โดย: Tonvet

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมุดวัคซีนน้องหมา

มาทำความเข้าใจความสำคัญของใบรับรองวัคซีนในน้องหมา ศัพท์เทคนิก และหากทำสมุดหายต้องทำอย่างไรบ้าง

8 มิถุนายน 2560 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (13,415)
175

SHARES


175 shares

Dogilike.com :: 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมุดวัคซีนน้องหมา


   สมุดวัคซีนของน้องหมาถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่เจ้าของจะต้องมีเก็บไว้ตลอดเวลา เพราะน้องหมาจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำตามกำหนดต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เนื่องจากโรคบางอย่างยังมีความสำคัญทางสาธารณสุข อย่างเช่นโรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้าที่หากเป็นแล้วจะรักษาไม่หาย และคนสามารถติดจากสุนัขได้ ผู้เลี้ยงสุนัขจึงต้องป้องกันตนเองผ่านทางการป้องกันสุขภาพให้กับสุนัข

     ซึ่งสิ่งที่จะใช้ยืนยันว่าสุนัขของเราได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วอย่างครบถ้วนก็คือ สมุดวัคซีนหรือใบรับรองการฉีดวัคซีนของสุนัข นั่นเอง  แต่
ยังมีเจ้าของหลายคนที่ยังละเลยการพกเก็บสมุดวัคซีนของสุนัขไว้ บางคนรับสมุดไปแล้วก็ทิ้งขว้าง ทำหาย หรือทำชำรุด บางคนก็ไม่ขอรับสมุดไป เนื่องจากไม่เห็นถึงความสำคัญ   วันนี้ผมจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสมุดวัคซีน ไปดูกันว่าในสมุดวัคซีนนั้นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง  หากทำสมุดหายต้องทำอย่างไร และสมุดวัคซีนปลอมมีจริงหรือไม่ ตามมาดูกันเลยครับ...


 

1 สมุดวัคซีนประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

 
 
     สมุดวัคซีน (Vaccination book) หรือ ใบรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับสุนัขนั้น เป็นหนังสือใช้ยืนยันว่าสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนอะไรมาแล้วบ้าง ฉีดมาเมื่อไหร่ มีนัดฉีดครั้งต่อไปเมื่อไหร่ และฉีดมาครบถ้วนตามกำหนดหรือไม่ โดยในใบรับรองการฉีดวัคซีนนั้น จะแสดงชื่อวัคซีนที่ได้รับการฉีดมา ว่าใช้สำหรับป้องกันโรคอะไรบ้าง มีฉลากวัคซีนหรือ sticker จากขวดวัคซีนที่ได้ฉีดให้ไปติดกำกับไว้ ซึ่งในฉลากวัคซีนนั้นจะแสดง ชื่อวัคซีนและเลขที่ผลิตวัคซีนเอาไว้ใช้ตรวจสอบ และยังต้องมีชื่อสัตวแพทย์ พร้อมลายเซ็น และเลขใบประกอบวิชาชีพทางการสัตวแพทย์ของผู้ทำการฉีดให้ระบุเอาไว้ด้วย  นอกจากนี้ยังต้องมีตราปั้มหรือชื่อสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่เป็นผู้ออกสมุดวัคซีนนั้นกำกับเอาไว้ด้วยครับ
 
 
 

 

2 สมุดวัคซีนมีประโยชน์อย่างไรบ้าง (ทำไมถึงต้องมีเก็บไว้)

 
 
     ใบรับรองการฉีดวัคซีนนอกจากกจะใช้ยืนยันว่า สุนัขของเราได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอะไรมาบ้างแล้ว ยังถือเป็นข้อกำหนดที่ต้องมีไว้ตามกฎหมายด้วย เพราะตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 นั้น กำหนดให้เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องพาสัตว์ที่ตนเลี้ยง (สุนัข) เข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อสัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว สัตวแพทย์จะต้องมอบใบรับรองการฉีดวัคซีนให้แก่เจ้าของสัตว์ เพื่อให้พกติดไว้ใช้ยืนยันว่า น้องหมาตัวนี้ได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว กรณีที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ หรือใช้ยืนยันในกรณีเกิดข้อพิพาท เช่น สุนัขของเราเกิดไปกัดบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ก็จะต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนนี้มายืนยัน
 
