โดย: Tonvet

เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข

ทำความรู้จักกับความผิดปกติเกี่ยวกับฟันที่พบได้บ่อยในสุนัข

21 มิถุนายน 2560 · · อ่าน (28,631)
170

SHARES


170 shares

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข



     มีใครเคยเปิดปากน้องหมาเพื่อตรวจดูฟันบ้างครับ เชื่อว่าคนเลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่ในที่นี้ อาจยังไม่เคยเปิดปากน้องหมา เพราะสุนัขส่วนมากก็ไม่ชอบให้ใครมาเปิดปากเล่น และยิ่งต้องถูกจับง้างปากเป็นเวลานาน ๆ ด้วยแล้ว ก็คงไม่มีสุนัขตัวไหนที่อดทนยอมให้เราทำอย่างนั้นได้แน่ ๆ เมื่อสุขภาพช่องปากน้องหมาถูกละเลยไป ผลที่ตามคือโรคช่องปากนั้นเอง



     ฟัน เป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานทุกวัน น้องหมาใช้ฟันในการกัด ฉีก และบดเคี้ยวอาหารที่กินเข้าไป ฟันจึงถือเป็นหน้าด่านของทางเดินอาหาร หากร่างกายสูญเสียอวัยวะนี้ไปแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องใหญ่น่าดู เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมตามมาได้ สำหรับความผิดปกติที่เกี่ยวกับฟันในน้องหมานั้นก็มีอยู่มากมายเลยครับ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคฟันสำคัญที่พบได้บ่อยในสุนัขกัน จะมีอะไรบ้างนั้นตามมาดูกันเลย...



 
 

1 ฟันไม่ครบ

 
 
 
     ฟันไม่ครบ (missing teeth)  คือ ภาวะที่มีจำนวนฟันไม่ครบถ้วน ปกติสุนัขมีฟัน 2 ชุด คือ ชุดฟันน้ำนมจะมีจำนวน 28 ซี่ และชุดฟันแท้จะมีจำนวน 42 ซี่ แต่ความผิดปกตินี้เกิดจากฟันบางซี่ได้หายไปจากตำแหน่งที่ควรจะมี อาจเพราะไม่พบการเจริญของฟันเลย หรือมีฟันคุดอยู่ใต้เหงือก ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการถ่ายภาพรังสีดูฟันภายในช่องปาก สาเหตุอาจมาจากพันธุกรรม การเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างการพัฒนา ทำให้หยุดการเจริญเติบโต หรือเกิดจากการที่มีกระดูกหรือฟันซี่อื่น ๆ มาบดบังทำให้ฟันซี่นั้นไม่สามารถงอกขึ้นมาได้  ซึ่งหากตรวจพบว่ามีฟันคุดจากการถ่ายภาพรังสี ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำการถอนออก เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในอนาคต
 

 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข


 

2 ฟันเกิน

 
 
 
     ฟันเกิน (supernumerary teeth) คือ ภาวะที่มีจำนวนฟันเพิ่มมากกว่าปกติ ลักษณะนี้จะตรงกันข้ามกับภาวะฟันไม่ครบ เช่น ปกติจะมีฟันแท้ 42 ซี่ แต่สุนัขที่เกิดความผิดปกตินี้จะมีจำนวนฟันมากกว่านั้น เกิดจากความผิดปกติในกระบวนการเจริญของฟัน ส่วนมากจะขึ้นซ้อนมาคู่กับฟันปกติ แต่มีขนาดเล็กกว่า คล้าย ๆ กับภาวะฟันน้ำนมค้าง ซึ่งฟันที่ขึ้นเกินมานี้อาจไปทิ่มลิ้นหรือทิ่มเหงือก ทำให้สุนัขได้รับการบาดเจ็บและเกิดบาดแผลตามมาได้ ถ้าตรวจพบว่ามีจำนวนฟันเกินมา ส่วนใหญ่สัตวแพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการถอนออกไปครับ
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข


 
 

3 ฟันขึ้นผิดแนว

 
 
 
     ฟันขึ้นผิดแนว (rotated teeth) เกิดจากการเจริญของฟันที่ผิดปกติ ทำให้ฟันที่งอกออกมานั้นเกิดผิดรูป แทนที่จะเรียงกันเป็นแนวปกติเช่นเดียวฟันซี่อื่น ๆ แต่ฟันซี่ดังกล่าวอาจมีการวางตัวผิดบิดเบี้ยวไปจากทิศทางที่ควรจะเป็น  พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น โดยเฉพาะบริเวณตำแหน่งของซี่ฟันกรามน้อยด้านบน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ หรือเกิดโรคปริทันต์ตามมากได้ หากตรวจพบว่ามีการเจริญของฟันขึ้นมาผิดแนว ก็จะต้องพิจารณาทำการถอนออกครับ

 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข


 
 

4 ฟันซ้อน

 
 
