โดย: Tonvet

ภาพ "หัวใจ" ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

มาดูความผิดปกติของหัวใจน้องหมาผ่านภาพเอ็กเซเรย์ (รังสีวินิจฉัย) กัน

15 กุมภาพันธ์ 2560 · · อ่าน (12,844)
275

SHARES


275 shares

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ



     ในช่วงชีวิตของน้องหมาอาจมีเพียงไม่กี่ครั้งที่ได้รับการวินิจฉัยโรคด้วยการถ่ายภาพรังสี หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า การเอ็กซเรย์ (x-ray) ซึ่งมีการค้นพบและนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกว่า 100 ปีมาแล้ว เอ็กซเรย์ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งครับ ที่คุณหมอใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงความผิดปกติในช่องอกด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นเงาภาพของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยที่ไม่ต้องเปิดผ่าเข้าไปดู แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้การแปลผลภาพรังสีนับว่ายากและซับซ้อน เนื่องจากภาพที่ได้นั้นเป็นภาพ 2 มิติ ภาพอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายจึงออกมาทับซ้อนกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถ่ายภาพรังสี  2 ท่าในทิศทางตั้งฉากกัน แล้วนำมาประกอบกันเป็นภาพ 3 มิติเอาเองในความคิดของผู้แปลผล



     สำหรับการดูหัวใจนั้น เราจำเป็นต้องทำการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ซึ่งนอกจากจะตรวจดูความผิดปกติของหัวใจได้แล้ว ยังใช้ในการตรวจดูความผิดปกติของหลอดลม ปอด ช่องอก หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลือง หลอดอาหาร กระบังลม ซี่โครง กระดูกสันหลังช่วงอก ฯลฯ ได้ด้วย ซึ่งมีข้อบ่งชี้ที่เราจะต้องทำการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ก็ต่อเมื่อน้องหมามีอาการ ไอ หายใจลำบาก กลืนลำบาก  การแพร่กระจายของเนื้องอกในปอด หรือต้องการดูโครงสร้างที่ผิดปกติในทรวงอก ฯลฯ ซึ่งการเอ็กซเรย์ทรวงอก ยังสามารถใช้วินิจฉัยแยกระหว่างโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจได้ด้วย


 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ




     สำหรับข้อควรปฏิบัติในการพาน้องหมาเข้ารับการถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) นั้นก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากเลยครับ โดยทั่วไปก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากนัก สามารถเข้ารับการการถ่ายภาพรังสีตามที่นัดหมายไว้ได้เลย ยกเว้นในสุนัขบางรายที่ต้องมีการวางยาซึมหรือยาสลบก่อนทำการถ่ายภาพ เจ้าของจำเป็นต้องทำการงดอาหารและนำมาก่อน เพื่อป้องกันการสำลักอาหารลงปอด ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในขณะที่สัตว์สลบ หรือบางรายต้องมีการฉีดสี หรือกลืนแป้ง (สารทึบรังสี) ก็อาจจำเป็นต้องให้งดอาหารและน้ำมาก่อนเป็นราย ๆ ไปครับ 



     สำหรับตัวเจ้าของ หากเจ้าของต้องเข้าไปช่วยคุณหมอจับบังคับสุนัขขณะที่ถ่ายภาพ ก่อนอื่นคน ๆ นั้นจะต้องไม่เป็นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ และเวลาเข้าไป เจ้าของจะต้องสวมใส่อุปกรณ์กำบังรังสีให้ครบ ไม่ว่าเป็นชุดป้องกันรังสี ที่ปิดคอกันรังสี หรือถุงมือกันรังสี (ถ้ามี) ส่วนขณะที่กำลังฉายรังสีนั้น เราจะต้องเบนสายตาออกจากตัวสัตว์ และไม่มองไปยังหลอดรังสีเอ็กซ์ขณะทำการฉายแสง 



     อธิบายมายืดยาว เพื่อน ๆ คงสงสัยแล้วใช่ไหมครับ ว่าภาพหัวใจน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์นั้นจะออกมาเป็นอย่างไร วันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปดูความผิดปกติของหัวใจน้องหมาผ่านภาพเอ็กเซเรย์ (รังสีวินิจฉัย) กัน... ตามมาเลย


 

