โดย: Tonvet

4 วิธีรับมือกับโรคลมชักในสุนัข

บทความที่คนมีน้องหมาเป็นโรคชมชักต้องอ่าน

10 พฤษภาคม 2560 · · อ่าน (90,713)
925

SHARES


925 shares

Dogilike.com :: 4 วิธีรับมือกับโรคลมชักในสุนัข

 

     โรคลมชัก เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาการชักเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท ที่เกิดจากการนำกระแสไฟฟ้าในสมองส่วน cerebral cortex ผิดปกติ ทำให้ resting membrane potential ลดต่ำลงกว่าปกติ จึงถูกกระตุ้นได้ง่าย ผลคือกล้ามเนื้อเกิดการหดตัวเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง น้องหมาก็จะทำท่าทางเหยียดเกร็งขา กัดฟัน ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจจาระได้ ไม่มีสติ และไม่รู้สึกตัวในขณะเกิดอาการชัก ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคลมชักส่วนมากจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic epilrpsy) สัญนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ก็มาจากกการเกิดจากความผิดปกติในสมอง เช่น มีเนื้องอกที่สมอง สมองอักเสบ หรือเกิดจากความผิดปกติส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แล้วส่งผลมายังที่สมอง เช่น พวกน้องหมาได้รับสารพิษ เป็นโรคตับ เป็นโรคไต เป็นต้น 
 
 

     ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคลมชักแล้ว ส่วนมากจะต้องทำการรักษากันไปตลอดชีวิต ด้วยยาที่ควบคุมอาการชัก แต่สุนัขบางตัวก็อาจไม่สามารถตอบสนองต่อยาควบคุมอาการชักได้ จึงต้องมีการปรับขนาดยาหรือปรับเปลี่ยนตัวยาเป็นระยะ รวมถึงยาระงับชักบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ซึ่ม อาเจียน ท้องเสีย กินน้ำมากขึ้น เป็นพิษต่อตับและตับอ่อน ฯลฯ เจ้าของจึงต้องทำความเข้าใจโรคนี้ รวมถึงวิธีการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ มุมหมอหมา มีวิธีการรับมือกับโรคลมชักในสุนัขมาฝาก...ตามไปดูกันเลยครับ
 
 
 
 

1 หมั่นสังเกตอาการของสุนัขบ่อย ๆ

 
 
 
 
     เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาระยะเวลาในการชักได้ การเฝ้าสังเกตอาการจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของต้องหมั่นทำเป็นประจำ และใช้ความระมัดระวังในการดูแลสุนัขป่วยอย่างดีที่สุด เพราะหากสุนัขชักมากกว่า 2 ครั้งภายใน 1 วัน หรือ ชักแค่เพียง 1 ครั้ง แต่กลับแสดงอาการเป็นเวลานานเกินกว่า 15 นาที อาจทำให้เกิดสมองบวม หรือสมองขาดออกซิเจน เซลล์สมองถูกทำลาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดเลย 
 


Dogilike.com :: 4 วิธีรับมือกับโรคลมชักในสุนัข


 
 
     โดยอาการของสุนัขที่เป็นโรคลมชักนั้น ช่วงก่อนที่จะชักหรือระยะออร่า (Aura) น้องหมาจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางตัวหลบซ่อนตัว หอน ร้องคาง ตัวสั่น น้ำลายไหลมาก หรือดุขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งเตือนเจ้าของว่าอีกไม่นานน้องหมาจะชักแน่นอน แต่ระยะช่วงก่อนนี้ น้องหมาอาจแสดงอาการนานเพียงไม่กี่วินาทีแล้วชักเลย หรืออาจนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงระยะแสดงอาการชัก ในช่วงที่น้องหมากำลังแสดงอาการชักนี้ เจ้าของต้องระมัดระวังอันตรายจากการที่ตัวหรือหัวน้องไปฟาดกับสิ่งของ อาจใช้เบาะหรือผ้านุ่ม ๆ หนา ๆ รองหัวและตัวน้องหมาไว้ และเอาสิ่งกีดขวางที่เป็นอันตรายรอบ ๆ ตัวออกไป 
 
 
 
