โดย: Tonvet

การผ่าชันสูตรซากน้องหมาที่ตาย คุณหมอเขาทำกันอย่างไร

เรื่องเล่าหลังความตายกับการชันสูตรซากน้องหมาจะเหมือนหรือต่างจากในคนหรือไม่ ตามมาดูกันครับ

27 กันยายน 2560 · · อ่าน (8,042)
265

SHARES


265 shares

Dogilike.com :: การผ่าชันสูตรซากน้องหมาที่ตาย คุณหมอเขาทำกันอย่างไร



     การชันสูตรซากสัตว์อาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวของใครหลายคน น้อยคนนักที่เมื่อสุนัขตายโดยผิดธรรมชาติ โดยไม่ได้เจ็บป่วยมาก่อนแล้ว จะส่งซากน้องหมามาเพื่อทำการชันสูตร ยกเว้นจะมีกรณีข้อพิพาทหรือเกี่ยวข้องกับทางกฎหมาย ทำให้ต้องทำการผ่าชันสูตรซากสุนัขเพื่อหาสาเหตุการตาย ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนอาจจะมองภาพไม่ออกว่า การชันสูตรซากของสุนัขที่ตายไปนั้น เขามีขั้นตอนการทำอย่างไร หรือหากต้องการจะส่งซากสุนัขที่ตาย เพื่อไปทำการชันสูตรนั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง บทความนี้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการชันสูตรซากน้องหมาที่ตายแล้วมาฝากครับ 


 

ทำไมจะต้องผ่าชันสูตรซากน้องหมาที่ตายด้วย

 
 
 
     การผ่าชันสูตรซากสุนัขที่ตาย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อค้นหาสาเหตุการตายของสัตว์เท่านั้น แต่เพื่อให้เข้าใจความเจ็บป่วยของสัตว์ได้ด้วย บางครั้งเราอาจทำการผ่าชันสูตรซากน้องหมา เพื่อใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ ทำให้เข้าใจสาเหตุของโรคว่าทำให้สุนัขตายได้อย่างไร เพื่อนำไปใช้วางแผนในการรักษา และป้องกันโรคให้กับสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป รวมถึงใช้เป็นแนวทางป้องกันโรคบางอย่างที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ด้วย อย่างที่มีการส่งซากสุนัขที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ไปชันสูตรยังที่สถานเสาวภาหรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปถ้าหากไม่ทราบสาเหตุการตายของสัตว์ตัวนี้มาก่อนเลย แบบว่าอยู่ดี ๆ ก็ตายมีข้อมูลก่อนตายมาน้อยมาก อาจจะต้องทำการผ่าชันสูตรซากทั้งตัว  ตรวจดูทุกอวัยวะอย่างละเอียดรอบคอบ โดยทำตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตการตายของสัตว์  แต่ถ้าเราพอจะทราบว่ามีความผิดปกติขึ้นที่ส่วนใด และต้องการจะทราบเพียงแค่การยืนยันผล เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวินิจฉัยโรคหรืออะไรก็ตาม เราก็อาจทำการผ่าชันสูตรแค่เพียงบางส่วนเท่านั้นก็ได้
 
 
 
 

ขั้นตอนการชันสูตรซากน้องหมาที่ตายเป็นอย่างไรกันนะ

 
 
 
     ขั้นตอนการชันสูตรซากสัตว์นั้นมีลำดับขั้นตอนที่เป็นระบบ ในที่นี้จะขอเล่าถึงกรณีที่ต้องทำการผ่าชันสูตรซากน้องหมาทั้งตัว หรือ Complete necropsy ว่าจะมีขั้นตอนคร่าว ๆ อย่างไรบ้าง เหมือนหรือต่างกับในคนหรือไม่ เพื่อให้เห็นภาพรวมกว้าง ๆ โดยเมื่อเราต้องการจะผ่าชันสูตรซากสัตว์นั้น ก่อนอื่นเลย คุณหมอจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสุนัขก่อน พร้อมทั้งต้องได้ทราบประวัติ และข้อมูลของน้องหมาอย่างละเอียดก่อนที่จะลงมือผ่า จากนั้นก็จะทำการชั่งน้ำหนักของซาก แล้วทำการตรวจลักษณะภายนอกก่อน ไล่ดูตั้งแต่ ตา จมูก ปาก หู เส้นขน ผิวหนัง ยันอวัยวะเพศและทวารหนัก กรณีซากสกปรกมากอาจต้องใช้น้ำล้างก่อน ถ้าได้มีการเจาะเก็บเลือด (ควรเก็บตรวจตอนสัตว์มีชีวิตอยู่จะดีที่สุด) ปัสสาวะ และสารคัดหลั่งเอาไว้ก่อน ก็จะได้นำไปส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการด้วย แม้กระทั่งน้ำ อาหาร วัสดุปูลองของน้องหมา ก็สามารถนำมาใช่วิเคราะห์ร่วมด้วยได้เช่นกัน
 
