โดย: Tonvet

จริงหรือที่ว่า น้องหมาพันธุ์ผสมมีสุขภาพแข็งแรงกว่า ?

มากับว่า..สุนัขพันธุ์ผสมมีสุขภาพดีกว่าสุนัขพันธุ์แท้จริงหรือเปล่านะ

15 มีนาคม 2560 · · อ่าน (9,045)
257

SHARES


257 shares


Dogilike.com :: จริงหรือที่ว่า  น้องหมาพันธุ์ผสมมีสุขภาพแข็งแรงกว่า ?



     หากคิดจะรับสุนัขมาเลี้ยงสักตัว สิ่งหนึ่งที่ต้องตัดสินใจให้ได้เลยก็คือว่า เราจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์อะไรดี ซึ่งสุนัขเองก็มีอยู่หลายร้อยพันธุ์ นอกจากสุนัขพันธุ์แท้แล้ว ก็ยังมีสุนัขพันธุ์ผสมอีกด้วย ย้อนกลับไปในอดีตสุนัขนั้นมีต้นกำเนิดจากสุนัขป่า ก่อนที่ผู้เพาะพันธุ์จะผสมแล้วพัฒนาออกมาจนแตกออกเป็นพันธุ์ต่าง ๆ ให้เห็นกันอยู่จนทุกวันนี้



     สุนัขพันธุ์แท้นั้นเกิดจากการผสมระหว่างพ่อและแม่สุนัขที่เป็นพันธุ์เดียวกัน  ส่วนสุนัขพันธุ์ผสมนั้นเกิดจากพ่อและแม่สุนัขที่ต่างพันธุ์กันไป เช่น สุนัขพันธุ์ปั๊กกับบีเกิล ก็จะมีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า สุนัขปั๊กเกิล (Puggle) อะไรทำนองนี้ ซึ่งการสร้างพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ก็มักจะใช้สุนัขตั้งแต่  2 พันธุ์ขึ้นไป แล้วทำการคัดเลือกกันไปอีก 10-20 รุ่น จนมีลักษณะคงที่กลายเป็นสุนัขพันธุ์ใหม่
 
 
 
     แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สุนัขทุกตัวจะได้รับจากพ่อและแม่อย่างแน่นอนเลยก็คือ ลักษณะทางพันธุกรรม นั่นเอง ซึ่งลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้รับมานี้ ก็จะมีโรคทางพันธุกรรม (Inherited Disorders) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซมถูกถ่ายทอดผ่านมาจากพ่อและแม่ของสุนัขตามมาด้วย คำถามหนึ่งที่เรามักจะสงสัยว่า ความจริงแล้วสุนัขพันธุ์ผสมนั้นสุขภาพดีกว่าสุนัขพันธุ์แท้จริงหรือไม่ หากเราคิดเล่น ๆ นะครับว่า สุนัขพันธุ์ผสมนั้นมียีนที่หลากหลายกว่า ก็น่าจะต้องมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพแข็งแรงกว่าแน่เลย แต่ความจริงแล้วจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ วันนี้เรามาหาคำตอบกันครับ...
 
 
 

สุนัขพันธุ์ผสมมีสุขภาพดีกว่าหรือไม่

 
 


     การผสมระหว่างพ่อสุนัขและแม่สุนัขที่มีพันธุ์ต่างกัน ลูกผสมที่ได้จะไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเป็นสุนัขพันธุ์ไหน เราเรียกกันว่า สุนัขพันธุ์ผสม ซึ่งการผสมด้วยวิธีนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากเฮทเทอโรซีส เพื่อหวังช่วยในด้านของความแข็งแรง ความอยู่รอด การเจริญเติบโต ฯลฯ และอาจช่วยทำให้ได้เปรียบในเรื่องการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากเราเจาะลึกไปในแต่ละโรคแล้ว ก็พบว่าสุนัขพันธุ์ผสมนั้นกลับไม่ได้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรมน้อยไปกว่าสุนัขพันธุ์แท้เลย

 
 