 
     ฟันซ้อน (crowed teeth) เกิดขึ้นจากการที่มีฟันอีกซี่เจริญขึ้นมาในตำแหน่งใกล้กัน อาจเป็นผลจากภาวะฟันน้ำนมค้าง ที่พบว่าฟันน้ำนมไม่ยอมหลุดออก ทำให้ฟันแท้ในตำแหน่งนั้นต้องขึ้นมาซ้อนกันกับฟันน้ำนมเดิม ฟันซ้อนพวกนี้มักจะมีเศษอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดสะสม จนทำให้เกิดโรคปริทันต์ตามมา ส่วนมากถ้าตรวจพบ ก็จะต้องทำการถอนเอาฟันน้ำนมที่ไม่ยอมหลุดออกไป
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข


 
 

5 เนื้อฟันละลาย

 
 
 
     เนื้อฟันละลาย (tooth  resorption) เป็นโรคที่เกิดการสูญเสียเนื้อฟันไป บางรายแสดงความผิดปกติมาก เกิดการสูญเสียลึกถึงโพรงฟัน หรือเกิดความเสียหายที่กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดตัวฟัน ทำให้การยึดติดของฟันกับเหงือกเกิดปัญหา ทำให้เกิดฟันโยกตามมาได้ เราสามารถตรวจได้จากการถ่ายภาพรังสีภายในช่องปาก เพื่อประเมินส่วนประกอบและโครงสร้าง หากมีความรุนแรงมากหรือพบการลุกลาม จะต้องพิจารณาทำการถอนฟันที่ผิดปกติออก
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข



 

6 ฟันโยก

 
 
 
     ฟันโยก (mobile teeth) เป็นผลที่เกิดจากการที่ฟันได้รับบาดเจ็บจากการกระทบกระแทก หรือมีการติดเชื้อจากโรคปริทันต์ ทำให้การยึดเกาะของฟันกับเหงือกและกระดูกนั้นเสียไป ซึ่งหากฟันมีการโยกมากกว่า 0.5 มิลลิเมตร จากแนวกึ่งกลางของฟัน จะต้องทำการถอนออกไป บางตัวฟันโยกมากขึ้นอาจพบว่าสามารถหมุนได้รอบทิศทางเลย ซึ่งสุนัขที่เป็นอาจแสดงอาการเจ็บปวด มีเลือดออก ไม่ใช้ฟันด้านที่มีปัญหาเคี้ยวอาหาร อาจทำปากสั่น ๆ เหมือนพยายามจะกัดฟันอยู่ตลอดเวลา เราอาจได้ยินเสียงฟันกระทบกันไปมาได้ในบางราย 
 
 

โพสโดย Elizabeth Vickridge

 

 

7 ฟันแตกหัก

 
 
 
     ฟันแตก (Fractured teeth) คือ การเกิดพยาธิสภาพที่ทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของฟันนั้นแตกออกมา ซึ่งอาจเกิดจากการไปกัดของแข็ง การได้รับแรงกระแทก แต่ละรายจะพบความรุนแรงได้ไม่เหมือนกัน บางรายเกิดเพียงแค่ชั้นเคลือบฟัน แต่บางรายกระทบไปถึงโพรงประสาทรากฟัน ซึ่งเมื่อฟันแตกจะทำให้เศษอาหารและสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสะสม เกิดการสร้างแบคทีเรียและทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา หากพบการแตกของฟันจะต้องทำการถอนฟันออก หรือทำการรักษารากฟัน หรือทำการอุดปิดท่อเนื้อฟัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรง ลักษณะ และตำแหน่งการแตกของฟันด้วยครับ
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข



 

 

8 ฟันน้ำนมค้าง

 
 
 
     ฟันน้ำนมค้าง (retianed deciduous teeth) คือ  ภาวะที่ฟันน้ำนมไม่ยอมหลุดออกไป ในขณะที่ก็มีฟันแท้งอกขึ้นมาซ้อนกัน ตามปกติแล้วฟันน้ำนมจะต้องเริ่มหลุดที่อายุประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฟันแท้จะเริ่มงอกขึ้น การที่เกิดฟันน้ำนมค้างนี้ ทำให้ฟันแท้งอกออกมาผิดตำแหน่ง สาเหตุก็คือ ฟันน้ำนมเกิดการยึดติดแน่นกับรากฟัน ไม่ยอมหลุดออกไป ทำให้ให้ฟันแท้ไม่สามารถงอกออกมาได้ ต้องเจริญแทรกขึ้นมา หรือเกิดจากฟันแท้ไม่ได้งอกตามเส้นทางที่ควรจะเป็น ปกติฟันแท้จะต้องเจริญใต้ฟันน้ำนม แล้วจะค่อย ๆ เกิดแรงดันให้ฟันน้ำนมซี่นั้นให้หลุดออกไป ซึ่งตัวฟันแท้เองจะได้งอกขึ้นมาแทนในตำแหน่งเดิม ในรายที่เกิดฟันน้้ำนมค้างจะต้องถอนเอาฟันน้ำนมออก เพื่อไม่ให้มีเศษอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดสะสม จนทำให้เกิดโรคปริทันต์ตามมาได้ในอนาคต
 
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข


 

9 เคลือบฟันเจริญผิดปกติ    

   
 