     คุณหมอจะให้ยาระงับชักในรูปแบบสวนก้น (ทวารหนัก) มาสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน  ให้เราทำการสวนยาทางก้นในทันทีที่น้องหมาชัก อย่างที่บอกว่าช่วงของการชักนี้ไม่ควรเกิดขึ้นนานเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เจ้าของจะต้องระวังตัวเองด้วย เพราะน้องหมาที่ชักจะไม่รู้สึกตัว จึงอาจกัดเราได้ และช่วงหลังจากอาการชักสงบแล้ว น้องหมาอาจยังจำเจ้าของไม่ได้ บางตัวอาจซึมลง มึนงง เดินเซ และหายใจเร็ว ตาบอดชั่วคราว ฯลฯ ซึ่งระยะเวลาของการฟื้นตัวนี้อาจเกิดเพียงไม่นานเป็นนาที หรืออาจนานเป็นวันหรือสัปดาห์ก็ได้ ดังนั้นเจ้าของจึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเท่านั้นครับ
 
 
 
 
 

2 ป้อนยาให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ

 
 
 
 
     ปัญหาข้อหนึ่งที่ทำให้การรักษาโรคลมชักไม่ประสบผลสำเร็จนั้น เกิดจากการที่สุนัขได้รับยาที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งความจริงแล้วการบริหารยาระงับชักถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาโรค สุนัขที่ป่วยเป็นโรคลมชักจะต้องได้รับยาตรงเวลาตามกำหนดและต่อเนื่องทุกครั้งสม่ำเสมอ เพราะการจะควบคุมอาการชักได้ ต้องมียาในกระแสเลือดในระดับที่เหมาะสม ซึ่งสุนัขที่เข้าข่ายจะต้องได้ยาระงับชักนั้น สุนัขจะต้องมีอาการชักที่มีความถี่มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน หรือมีอาการชักต่อเนื่อง (Cluster seizure) โดยทั่วไปคุณหมอจะจ่ายยาระงับชักที่เป็นยาหลักมาให้  1 ตัว หรืออาจมีการให้ร่วมกับยาระงับชักทางเลือกตัวอื่น ๆ ด้วยแล้วแต่กรณีไป ซึ่งขอไม่ลงรายละเอียดในบทความตอนนี้นะครับ เพราะปัจจุบันเรามียาระงับชักที่ใช้ในสุนัขหลายตัวยา แต่ละตัวยาก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนใช้ยาเจ้าของต้องทำความเข้าใจยาตัวนั้นให้ดี ทั้งขนาดยาที่จะให้ ต้องแบ่งให้อย่างไร ให้วันละกี่ครั้ง เวลาไหน และที่สำคัญก็ควรต้องทราบผลข้างเคียงของยานั้นด้วยครับ 
 
 
 
     นอกจากยาระงับชักที่เป็นยาหลักแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยารูปแบบกิน ยังมียาระงับชักที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย ยาตัวนั้นจะเป็นยาที่ใช้สำหรับสวนทางก้น (ทวารหนัก) ซึ่งจะให้มาเป็นรูปแบบ ampule ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นหลอดแก้วสีชา เวลาให้เจ้าของต้องหักหลอดแก้ว แล้วใช้ไซริงค์ดูดยาที่เป็นของเหลวออกมาตามปริมาณที่คุณหมอแนะนำเท่านั้น (ห้ามให้มากหรือน้อยเกินไปเด็ดขาด) ซึ่งปริมาณยาจะคำนวณตามน้ำหนักตัว จากนั้นก็สวนยาเข้าทางทวารหนักทันที แต่ถ้าให้ยาตัวนี้ 2 ครั้งแล้วน้องหมาก็ยังแสดงอาการชัดอยู่ ก็ควรรีบพาน้องหมาส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันทีเลยครับ  
 
 


Dogilike.com :: 4 วิธีรับมือกับโรคลมชักในสุนัข




 
 
 

3 หมั่นพาสุนัขไปตรวจประเมินสุขภาพและติดตามอาการอย่างเป็นประจำ

 
 
 
 