     มีการศึกษาของ Bellumori และคณะ (2013) โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนในคลินิกสัตวแพทย์ของ University of California-Davis Veterinary Medical Teaching Hospital. (UC Davis) จากสุนัขจำนวนมากกว่า 27,254 ตัว นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ถึง ค.ศ. 2010 แล้วนำข้อมูลมาศึกษาเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของความผิดปกติจากโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในสุนัขจำนวน 24 โรค ระหว่างสุนัขพันธุ์ผสมและสุนัขพันธุ์แท้


     ผลปรากฏว่า มีโรคทางพันธุกรรมจำนวน 10 โรค ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจเอออติกตีบแคบ (Aortic stenosis)  โรคกล้ามเนื้อหัวใจโต (Dilated cardiomyopathy) โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia) โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง (IVDD) ภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตชั้นนอกต่ำ (Hypoadrenocorticism) ภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopy / allergic dermatitis) ภาวะกระเพาะพองขยาย (Bloat) โรคต้อกระจก (Cataracts) โรคลมชัก (Epilepsy) ภาวะที่เส้นเลือดสร้างทางลัดไม่ผ่านตับ (Portosystemic shunt) ที่พบในสุนัขพันธุ์แท้มากกว่าสุนัขพันธุ์ผสม ในขณะที่โรคอื่น ๆ ที่เหลือนั้น แทบไม่พบความแตกต่างในการเกิดแต่อย่างใด ยกเว้น เพียงโรคเดียวเท่านั้นที่พบในสุนัขพันธุ์ผสมากกว่าสุนัขพันธุ์แท้ คือ โรคเส้นเอ็นหัวเข่าไขว้หน้าฉีกขาด (Cranial cruciate ligament rupture) 

 
 

Dogilike.com :: จริงหรือที่ว่า  น้องหมาพันธุ์ผสมมีสุขภาพแข็งแรงกว่า ?


 
 
     จึงอาจกล่าวได้ว่า สุนัขพันธุ์ผสมก็ไม่ได้มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาด้านสุขภาพน้อยไปกว่าสุนัขพันธุ์แท้เสียทีเดียว โรคพันธุกรรมที่พบส่วนมากก็สามารถพบได้ทั้งสุนัขพันธุ์ผสมและสุนัขพันธุ์แท้เช่นกัน การเลือกสุนัขมาเลี้ยงนั้น จึงควรพิจารณาเป็นรายตัวไป หากมีสืบค้นประวัติย้อนหลังไปอย่างน้อย 3-4 รุ่นก่อนหน้า ก็พอจะทราบได้ว่า พ่อและแม่สุนัขเหล่านั้นมีโรคทางพันธุกรรมอะไรบ้าง หรือหากได้ทดสอบความผิดปกติทางพันธุกรรมโรคใดโรคหนึ่งได้ก็ควรทำ เพราะโรคบางอย่างก็ส่งทอดกันทางสายเลือดในแต่ละครอบครัว อาจไม่จำเป็นต้องเป็นทางโรคประจำพันธุ์นั้น ๆ ก็ได้ อย่างไรก็ดีการศึกษานี้เป็นการพยายามที่จะรวบรวมข้อมูล ซึ่งอาจมีข้อจำกัดหลายปัจจัย เช่น สุนัขพันธุ์แท้จะมีจำนวนเข้ารับการรักษามากกว่าสุนัขพันธุ์ผสม ความแตกต่างทางด้านอายุและเพศของสุนัขที่เก็บข้อมูล ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปในอนาคตครับ



     
 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
 
ข้อมูลและรูปภาพบางส่วน:
 
Bellumori TP, TR Famula, DL Bannasch, JM Belanger, & AM Oberbauer  2013 Prevalence of inherited disorders among mixed-breed and purebred dogs: 27,254 cases (1995-2010).  J Am Vet Med Assoc 242: 1549-1555.
 
 
 
รูปภาพประกอบ:
http://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/articles/health_tools/best_dog_breed_for_your_health_slideshow/getty_rm_photo_of_three_dogs_on_white.jpg