     กรณีนำน้องหมาไปต่างประเทศ เราก็ต้องใช้สมุดวัคซีนมายืนยันในการใช้ออกเอกสารรับรองจากทางราชการ สำหรับการนำเข้าและส่งออกน้องหมาไปยังต่างประเทศ โดยในบางประเทศนั้นจะมีกฎหมายว่า สัตว์เลี้ยงที่จะเข้าหรือออกประเทศได้ จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคบางอย่างมาก่อน พร้อมทั้งมีฉลากวัคซีนหรือ sticker ของวัคซีนที่ฉีด พร้อมด้วยลายเซ็นคุณหมอผู้ทำการฉีดให้กำกับให้อยู่ด้วย

     ซึ่งส่วนตัวแล้วเคยเจอกรณีที่เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงจากต่างประเทศมาอยู่ในบ้านเรา เขาก็จะนำสมุดวัคซีนมายืนยันสำหรับการฉีดวัคซีนประจำปีต่อเนื่อง ซึ่งสมุดวัคซีนนี้เหมือนเป็นหนังสือสากลที่สัตวแพทย์ทั่วโลกใช้สื่อสารกัน และเข้าใจได้ทันทีว่า สุนัขตัวนี้ได้รับการฉีดวัคซีนอะไรมาแล้วบ้าง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอะไรต่อบ้าง และในสมุดวัคซีนก็จะมีการกำหนดวันแจ้งนัดการฉีดวัคซีนครั้งต่อไประบุไว้ ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนได้อย่างต่อเนื่องครับ


Dogilike.com :: 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมุดวัคซีนน้องหมา


 
 

3 คำย่อต่าง ๆ ที่คุณหมอ (อาจ) บันทึกลงในสมุดวัคซีน

 
 
     ในใบรับรองการฉีดวัคซีนนั้น นอกจากจะใช้บันทึกข้อมูลวัคซีนที่น้องหมาได้รับการฉีดไว้แล้ว ยังรวมถึงข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำหนักตัวน้องหมา ข้อมูลการรับยาถ่ายพยาธิ ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ ยาป้องกันเห็บและหมัด ประวัติการทำหมัน ฯลฯ ซึ่งสมุดวัคซีนที่มีพื้นที่อย่างจำกัดนั้น อาจไม่เพียงพอในการเขียนบันทึกด้วยข้อความเต็ม จึงมีการใช้คำย่อบางอย่างบันทึกลงในสมุดวัคซีนด้วย หรือแม้แต่ในใบนัดฉีดวัคซีน (ใบที่แปะติดมากับตัวสุมดวัคซีน) ก็อาจมีเขียนคำย่อ เพื่อใช้สำหรับสื่อสารกันระหว่างสัตวแพทย์ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลน้องหมาในครั้งต่อไป คำบางคำเจ้าของอาจไม่เข้าใจ เพราะเป็นคำย่อทางการแพทย์ วันนี้ มุมหมอหมา ขอยกคำสำคัญ ๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ
 
     BW ย่อมาจากคำว่า Body Weight หรือน้ำหนักตัวของน้องหมา เนื่องจากยาบางอย่างจำเป็นต้องคำนวณให้ตามน้ำหนักตัวของน้องหมา เช่น ยาถ่ายพยาธิ ยาป้องกันเห็บ ฯลฯ จึงต้องมีการชั่งน้ำหนักตัวก่อนได้รับยา ยกเว้นวัคซีนที่ต้องฉีดตามโด๊สไม่เกี่ยวข้องกันน้ำหนักตัวของน้องหมาครับ
 
     DW ย่อมาจากคำว่า Deworming หรือการถ่ายพยาธิ บางครั้งคุณหมอจะเขียนว่า DW ในใบรับรองหรือในใบนัด เพื่อให้ทราบว่ามีการถ่ายพยาธิ ซึ่งอาจจะเขียนเป็นชื่อตัวยา (ภาษาอังกฤษ) ที่ใช้ป้อนให้ลงไปในสมุดวัคซีนเลยก็ได้
 
     RV เป็นคำย่อชื่อโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) หรือ Rabies
 
     DHLPP-CV เป็นคำย่อชื่อโรคต่าง ๆ ที่รวมอยู่วัคซีนรวม ประกอบด้วย โรค Distemper  โรค Hepatitis โรค Leptospirosis โรค Parvovirus โรค Parainfluenza และ โรค Coronavirus ครับ
 
     IVM เป็นคำย่อของชื่อยา Ivermectin ซึ่งเป็นยากำจัดเห็บและพยาธิหนอนหัวใจ ส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบฉีดทุก ๆ 1-2 เดือน
 
