรวมถึงสุนัขพันธุ์ผสมด้วย มีผลการศึกษาพบว่าในสุนัขพันธุ์นิวฟาวด์แลนด์ พบปัญหาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดจากพันธุกรรมถึง 27% เลยทีเดียว โดยมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเสื่อมก็ตาม ซึ่งเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่านี้ จะอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของข้อเข่าและยาวไปตามแนวเฉียงจากด้านหลังของกระดูกต้นขาไปจนถึงกระดูกหน้าแข้ง เส้นเอ็นนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของหัวเข่าและหน้าแข้งให้เคลื่อนไหวได้มากน้อยและในมุมต่าง ๆ หากเกิดการฉีกขาดแล้วไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมตามมาได้
สำหรับโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ ที่พบในสุนัขนั้นก็ยังมีอีกหลายโรคเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นโรคลูกสะบ้าเคลื่อน (พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน) โรคต้อกระจก โรคข้อศอกเสื่อม อัณฑะทองแดง โรคลมชัก และโรคต้อหิน ดังนั้นก่อนก่อนการเพาะพันธุ์ ผู้เพาะพันธุ์จึงต้องทำการตรวจสอบประวัติและสุขภาพพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สุนัขตัวนั้น ๆ ด้วยว่า มีความผิดปกติอะไรแฝงอยู่หรือไม่ จะได้ไม่นำโรคเหล่านี้ส่งต่อไปยังรุ่นถัดไปอีก สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนในจะทราบว่า สุนัขพันธุ์ไหนมีความเสี่ยงเป็นโรคทางพันธุกรรมอะไรได้บ้าง สามารถเข้าศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ โรคทางพันธุกรรม อันตรายที่แฝงกายในลูกหมา ครับ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงจาก:
Jerold S. Bell, Top 5 Genetic Diseases of Dogs. Cummings School of Veterinary Medicine at Tufts University. cliniciansbrief website. http://www.cliniciansbrief.com/article/top-5-genetic-diseases-dogs. (ค้นหาเมื่อ 22 December 2016.)
รูปภาพประกอบ:
http://cdn3-www.dogtime.com/assets/uploads/gallery/labrador-retriever-dog-breed-pictures/labrador-retriever-dog-pictures-10.jpg
http://www.petmd.com/sites/default/files/skin-inflammation-allergies-atopy-dogs.jpg
http://www.dogsinmotion.com.au/wp-content/uploads/2012/07/MG_1601-hip-small.jpg
https://cdn.petcarerx.com/LPPE/images/articlethumbs/Symptoms-Heart-Disease-Dog-Cat-Large.jpg
http://www.aaha.org/blog/graphics/original/newstat/2015_021115_Article1(1).jpg
SHARES