     สำหรับน้องหมาที่เป็นโรคลมชักนั้นก็เหมือนเป็นโรคประจำตัวที่ต้องได้รับยาไปตลอด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำสุนัขไปตรวจแล้วรับยาเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็หายไปเลย ไม่พาสุนัขมา แล้วจะมารับยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะต้องมีการติดตาผลการรักษา อาจต้องปรับขนาดยา หรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาที่ให้ ดังนั้นน้องหมาควรได้มาพบกับคุณหมอเป็นระยะ ๆ ในการมาพบแต่ละครั้งนั้น น้องหมาจะได้รับการตรวจระบบประสาทและประเมินสุขภาพโดยรวมซ้ำ  โดยเฉพาะการตรวจระดับยาระงับชักในกระแสเลือด ซึ่งคุณหมอจะนัดมาตรวจเป็นระยะหลังจากเริ่มใช้ยา หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยา เพื่อจะได้ทราบระดับยาที่เหมาะสมต่อการระงับชัก จะได้ปรับเปลี่ยนขนาดยาให้เหมาะสม ลดโอกาสเกิดความเป็นพิษในร่างกาย รวมถึงการตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและค่าชีวเคมีในเลือดต่าง ๆ เพื่อติดตามการทำงานของตับและไต ในบางรายอาจต้องมีการตรวจติดตามด้วยเครื่องมือพิเศษ อย่างเช่นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองและการตรวจด้วยเครื่อง MRI ด้วยครับ 
 
 
 
 
 

4 ควรจดบันทึกอาการต่างๆ ของสุนัขด้วยตนเองที่บ้าน

 
 
 
 
     ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะชีวิตของน้องหมาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน คนที่จะทราบอาการได้ดีที่สุดก็คือ เจ้าของ ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลน้องหมามาให้กับคุณหมอ ดังนั้นการจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาได้ดี ในการรักษาโรคลมชักนั้น คุณหมอเป็นเพียงคนคุมหางเสือ แต่คนพายเรือทำให้เรือแล่นไปสู่จุดหมายได้ นั่นก็คือเจ้าของเอง การทำบันทึกอาการชัก หรือ seizure diary นี้ เจ้าของอาจทำการจดบันทึกร่วมกับสัตวแพทย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษาน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคลมชัก สิ่งที่ควรบันทึกควรมีทั้งจำนวนครั้งที่ชัก เวลาที่ชัก ระยะเวลาในการชักแต่ละครั้ง ความรุนแรงของการชัก ความถี่ของการชัก รวมถึงบันทึกปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมของสุนัขป่วยด้วย โดยอาจทำเป็นตารางหรือปฏิทินอาการชัก และถ้าทำได้อาจถ่ายวีดิโอขณะชักหรือขณะมีพฤติกรรมที่ผิดปกติใด ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้สัตวแพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
 
 

Dogilike.com :: 4 วิธีรับมือกับโรคลมชักในสุนัข

 


 
     โรคลมชักนั้นเป็นโรคที่ใช้เวลานานในการรักษา บางรายอาจต้องได้รับยากันไปตลอดชีวิต ซึ่งเป้าหมายของการควบคุมการชักนี้ ก็อาจไม่ได้ทำให้อาการชักหายขาด แต่หากอาการชักเกิดในระดับที่ยอมรับได้ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในการรักษาแล้ว ซึ่งความสำเร็จของการระงับชักนั้นอาจหมายถึง ความถี่ของการชักลดลง ความรุนแรงของการชักลดลง ระยะเวลาในการชักสั้นลง ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นการช่วยให้คุณภาพชีวิตของสุนัขที่ป่วยดีขึ้น การได้รับยาที่ตรงเวลา การสังเกตอาการบ่อย ๆ การพาสุนัขเป็นพบคุณหมอเป็นประจำ และการจดบัทึกอาการชัก จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของที่มีสุนัขป่วยด้วยโรคลมชักควรต้องนำไปปฏิบัติตาม ขอเป็นกำลังใจน้องหมาที่เป็นโรคลมชักนะครับ



 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ :
https://www.petfinder.com/wp-content/uploads/2012/11/135062410-epilepsy-in-dogs-what-to-do-632x475.jpg
http://cdn.shopify.com/s/files/1/0840/6049/files/IMG_3986_1024x1024.JPG?v=1491586443
http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2015/03/09/2674D5C800000578-2985819-image-a-14_1425870092157.jpg
http://dogswithepilepsy.com.au/images/diary_chart.jpg