     OVH เป็นคำย่อจากคำว่า Ovariohysterectomy ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดสัตว์เพศเมียโดยตัดเอารังไข่และมดลูกออก ทำให้สุนัขเป็นหมันแบบถาวร คุณหมออาจบันทึกไว้ว่าสุนัขตัวนี้ได้ทำหมันแล้ว ด้วยวิธีการดังกล่าว 
 
 
     เหล่านี้เป็นคำย่อทางการแพทย์ที่อาจพบได้ในสมุดวัคซีน ซึ่งโดยปกติแล้วสมุดวัคซีนก็จะมีคำเต็มกำกับอยู่เพื่อให้เจ้าของอ่านแล้วเข้าใจ ยกเว้นคำบางคำที่ใช้เฉพาะกันในกลุ่มทางการแพทย์เท่านั้นครับ
 
 
 
 

4 สมุดวัคซีนหายต้องทำอย่างไร

 
 
     เมื่อใบรับรองการฉีดวัคซีนของน้องหมาหาย เจ้าของจะต้องติดต่อกลับไปยังสถานพยาบาลผู้ออกสมุดวัคซีนให้ครั้งล่าสุด  เพื่อให้สัตวแพทย์ออกใบรับรองการฉีดวัคซีนแทนของเดิมชั่วคราวก่อน ซึ่งจะได้ทำการออกสมุดใหม่ให้ต่อไป ภายหลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้เมื่อครบตามระยะเวลาที่กำหนดครั้งหน้า  เพราะในสมุดวัคซีนตัวจริงจะต้อองมีฉลากวัคซีนหรือ sticker ที่ได้จากขวดวัคซีนที่ได้ฉีดให้ไปนั้นติดกำกับมาในสมุดวัคซีนด้วย และตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 นั้น กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ใบรับรองการฉีดวัคซีนสูญหายหรือชำรุด ก่อนที่จะครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับรองการฉีดวัคซีนนั้น ให้เจ้าของขอรับใบรับรองการฉีดวัคซีนแทนของเดิม ภายใน  15 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบเหตุครับ

 

Dogilike.com :: 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมุดวัคซีนน้องหมา



 

5 สมุดวัคซีนปลอมมีจริงหรือไม่



     เรื่องสมุดวัคซีนปลอมนั้นเคยเป็นประเด็นข่าวใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2557 ต้องยอมรับครับว่า "มีเกิดขึ้นจริง" และตรวจสอบได้ยากมากหากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ  เนื่องจากการทำสมุดวัคซีนนั้น สามารถทำเลียนแบบกันได้ง่าย โดยมิจฉาชีพจะทำการปลอมฉลากวัคซีน หรือ sticker  โดยนำฉลากวัคซีนไปแสกนแล้วพริ้นสี ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับฉลากวัคซีนของจริง และอาจทำการปลอมชื่อหรือแอบอ้างชื่อสัตวแพทย์ตัวจริง  หรือไม่ก็จะติดแต่ฉลากวัคซีนมาเฉย ๆ โดยที่ไม่มีชื่อสัตวแพทย์ผู้ทำการฉีด สามารถอ่านลายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
 
     ซึ่งเราก็ตรวจสอบไม่ได้ว่า สุนัขตัวนี้ได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วจริงหรือไม่ สร้างความเสียหายให้กับคนเลี้ยงสุนัข โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งซื้อสุนัขมาเลี้ยง เพราะผู้ขายสุนัขจะอ้างว่าสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว จึงฝากเตือนประชาชนทุกคน ให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ด้วย แนะนำให้พาสัตว์เลี้ยงของท่านไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนกับสัตวแพทย์ตัวจริงเท่านั้นดีกว่าครับ  หากสงสัยว่าสมุดวัคซีนดังกล่าวจริงหรือไม่  หรือไม่มั่นใจว่าสุนัขตัวนี้จะได้รับการฉีดวัคซีนมาจริงแล้วหรือไม่ หากตรวจสอบใดใดไม่ได้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าไม่ได้ฉีดมา การเริ่มกระตุ้นนับหนึ่งใหม่ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์ถือเป็นทางออกที่ดีครับ
 


     และนี่ก็เป็นเรื่องราวของใบรับรองการฉีดวัคซีน สมุดเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญต่อตัวของน้องหมาไม่น้อย  ที่ผมได้รวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝาก หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ผู้เลี้ยงสุนัขทุกคนนะครับ






บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ :
http://www.dogingtonpost.com/how-to-treat-and-possibly-save-overheated-dog/
http://www.smartvet.es/Blog/Details/54
http://www.scaashanghai.org/uploads/2/5/4/4/25449749/shenpu-step-1-2_orig.jpg