 
     สภาพซากสัตว์นั้นมีผลโดยตรงต่อความชัดเจนของรอยโรค เพราะเมื่อน้องหมาตายลงแล้ว อุณหภูมิร่างกายจะค่อย ๆ เย็นตัวลง แล้วตามมาด้วยการแข็งตัวของกล้ามเนื้อเนื่องจากขาด ATP ถ้ามวลกล้ามเนื้อมีน้อยก็อาจจะแข็งตัวเร็ว ซึ่งมักพบในสุนัขที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ร่างกายผอม เนื่องจากมีไกลโครเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อน้อย หลังจากนั้นซากน้องหมาก็จะกลับมาอ่อนนิ่มอีกครั้งตามกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ ซึ่งจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับตัวน้องหมาเอง รวมถึงโรคที่น้องหมาป่วยมาก่อนหน้าที่จะตาย และสภาพแวดล้อม (เช่น อุณหภูมิ ความชื่น ฯลฯ) จากภายนอกด้วยเช่นกัน เหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพซากสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น 
 


Dogilike.com :: การผ่าชันสูตรซากน้องหมาที่ตาย คุณหมอเขาทำกันอย่างไร



 
     หลักจากทราบประวัติแล้ว ทีนี้คุณหมอก็จะเริ่มลงมือผ่าตามลำดับขั้นตอน เริ่มจากตรวจดูเนื้อเนื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เต้านมและต่อมต่าง ๆ แล้วเปิดผ่าช่องท้อง สำรวจกระบังลม ก่อนที่จะเปิดผ่าดูภายในช่องอก หลังจากที่แยกอวัยวะออกมาจากตัวสัตว์ แล้วแล้วจึงไล่ตรวจดูไปทีละอวัยวะ เริ่มจากอวัยวะในช่องอก ช่องท้อง และเชิงกรานตามลำดับ เช่น ดูรอยโรคที่ปอดว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร สมมุติว่ามีการอักเสบ ปอดก็จะแข็งบวมขึ้น อาจมีหนองหรือไฟบรินแทรก หากปอดมีการบวมน้ำก็อาจจะหนักขึ้น เพราะมีของเหลวหรือเลือดมาคั่ง อาจพบฟองหรือของเหลวในหลอดลมด้วย เป็นต้น หากมีการตรวจสมองก็ต้องมีการเปิดกระโหลก แล้วคุณหมอก็อาจจะเก็บตัวอย่าง เช่น สิ่งของในทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร ปัสสาวะหรือของเหลวที่ได้ซากน้องหมาที่ตรวจพบ ไม่ว่าจะเป็น หนอง น้ำไขสันหลัง หรือแม้กระทั้งชิ้นเนื้อจากอวัยวะต่าง ๆ ส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการด้วย ซึ่งถ้าพบอะไรที่ผิดปกติคุณหมอก็จะทำการบันทึกไว้ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อสรุปสาเหตุการตายของสุนัขต่อไปครับ
 
 
 
 

หากต้องการจะชันสูตรซากน้องหมาต้องทำอย่างไร

 
 