 
     เคลือบฟันเจริญผิดปกติ (Enamel hypoplasia) เป็นความผิดปกติของการสร้างชั้นเคลือบฟัน ปกติแล้วฟันประกอบไปด้วยโครงสร้างต่าง ๆ มากมาย เช่น เนื้อฟัน โพรงประสาท ส่วนชั้นนอกสุดของฟันเราเรียกว่า ชั้นเคลือบฟัน หรือ enamel ซึ่งมีหน้าที่คอยปกป้องเนื้อฟันในส่วนที่อยู่เหนือเหงือก สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า ameloblast เซลล์นี้จะไวต่อการกระทบกระแทก การอักเสบ และการติดเชื้อ ทำให้การเจริญของชั้นเคลือบฟันเกิดความผิดปกติไป เราจะเห็นว่าผิวฟันขรุขระ แลดูบางและกร่อน มีลักษณะตามรูปด้านล่าง พบได้บ่อยในลูกสุนัขที่มีการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค บางรายอาจต้องได้รับการตกแต่งผิวเคลือบฟันหรือทำการปกป้องไม่ให้ชั้นเคลือบฟันเกิดการสึกหรอเพิ่มเติมเร็วขึ้น
 
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข


 
 

10 ฟันไม่สบกัน

 
 
 
     ฟันไม่สบกัน (malocclusion) เป็นความผิดปกติที่ทำให้เกิดการเรียงตัวของฟันไม่สมบูรณ์ อาจเกิดจากการที่ฟันบิดเบี้ยวไป หรือความผิดปกติของกระดูกกรามที่ทำให้แนวกระดูกกรามบนและกรามล่างไม่เท่ากัน เช่น กระดูกกรามล่างสั้นกว่ากระดูกกรามบน (คล้ายปากกนกแก้ว) ความผิดปกติของกรามล่างด้านซ้ายและขวาที่ไม่เท่ากัน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม และส่งผลต่อการเจริญของกระดูกและฟัน บางรายก็เกิดจากอุบัติเหตุจนมีกระดูกผิดรูปไป เหล่านี้ส่งผลให้การจัดเรียงฟันเกิดปัญหา ฟันอาจไปทิ่มแทงเหงือกหรือลิ้นทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งอาจต้องทำการถอนฟันซี่ที่มีปัญหาออก หรือทำการรักษาภาวะฟันไม่สบกันด้วยวิธีการจัดฟัน 
 
 

Dogilike.com :: เช็กด่วน!! ความผิดปกติของฟันที่พบบ่อยในสุนัข





     ความผิดปกติเกี่ยวกับฟันทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เจ้าของสามารถนำไปใช้สังเกตน้องหมาที่บ้านในเบื้องต้นได้ ก่อนที่จะพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป ซึ่งตามปกติแล้วเราควรพาสุนัขไปตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยเฉพาะในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีสิ่งสังเกตเมื่อเกิดจากปัญหาช่องปากให้เราเห็นได้ เช่น มีหินปูน เหงือกอักเสบ มีกลิ่นปาก ฯลฯ การตรวจสุขภาพช่องปากและฟันโดยละเอียดนั้น จำเป็นจะต้องวางยาสลบน้องหมา ซึ่งคุณหมอจะได้ทำการตรวจสุขภาพช่องปาก ถ่ายภาพรังสีช่องปาก และทำการขูดหินปูนให้ด้วย หากพบความผิดปกติใด ๆ ก็จะได้ทำการรักษาให้ ซึ่งเป็นการป้องกันโรคช่องปากที่อาจเกิดตามมาได้ในอนาคตหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ผมก็อยากจะเชิญชวนเพื่อน ๆ ที่เลี้ยงสุนัขทุกคน ให้หมั่นพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพช่องปากอย่างเป็นประจำกันด้วยนะครับ 


 


บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ :
 
http://cdn.skim.gs/images/v1/msi/snxsheng092loz5ecje8/adorable-dogs-that-look-like-theyre-smiling
http://www.lifelearn-cliented.com/cms/resources/body/9775/2-rsz.jpg
http://files.dvm360.com/alfresco_images/DVM360//2013/10/27/579e18ed-dac0-45fc-a3c3-38e2bfaa2993/veterinary_Bellows_New3_450.jpg
http://www.oralatp.com/include/images/t_120.jpg
http://campusveterinary.com/two/wp-content/uploads/2012/01/deciduouscanineteeth.jpg
http://www.mypetsdentist.com/sites/site-2442/images/Felines/e46ab850-7f00-0001-2a9b-3d43c60829f1.JPG
https://www.youtube.com/watch?v=vs4ZZMAabis
https://www.vetdentists.com/wp-content/uploads/2015/01/antlertoothfracture.jpg
http://www.vet.ed.ac.uk/clive/cal/Dentistry/website/Media/Extraction_Media/bigger_pics/rettemps-mal2.jpg
http://vet360.vetlink.co.za/wp-content/uploads/sites/12/2016/12/figure-6-b.jpg
https://www.veterinarydentistry.net/blog/wp-content/uploads/2010/02/Unerputed-Canines-Dog002.jpg