1  สุนัขหัวใจปกติ



    เป็นภาพถ่ายรังสีทรวงอกของสุนัขพันธุ์ซามอยด์ เพศผู้ ทำหมันแล้ว ซึ่งในภาพนี้เป็นภาพของหัวใจของสุนัขที่ปกติ มีสุขภาพดี ประกอบด้วยภาพถ่าย 3 ท่า ด้วยกัน คือ ท่านอนตะแคงขวา ท่านอนตะแคงซ้าย และท่านอนคว่ำ ตามลำดับครับ

 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนตะแคงขวา จะเห็นหัวใจเป็นรูปไข่ ส่วนขอบของกระบังลม ซ้ายและขวาจะอยู่ขนานกัน

 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนตะแคงซ้าย จะเห็นขอบกระบังลมซ้ายและขวาเป็นแนวแยกกัน 


 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนคว่ำ หัวใจจะอยู่ในแนวตั้ง ปลายของหัวใจ จะถูกกระบังลมดันไปทางซ้ายเล็กน้อย


 

2 สุนัขหัวใจโตข้างเดียว




     เป็นภาพถ่ายรังสีทรวงอกของสุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟวอร์ อายุ 11 เดือน ซึ่งมีอาการทั่วไปยังปกติดี แต่สัตวแพทย์ตรวจพบเสียงหัวใจรั่ว (heart murmur) ประกอบด้วยภาพ 2 ท่า คือ ท่านอนตะแคงซ้าย และ ท่านอนคว่ำ ตามลำดับ ซึ่งสุนัขตัวนี้มีหัวใจห้องซ้ายโตครับ

 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนตะแคงซ้าย หัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้ายมีขนาดใหญ่เล็กน้อย


 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนคว่ำ หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย (ปกติไม่ควรเกิน 50% ของความกว้างช่องอก) 




 

3 สุนัขหัวใจโตทั้งดวง



     เป็นภาพถ่ายรังสีทรวงอกของสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน เพศผู้ ทำหมันแล้ว มีอายุ  8 ปี ซึ่งมีอาการหายใจลำบากและเหนื่อยง่าย ประกอบด้วยภาพ 2 ท่า คือ ท่านอนตะแคงซ้าย และ ท่านอนคว่ำ ตามลำดับ ซึ่งสุดท้าย สุนัขตัวนี้ได้รับการวินิจฉัยว่า หัวใจโต และมีของเหลวสะสมบริเวณถุงหุ้มหัวใจ และมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาจากบริเวณอื่นด้วย


 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนตะแคงซ้าย หัวใจโตทั้งห้องซ้ายและห้องขวา มองเห็นเป็นรูปทรงกลม



 

Dogilike.com :: ภาพ หัวใจ ของน้องหมาจากฟิล์มเอ็กซเรย์เป็นอย่างไรกันนะ

ท่านอนคว่ำ หัวใจโต มีลักษณะกลมโตและมีขนาดใหญ่เกินกว่า 50% ของความกว้างช่องอก
 


     ความจริงแล้วการถ่ายภาพรังสีทรวงอกนี้ ก็ไม่ได้เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นสำหรับการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจหรอกนะครับ เรายังจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การอัลตราซาวน์หัวใจ การตรวจเลือด ฯลฯ ร่วมกับประวัติ อาการ และความผิดปกติอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบในการวินิจฉัยและวางแผนในการรักษาต่อไป



     สำหรับการถ่ายภาพรังสีตามที่ได้นำเสนอไปนั้น ก็เพื่อต้องการให้เพื่อน ๆ ได้เข้าใจเบื้องต้นว่า หัวใจที่ปกติและผิดปกตินั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องถ่าย 2 ท่าประกอบกันด้วยทุกครั้ง และอยากให้ทราบด้วยว่า ถึงแม้หัวใจที่ประเมินจากภาพรังสีว่าปกติ ความจริงอาจป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ก็ได้ ซึ่งการแปลผลนั้น คุณหมอจะต้องนำการผันแปรทางภายวิภาคของสัตว์แต่ละตัวมาคำนึงด้วยครับ  

 


 

บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
ข้อมูลและรูปภาพบางส่วน:
http://mirc.veterinaryradiology.net/
http://www.vetgo.com/
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://imgsrv18.hayhotv.com/hh-635876102962130000.jpg
http://www.sawyoo.com/postpic/2009/03/heart-anatomy-lateral-thorax-dog_671690.jpg
http://mirc.veterinaryradiology.net/storage/ss1/docs/20081210113953231/MIRCdocument.xml
http://www.vetgo.com/cardio/radmonth/radcase.php?casekey=235&month=June&year=2009&amode=on
http://www.vetgo.com/cardio/radmonth/radcase.php?casekey=136&month=September&year=2004&amode=on