 
     ซากสุนัขที่เหมาะสำหรับการส่งมาเพื่อการผ่าชันสูตรควรเป็นตัวอย่างซากที่ตายทันที หรือได้แช่เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และนำส่งภายใน 24 ชั่วโมง  (เพราะซากที่แช่แข็งมาเป็นเวลานาน กว่าจะละลายตัวก็ช้า เม็ดเลือดแดงก็จะแตกปล่อยฮีโมลโกบินมาเปื้อนเนื้อเยื่อ) โดยผู้เป็นเจ้าของจะต้องนำซากน้องหมาที่เสียชีวิตแล้ว ไปส่งยังที่หน่วยงานบริการชันสูตรซากสัตว์ ซึ่งสังกัดอยู่ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอน หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น สถานเสาวภา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ฯลฯ หรือตามโรงพยาบาลสัตว์เอกชนที่เปิดให้บริการทางด้านการชันสูตรซากสัตว์ (อาจเริ่มจากโทรถามไปยังสถานพยาบาลสัตว์ที่ใช้บริการอยู่ก่อนว่า ให้บริการผ่าชันสูตรซากสัตว์ด้วยหรือไม่) เจ้าของจะต้องเป็นผู้ให้อนุญาตก่อน คุณหมอถึงจะสามารถทำการผ่าชันสูตรได้ นอกจากนี้เจ้าของจะต้องแจ้งรายละเอียดประวัติของน้องหมาที่จะเข้ารับการชันสูตรด้วย โดยอาจจะแจ้งโดยตรงหรือมีเอกสารใบส่งตรวจชันสูตรซากสัตว์จากสัตวแพทย์ที่ทำการรักษาแนบมาด้วยก็ได้ ซึ่งข้อมูลที่ต้องแจ้งนั้นจะต้องประกอบด้วย น้ำหนัก อายุ เพศ พันธุ์ ระยะเวลาที่น้องหมาเสียชีวิต อาการป่วยก่อนเสียชีวิต ประวัติการรักษาก่อนหน้านี้ ประวัติการได้รับยาทุกอย่าง ตลอดจนประวัติวัคซีนด้วย รวมถึงสภาพแวดล้อมและลักษณะการเลี้ยงดูก่อนที่สุนัขจะตาย และภาวะโภชนาการและอาหารที่ให้สุนัขกิน
 
 
 
      สำหรับกรณีของโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ให้นำหัวสัตว์ที่มีเหตุสงสัยว่าตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า (อาจส่งซากทั้งตัวไปก็ได้) ไปทำการชันสูตร โดยสถานเสาวภาแนะนำเอาไว้ว่า ให้ผู้ที่ไม่มีบาดแผลที่มือ สวมถุงมือยางป้องกันโรค นำซากสัตว์หรือหัวสัตว์ใส่ถุงพลาสติกหนา ๆ 2 ชั้น รวบปากถุงและรัดด้วยยางให้แน่นแล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้น จากนั้นนำใส่ถุงพลาสติกหนารวบปากถุง แล้วรัดด้วยยางให้แน่นชั้นหนึ่ง นำใส่ถัง พลาสติก โฟม หรือ ถังโลหะ ที่มีน้ำแข็งรองอยู่ก้นถังประมาณ 1 ใน 4 แล้วเทน้ำแข็งกลบ ทับให้มากพอแล้วปิดฝา เพื่อป้องกันไม่ให้ซากเน่า ห้ามแช่แข็งเด็ดขาดเพราะจะทำให้ใช้เวลาตรวจนานขึ้นและอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้ ที่สำคัญห้ามแช่ตัวอย่างส่งตรวจในน้ำยาฟอร์มาลินเด็ดขาด เพราะจะทำให้การตรวจไม่ได้ผล แล้วรีบรีบนำส่งตรวจรวดเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติสัตว์และการถูกกัดเพื่อเป็นข้อมูลประกอบและกรอกที่อยู่ หมาย เลขโทรศัพท์ของผู้ที่ต้องการผลเพื่อการติดต่อได้สะดวกรวดเร็วที่สุด ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่สำหรับการส่งซากน้องหมาไปชันสูตรโรคเรบีส์ได้ตามข้อมูลจากสถานเสาวภาตามนี้




     และทั้งหมดนี้ก็คือขั้นการชันสูตรซากสุนัข เพื่อน ๆ คงจะมองเห็นภาพกว้าง ๆ แล้วว่า ลำดับขั้นตอนนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงทราบถึงประโยชน์ของการชันสูตรซากสัตว์ว่า ไม่ได้มีดีแค่ทำให้ทราบสาเหตุการตายเท่านั้น แต่สามารถใช้วินิจฉัยโรคและอาจมีส่วนใช้ช่วยรักษาชีวิตสุนัขตัวอื่น ๆ ที่ยังไม่ตายได้ด้วยอีกต่างหาก ซึ่งโรคบางอย่างจำเป็นต้องมีการยืนยันผลการติดเชื้อเพราะเป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าฯ ก็อาจจำเป็นต้องมีการชันสูตรซากสุนัขที่ตายแล้วเพื่อยืนยันผลของการวินิจฉัยดังกล่าวด้วยครับ



 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
หนังสือ การผ่าชันสูตรซากสัตว์และการเก็บตัวอย่าง. เกรียงศักดิ์  ไพรหิรัญกิจ.
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ: 2550
 
 
รูปภาพประกอบ :
http://beingstray.com/wp-content/uploads/2014/10/sleepingDog-750x415.jpg
https://i.ytimg.com/vi/uQSQtBFEIa8/maxresdefault.jpg